สุรชาติ บำรุงสุข | ความท้าทายเวทีโลก 2019! ความต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลง

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“นโยบายภายในสามารถทำให้เราแพ้ [เลือกตั้ง] แต่นโยบายต่างประเทศสามารถฆ่าเราได้”

ประธานาธิบดีเคนเนดี้

หากพิจารณาโลกในปี 2019

จะเห็นความต่อเนื่องและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ดังนี้

1)การสิ้นสุดสมาชิกภาพอย่างสมบูรณ์ของอังกฤษจากสหภาพยุโรป สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญและเป็นผลสืบเนื่องจากชัยชนะของกลุ่มประชานิยมปีกขวาในปี 2016 ที่ต้องการพาอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป

แต่ชัยชนะเช่นนี้กำลังกลายเป็นปัญหาทางการเมืองให้แก่รัฐบาลอย่างมาก

เพราะรัฐบาลอังกฤษแพ้เสียงที่จะผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในรัฐสภา

แต่ไม่ว่าการเมืองภายในของอังกฤษจะเป็นอย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปได้กำหนดเวลาที่อังกฤษจะต้องออกไว้อย่างชัดเจนคือ วันที่ 29 มีนาคม 2019 (The EU Withdrawal Act 2018)

ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าอังกฤษอาจจะออกจากสหภาพยุโรปโดยกระบวนการทางกฎหมายไม่มีข้อยุติ (leaving without a deal) ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบทางกฎหมายและเศรษฐกิจอย่างมาก

และไม่มีความชัดเจนว่านางเทเรซา เมย์จะรวบรวมเสียงในรัฐสภาเพื่อเอาชนะในญัตตินี้ได้อีกครั้ง

หรือไม่เช่นนั้นก็จะต้องเจรจากับสหภาพยุโรปภายใต้มาตราที่ 50 เพื่อขอเลื่อนเวลาการออก

ดังนั้น ปีนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างมากว่า กฎหมายการออกจากสหภาพยุโรปจะกลายเป็นวิกฤตของการเมืองอังกฤษเพียงใด

และจะนำไปสู่การลาออกของรัฐบาลปัจจุบันหรือไม่

รวมถึงคำถามว่ามีความเป็นไปได้เพียงใดที่จะมีการลงประชามติรอบสอง ซึ่งก็คงไม่ง่ายเช่นกัน

และคำถามเฉพาะหน้าก็คือ อะไรคือ “เพลนบี” ของรัฐบาลที่จะนำเสนอต่อสภาล่างเพื่อให้การออกของอังกฤษมีผลอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 29 มีนาคม

แต่ถ้ารัฐบาลแพ้การลงเสียงอีกครั้ง ก็น่าจะเป็นวิกฤตของการเมืองอังกฤษอย่างแน่นอน

และในอีกด้านคือ สหภาพยุโรปที่ปราศจากอังกฤษจะเป็นเช่นไรในอนาคต

2)การขับเคลื่อนของกลุ่มปีกขวาในยุโรป

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มปีกขวาหรือที่เรียกว่า “ประชานิยมปีกขวา” (Rightwing Populism) เห็นได้ชัดจากชัยชนะในการเลือกตั้งอังกฤษในกลางปี 2016

และในการเลือกตั้งอเมริกันในตอนปลายปี 2016

แม้แต่เดิมจะดูเป็นปรากฏการณ์ของการเมืองยุโรป แต่ปัจจุบันแนวคิดในลักษณะเดียวกันขยายออกไปยังภูมิภาคอื่นด้วย

อีกทั้งเมื่อหันกลับมาดูสถิติแล้ว จะเห็นได้ว่ากลุ่มประชานิยมปีกขวานี้ขยับตัวขึ้นอย่างน้อยมาตั้งแต่ปี 1998

และปัจจุบันพบว่า การเมืองยุโรปมีลักษณะไปในทิศทางดังกล่าวมากขึ้น

เช่น ชัยชนะของกลุ่มนี้ในการเมืองอิตาลีในปี 2018

และในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 จะเห็นบททดสอบสำคัญจากการเลือกตั้งในยูเครน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และเบลเยียม ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างมากว่า กลุ่มนี้จะได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้น

และแนวคิดนี้จะขยายออกนอกยุโรปเพียงใดในอนาคต

ดังที่เห็นจากการเมืองบราซิลในปีที่ผ่านมา

3)การกลับสู่ความเป็นมหาอำนาจของรัสเซีย

การฟื้นตัวในทางการเมืองระหว่างประเทศของรัสเซียมาพร้อมกับบทบาทที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดรวมถึงการพัฒนาระบบอาวุธใหม่

บทบาทเช่นนี้ยังคงเห็นได้ชัดเจนจากการแทรกแซงสงครามกลางเมืองซีเรียในปี 2015 และปัญหาการผนวกดินแดนของยูเครนในปี 2014 อันเป็นจุดตกต่ำที่สุดของความสัมพันธ์ตะวันตก-ตะวันออกนับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามเย็น ในปี 2018

รัสเซียแสดงพลังด้วยการควบคุมเส้นทางเดินเรือที่ช่องแคบเคอร์ช (Kerch Strait) ที่เป็นทางผ่านของยูเครน

ตลอดรวมถึงการสังหารอดีตสายลับรัสเซียในอังกฤษด้วยสารพิษ

และในต้นปีปัจจุบัน รัสเซียได้ขยายบทบาทเข้าไปในละตินอเมริกาด้วยการแสดงความสนับสนุนประธานาธิบดีมาดูโรของเวเนซุเอลา (บทบาทในยุคสงครามเย็นคือการสนับสนุนประธานาธิบดีคาสโตร จนนำไปสู่วิกฤตการณ์จรวดคิวบาในปี 1962)

จนถึงมีการส่งสัญญาณเตือนมิให้สหรัฐแทรกแซง และทั้งยังมีการส่งทหารรับจ้างรัสเซียเป็นกองกำลังอารักขาประธานาธิบดีอีกด้วย จนเป็นดังการฟื้นภาพในอดีตของยุคสงครามเย็นให้หวนคืนอีกครั้ง

บทบาทของรัสเซียยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องติดตาม

4)คดีการสังหารผู้สื่อข่าวกับอนาคตของมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย

คดีการสังหารนายจามาล คาช็อกกี ซึ่งเป็นนักข่าวที่มีชื่อเสียงในระดับโลกนั้น ไม่ใช่คดีสังหารที่เป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อการสังหารเกิดขึ้นในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียที่กรุงอิสตันบูล ประเทตุรกี

และเป็นที่รับรู้กันว่า การสังหารเกิดจากคำสั่งใน “ระดับสูงสุด”

ซึ่งถูกตีความว่ามีการเชื่อมโยงกับข้อเขียนของเขาในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ที่มักจะวิจารณ์นโยบายของมกุฎราชกุมาร (Crown Prince Mohammed bin Salman) ซึ่งรัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้ปฏิเสธถึงความเชื่อมโยงดังกล่าว

ต่อมารัฐบาลตุรกีได้ส่งแถบบันทึกเสียงของการสังหารให้แก่รัฐบาลสหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี และฝรั่งเศส

แต่ข้อมูลเหล่านี้ยังไม่ถูกเปิดเผย แต่เป็นที่แน่ชัดว่าทีมสังหารเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของรัฐบาล

ผลที่เกิดขึ้นได้กลายเป็น “วิกฤตการทูต” ของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย และการขยายผลการสืบสวนในปี 2019 จะส่งผลกระทบต่อสถานะของราชวงศ์และต่อสถานะของประเทศทั้งในเวทีโลกและในเวทีภูมิภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

5)ความรุนแรงที่กาซา

ฉนวนกาซา (Gaza Strip) กลับมาเป็น “จุดร้อน” ในการเมืองโลกอีกครั้ง

เมื่อชาวปาเลสไตน์ได้เรียกร้องขอ “สิทธิกลับบ้าน” (a right to return) ที่จะกลับสู่ดินแดนเดิมที่อยู่ภายใต้การยึดครองของอิสราเอล หลังสงครามหกวันในปี 1967

(สงครามครั้งนั้นทำให้อิสราเอลสามารถยึดฉนวนกาซาและคาบสมุทรซีนายจากอียิปต์ ยึดที่ราบสูงโกลานจากซีเรีย ยึดบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนและเยรูซาเลมจากจอร์แดน)

ในปี 2014 ความขัดแย้งชุดนี้นำไปสู่สงคราม ซึ่งมีระยะเวลานานถึง 50 วัน และจบลงด้วยการหยุดยิง

และในปี 2018 ชาวปาเลสไตน์ได้เปิดการประท้วงที่ชายแดนกาซา-อิสราเอล และมีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

จึงน่าติดตามว่าความขัดแย้งนี้ในปี 2019 จะขยายตัวเพียงใด

และจะนำไปสู่การขยายปฏิบัติการของกลุ่มฮามาส (Hamas) เพียงใดด้วย

6)การปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

แม้วิกฤตนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีจะลดระดับลง ทั้งจากการพบกันของผู้นำสองเกาหลี และตามมาด้วยการพบของผู้นำสหรัฐและเกาหลีเหนือที่สิงคโปร์

แต่ปัญหาการปลดอาวุธนิวเคลียร์ก็ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เว้นแต่มีความชัดเจนที่ไม่มีการยิงขีปนาวุธและไม่มีการทดลองนิวเคลียร์

แต่ก็มีสัญญาณบวกที่จะมีการพบของผู้นำระดับสูงสุดอีกครั้ง จึงน่าสนใจว่าปัญหานิวเคลียร์เกาหลีในปี 2019 จะคลี่คลายไปในทางบวกได้มากน้อยเพียงใด

แม้ในปีที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายยังแสดงออกด้วยการใช้คำพูดตอบโต้กัน

7)ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

การอ้างกรรมสิทธิ์ของอาณาเขตในทะเลจีนใต้เป็นปัญหาตกทอดมาอย่างยาวนานในภูมิภาค และจีนมีท่าทีที่ไม่ประนีประนอมกับข้อเรียกร้องของรัฐที่เกี่ยวข้อง (ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม)

และจีนพยายามขยายสิทธิของการครอบครอง ตลอดรวมถึงการขยายอำนาจทางทหารในหมู่เกาะเหล่านี้

จนทำให้เกิดข้อถกเถียงถึงผลกระทบเรื่อง “เสรีภาพของการเดินทะเล” (freedom of navigation) เช่น ในเดือนตุลาคม 2018 เรือรบอเมริกันเกือบกระทบกระทั่งกับเรือรบจีน

แน่นอนว่าปัญหานี้จะดำรงอยู่ต่อไปในปี 2019

8)สงครามกลางเมืองที่ไม่จบ

สงครามกลางเมืองซีเรียซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2011 เป็นส่วนหนึ่งของ “อาหรับสปริง”

แต่เป็นอาหรับสปริงที่ไม่ประสบความสำเร็จ และพลิกกลับกลายเป็นสงครามกลางเมือง และสำทับด้วยการขยายตัวของสงครามก่อการร้ายของ “กลุ่มรัฐอิสลาม” จนเป็นหนึ่งในสงครามใหญ่ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 364,371 คน และสูญหายประมาณ 156,000 คน (Syrian Observatory for Human Rights, August 2018)

สงครามนี้ทำให้มีการอพยพของประชาชนราว 12 ล้านคน และได้พาเอารัฐต่างๆ เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย อิหร่าน ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย และอิสราเอล

แม้จากปี 2014 จะมีการเจรจาแล้วถึง 9 ครั้ง และอาจจะมีแนวโน้มถึงความพยายามของสหประชาชาติที่จะยุติความรุนแรง

แต่ก็มีความกังวลว่าสงครามกลางเมืองชุดนี้จะยุติได้จริงเพียงใด ในอีกด้านจะเห็นถึงสงครามในเยเมน

เช่นเดียวกับกรณีของซีเรียที่เป็นผลพวงของอาหรับสปริง ความขัดแย้งที่ขยายตัวเป็นสงคราม และพารัฐมหาอำนาจในภูมิภาคเข้ามาเกี่ยวข้องโดยอิหร่านสนับสนุนฝ่ายฮูติ (Houthi) และซาอุดีอาระเบียสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล และยังพากลุ่มก่อการร้ายทั้งอัลกอร์อิดะห์และกลุ่มรัฐอิสลามเข้าสู่พื้นที่ด้วย

และนัยของสงครามนี้มีความสำคัญเพราะที่ตั้งของเยเมนมีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์ ในการเชื่อมต่อเส้นทางขนส่งน้ำมันของโลกระหว่างทะเลแดงกับอ่าวเอเดน

และแม้จะมีข้อตกลงหยุดยิงเกิดขึ้น แต่ก็มีความกังวลว่าความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นอีกในปี 2019 นี้

9)การถดถอยของกลุ่มรัฐอิสลามและการลดระดับของภัยคุกคามจากการก่อการร้าย

จากสถิติพบว่าโดยภาพรวมแล้ว การก่อการร้ายมีจำนวนลดลงในปี 2018 แม้จะยังมีการก่อเหตุเกิดขึ้นในยุโรปก็ตาม

อีกทั้งผลของการสูญเสียฐานที่มั่นหลักของกลุ่มรัฐอิสลามทั้งในอิรักและซีเรีย ทำให้ปฏิบัติการของกลุ่มลดลงอย่างมาก

แต่ก็มิได้หมายความว่าการก่อการร้ายจะไม่ก่อความรุนแรงขึ้นในปีนี้

โจทย์ของการก่อการร้ายยังคงเป็นประเด็นสำคัญไม่เปลี่ยนแปลงที่จะต้องติดตามในปี 2019

10)ผู้อพยพในเวทีโลก

ปัญหาการอพยพย้ายถิ่นของคนยังคงเป็นประเด็นที่เห็นได้ชัดจากกรณีของยุโรปที่ผู้อพยพจากอิรัก ซีเรีย และประเทศแอฟริกาอื่นๆ พยายามที่จะเดินทางเข้ายุโรป

ในอีกด้าน ผู้อพยพจากอเมริกากลางก็พยายามที่จะเดินทางไปสหรัฐผ่านเม็กซิโก

และยังเห็นถึงผู้อพยพจากกรณีอื่นๆ ไม่ว่าจะในกรณีในแอฟริกา ตะวันออกกลาง เมียนมา และในยูเครน

ล้วนชี้ให้เห็นว่า 2019 จะยังคงเป็นปีที่ผู้อพยพเป็นประเด็นสำคัญในเวทีโลก

หรืออย่างน้อยก็เห็นได้ชัดจากการเมืองอเมริกันที่ทำเนียบขาวต้องการสร้างกำแพงปิดชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก เพื่อป้องกันผู้อพยพ

11)การขยายตัวของตลาดอาวุธระหว่างประเทศ

การค้าอาวุธเป็นธุรกิจที่มีความเติบโตต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้ว่าปี 2017 เป็นปีที่ธุรกิจอาวุธขยายตัวต่อเนื่องเป็นปีที่สาม และมีมูลค่าสูงถึง 398.2 พันล้านเหรียญอเมริกัน การขยายตัวของธุรกิจนี้ยังคงเกี่ยวข้องกับรัฐมหาอำนาจทั้งสหรัฐ รัสเซีย จีน ชาติในยุโรป และรวมถึงประเทศผู้ผลิตอาวุธอื่นๆ

และทั้งยังโยงกับปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ

จนอาจคาดคะเนจากแนวโน้มของปีที่ผ่านได้ว่า ธุรกิจอาวุธในปี 2019 จะยังเติบโตต่อไป

12)สงครามไซเบอร์

นักสังเกตการณ์ยกให้ 2018 เป็นปีของสงครามไซเบอร์

และนักความมั่นคงร่วมสมัยถือว่า ภัยคุกคามด้านไซเบอร์เป็นภัยที่ใหญ่และสำคัญที่สุดในปัจจุบัน

และคาดได้ว่าภัยนี้น่าจะรุนแรงขึ้นในปี 2019

หรืออาจกล่าวได้ในด้านหนึ่งว่า ไซเบอร์ได้กลายเป็นสนามรบที่สำคัญ (อาจจะสำคัญที่สุด) ในยุคปัจจุบัน

และการโจมตีด้านไซเบอร์ยังคงเป็นภัยคุกคามที่มีประสิทธิภาพ

13)ปีของโลกร้อนและไฟป่า

ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศยังคงเป็นประเด็นสำคัญต่อเนื่อง

และ 2018 เป็นปีที่ร้อนสูงสุดเป็นปีที่สี่

และขณะเดียวกันเป็นปีที่เห็นถึงความรุนแรงของไฟป่าที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก

จนกล่าวกันว่า 2018 เป็น “ปีของไฟป่า” เช่น ตัวอย่างของไฟป่าในแคลิฟอร์เนียที่รุนแรงมากขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง หรือกรณีเมืองมาติของกรีซที่ถูกไฟป่าเผาทั้งเมือง เป็นต้น

สิ่งนี้ยังคงเป็นสัญญาณเตือนภัยที่บ่งบอกถึงอาการโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นนั่นเอง

14)กระแสสิทธิสตรีและกระแสความหลากหลายทางเพศ

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเปรียบเทียบว่า 2017 เป็นปีของความยุ่งยากเท่าๆ กับเป็นปีแห่งการต่อสู้ของขบวนการสตรี

และ 2018 ถือเป็น “ปีของผู้หญิง” (the year of women) และการเรียกร้องของสตรีได้รัยการยอมรับว่าเป็นกระแสหลัก

ดังเห็นได้ในหลายประเทศเช่นเดียวกับการเรียกร้องของกลุ่มหลากหลายทางเพศที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น

ซึ่งในปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดว่า รัฐบาลในหลายประเทศได้ออกกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน

จึงน่าติดตามว่าปี 2019 กฎหมายนี้จะประสบความสำเร็จในประเทศใดอีกบ้าง

15)การก้าวสู่ยุค “หุ่นยนต์” และการเติบโตของ “ปัญญาประดิษฐ์” (AI)

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจักรกลไร้มนุษย์ในรูปแบบของหุ่นยนต์ที่มาพร้อมกับการขยายตัวของการใช้ปัญญาประดิษฐ์

เป็นประเด็นสำคัญของความก้าวหน้าของวิทยาการของโลกปัจจุบัน

จนทำให้เห็นถึงการใช้หุ่นยนต์ที่มากขึ้นในอนาคต ที่ไม่ใช่มีแต่ในโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น

แต่มีการใช้มากขึ้นในชีวิตประจำวัน

หรือในอีกด้านในทางทหารก็เห็นการใช้อากาศยานไร้คนขับหรือ “โดรน” ที่รับภารกิจทางทหารในด้านต่างๆ รวมทั้งการล่าสังหารด้วย ความก้าวหน้าเช่นนี้มีมากขึ้นทุกปี

และน่าสนใจว่า 2019 จักรกลไร้มนุษย์และปัญญาประดิษฐ์จะก้าวมากขึ้นอีกเพียงใด และอาจมีนัยถึงการตกงานของมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมในอนาคต… โลกกำลังก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลงใหญ่นั่นเอง!