โล่เงิน | เช็กชื่อ บิ๊กเนม-โนเนมสีกากี ลงชิงเก้าอี้ ส.ส.เลือกตั้ง 2562

บรรยากาศทางการเมืองไทยในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อนแรงทะลุปรอท เมื่อแกนนำจากหลายพรรคการเมืองชูนโยบาย “เตะ” กองทัพ

เล่นเอา “บิ๊กท็อปบู๊ต” งัดซิงเกิลเก่าสมัยก่อนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 “เพลงหนักแผ่นดิน” ออกมาปลุกใจเหล่าทหารหาญ จนชาวบ้านตระหนกหวั่นใจจะมีปฏิวัติซ้อนก่อนเลือกตั้งใหญ่ 24 มีนาคม หรือไม่!!

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ครั้งนี้ ผู้ใฝ่ประชาธิปไตยรอคอยมานานหลังจากปฏิวัติรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในตอนนั้นเป็นผู้นำคณะ เมื่อพฤษภาคม 2557

คนไทยทั้งประเทศฟังเพลงประโลม ซิงเกิลฮิต “คืนความสุขให้ประเทศไทย” เพลงแรกของ คสช. ที่ท่อนสร้อยร้องว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา …เราจะทำอย่างซื่อตรง ขอแค่เธอจงไว้ใจและศรัทธา แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอ ประชาชน”

เพลงนี้ปลุกประโลมจนติดหูทั้งบ้านทั้งเมืองจวนจะห้าปี ใครเอาสาระกับเพลงปลุกประโลมนี้ คงหัวเสีย เพราะทอดเวลายึดอำนาจเกินกว่าคำว่านาน และสัญญาต่างๆ ก็เป็นเพียงเนื้อเพลงที่ครวญ

ปีที่ 5 หลังปฏิวัติ คสช. วันนี้ผู้นำ คสช.ประกาศตัวสู่รันเวย์ประชาธิปไตย “บิ๊กตู่” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคพลังประชารัฐ ที่มีอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า

“บิ๊กตู่” ลงชิงชัยท่ามกลางเสียงวิพากษ์ตั้งคำถามจากนักประชาธิปไตยว่า “เกมเลือกตั้งครั้งนี้แฟร์?” เหตุกำเสียง ส.ว.ไว้ในมือ 250 เสียง สัดส่วนมากพอจะตีตราจองเก้าอี้นายกฯ คนต่อไปได้ไม่ยาก หากเสียงจากเก้าอี้ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐและพรรคพันธมิตรไม่ขี้เหร่จนเกินไป

นั่นเป็นข้อสังเกตในบรรยากาศการเมืองก่อนการเลือกตั้งใหญ่!!

ในสนามเลือกตั้ง 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ประกาศจำนวนผู้สมัคร ส.ส.จำนวนมากเป็นประวัติการณ์ โดยผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 11,181 ราย แบบบัญชีรายชื่อ 2,917 ราย พรรคประชาธิปัตย์ครองแชมป์ส่ง ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ลงสมัครสูงสุด

เลือกตั้งครั้งนี้คึกคัก เหล่าสีกากีทั้งในอดีตและปัจจุบันจำนวนไม่น้อยตบเท้าขันอาสาเป็นผู้แทน สวมแจ๊กเก็ตพรรคการเมืองต่างกันไป

เช็กชื่อสีกากีบิ๊กเนม ผู้กว้างขวาง ที่อาสาตัวเป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งนี้

เช็กข้อมูล กกต. เริ่มที่คนแรก “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” อดีตนายตำรวจมือดี เป็นอดีตรองผู้บังคับการกองปราบปราม อดีตอธิบดีดีเอสไอ และอดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 37 ซึ่งในวงการสีกากีรู้มือกันดี คนมากฝีมือ เติบโตและโดดเด่นในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทย หลังปฏิวัติถูกลดบทบาททันที

เลือกตั้งครั้งนี้จับมือกลุ่มนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นักการเมืองผู้กว้างขวางในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ครั้งนี้ พ.ต.อ.ทวีเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ในนามพรรคประชาชาติ

อีกพรรคที่มีตำรวจเป็นแกนนำ “พรรคประชานิยม” พ.ต.อ.รวมนคร ทับทิมธงไชย นรต.42 อดีตนายตำรวจผู้กว้างขวาง รู้จักกันดีในแวดวงสีกากี โดยเฉพาะผู้ที่คลุกวงในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ บ้างขนานนามเป็นล็อบบี้ยิสต์ชื่อดัง

ครั้งนี้ควงแขนอดีตผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุงตำรวจ คนดัง พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ นรต.16 ลงเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรค เบอร์ 1 และเบอร์ 2 ตามลำดับ ชูนโยบายขึ้นป้ายแบบกระตุกเหงือกกองทัพ โดย พล.ต.ท.ยงยุทธ ลงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 1 ของพรรค

ขณะที่อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในนามพรรคเสรีรวมไทย

กลุ่มผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์และแบบแบ่งเขตนั้น สีกากีคนดังบิ๊กเนมหลายคนลงสนาม

พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ นรต.26 อดีตผู้การกองปราบฯ คนดัง ดีกรีอดีต ผอ.กองสลากฯ เลือกตั้งครั้งนี้ลงปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 47 พรรคไทยรักษาชาติ มี พล.ต.ต.คเชนทร์ คชพลายยุกต์ นรต.32 เกษียณในตำแหน่งรองผู้บัญชาการ เป็นปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 63

อีกคนเป็นอดีตตำรวจที่ผันตัวเป็นนักวิชาการ นักสื่อสารมวลชนมานาน ร.ต.อ.นิติภูมิ เนาวรัตน์ หรือ ร.ต.อ.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ลงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 5 พรรคประชาชาติ พรรคของนายวันนอร์ มีอดีตผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ ลงปาร์ตี้ลิสต์พรรคเดียวกันในลำดับที่ 10 อดีต ผบช.ศชต.อีกคน พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ลงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 14

พรรคประชานิยม ที่มี พ.ต.อ.รวมนคร ทับทิมธงไชย เป็นแคนดิเดตนายกฯ คนแรกของพรรค มีเหล่าสีกากีลงสมัครปาร์ตี้ลิสต์ใน 20 อันดับแรกมากกว่า 10 คน

พรรคเพื่อไทย มี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ขณะที่ “สารวัตรเฉลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 6 พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์คนดัง ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 21 พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 28 มีอดีตนักสืบมือปราบชื่อดัง พล.ต.ท.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 32 พล.ต.ต.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ อยู่ในลำดับที่ 54 พล.ต.ต.ลัทธสัญญา เพียรสมภาร ลงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 69 พล.ต.ต.พิเชษฐ์ ปิติเศรษฐพันธุ์ อดีตนายพลผู้กว้างขวางในชายแดนภาคใต้ ลงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 89 พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง ลงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 83 ฯลฯ พรรคนี้สีกากีบิ๊กเนมตบเท้าเข้าปาร์ตี้ลิสต์เพียบ

พล.ต.ต.ก่อเกียรติ วงศ์วรชาติ อดีต ผบช.ภ.8 ลงสมัครปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 35 พรรครวมพลังประชาชาติไทย พล.ต.ต.วิษณุ ม่วงแพรศรี ลงปาร์ตี้ลิสต์พรรคเสรีรวมไทย

พรรคอนาคตใหม่ มีอดีตผู้บังคับการกองปราบฯ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาท ลงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 31

ส่วน ส.ส.แบบแบ่งเขต มี “เดอะแต้ม” พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตตำรวจมือปราบคนดัง ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์

ยกตัวอย่างบิ๊กเนม-โนเนมสีกากี พอเป็นตัวอย่าง หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม ต้องจับตาจะมีเหล่าสีกากีได้เก้าอี้นั่งในสภามาก-น้อยเพียงใด