จาก “ประเทศกูมี” ถึง “หนักแผ่นดิน” ตำนานเพลงการเมือง

การเมืองปลายโรดแม็ป ก่อนเปลี่ยนผ่านอำนาจ มีเสียงเพลงเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นระยะ

เกรียวกราวสุดคือ “ประเทศกูมี” เป็นเพลงประท้วงระบบการเมือง ชี้ปัญหาสังคม ปัญหาความเป็นธรรมต่างๆ ในช่วงก่อนเปลี่ยนผ่าน

ล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่จะตัดงบฯ กลาโหม 10 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี สร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ และปรับรูปแบบการเกณฑ์ทหาร

นโยบายตัดงบฯ กลาโหมดังกล่าว เมื่อผู้สื่อข่าวไปถาม พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ในวันรุ่งขึ้น พล.อ.อภิรัชต์ย้อนถามกลับว่า “เพลงอะไรที่กำลังฮิตตอนนี้ ก็เพลงหนักแผ่นดินไง”

ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามต่อข้อเสนอของคุณหญิงสุดารัตน์ พล.อ.อภิรัชต์กล่าวว่า “ก็ให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดินไง”

หลังจากนั้น พล.อ.อภิรัชต์มีคำสั่งให้วิทยุทหารและหน่วยทหารเปิดเพลงนี้ ก่อนจะเปลี่ยนให้เปิดเสียงตามสายในค่ายทหารและหน่วยต่างๆ

ชื่อเพลง “หนักแผ่นดิน” คนรุ่นใหม่คงไม่คุ้น แต่ถ้าอ่านเรื่องราวการเมือง ยุค 14 ตุลาคม 2516 ที่ยุติด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ศพผู้เสียชีวิตถูกกระทำย่ำยีด้วยความเกลียดชัง

ก็จะทราบว่าเพลงนี้ เป็นหนึ่งในเพลงที่ใช้รณรงค์ ต่อต้านการเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์ และขยายไปกล่าวหานักศึกษาและประชาชนในห้วงเวลาดังกล่าว

พร้อมๆ กับสื่อหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นได้แก่ ดาวสยามและหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ

และสื่อวิทยุที่มีวิทยุยานเกราะเป็นดาวเด่น

เพลงนี้ พ.อ.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2518 และเปิดตามวิทยุต่างๆ ประกอบการเสนอข่าว และรายการต่างๆ ที่มีเนื้อหาต่อต้านคอมมิวนิสต์ และกล่าวหาขบวนการนักศึกษาประชาชนไปพร้อมกัน

เพลงที่แต่งขึ้นเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ชูความรักชาติ และบทบาททหาร ยังมีอีกหลายเพลง ผู้ขับร้องเพลงชั้นแนวหน้าของเพลงเหล่านี้คือ สันติ ลุนเผ่

เพลงหนักแผ่นดิน มีเนื้อเพลง 3 ตอน เนื้อความโดยสรุปคือ ประณามคนไทยที่คิดทำลายชาติ เห็นหรือเหยียดคนไทยเป็นทาส

อีกท่อน โจมตีคนไทยที่ปลุกปั่นสร้างความแตกแยก โดยใช้ศัพท์ “ปลุกระดมมวลชน” ที่ฝ่ายขวายุคนั้นมักหยิบมาใช้โจมตีนักศึกษา ประชาชนและฝ่ายซ้าย

ท่อนสุดท้ายย้ำว่า คนไทยเหล่านี้ ขายชาติ ให้ต่างชาติบงการ เชื่อลัทธิ ก่อนจะเข้าท่อนที่ร้องย้ำว่า “หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน” ซึ่งกลายเป็นความนิยม

นำไปใช้ร้องกล่าวหากันในระหว่างคนไทยในยุคนั้น

ในภาพรวมต้องถือว่าเป็นเพลงฮิตที่ดังไปทั่วประเทศ เพราะเปิดทางวิทยุและโทรทัศน์เป็นประจำ ตามนโยบายของรัฐบาลและผู้มีอำนาจในยุคนั้น

เพลงใช้ภาษาง่ายๆ เข้าใจง่าย มีท่อนที่ร้องเป็นคอรัสที่ร้องตามได้ง่าย มีจังหวะจะโคนกระแทกกระทั้น เหมาะกับการร้องเป็นหมู่คณะ ด้วยอารมณ์บางอย่าง ที่สอดคล้องกับบรรยากาศ ที่เกิดความเห็นต่างครั้งสำคัญของสังคมไทย

โดยประณามฝ่ายที่เห็นไม่เหมือนตนเองว่า เป็นพวกไม่รักชาติรักแผ่นดิน รับแผนต่างชาติ ใช้ความเชื่อลัทธิมาทำลายชาติ ซึ่งก็คือ การกระทำที่ “หนักแผ่นดิน” นั่นเอง

หลังจากบ่มอุณหภูมิจนได้ที่ ด้วยข่าวสาร การเปิดแนวรบทางวัฒนธรรม ผ่านเพลง ละคร ภาพยนตร์ สุดท้าย จึงเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งถือเป็นโศกนาฏกรรมอีกครั้งของสังคมไทย นักศึกษา ประชาชนจำนวนมากหลั่งไหลเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

หลัง 6 ตุลาฯ เพลงเหล่านี้ลดบทบาทลงไป แต่ก็มีการรื้อฟื้นเป็นระยะๆ

เป็นอีกเพลงที่ยังคงนำมารับใช้ความขัดแย้งได้อย่างทรงพลัง แม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปีแล้วก็ตาม