มนัส สัตยารักษ์ | วิพากษ์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ผมไม่ได้สนใจ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เท่าไรนัก แต่เดิมคิดว่าเป็นเรื่อง “ขายฝัน” ของ คสช. อายุผมผ่าน 82 ปีมาแล้ว จึงคิดแบบชาวพุทธว่า คงดูงี่เง่าเกินไปหากจะรอฝันหวานเอาตอนอายุ 90 หรือ 100 ปี

อย่างไรก็ตาม ผมต้องสนใจบ้างอยู่ดี เพราะ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และผมยังมีชีวิตอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้

มาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญบอกว่า “ให้รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อเกิดพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว”

นอกจากนี้ ในคำนำหนังสือ “ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 (ฉบับย่อ)” ของสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า…

“ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน”

อย่างไรก็ตาม (อีกครั้ง) เมื่อผมฟังคำอธิบายหรืออ่านข้อเขียนหรือดูชาร์ตของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ซึ่งเต็มไปด้วยศัพท์ทางวิชาการสมัยใหม่ ผมตามไม่ทันจนเกิด “ปมด้อย” ของคนโบราณวุฒิน้อย ผมเลยเลิกสนใจไปอีกครั้งหนึ่ง

ในเอกสารถือว่าเรื่อง “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เป็นเรื่องสำคัญ เป็นแผนแม่บทของประเทศ ซึ่งรัฐบาลตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 ถึง 2580 (จะชุดไหนก็ตาม) ต้องนำไปสู่การปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ เพื่อให้ประเทศบรรลุ “วิสัยทัศน์”

ถ้ารัฐบาลใดไม่ปฏิบัติย่อมจะมีความผิด คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอาจนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาความผิดได้

หรืออีกนัยหนึ่ง รัฐบาล (จะชุดไหนก็ตาม) ต้องมีและใช้ “วิสัยทัศน์ของคณะกรรมการยุทธศาสตรชาติ” และไม่จำต้องมีวิสัยทัศน์เป็นของตัวเอง

ถ้าผมสนใจวิสัยทัศน์ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หรือรัฐบาลชุด คสช. ผมก็ต้องค้นคว้าหาเอาเองจากเอกสารซึ่งรวบรวมไว้ได้กว่า 3,000 หน้ากระดาษ ผมคิดว่าคนอายุ 82 จะมาค้นคว้าทำความเข้าใจเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ก็เหมือนกับพยายามทำความเข้าใจกับประเทศ “ยูโทเปีย” หรือคำสอนของพระศรีอาริย์ซึ่งเป็น “นามธรรม”

และเมื่อพูดถึง “วิสัยทัศน์” ผมดันนึกไปถึง ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีประเทศสิงคโปร์ ผู้มีวิสัยทัศน์ที่เป็น “รูปธรรม” จับต้องได้ ผมไม่แน่ใจว่าเราจะเข้าใจคำว่า “วิสัยทัศน์” ตรงกันหรือเปล่า

ผมเบือนหน้าหนีจาก “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ไปอีกหนหนึ่ง

หลังจากราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) ในเดือนตุลาคม 2561 มีข่าวว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เลื่อนฐานะเป็นบทเรียนในสถานศึกษาหลายแห่งและหลายระดับ มีการสอบทำคะแนนในฐานะเป็นวิชาสำคัญ

ทำให้นึกถึงภาพ ลี กวน ยู ปลุกเร้าเด็กและเยาวชนสิงคโปร์ให้ใช้ภาษาอังกฤษและบทเรียนสมัยใหม่ของโลก

ทำให้ผมไปอ่านฉบับย่อ (ที่อ้างถึงข้างต้น) อีกครั้ง เป็นหนังสือมีความยาวประมาณ 20 หน้า อาจจะดูรวบรัด แต่ฉบับสมบูรณ์ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีความยาวถึง 74 หน้า…ยาวเกินกว่าสมองของคนโบราณจะเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์ทั้งหมด

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้แยกออกเป็นด้านต่างๆ 6 ด้าน คือ

ยุทธศาตร์ชาติด้านความมั่นคง, ด้านความสามารถในการแข่งขัน, ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์, ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม, ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบจัดการภาครัฐ

ในแต่ละด้านของยุทธศาสตร์ แยกย่อยบอกรายละเอียด ความหมายและวิธีการ ด้านละประมาณ 4 ถึง 8 ข้อย่อย ไม่เปิดโอกาสให้คนไทยหลังปี 2562 ใช้วิสัยทัศน์หรือใช้สมองคิดยุทธศาสตร์ที่อาจจะล้ำหน้ากว่าเลย

ที่สำคัญก็คือ ในหลายต่อหลายหัวข้อ รัฐบาล คสช.ไม่ได้ทำหรือทำอย่างตรงกันข้ามกับยุทธศาสตร์ที่ตัวเองคิดและเขียนขึ้นมา ตลอด 4 ปีกว่า จนถึงปี 2561!

ทำให้ผมนึกถึงบทเรียนและข้อสอบในวิชาหนึ่งของหลักสูตร “สารวัตร-ผบ.กอง” กรมตำรวจ จริยวัตรของผู้สอนทำให้ผมยอมสอบตก เพราะไม่ยอมท่องจำหัวข้อต่างๆ 15 หัวข้อใหญ่ ที่แยกย่อยออกไปเป็นหัวข้อย่อยอีก 5 หัวข้อ

กล่าวถึง “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” นี้ก็เช่นกัน ในใจผมก็ได้แต่ปลงว่า “ช่างหัวมันเถอะ”

ในคืนที่ “ทีวีไทยรัฐ” ดำเนินรายการ “ดีเบตหัวหน้าพรรคการเมือง 7 พรรค” (11 กุมภาพันธ์ 2562) ผมเห็นว่าทุกท่านต่างพูดได้ดีทั้งสิ้น ทั้งเนื้อหาและลีลาท่าทาง

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค “อนาคตใหม่” ซึ่งผมตั้งการ์ดไว้ว่า คนโบราณ อดีตข้าราชการอย่างผมควรจะอยู่ห่างๆ ไว้สักหน่อย แต่ผมก็สนใจฟังที่เขาพูด

นายธนาธรพูดถึงความไม่ชอบมาพากลของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 อย่างค่อนข้างมีอารมณ์ บรรดาหัวหน้าพรรค รวมทั้งพิธีกรต่างนิ่งฟังอย่างสงบเงียบ มันเป็นเรื่องจริงที่ไม่มีใครกล้าเถียง

ผมตื่นเต้นเมื่อเขาพูดถึง “ที่มา” ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และตื่นเต้นมากยิ่งขึ้นเมื่อเขาพูดถึง “อำนาจและพลังที่เหนือกว่า” ของคณะกรรมการ อายุ 20 ปีชุดนี้

มันเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่พิกล มันไม่ใช่ฉบับแรกของไทย แต่เป็นฉบับแรกและฉบับเดียวของโลก!

ผมตัดสินใจได้หน้าจอทีวีว่า ใครจะเป็นรัฐบาล ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี -ก็ช่างเถอะ… แต่สภาผู้แทนราษฎรควรมีคนอย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เยอะๆ ก็แล้วกัน