คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “กุมภเมลา” อภิมหาเทศกาล ของฮินดูและของโลก

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 นี้ มิตรสหายหลายท่านเดินทางไปอินเดีย โดยเฉพาะสายช่างภาพ

ผมถามเขาว่าไปดูอะไรกัน

เขาบอกว่าสายช่างภาพต่างพากันพูดถึงเทศกาล “กุมภเมลา” ที่มันตื่นตาตื่นใจ น่าไปเก็บภาพเสียเหลือเกิน

ก็ขนาดสถิติว่าเป็นงานชุมนุม (ทางศาสนา) ที่มีคนไปมากที่สุดในโลก เช่น ในปี 2013 มีบันทึกว่าตลอดสองเดือนที่จัดงานมีคนไปร่วมถึง 120 ล้านคน!

เฉพาะวันที่สำคัญที่สุดคือวันเมานิอมวาสยะวันเดียว ก็มีผู้มาร่วมในงานนั้นถึงสามสิบล้านคนแล้ว!

พวกเราคงจินตนาการแทบไม่ออกว่า เมืองที่มีคนจำนวนเกือบสองเท่าของประชากรไทยทั้งประเทศมาชุมนุมกันจะเป็นอย่างไร

ไม่นับการ “ออกร้าน” ของคุรุในทุกสำนักนิกายเกือบทั้งหมดของศาสนาฮินดู

การแห่แหนยาวเหยียดของ “นาคสาธุ” ผู้เปลือยกาย และการลงอาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์พร้อมๆ กัน ฯลฯ

โอย เหล่าช่างภาพแค่คิดก็ฟินแล้วละครับ ส่วนคนธรรมดาอย่างเราๆ นั้นหากได้ไปเยือนคงเห็นเป็นอัศจรรย์ ว่างานอะไรทำไมผู้คนจึงมากมายเพียงนี้

 

กุมภเมลา แปลว่างานเทศกาลหม้อน้ำ “กุมภะ” หมายถึงหม้อน้ำซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางโหราศาสตร์ อันหมายถึงราศีกุมภ์ ส่วน “เมลา” แปลว่าการชุมนุม การรวมตัวหรือหมายถึงเทศกาล

งานนี้จัดในสี่เมืองซึ่งมีแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ไหลผ่าน ได้แก่ “หริทวาร” ซึ่งมีแม่น้ำคงคาไหลผ่าน “ประยาค” (หรืออัลลาหบาท ในปัจจุบัน) มี “ตริเวณีสังคัม” หรือน้ำศักดิ์สิทธิ์สามสายมารวมกัน ได้แก่ คงคา ยมุนา และสรัสวตี (ปัจจุบันไม่มีแล้ว หรือเชื่อกันว่าเป็นน้ำใต้ดิน) “อุชเชน” มีแม่น้ำศิประ และ “นาสิก” ซึ่งมีแม่น้ำโคทาวารีไหลผ่าน

งานนี้จะจัดทุกสิบสองปี ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า “ปูรณกุมภเมลา” หรือกุมภเมลาสมบูรณ์ หมุนเวียนไปตามสถานที่จัดทั้งสี่เมือง

หากแต่ในระหว่างนั้น จะมี “อรธกุมภเมลา” หรือกุมภเมลาครึ่ง ซึ่งจะจัดหกปีครั้ง

แต่เนื่องจากมีสี่สถานที่ ก็มักเกิดงานกุมภเมลาห่างกันประมาณสามปี และ “มหากุมภเมลา” คือ ปูรณกุมภเมลาจำนวนสิบสองครั้ง

นั่นแปลว่ามหากุมภเมลาจะจัดขึ้นทุกๆ หนึ่งร้อยสี่สิบสี่ปี

บางครั้งก็อาจเรียกกันง่ายๆ ว่างานทุกสิบสองปีคือมหากุมภเมลา และเรียกงานครึ่งหนึ่งว่ากุมภเมลา

การกำหนดวันสำคัญ ใช้วิธีทางดาราศาสตร์ เป็นต้นว่า เมื่อดาวพฤหัสบดียกเข้าสถิตในราศี “กุมภ์” ก็จะนับเป็นกุมภเมลาของหริทวาร หรือพฤหัสบดียกเข้าในราศีสิงห์ก็จะเป็นกุมภเมลาที่นาสิก เป็นต้น

กิจกรรมหลักๆ ของงานนี้ คือการเดินทางแสวงบุญของศาสนิกชน และบรรดา “นาคสาธุ” นาคสาธุเป็นนักบวชเปลือยซึ่งปกติจะอาศัยอยู่ตามเทือกเขาหิมาลัย เพื่อมาลงอาบน้ำในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ โดยเชื่อว่าจะสามารถจะชำระบาปได้

นอกจากนั้นยังเป็นโอกาสสำคัญในการพบปะคุรุครูบาอาจารย์ใหญ่ๆ เพื่อฟังเทศน์ฟังธรรม การอภิปรายทางศาสนาที่เรียกว่า “ประวจนะ” การบวช การแสดงดนตรีทางศาสนา บ้างก็มาแล้วก็ได้โอกาสทำบุญให้ทานอย่างขนานใหญ่แก่เหล่านักบวชและคนยาก รวมทั้งงานบริการที่เรียกว่า “เสวา”

คนส่วนมากพำนักในกระโจมครับ ซึ่งมีการจองล่วงหน้า หรือบางครอบครัวอาจจองกับผู้จัดมาเป็นชั่วอายุคนก็มี ส่วนคุรุต่างๆ ก็จะพากันมาตั้งสำนักชั่วคราวในงานนี้อย่างมากมาย พร้อมกิจกรรมนานาชนิด

พูดอีกอย่างว่า เป็นโอกาสสำคัญในการประชาสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายและสร้างบารมีของสำนักต่างๆ อีกทางหนึ่ง

 

กุมภเมลาเก่าแก่เพียงใดไม่ทราบได้ แต่มีปรากฏในบันทึกของพระเสวียนจ้างหรือพระถังซำจั๋ง และว่ากันว่า กุมภเมลาที่เมืองประยาคนั้นเก่าแก่ที่สุด

การเกิดขึ้นและความโด่งดังของกุมภเมลามีส่วนประกอบหลายอย่าง ส่วนมากมักอ้างอิงตำนานในคัมภีร์ปุราณะ คือเรื่อง “กวนเกษียรสมุทร” ว่าครั้นเมื่อเทพเจ้าและอสูรกวนเกษียรสมุทรได้แล้ว เทพธันวันตริเจ้าแห่งแพทย์ ได้ทูน “กุมภะ” หรือหม้อน้ำอมฤตออกมาจากเกษียรสมุทร แล้วอุ้มหม้ออมฤตหนีพวกอสูร โดยพักวางลงในสี่ตำบล คือ ประยาค หริทวาร นาสิก (ตรยัมพกะ) และอุชเชน จึงกลายเป็นบุณยสถาน

แต่นักวิชาการเห็นว่าการยกตำนานในปุราณะไปเพื่อเชื่อมโยงกับเทศกาลกุมภเมลาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในภายหลังมากๆ

นอกจากนี้ บทบาทสำคัญในการจัดเทศกาลกุมภเมลาอยู่ในกลุ่มนักบวช “อขาฒา” (akhara) ซึ่งเป็นชื่อของกลุ่มนิกายย่อยในบรรดาสิบนิกาย (ทศนามี) ของนักบวชที่อาทิศังกราจารย์รวบรวมขึ้นไว้ และยังเป็นชื่อกลุ่มสายสืบทอดการฝึกศิลปะป้องกันตัวของอินเดียด้วย

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะนักบวชอขาฒานอกจากฝึกฝนในทางจิตใจแล้ว ยังฝึกฝนในทางร่างกาย จึงถูกจัดเข้าในพวก “อัสตรธารี” หรือนักบวชที่ถืออาวุธได้ พวกนาคสาธุจึงถือดาบหรือถือตรีศูลเพื่อปกป้องพวกนักบวชในหมู่คณะตนหรือชาวฮินดูโดยทั่วไป

ว่ากันว่านักบวชกลุ่มนี้มีที่มาจากการต่อต้านการรุกรานชาวฮินดูจากความเชื่ออื่นๆ พวกนาคสาธุทคือนักบวชอขาฒานั่นเองครับ แต่เรียกกันว่านาคสาธุอันเป็นคำลำลอง

 

ที่จริงกุมภเมลาก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการนำประเพณีเก่ามาปัดฝุ่นสร้างความหมายใหม่ การที่นาคสาธุมีบทบาทหลักในงานนี้ทำให้มีการอ้างว่า กุมภเมลาเป็นงานเทศกาลที่อาทิศังกราจารย์ดำริขึ้นเพื่อให้เกิดการรวมตัวกันของนักบวชในนิกายต่างๆ ของศาสนาฮินดู

กระนั้นกุมภเมลาก็เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างนิกายจนมีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก เช่น ในช่วงที่เปศวาปกครองรัฐมาราฐาอยู่นั้น นักบวชในไศวะนิกายและไวษณพนิกายปะทะกันในงานกุมภเมลาที่ตระยัมพกะ ผู้ปกครองเปศวาต้องระบุให้ไวษณวะนิกายลงอาบน้ำที่ท่ารามกุณฑ์เมืองนาสิก ในขณะที่พวกไศวะลงอาบยังท่าตระยัมพกะตามเดิม

ในยุคการปกครองของมุสลิมแห่งราชวงศ์โมกุลและการปกครองของอังกฤษ งานกุมภเมลาเริ่มมีนัยทางการเมือง ในปี 1861และปี 1872 นิรมาลาสาธุพากันจาริกด้วยร่างกายเปล่าเปลือย เพื่อไปจัดงานกุมภเมลาที่เมืองนาสิก แต่ถูกยับยั้งโดยอังกฤษ เพราะละเมิดกฎเรื่องความสงบเรียบร้อยและกฎหมายห้ามเปลือยกายในที่สาธารณะ

กระนั้นเหล่าสาธุยังคงเดินหน้าจัดงานกุมภเมลาต่อไป

 

ปัจจุบันกุมภเมลาคืออภิมหาเทศกาลที่ดึงดูดผู้คนจำนวนมหาศาล ทั้งนักแสวงบุณย์และนักท่องเที่ยว จำนวนเม็ดเงินที่สะพัดอย่างมากมาย จึงไม่ใช่งานของฝ่ายศาสนาเพียงอย่างเดียวแต่มีหน่วยงานราชการและหลายองค์กรเข้าไปจัดการในส่วนต่างๆ

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือการที่ผู้คนสามารถไปยังงานกุมภเมลาด้วยวัตถุประสงค์หลากหลายโดยมิได้เป็นเรื่องทางศาสนาเพียงอย่างเดียว นับแต่ฝรั่งไปหากัญชาราคาถูกๆ สูบ (ซึ่งมีแพร่หลายในงานนี้ เพราะสาธุส่วนหนึ่งนิยมใช้เป็นสมุนไพร) ช่างภาพไปเก็บภาพชีวิต นักทำภาพยนตร์และสารคดี คนค้าขาย บริษัททัวร์ ฯลฯ

ความมีชีวิตชีวาและพื้นที่ของความหลากหลายที่ “จริง” โดยไม่ต้องไปปรุงแต่งเพื่อโชว์นักท่องเที่ยวนี่เอง

ยิ่งทำให้กุมภเมลาดึงดูดผู้คนมากขึ้นทุกๆ ปี โดยไม่ต้องเสียงบโปรโมตจากองค์กรการท่องเที่ยวใดๆ