เศรษฐกิจ / เอกชน ‘จ๊าก’ เจอบาทแข็ง-ค่าจ้างพุ่ง จับตาเศรษฐกิจปีหมูโดนกระทบชิ่ง

ศรษฐกิจ

 

เอกชน ‘จ๊าก’ เจอบาทแข็ง-ค่าจ้างพุ่ง

จับตาเศรษฐกิจปีหมูโดนกระทบชิ่ง

 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาภาคเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกต่างมีอาการผวา หลังกระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขการส่งออกไทยเดือนมกราคม 2562 พบว่ามีมูลค่าเพียง 18,994 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 5.7% แต่กระทรวงพาณิชย์กลับตั้งเป้าหมายทั้งปีสูงถึง 8% จากปีที่ผ่านมาการส่งออกของไทยขยายตัว 6.7%

สาเหตุที่การส่งออกเดือนแรกของปีรูดไปพอสมควร มีสาเหตุมาจาก 5 ปัจจัยหลักคือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ราคาน้ำมันโลกลดลงกระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ทองคำลดลง ปัญหาการส่งออกรถยนต์ไม่ทันคำสั่งซื้อ และค่าเงินบาทแข็งค่าจนกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร

พลันที่ตัวเลขออกมาชัดเจน สอบถามไปยังภาคเอกชน ทั้งสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ต่างแสดงความกังวล ส่วนใหญ่มองการส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวไม่น่าเกิน 4-5%

เลวร้ายสุดคือขยายตัว 0%

และบางฝ่ายเริ่มแสดงความกังวลว่าหากตัวเลขการส่งออกที่เป็นรายได้หลักของประเทศขยายตัวไม่มาก อาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งกระทบต่อการลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน ตลอดจนการท่องเที่ยว

ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลโดยคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) ยังเตรียมขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเตรียมเคาะเดือนมีนาคม เพื่อมีผลเดือนเมษายน ซึ่งผลจากการปรับขึ้นค่าจ้างน่าจะมีผลดีต่อฟากรัฐบาลที่กำลังเข้าสู่สนามการเลือกตั้งพอดิบพอดี

 

จากความกังวลต่อตัวเลขการส่งออก ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์จัดประชุมร่วมกับภาคเอกชนและผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมหลัก อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเลและอาหารทะเลแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ เครื่องหนัง และเครื่องสำอาง เพื่อประเมินสถานการณ์ส่งออกไตรมาส 1 ปี 2562 ที่กระทรวงพาณิชย์

โดยกระทรวงพาณิชย์ยอมรับหลังการประชุมว่า เอกชนแสดงความกังวลและต้องการให้ภาครัฐเร่งเข้ามาดูแล คือผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าเร็วและผันผวน และผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ และมีข้อเสนอเกี่ยวกับแผนการส่งเสริมการส่งออกให้โฟกัสกลุ่มสินค้าที่สอดรับกับตลาดผู้ซื้อ

หากดูย้อนหลัง 3 ปีจะพบว่า ไตรมาสแรกตัวเลขส่งออกจะชะลอตัวหรือติดลบ ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมตัวเลขจะดีขึ้นหรือหากติดลบก็ไม่สูงเท่าเดือนมกราคม

กระทรวงพาณิชย์จึงคงตัวเลขส่งออกปลายอุโมงค์ทั้งปี 2562 ไว้ที่ 8%

 

ด้านเอกชนอย่างนายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานภาคเอกชน ยอมรับว่า การส่งออกไทยปีนี้น่าจะขยายตัวได้เพียง 3%

ตัวเลขดังกล่าวมาจากความกังวล 2 ปัจจัยหลักที่กระทบต่อการส่งออก คือ

  1. บาทแข็งค่าเกินไป จะกระทบต่อต้นทุน กำไรลดลงหรืออาจถึงขั้นขาดทุน หากยังปล่อยให้บาทแข็งค่าหลุด 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

และ 2. การปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ โดยที่รัฐไม่ได้คำนึงถึงผลการหารือของเอกชน ซึ่งผลหารือด้านจ้างแรงงาน มี 40 จังหวัดเสนอให้คงในอัตราจ้างเดิม ซึ่งในส่วนนี้มีแรงงานต่างด้าว 6-7 ล้านคนเกี่ยวข้องด้วย และหากรัฐจะปรับต้องให้เวลาเอกชนเตรียมพร้อมก่อน 1 ปี เพื่อมีเวลาในการวางแผนต้นทุนและการเสนอราคาขายในต่างประเทศ

ด้านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2562 ว่าจะเติบโต 4.0% หรือในกรอบ 3.5-4.5% ปัจจัยบวกหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง และคาดการณ์แรงส่งเศรษฐกิจด้านการส่งออกปีนี้จะเติบโต 4.1%

 

ส่วนนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ก็ยอมรับว่าภาคเอกชนมีความกังวลเรื่องการแข็งค่าของเงินบาทที่ลดลงต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญและอาจส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคอาเซียน 2.73% เทียบกับอินโดนีเซียแข็งค่า 2.29% เวียดนามแข็งค่า 0.3% ไทยเป็นรองแค่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่แข็งค่า 3%

“ยอมรับว่าอึดอัดมาก เพราะไทยต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นรายได้หลักของประเทศ หากปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องโดยไม่ทำอะไร อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในระยะต่อไปด้วย โดยขณะนี้ภาคเอกชนกำลังติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด หากเงินบาทแข็งค่าหลุด 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ก็คงต้องขอหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แน่นอน” นายสุพันธุ์ระบุ

นอกจากติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด ส.อ.ท.ยังมีการสำรวจผลกระทบจากปัญหาเงินบาทแข็งค่ารวดเร็วในกลุ่มสมาชิก พบ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย 1.เซรามิก 2.กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ 3.เครื่องปรับอากาศ 4.สิ่งทอ 5.หนัง 6.พลาสติก 7.ไฟฟ้า 8.ปิโตรเคมี 9.เครื่องสำอาง

และ 10.เครื่องนุ่งห่ม

 

ฟากหน่วยงานวิเคราะห์ ทั้งศูนย์วิจัยกสิกรไทยและศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี อีไอซี) ต่างคาดการณ์ตัวเลขส่งออกไทยปีนี้ไม่ถึง 5%

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์การส่งออกสินค้าไทยอยู่ที่ 4.5% และมองว่าการส่งออกสินค้าไทยจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 3 ไตรมาสหลัง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนมีสัญญาณที่ดีขึ้นมากกว่าที่ประเมินไว้ในช่วงก่อนหน้า แต่ยังต้องติดตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและสหภาพยุโรป

ขณะที่เอสซีบี อีไอซี คาดการณ์การส่งออกจะขยายตัว 3.4% เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะขยายตัวชะลอลง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบโลกที่คาดว่าจะมีทิศทางทรงตัว ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและเคมีภัณฑ์ให้มีทิศทางชะลอลงเช่นกัน นอกจากนี้อาจได้รับผลกระทบมากขึ้นจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมที่เริ่มใช้ในปีก่อนหน้า

โดยยังต้องติดตามท่าทีของทางจีนและสหรัฐ

 

นอกจากค่าเงินบาทที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ประเด็นเตรียมขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็เป็นอีกสิ่งที่เอกชนผวาเพิ่มขึ้น ภายหลังคณะอนุกรรมการค่าจ้างฝ่ายวิชาการ ที่มี นพ.สุรเดช วลีอิทธกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ได้มีการประชุมหารือตัวเลขอัตราค่าจ้างตามที่คณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดเสนอ และมีมติว่าให้ปรับขึ้นค่าจ้างทั่วประเทศในอัตราที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 2-10 บาท

โดย 49 จังหวัดที่ไม่เสนอตัวเลข จะปรับขึ้นให้ 2 บาท ส่วนอีก 28 จังหวัด ที่เสนอตัวเลข แบ่งเป็นขึ้น 10 บาท 3 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และภูเก็ต ขึ้น 7 บาท มีเพียงจังหวัดสิงห์บุรี ขึ้น 5 บาท อาทิ เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ระยอง นครราชสีมา ขึ้น 4 บาท อาทิ นราธิวาส ชัยภูมิ และขึ้น 3 บาท อาทิ ราชบุรี สุราษฎร์ธานี เพชรบูรณ์ โดยบอร์ดค่าจ้างจะมีการพิจารณาในขั้นสุดท้ายวันที่ 13 มีนาคมนี้

จากทิศทางลมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำช่วงเลือกตั้งหลายฝ่ายฟันธงขึ้นแน่ เอกชนทำได้เพียงเข้าใจและยอมรับ การเรียกร้อง ธปท.เข้ามาดูแลเงินบาทจึงน่าจะเป็นเรื่องที่เอกชนฝากความหวังไว้มากที่สุด แต่จะดีมากหากเอกชนมีการเตรียมแผนรับมือเองด้วย

  เพื่อผลักดันเศรษฐกิจปีหมูเติบโตตามเป้าหมาย!!!