การศึกษา / จับตา ปลุกผี ‘ครูใหญ่’ เรื่องเล็ก เป้าหมายใหญ่ ‘ปฏิรูปการศึกษา’

การศึกษา

จับตา ปลุกผี ‘ครูใหญ่’

เรื่องเล็ก เป้าหมายใหญ่

‘ปฏิรูปการศึกษา’

 

สะเทือนวงการครูอีกรอบ หลังกฤษฎีกาเห็นชอบปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … โดยเตรียมระบุไว้ในกฎหมาย ปรับการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มาเป็นออกใบรับรองความเป็นครู

และเสนอเปลี่ยนชื่อตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมาเป็นครูใหญ่

เหตุผลเพื่อให้การทำงานมีความชัดเจน โดยจะใช้ชื่อตำแหน่ง ‘ครูใหญ่’ กับสถานศึกษาทุกขนาด!!

ทั้งนี้ การใช้ชื่อตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ถูกเปลี่ยนในช่วงที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2546 ประกาศใช้แรกๆ จากเดิมชื่อตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาจะแบ่งตามขนาดโรงเรียน คือ โรงเรียนขนาดใหญ่ ใช้คำว่าผู้อำนวยการโรงเรียน ขนาดกลาง ใช้คำว่าอาจารย์ใหญ่ และโรงเรียนขนาดเล็ก ใช้คำว่าครูใหญ่

ผู้บริหารสถานศึกษาในขณะนั้นมองว่า การกำหนดชื่อตำแหน่งตามขนาดโรงเรียน ทำให้เกิดการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะ ทั้งที่เป็นผู้บริหารสถานศึกษาเช่นเดียวกัน จึงขอให้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนทั้งหมดทุกขนาด

แต่การกำหนดชื่อตำแหน่งเช่นนี้ ในต่างประเทศไม่มีใครใช้ ส่วนใหญ่จะใช้คำว่าครูใหญ่ หรือ Headmaster ซึ่งทำหน้าที่ดูแลครูและเด็กนักเรียนทุกคนอย่างใกล้ชิด บอกบทบาทหน้าที่ได้ตรงความหมายมากกว่า Director of the School หรือผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งเป็นคำที่ดูเหมือนมีเรื่องของอำนาจเข้ามาครอบ

เกิดเสียงสะท้อนดังมาจากแวดวงแม่พิมพ์ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย…

 

เจ้ากระทรวงอย่าง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อยากให้มองมุมใหม่ว่า ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา ที่ผ่านมาการศึกษาไทยพลาดเพราะเปลี่ยนคำเรียกจากครูใหญ่เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน มีหน้าที่อำนวยการ อำนวยความสะดวกในการทำงานให้กับโรงเรียนพร้อมกับเอื้ออำนวยให้เกิดการทำงานร่วมกัน ทำให้ความเป็นครูที่มีความใกล้ชิดกับนักเรียน ห้องเรียนหายไป ดังนั้น การที่นำครูใหญ่กลับเข้ามา เพื่อต้องการให้ครูใหญ่ที่มีประสบการณ์สอน ลงมาแนะนำครู และกลับมาใกล้ชิดห้องเรียนเหมือนเดิม

ขณะที่นักวิชาการอย่างนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกชัดว่า ไม่เห็นด้วย เพราะข้อเสนอดังกล่าวทำให้ภาพ ศธ.กลับมาสู่ความโบราณ สะท้อนวิธีคิดแบบอนุรักษนิยม ขณะที่โลกเดินหน้าไปสู่บทบาทใหม่ โดยการให้ครูมีใบอนุญาตฯ เป็นเรื่องที่มีความเหมาะสม และเข้ากับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ขณะที่การเปลี่ยนชื่อตำแหน่งกลับมาใช้ครูใหญ่ เหมือนกับย้อนไปสู่ยุคที่ผ่านมาแล้ว อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังไม่ถือเป็นสาระสำคัญที่จำเป็นจะต้องกำหนดไว้ในกฎหมายการศึกษาแห่งชาติเพราะยังมีปัญหาอื่นที่สำคัญมากกว่าการเปลี่ยนชื่อตำแหน่งให้ทำอีกมาก

ดังนั้น จึงค่อนข้างน่าผิดหวังที่มีการเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา

 

ขณะที่ น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ระบุว่า คำเรียกผู้อำนวยการโรงเรียนได้เปลี่ยนแปลงมา 3 ครั้งใหญ่ๆ เริ่มแรกเปลี่ยนจากครูใหญ่ เป็นอาจารย์ใหญ่ และเปลี่ยนมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งให้ความหมายว่า อำนวยการ อำนวยความสะดวกในการทำงานให้กับโรงเรียน แต่คำถามคือมีเหตุผลอะไรที่เปลี่ยนกลับมาเป็นครูใหญ่ แม้อาจดูศักดิ์สิทธิ์ แต่ต้องถามว่า การเปลี่ยนกลับไปกลับมา ส่งผลอะไรต่อคุณภาพการศึกษา เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่ควรทำ

การกลับไปกลับมา ไม่เกิดประโยชน์ต่อคุณภาพการศึกษา การศึกษาที่หลายประเทศได้ทำ คือทำเรื่องเดียวเท่านั้น คือปฏิรูปครู ต้องเริ่มตั้งแต่การคัดเลือก การผลิตครูที่มีคุณภาพ และพัฒนาดูแลครูจนเกษียณอายุ หลายประเทศทุกอาชีพมีค่าเฉลี่ยเงินเดือนที่เท่ากัน แต่อะไรเป็นแรงจูงใจให้คนมาประกอบอาชีพครู งานวิจัยในสายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ระบุชัดเจนว่าเงินเดือนเป็นปัจจัยจูงใจ และปัจจัยค้ำจุนที่จะดึงคนเข้ามา ฉะนั้น ทำไมไม่เดินหน้าทำให้ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงที่ไม่ใช่ใครก็มาเป็น ต้องผ่านการคัดเลือก ผ่านการผลิต และต้องครองตนอย่างดีเพื่อประกอบอาชีพนี้ได้ โดยรัฐบาลต้องดูแลวิชาชีพครูอย่างดี เพราะทุกคนได้ดีเพราะครู

ดังนั้น ปัจจุบันควรตั้งคำถามว่า ครูและอาจารย์ทุกระดับชั้น ไม่ว่าประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัย มีปัญหาอะไร และรัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร ไม่ใช่เปลี่ยนชื่อผู้อำนวยการเป็นครูใหญ่ ซึ่งไม่มีนัยหรือความหมายอะไรในการปฏิรูปการศึกษา หรือจะทำให้การศึกษาดีขึ้น

 

ขณะที่นายอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เห็นคล้ายกันว่า เป็นเรื่องเล็กมาก แม้จะเปลี่ยนคำเรียกจากผู้อำนวยการโรงเรียนมาเป็นครูใหญ่ แต่คำถามคือ รูปแบบและระบบการทำงานจะเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ เดิมผู้อำนวยการโรงเรียนคือผู้ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการทำงานร่วมกัน สนับสนุนทุกอย่างในโรงเรียนให้ทำงานไปด้วยดี แต่ขณะนี้ผู้อำนวยการโรงเรียนทำหน้าที่รับฟังคำสั่งจากส่วนกลาง ถอยออกมาจากห้องเรียน ดังนั้น หากต้องการใช้คำว่าครูใหญ่ เพื่อใกล้ชิดห้องเรียน ลงมาทำหน้าที่แนะนำครู ก็ถือเป็นเรื่องที่สังคมอาจจะรับฟัง แต่ถ้าเปลี่ยนแล้วระบบการทำงานเหมือนเดิม คือเน้นการบริหารโรงเรียน และทำตามคำสั่งจากส่วนกลาง ก็ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

แม้เป็นเรื่องเล็ก แต่ก็ถือเป็นการเปลี่ยนครั้งสำคัญ เพราะคำที่เปลี่ยนไป ย่อมหมายถึงบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน หากการกลับมาใช้คำว่าครูใหญ่ จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูและศิษย์ใกล้ชิดกันมากขึ้น เพิ่มความสุขให้ห้องเรียน ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย

   ในทางกลับกัน หากเปลี่ยนแล้วแต่ระบบการทำงานและความคิดของคนยังคงเหมือนเดิม แม้จะเรียกว่าครูใหญ่ ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น…