ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 กุมภาพันธ์ 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
Muzak : ดนตรีสะกดจิตแห่งโลกทุนนิยม (จบ)
เสียงประกอบของโลกทุนนิยม
ในโลกทุนนิยม สำหรับ Muzak ถ้าเสียงดนตรีสามารถควบคุมแรงงานหรือ “วิถีการผลิต” ได้ มันก็ควรจะขยายขอบเขตไปสู่เรื่องของ “การทำกำไร” ได้เช่นกัน
ดังนั้นเอง การถือกำเนิดขึ้นของดนตรี Muzak ตามภัตตาคาร โรงแรม หรือห้างสรรพสินค้าจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ
เพราะเมื่อโปรแกรม Stimulus Progression สามารถเพิ่มผลผลิตในโรงงานได้ มันก็ควรจะมีวิธีการจัดโปรแกรมสำหรับดนตรีในร้านค้าหรือสถานประกอบการอื่นๆ เพื่อเพิ่มรายได้เช่นกัน
ในกรณีนี้ Muzak ค้นพบว่าเพลงบรรเลงที่ฟังง่าย ในอัตราจังหวะที่ช้า บรรเลงด้วยระดับเสียงค่อนข้างเบาจะสามารถทำให้ลูกค้าของห้างสรรพสินค้าหรือภัตตาคารรู้สึกผ่อนคลาย และใช้บริการอย่างช้าๆ สบายๆ ไปด้วย
ส่งผลให้ลูกค้าของห้างจับจ่ายซื้อของมากขึ้น เช่นเดียวกับที่ลูกค้าของภัตตาคารจะนั่งอยู่นานขึ้นและเรียกหาของหวานหรืออาหารเพิ่มเติม
ดังนั้น ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940 เป็นต้นมา คนส่วนใหญ่จึงเริ่มคุ้นเคยกับการได้ยินเสียงเพลงเบาๆ เรียบง่าย ไพเราะเป็นฉากหลังในชีวิตประจำวัน ทั้งในห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร สถานที่สาธารณะ หรือกระทั่งในรถราง ฯลฯ
และเพลงเรียบง่ายเบาๆ ฟังสบายๆ นี้ก็สร้างความคุ้นชินให้แก่ผู้คนทั่วไปจนเกิดเป็นความนิยมดนตรีประเภทใหม่ ที่นำมาสู่แนวคิดแบบดนตรีแบบ “Easy Listening”
เกิดการนำเพลงคลาสสิคมาเรียบเรียงใหม่ให้ฟังง่ายขึ้น
เกิดการนำเพลงป๊อปที่ดังๆ มาเรียบเรียงให้บรรเลงโดยวงเครื่องสาย (string orchestra) ในสไตล์ง่ายๆ ฟังสบายๆ
และเกิดกระแสความนิยมเพลงคลาสสิคแบบง่ายๆ ป๊อปๆ อย่าง F?r Elise ของเบโธเฟน ฯลฯ
โดยในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นยังมีการนำดนตรีประเภทฟังง่ายสบายๆ นี้มาใช้ในลิฟต์เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของผู้โดยสารแล้ว (เพราะในระยะแรกๆ การขึ้นลิฟต์ย่อมเป็นเรื่องน่าตึงเครียดพอสมควรทีเดียวสำหรับคนในยุคนั้น)
หรือนำมาใช้บรรเลงแทรกในระหว่างรอสายโทรศัพท์ก็มี
จนเพลงดนตรีในลักษณะนี้รู้จักกันโดยปริยายในอีกชื่อว่า “Elevator Music” (ดนตรีในลิฟต์) นั่นเอง
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะสำหรับชาวตะวันตกส่วนมากแล้ว ดนตรี (โดยเฉพาะดนตรีคลาสสิค) ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความทรงภูมิปัญญา ซึ่งผู้ฟังต้องฟังด้วยความตั้งใจ ด้วยภูมิความรู้ และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมตะวันตกที่น่าภาคภูมิใจ
แต่การที่ดนตรีกลายสถานะมาเป็นเพียงเสียงประกอบ (background music) นั้น ก็คือการลดทอนคุณค่าของดนตรีลงจนกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย ไร้คุณค่า ที่ใครจะใส่ใจหรือไม่ใส่ใจก็ได้
ความนิยมในดนตรีแบบ Easy Listening ที่บังเกิดขึ้นด้วยแนวคิดของ Muzak นี้ จึงถือได้ว่าเป็นกระแสความคิดที่หักล้างกับค่านิยมแบบเก่าโดยสิ้นเชิง
วิญญาณของดนตรีที่แปดเปื้อน
ในมังงะเรื่อง 20th Century Boys เมื่อตัวละครเอกของเรื่องคือเคนจิได้เข้าชมคอนเสิร์ตของนิกายลวงโลก
เขาพบว่านักดนตรีร็อกบนเวทีพยายามบอกกับผู้ชมอย่างซ้ำๆ ซากๆ ว่าเพลงร็อกนั้นคือ “ความรักและมิตรภาพ”
และพร้อมๆ กันนั้นนักดนตรีร็อกของนิกายลวงโลกยังสามารถควบคุมผู้ชมทั้งหอแสดงดนตรีได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นักร้องสามารถสั่งให้ฝูงชนที่คลั่งไคล้ขาดสติชูมือตามๆ กัน ทำสัญลักษณ์ I LOVE YOU จนกระทั่งสั่งให้ทุกคนประสานมือพร้อมๆ กันอย่างว่าง่าย
แน่นอนว่าเคนจิไม่เห็นด้วย เพราะเขาคิดว่าเพลงร็อกที่แท้จริงนั้นไม่มีคำนิยาม และเพลงร็อกที่แท้จริงจะต้องไม่ควบคุมบังคับให้ผู้ฟังทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ดังนั้น สำหรับเคนจิแล้ว :
“ของแบบนี้ สำหรับฉัน ไม่เรียกว่าร็อก!”
และลักษณะนิสัยการฟังเพลงของชาวอเมริกันส่วนหนึ่งในยุคสมัยที่ Muzak กำลังเฟื่องฟูนั้นก็ไม่ต่างไปจากเคนจิ คือเห็นว่าดนตรีที่แท้จริงจะต้องปลดปล่อยผู้ฟังออกจากกรอบกรงของสังคมและจากจารีตคร่ำครึ
และหน้าที่ของดนตรีที่แท้จริงก็คือการนำผู้ฟังไปสู่ “อิสรภาพของปัจเจก” ต่างหาก
ดังนั้นเอง Muzak จึงเป็นผู้ร้าย
เพราะ Muzak ใช้เสียงเพลงโดยหวังผลทางธุรกิจ Muzak ใช้เสียงเพลง “ควบคุม” คนงาน และ “ล่อใจ” ผู้บริโภค
Muzak จึงไม่ต่างไปจากผีร้ายแห่งโลกทุนนิยมที่ทำให้จิตวิญญาณดนตรีที่แท้จริงต้องแปดเปื้อน
ดังนั้น ในสายตาของนักดนตรีอย่าง John Lennon ดนตรีแบบของ Muzak จึงเป็นสิ่งที่ไร้ค่าและไม่ควรเอ่ยอ้างถึงด้วยซ้ำ ดังปรากฏวรรคหนึ่งในเนื้อเพลง How Do You Sleep? (1971) อันเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นเพลงที่เขาแต่งขึ้นเพื่อตำหนิ Paul McCartney ว่า
“The sound you make is muzak to my ears”
และ Brian Eno ศิลปิน-นักแต่งเพลงชื่อดังชาวอังกฤษก็คงมีความเห็นที่ไม่ต่างไปจากนี้นัก
Eno จึงสร้างงานดนตรีที่ชื่อว่า Music For Airports ขึ้นในปี 1978 เพื่อส่งสารตอบโต้ไปยังดนตรีทุนนิยมอย่าง Muzak โดยตรง
เกี่ยวกับที่มาของงานชิ้นนี้ Eno กล่าวถึงประสบการณ์ที่ต้องรับฟังดนตรีแบบ Muzak ในสนามบินเป็นเวลานานระหว่างรอเครื่อง ว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่งสำหรับเขา
ดังนั้น เขาจึงสร้างงานดนตรี Music For Airports ขึ้นใหม่ เพื่อตอบโต้กับแนวคิดของ Muzak โดยตรง และเรียกดนตรีชนิดใหม่นี้ว่าเป็น “Ambient Music”
Eno อธิบาย Ambient Music ว่ามีแนวคิดตรงกันข้ามกับดนตรี Muzak ตรงที่เขาจะไม่พยายามบังคับควบคุมผู้ฟังให้รู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ (เช่นที่ Muzak พยายามทำให้คนรู้สึกผ่อนคลาย ฯลฯ)
แต่ Ambient Music ของเขาเป็นดนตรีที่พยายามจะเปิดพื้นที่ให้กับการรับฟังหลายๆ อย่าง โดย “ไม่บังคับหรือโน้มนำ” ผู้ฟังแม้แต่น้อย
ส่วนนักร้องนักแต่งเพลงชื่อดังคือ Ted Nugent นั้นก็ประกาศตัวชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับดนตรีของ Muzak และถึงกับเคยเสนอซื้อบริษัท Muzak ด้วยเงินจำนวน 10 ล้านเหรียญ โดยระบุอย่างชัดเจนว่าจะเป็นการซื้อบริษัทเพื่อ “ปิด” มันลง
ขณะที่นักเขียนคนสำคัญอย่าง Vladimir Nabokov ก็ไม่เห็นด้วยกับดนตรีแบบ Muzak เช่นกัน โดยถึงกับเปรียบเปรยดนตรีแบบนี้ว่าเป็นเพียง “ขยะและมลภาวะทางอากาศ” เท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม มีศิลปินบางคนที่แสดงออกชัดเจนว่าชื่นชอบดนตรีของ Muzak โดยหนึ่งในนั้นคือ Andy Warhol ศิลปินป๊อปอาร์ตคนสำคัญ ที่ถึงกับระบุว่าเขาชื่นชมทุกๆ สิ่งที่เป็น Muzak เลยทีเดียว
ศตวรรษใหม่ของความล่มสลาย
แนวคิดการนำเสนอ background music ของ Muzak เริ่มถูกท้าทายในทศวรรษที่ 1970 โดยเกิดบริษัทแห่งใหม่ที่จัดการโปรแกรมดนตรีในรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “foreground music” (ถ้อยคำที่ใช้นั้นเห็นได้ชัดว่าเป็นการตอบโต้แนวคิดแบบเก่าคือ background music ของ Muzak โดยตรง)
โดยบริษัทสำคัญที่นำเสนอการเปิดเพลงแบบใหม่นี้คือ Yesco ซึ่งนำเสนอการเปิดเพลงป๊อปร็อกที่กำลังดังในรูปแบบ original ที่มีทั้งเสียงร้องและเสียงดนตรี โดยมีเป้าหมายสำคัญคือดึงดูดกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นที่ชื่นชอบเสียงเพลงเหล่านี้ให้เข้าร้าน
ซึ่งในแง่หนึ่ง นี่ก็คือการจับคู่อัตลักษณ์ของ “แบรนด์” และ “เพลง” ให้เป็นหนึ่งเดียวกันนั่นเอง
ตัวตนของแบรนด์จึงถูกผสานเข้ากับเพลงป๊อปร็อกแบบที่ลูกค้าวัยรุ่นชอบ และได้ชื่อว่าทันสมัย
ขณะที่ดนตรีผ่อนคลายแบบเดิมของ Muzak กลับค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงเรื่อยๆ
Muzak จึงพบกับวิกฤตการณ์ และต้องทำการปรับโครงสร้างธุรกิจอีกหลายครั้งเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงนานัปการ แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายบริษัทก็ต้องเผชิญกับสภาวะล้มละลายในปี 2009
ก่อนจะถูกซื้อโดยบริษัท Mood Media ในปี 2011 ถือเป็นการปิดตำนานบริษัทที่มีอายุยืนนานถึง 77 ปี
โลกของการฟัง โลกของใครของมัน (?)
ในทางวิทยาศาสตร์มีการวิจัยมากมายที่พยายามจะพิสูจน์ว่าเสียงดนตรีส่งผลต่อมนุษย์อย่างไร
เช่น มีผลวิจัยยืนยันว่าเสียงดนตรีที่ช้าๆ เนิบนาบ อาจส่งผลต่อลมหายใจของผู้ป่วยที่หลับอยู่ได้จริง
โดยผู้ป่วยจะมีจังหวะการหายใจที่ปรับเข้ากับจังหวะของดนตรีโดยอัตโนมัติ
โปรแกรม Stimulus Progression ของ Muzak มักถูกโจมตีว่าเป็นเพียง Pseudoscience หรือวิทยาศาสตร์หลอกลวง แต่ในความเป็นจริงก็คือ คนงานมักรู้สึกดีขึ้นจริงเมื่อได้รับฟังดนตรีจากโปรแกรมของ Muzak
เช่นเดียวกับที่ลูกค้าในห้างหรือผู้รับบริการในโรงแรมย่อมรู้สึกดี และพอใจที่จะได้ยินเสียงเพลงเบาๆ สบายๆ ในแบบของ Muzak มากกว่าที่จะถูกทิ้งให้อยู่กับความเงียบ
แต่ถ้าจะบอกว่าดนตรีของ Muzak สามารถส่งผลอย่างเบ็ดเสร็จให้ผู้ฟังต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมบงการแล้วละก็ นั่นคงจะเป็นการสรุปที่เกินจริงมากไปหน่อย
เพราะสุดท้ายแล้ว “การฟัง” ย่อมขึ้นอยู่กับมนุษย์ และมนุษย์แต่ละคนก็มีอุปนิสัยในการฟังต่างๆ กันออกไป
ยิ่งในโลกปัจจุบันที่รอบตัวเรารายล้อมไปด้วยโทรศัพท์มือถือและหูฟัง
เสียงเพลงตามสถานที่สาธารณะอย่างของ Muzak ก็เหมือนจะกลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่าไร้ความหมายไปแล้วโดยสิ้นเชิงมิใช่หรือ?