กรองกระแส / 2 กลุ่ม 2 แนว เผด็จการ ประชาธิปไตย เก่า ปะทะ ใหม่

กรองกระแส

2 กลุ่ม 2 แนว

เผด็จการ ประชาธิปไตย

เก่า ปะทะ ใหม่

 

การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 เด่นชัดมากยิ่งขึ้นว่าเป็นการปะทะระหว่างกลุ่มความคิด 2 กลุ่มออกมาอย่างเด่นชัด

เหมือนกับ 1 เป็นกลุ่มที่มากับ “รัฐประหาร”

เหมือนกับ 1 เป็นกลุ่มที่ได้รับผลสะเทือนจาก “รัฐประหาร”

ที่น่าสนใจก็คือ ความคิด 2 กลุ่มนี้ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในห้วงนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ไม่ว่าจะเรียกตนเองว่าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเรียกตนเองว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ว่าจะเรียกตนเองว่าพรรคประชาชนปฏิรูป ไม่ว่าจะเรียกตนเองว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเรียกตนเองว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเรียกตนเองว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าจะเรียกตนเองว่าพรรคชาติพัฒนา

ไม่ว่าจะเรียกตนเองว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเรียกตนเองว่าพรรคไทยรักษาชาติ ไม่ว่าจะเรียกตนเองว่าพรรคประชาชาติ ไม่ว่าจะเรียกตนเองว่าพรรคเพื่อชาติ หรือแม้กระทั่งที่เรียกตนเองว่าพรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน

ล้วนหนีไม่พ้นไปจาก 2 กลุ่มความคิดคือ กลุ่มที่มีความโน้มเอียงไปในทางรัฐประหาร กับกลุ่มที่มีความเด่นชัดว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

นี่คือความคิดใหญ่ 2 ความคิดที่ดำรงอยู่ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา

 

ความคิด เผด็จการ

ความคิด ประชาธิปไตย

 

ความโน้มเอียงในทางสังคมไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารก่อนเดือนกันยายน 2549 กับรัฐประหารหลังเดือนกันยายน 2549 ก็คือ

ความโน้มเอียงที่จะแยกจำแนกระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย

ความเคยชินประการหนึ่งก็คือ ภายหลังการรัฐประหารทุกครั้ง สภาพที่ตามมามักจะโน้มเอียงไปทางเผด็จการมากกว่าประชาธิปไตย

กระแสความเรียกร้องต้องการ “การเลือกตั้ง” จึงขึ้นสูง

ด้วยความหวังว่าการเลือกตั้งเป็นความหวัง การเลือกตั้งเป็นทางออก จากความเป็นเผด็จการไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

ความเคยชินประการหนึ่งก็คือ ฝ่ายที่ได้อำนาจมาด้วยการรัฐประหารและดำรงการปกครองในแบบเผด็จการอย่างเป็นด้านหลัก มักจะยื้ออยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดเท่าที่จะยาวนานได้ หรือแม้จะมิอาจทนต่อกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยก็มักจะร่างกฎกติกาที่ต้องการรักษาอำนาจของตนเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

รัฐประหารกับเผด็จการจึงถูกเรียกขานในลักษณะเหมือนกับเป็นไวพจน์และมีความใกล้เคียงกัน ขณะที่การเลือกตั้งกับประชาธิปไตยจะเป็นอีกองค์เอกภาพหนึ่งเปรียบเทียบ

 

การต่อสู้ความคิด

ระหว่างใหม่กับเก่า

 

การต่อสู้ในทางความคิดผ่านกระบวนการรัฐประหาร ผ่านกระบวนการต่อต้านรัฐประหาร จึงนำไปสู่ชุดความคิด 2 ความคิดเสมอ

1 ความคิดนิยมชมชอบรัฐประหาร 1 ความคิดไม่นิยมชมชอบรัฐประหาร

1 ความโน้มเอียงที่จะนำเอาวิธีการแบบเผด็จการมาเป็นเครื่องมือ 1 ความโน้มเอียงที่จะนำวิธีการแบบประชาธิปไตยมาเป็นเครื่องมือ

ผ่านรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ก็เห็นชัด

ผ่านรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ยิ่งเห็นได้ชัดว่าได้เกิดการตั้งทัพ 2 ทัพเข้าสัประยุทธ์กันในทางความคิด

กลายเป็นการปะทะกันระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย

กลายเป็นการปะทะกันระหว่างความคิดเก่ากับความคิดใหม่ และสะท้อนผ่านกระบวนการต่อสู้ของแต่ละพรรคการเมือง

บางพรรคก็แจ่มชัด บางพรรคก็คลุมเครือ

 

หนทางพิสูจน์ม้า

กาลเวลาพิสูจน์คน

 

กระบวนการในการต่อสู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสนามการเลือกตั้งนั่นแหละที่ไม่เพียงแต่จะพิสูจน์สถานะและความเป็นจริงของพรรคการเมือง หากแต่ยังพิสูจน์สถานะและความเป็นจริงของนักการเมือง

บนเวทีปราศรัย บนเวทีดีเบต ในความเคลื่อนไหว

สภาพความเป็นจริงของแต่ละพรรคการเมืองก็จะเผยตัวตนออกมา สภาพความเป็นจริงของแต่ละนักการเมืองก็จะเผยตัวตนออกมา

สะท้อนให้เห็นความคิดเก่า สะท้อนให้เห็นความคิดใหม่

สะท้อนให้เห็นความโน้มเอียงไปในทางรัฐประหาร โน้มเอียงไปในทางเผด็จการ สะท้อนความโน้มเอียงไปในทางเห็นความเลวร้าย เสื่อมทรามของการรัฐประหาร สะท้อนความโน้มเอียงให้เห็นความยอดเยี่ยมของการเลือกตั้ง

ยากเป็นอย่างยิ่งที่แต่ละพรรคการเมือง แต่ละนักการเมือง จะปิดบังอำพรางจากสายตาที่เฝ้ามองของประชาชน

  การเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการกลั่นกรองและเลือกสรรอันทรงความหมายในทางการเมือง