เพ็ญสุภา สุขคตะ : ตำนานมุขปาฐะลำปาง พระสิขีกับพระศิลาดำเป็นคนละองค์กัน? 

เพ็ญสุภา สุขคตะ

แยกองค์จาก 1 กลายเป็น 2
พระสิกขีปฏิมากร + พระศิลาดำ

อาจารย์ศักดิ์ (สักเสริญ) รัตนชัย ปราชญ์คนสำคัญแห่งเมืองลำปาง ได้กล่าวถึงเรื่องราวของพระพุทธรูปสำคัญสององค์ของพระนางจามเทวี ที่มอบให้แก่เจ้าอนันตยศพระราชโอรสปฐมกษัตริย์เขลางค์นคร ไว้ในหนังสือเรื่อง “ลำปาง : ในพงศาวดารไทยถิ่นเหนือ” (พิมพ์ปี 2548) โดยอ้างต้นเรื่องว่าได้มาจาก “ตำนานวัดศรีดอนคำ” แห่งเมืองลอง จังหวัดแพร่ ว่า

“พระนางจามเทวี หลังเสด็จกลับจากเยือนละโว้ ในปี พ.ศ.1251 แล้ว พระนางได้อัญเชิญพระพุทธสิกขีปฏิมากร และพระศิลาดำมาด้วย ครั้งนี้ได้ขึ้นมาทางแม่น้ำยมผ่านเมืองลอง หรือเมืองกุกุฏนคร (ไก่ขาว) เข้าสู่เขลางค์ ทรงประดิษฐานพระสิกขีปฏิมากรและพระศิลาดำ ณ เสตกุฎาราม (เศวตกุฎาราม) หรือวัดกู่ขาว”

ข้อความจากตำนานฝ่ายลำปางตอนนี้ มีนัยที่น่าสนใจหลายประเด็น

ประเด็นแรก จากที่เราเคยถามกันเสมอๆ ว่า ตลอดพระชนม์ชีพของพระนางจามเทวี ตั้งแต่เสด็จจากละโว้มาประทับที่หริภุญไชยนั้น พระนางเคยเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงละโว้บ้างหรือไม่

ข้อความในที่นี้เป็นคำตอบที่แน่ชัดมากว่า เคยอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

ถือว่าเอกสารฝ่ายลำปาง-แพร่ที่น่าสนใจ เพราะช่วยมาเสริมอุดรูรั่วตำนานเอกสารฝ่ายลำพูนที่ขาดหายไป

ประเด็นที่สอง ทำให้เราได้คำตอบว่า ทำไมชาวเมืองลอง เมืองร้องกวาง ในจังหวัดแพร่ จึงมีความศรัทธาและความผูกพันกับพระนางจามเทวี โดยปราชญ์เมืองแพร่มีความเชื่อว่าผังเมืองแพร่ก็เป็นรูปหอยสังข์รุ่นโบราณแบบคติทวารวดี เหมือนกับผังหริภุญไชย (ลำพูน) และเขลางค์ (ลำปาง)

ทั้งนี้เนื่องจากพระนางจามเทวีได้วางรากฐานให้แก่เมืองแพร่ไว้ตั้งแต่แรกสร้างด้วยเช่นกัน

และเมืองทั้งสามมีสัมพันธ์อันดีต่อกันมาจนถึงยุคสิ้นราชวงศ์หริภุญไชย

ประเด็นที่สาม น่าแปลกที่ตำนานนี้ได้แยกพระพุทธรูป “พระสิขีพุทธปฏิมากรศิลาดำ” ออกเป็น 2 องค์ คือ 1.พระพุทธสิกขีปฏิมากร (หมายเหตุในที่นี้ใช้คำว่า สิกขี ไม่ใช่ สิขี) และ 2.พระศิลาดำ

ข้อความตอนนี้ต้องถามเพิ่มต่อว่า พระสององค์ที่กู่ขาวนี้ อันที่จริงแล้วผู้บันทึกต้องการจะหมายถึง พระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำ 2 ใน 5 องค์ที่สร้างขึ้นพร้อมกัน แล้วพระนางจามเทวีได้มา 2 องค์ (องค์แรกได้จากละโว้โดยตรง องค์ที่สองได้จากพุกาม) แต่ในเขลางค์ตั้งใจเรียกแยกให้เป็น 2 องค์เพื่อป้องกันความสับสน เป็น พระสิกขีปฏิมากร 1 องค์ พระศิลาดำ 1 องค์ ใช่หรือไม่

หรือว่าตามความเข้าใจของผู้เขียนตำนาน คือคนละองค์คนละพิมพ์ทรงคนละรูปแบบศิลปะกันเลยอยู่แล้ว

ถ้าเป็นจริงตามข้อสันนิษฐานแรก แสดงว่า พระนางจามเทวีได้มอบพระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำทั้งสององค์ของพระนางให้แก่เจ้าอนันตยศ โอรสแฝดน้อง หมดเลยหรือ

(คำถามตามมาคือ ทำไมไม่เก็บไว้องค์ 1 ให้แฝดพี่มหันตยศไว้บ้างเล่า?)

ประเด็นที่สี่ ชินกาลมาลีปกรณ์ ระบุว่า พระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำที่พระนางจามเทวีได้มาองค์แรกจากละโว้นั้น เป็นการได้มาตั้งแต่ครั้งแรกที่เสด็จขึ้นมาครองเมืองลำพูนทางลำน้ำปิง (แม่ระมิงค์) และองค์ที่สองได้มาจากพุกาม หลังจากนั่งเมืองได้สักระยะ แล้วตามนัยแห่งชินกาลมาลีปกรณ์พระนางจามเทวีก็น่าจะมอบองค์หลังนี้ให้โอรสแฝดน้อง

แต่ว่าในตำนานเมืองลอง-เมืองลำปาง กลับระบุว่า การอัญเชิญพระสององค์ของพระนางจามเทวีมาไว้ที่เขลางค์นั้น เป็นการเสด็จขึ้นมาตามน้ำแม่ยม เนื่องจากกระบวนเรือของพระนางจามเทวีหลงทาง และเป็นการกลับมาอีกครั้งหลังจากเสด็จเยี่ยมพระราชบิดา-พระราชมารดาที่ละโว้

เขียนเช่นนี้ประหนึ่งต้องการโฟกัสแสงสปอตไลต์ไปที่นครเขลางค์และกกุฏนครให้โดดเด่น โดยตัดตอนความสำคัญของนครหริภุญไชย (แฝดพี่มหันตยศ) และน้ำแม่ระมิงค์ทิ้งไปกระนั้น?

ข้อความต่อจากนั้น อาจารย์ศักดิ์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า

“ในสมัยล้านนา ยุคหมื่นนครหาญแต่ท้อง โอรสของหมื่นโลกนคร (อีกชื่อคือหมื่นด้งนคร มีศักดิ์เป็นพี่ชายพระราชมารดาของพระเจ้าติโลกราช ซึ่งต่อมาหมื่นโลกนครย้ายไปกินตำแหน่งหมื่นโลกสามล้านที่เชียงใหม่ จึงให้โอรสนั่งเมืองแทน) ที่นครเขลางค์มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 3 ประการ ได้แก่ พระรัตนพิมพ์จากวัดพระแก้วดอนเต้า (หมายถึงพระแก้วดอนเต้า ปัจจุบันอยู่วัดพระธาตุลำปางหลวง) พระสิกขีปฏิมากร อยู่ที่กู่ขาว และพระศิลา ซึ่งถูกนำมาไว้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงตั้งแต่ยุคพระเจ้าติโลกราชแล้ว”

เห็นได้ชัดว่า ยุคนี้พระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ได้ถูกย้ายจากลำปางไปเชียงใหม่แล้วตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราช จึงเหลือแต่พระแก้วดอนเต้าเท่านั้น ส่วนพระสิขีพุทธปฏิมากร ตามความเข้าใจของคนในยุคล้านนาที่นครเขลางค์ ถูกแยกเป็น 2 องค์ (พระสิกขีปฏิมากร + พระศิลาดำ) มานานแล้ว

 

ตำนานมุขปาฐะแห่งวัดถ้ำขุมทรัพย์ฯ

ตํานานท้องถิ่นแถบลุ่มน้ำวังยังกล่าวต่อไปอีกว่า พ.ศ.2058 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้ยกกองทัพมาตีนครลำปาง โดยเข้ามาทางประตูนางเหลียว แล้วอัญเชิญพระสิกขีปฏิมากรไปกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ได้มีการระบุว่าได้นำพระศิลาไปด้วยหรือไม่

ในขณะที่ข้อมูลบนป้ายไวนิลของวัดถ้ำขุมทรัพย์จามเทวี อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง พระชนาเมธ อตฺตทีโป เจ้าอาวาสได้อธิบายเหตุการณ์ช่วงนั้นตามตำนานมุขปาฐะที่ได้ยินได้ฟังสืบต่อกันมาของชาวลำปาง ดังนี้

“ช่วงที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พระมหากษัตริย์องค์ที่ 10 แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ยกทัพหลวงขึ้นมาตีนครเขลางค์นั้น พระญาสร้อยสุริยะหรือพระเมืองแพร่สร้อย เจ้าผู้ครองนครเขลางค์ขณะนั้น ให้นางข้าหลวงผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ อัญเชิญพระพุทธสิกขีปฏิมากร และพระพุทธรูปสำคัญองค์อื่นๆ กับทั้งข้าวของเงินทองทรัพย์สมบัติออกจากนครเขลางค์ไปเก็บซ่อนไว้ในป่าเขตดอยขุนตานหลายเล่มเกวียน และได้นำพระพุทธรูปอื่นประดิษฐานไว้ในวัดเสตกุฎารามแทน

ในเวลาอันเร่งรีบ นางข้าหลวงผู้ใหญ่เห็นว่าการขนย้ายสมบัติเป็นกองใหญ่หลายเล่มเกวียนนี้เป็นเป้าโจมตีของข้าศึกศัตรู จึงได้แบ่งแยกการเดินทางขนย้ายโดยได้นัดหมายให้ไปรวมกัน ณ ปากกองนอก ปัจจุบันคือบ้านทุ่งเกวียน อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง

ก่อนถึงปากกองนอกจุดนัดหมายนั้น ข้าหลวงผู้ใหญ่เห็นว่ากองทัพหลวงจากอยุธยาที่ทราบการเคลื่อนย้ายทรัพย์สมบัติได้เร่งรุดติดตามมา จึงตัดสินใจอัญเชิญพระพุทธสิกขีปฏิมากรและทรัพย์สมบัติจำนวนหนึ่งฝังฝากไว้ในโพรงถ้ำ แถวบริเวณที่อดีตเคยเป็นเขตหอทรงธรรมของพระนางจามเทวี”

หากเชื่อตามตำนานมุขปาฐะเรื่องนี้ ย่อมแสดงว่า พระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำ องค์หนึ่งจักต้องถูกฝังซ่อนอยู่ ณ บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ของวัดถ้ำขุมทรัพย์จามเทวี ที่อำเภอห้างฉัตร

แต่จะใช่พระพุทธรูปทองคำปางสมาธิ ที่ทางวัดระบุว่าเป็นศิลปะลังการุ่นเก่า ซึ่งค้นพบในบริเวณวัดหรือไม่ยังเป็นปริศนาอยู่ เนื่องจากวัสดุที่สร้างพระปฏิมานั้นควรเป็นหินดำหาใช่ทองคำไม่

และเรื่องราวของพระพุทธสิขีปฏิมาศิลาดำตามชินกาลมาลีปกรณ์ระบุควรเป็นพุทธศิลป์มอญหรืออินเดียยุคปาละมากกว่า ไม่ควรเกี่ยวโยงกับพุทธศิลป์ลังกา หรือเช่นไร?

ปริศนาพระศิลาละโว้
ในวัดพระธาตุลำปางหลวง

พระศิลา (ศีลา) อีกองค์ซึ่งตำนานฝ่ายลำปางระบุว่าพระนางจามเทวีอัญเชิญมาจากละโว้นั้น ดิฉันคิดว่ามีความสำคัญมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระสิขีปฏิมา (แม้ความเป็นจริงพระสิขีปฏิมาเองก็ควรเป็นพระหินดำอยู่แล้ว)

เนื่องจากทั้งวัดพระธาตุหริภุญชัย และวัดพระธาตุลำปางหลวง ต่างมีวิหารชื่อเหมือนกันคือ “วิหารละโว้” บ้างเรียก “วิหารพระละโว้” ซึ่งเป็นชื่อที่ต้องการอ้างอิงถึงพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่มีแหล่งกำเนิดมาจากละโว้ หรือมีการเคลื่อนย้ายมาจากละโว้

ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย วิหารพระละโว้ตั้งอยู่ทิศเหนือ องค์พระถูกครอบใหม่ในยุคล้านนากลายเป็น “พระเจ้าเท้านก” คู่กับพระพุทธรูปวัดธงสัจจะไปแล้ว (ดิฉันเคยเขียนถึงเมื่อไม่นานมานี้) ส่วนที่วัดพระธาตุลำปางหลวง วิหารพระละโว้กลับตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตก

พระศิลาหรือพระละโว้ของวัดพระธาตุลำปางหลวง แกะสลักจากหินเนื้อสีเขียวเข้มอมดำ ต่อมาปิดทอง เป็นพระปางนาคปรก ซึ่งตอนแรกนักวิชาการในท้องถิ่นลำปางเคยเชื่อว่า องค์นี้นี่แหละน่าจะเป็น พระสิขีปฏิมาศิลาดำ ซึ่งต่อมาเรียกแยกแบบย่อๆ ว่าพระศิลาดำ โดยเข้าใจว่าพุทธลักษณะของพระปฏิมาเป็นแบบขอมโบราณ ซึ่งน่าจะมีความสัมพันธ์กับละโว้ยุคพระนางจามเทวี

ทว่าเมื่อดิฉันได้พิจารณาพุทธลักษณะอย่างละเอียดแล้ว กลับพบว่าพระละโว้นาคปรกองค์นี้เป็นศิลปะสมัยลพบุรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ลงมาแล้ว ไม่เก่าถึงยุคพระนางจามเทวีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13

แม้กระนั้น ถึงจะไม่ใช่พระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำที่มีมาตั้งแต่ยุคพระนางจามเทวี-เจ้าอนันตยศก็ตามที แต่มีสิ่งหนึ่งที่ควรตั้งคำถามก็คือ แล้วงานพุทธศิลป์แบบลพบุรีขึ้นมาปรากฏในวัฒนธรรมล้านนาได้อย่างไร ใครเป็นผู้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นมาจากเมืองไหน ตั้งแต่เมื่อไหร่

อนึ่ง คำว่า “พระละโว้” นี้ มีผู้รู้บางท่านศึกษาวิจัยแล้ว พบว่าเป็นหนึ่งในพระราชนิยมส่วนบุคคลของพระเจ้าติโลกราชอีกรูปแบบหนึ่ง ดังเช่นเคยโปรดให้สร้างพระปฏิมาแบบลวปุระไว้ที่วัดศรีเกิด เชียงใหม่

ในความเข้าใจของพระเจ้าติโลกราชนั้น พระองค์น่าจะตีความคำว่า ละโว้ หรือลวปุระ เป็น “ขอม” เท่านั้น เพราะมอญทวารวดีไม่เหลือร่องรอยอะไรอีกแล้วในยุคสมัยของพระองค์ ดังนั้นความพยายามของพระเจ้าติโลกราชที่ต้องการมองย้อนกลับไปถึงเมืองละโว้ของพระนางจามเทวี ถึงกับโปรดให้สร้างพระละโว้ที่วัดศรีเกิดนั้น มโนนึกในจินตนาการแห่งต้นแบบย่อมเป็นขอมไม่ใช่มอญ (เพราะอาณาจักรหริภุญไชยยุคหลัง เต็มไปด้วยกลิ่นอายของศิลปะขอมครอบคลุมไว้ทั้งหมด)

ในเมื่อพระราชนิยมของพระเจ้าติโลกราชนั้นโปรดปราน “พระพุทธรูปแบบละโว้” ด้วยอีกรูปแบบหนึ่ง ฉะนี้แล้วพระศิลาละโว้นาคปรกองค์ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง พระองค์เป็นผู้โปรดให้สร้างด้วยหรือไม่ เนื่องจากนักวิชาการมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าจากพระพักตร์ถมึงทึงแบบขอม น่าจะเป็นศิลปะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 หลังยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชมากกว่า

หากบางท่านก็มองว่าลักษณะพระวรกายบ่าใหญ่เอวเล็กชายจีวรสั้นๆ เหนือพระถันนูน รูปแบบเช่นนี้ “พระสิงห์ล้านนาชัดๆ แต่แค่ทำหน้าดุไว้หนวด”

ดังนั้น บางท่านกำหนดอายุพระศิลาละโว้องค์นี้ไว้ค่อนข้างใหม่ คือพุทธศตวรรษที่ 20-21 ร่วมสมัยกับพระเจ้าติโลกราชเลยเทียว

ดิฉันขอสรุปสำหรับตอนนี้ว่า (ยังมีตอนหน้าอีกตอน อย่าเพิ่งตกใจนะคะ) พระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำ ตามตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ แม้จะสร้างความสับสนอลเวงแบบมิรู้จบ และจวบปัจจุบันยังไม่ใครทราบคำตอบที่แท้จริงว่า “องค์ไหนเป็นองค์ไหน”

แถมยังมีเรื่องราวของ “พระศิลาดำ” หรือ “พระศิลาละโว้” แทรกสอดใส่เข้ามาให้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนหนักข้อยิ่งขึ้นไปอีก

แต่อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องสะท้อนว่า ความเชื่อความศรัทธาในการสักการบูชา “พระหินดำ” หรือ “พระพุทธรูปที่ได้มาจากบรรพบุรุษละโว้ของพระนางจามเทวี” ยังคงมีอยู่อย่างเข้มข้น

แม้ในยุคสมัยล้านนาซึ่งล่วงเลยห่างพ้นจากยุคต้นหริภุญไชยมานานมากถึง 800 ปีแล้ว