จรัญ มะลูลีม : แนวทางนิยมความลี้ลับแบบ “ซูฟี” (ตอนจบ)

จรัญ มะลูลีม

ได้กล่าวมาแล้วว่าลัทธินิยมความลี้ลับ (Mysticism) เป็นที่นิยมอยู่ในรูปแบบ ไม่อย่างนั้นก็อย่างนี้ในเกือบทุกยุคทุกสมัยทุกประเทศ มักมีคนระดับหนึ่งที่เชื่อในเรื่องจิตวิญญาณหรือความลี้ลับภายในจิต และฝึกฝนวิธีการปฏิเสธตัวเองโดยถือว่าเป็นหนทางที่จะชำระดวงจิตให้บริสุทธิ์และอุทิศตนแด่พระเจ้าอย่างสิ้นเชิง

ถ้าอย่างนั้นลัทธินิยมความลี้ลับของศาสนาอิสลามที่เรียกกันว่า ลัทธิซูฟีมีความแตกต่างจากลัทธินิยมความลี้ลับของศาสนาอื่นอย่างไรหรือ?

ข้อแตกต่างประการแรกที่สุด ก็คือลัทธิซูฟีนั้นในขณะที่พยายามชำระดวงจิตให้บริสุทธิ์ก็มิได้ทอดทิ้งร่างกาย

แต่ลัทธินิยมความลี้ลับของศาสนาอื่นนั้นทอดทิ้งร่างกายโดยสิ้นเชิง มุ่งแต่จะปรับปรุงดวงจิตให้ดีขึ้นเท่านั้น

ลัทธิเช่นนั้นในศาสนาฮินดูหรือพุทธศาสนาพบการปลอบประโลมใจเป็นพิเศษจากการทรมานตัวเองและเชื่อว่ายิ่งมีการบังคับจิตให้อยู่ในระเบียบวินัยและตัวตัวเองทิ้งไปได้มากขึ้นเท่าไรก็จะได้พ้นอย่างรวดเร็วและแน่นอนขึ้นเท่านั้น

การทำลายตัวเองคือหนทางไปสู่พระเจ้า การบวงสรวงลูกหลานที่แท่นบูชาของเทพหรือเทพีนั้นลัทธินิยมความลี้ลับบางลัทธิถือว่าเป็นคุณธรรมที่สูงส่งเท่าที่จะเป็นไปได้

แต่การปฏิบัติเช่นนี้เป็นที่รังเกียจอย่างยิ่งของลัทธิซูฟีของอิสลาม

 

สําหรับซูฟีที่แท้จริงนั้นย่อมไม่ทอดทิ้งแง่มุมภายนอกของชีวิตเลย การเชิดชูจิตวิญญาณให้สูงส่งนั้นไม่อาจปฏิบัติแยกจากการชำระร่างกายให้บริสุทธิ์ได้

ร่างกายและจิตวิญญาณของมนุษย์เราเกี่ยวพันกันอยู่ เราจึงมีหน้าที่จะต้องคอยดูแลมันให้เจริญคู่เคียงกันไปทั้งสองด้าน

ซูฟีผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายในอดีตต้องยุ่งเกี่ยวกับงานทางโลกด้วย ในด้านหลักการแล้วเขามิได้เห็นความแตกต่างระหว่างหน้าที่ทางโลกกับทางจิตวิญญาณ

ท่านศาสดาแห่งศาสนาอิสลามเป็นซูฟีที่ดีท่านหนึ่ง

ท่านไปทำสมาธิสำรวมจิตและพิจารณาไตร่ตรองอยู่ในถ้ำหิรออ์ (Hira) และสถานที่สันโดษอื่นๆ อยู่บ่อยๆ แต่กระนั้นก็ดีท่านก็ยังเป็นนักธุรกิจที่มีงานยุ่งที่สุดในสมัยนั้น ท่านปฏิบัติกิจการทางโลกต่างๆ ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อญาติๆ ครอบครัว เพื่อนบ้าน สังคมและประเทศให้สมบูรณ์

ท่านเป็นผู้นำการละหมาดในมัสญิด เป็นประธานในการประชุมเป็นผู้นำทัพในยามสงคราม แสวงหาหนทางแห่งสันติภาพ จัดทำสนธิสัญญามิตรภาพกับประเทศเพื่อนบ้าน และทำงานอื่นๆ อีกมากมาย

แต่ท่านศาสดาก็มิได้หันเหจากวิถีทางด้านจิตวิญญาณเลย

 

หากเราศึกษาถึงชีวิตของเคาะลีฟะฮ์ (ผู้สืบทอดศาสดามุฮัมมัด) สมัยต้นๆ และผู้ร่วมสมัยของท่านศาสดาอย่างใกล้ชิดแล้ว เราก็จะได้พบว่าคนเหล่านั้นจัดความสมดุลระหว่างร่างกายกับจิตใจได้อย่างดีด้วยการเดินตามรอยเท้าท่านศาสดา

เขาเหล่านั้นได้อุทิศตนให้แก่การรับใช้มนุษยชาติเท่าๆ กับที่รับใช้พระเจ้า พวกเขาในฐานะที่เป็นมุสลิมที่แท้จริงเชื่อว่าการรับใช้พระเจ้าย่อมจะไม่มีความหมายหากไม่คู่เคียงไปกับการรับใช้มนุษยชาติ

ด้วยเพราะแก่นสำคัญแห่งคำสอนของศาสนาอิสลามก็คือการกระทำใดๆ ที่ทำไปเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกันย่อมถือว่าเป็นการรับใช้ศาสนา

ถ้าซูฟีคนใดพยายามแยกสองส่วนนี้ออกจากกันก็เท่ากับเขาฝ่าฝืนคำสอนของศาสนาอิสลาม คำพูดที่เป็นที่รู้จักกันดีของท่านศาสดาก็คือ “ในศาสนาอิสลามไม่มีเพศพระ”

ญูเนด (Junayd) นักปราชญ์แห่งนครบัฆดาด ได้เน้นว่า “ส่วนภายนอกและภายในของอิสลามนั้นแท้จริงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสนับสนุนกันและกัน หาใช่เป็นปรปักษ์ต่อกันและกันไม่”

 

ชัยค์ชารอฟุดดีน ยะห์ยา มานิรี (Sheikh Sharaf-ud-den Yahyamaniri) ซึ่งรู้จักกันดีในนามว่ามัคดูมี บิหารี (Madhdum-i-Bihari) ได้เขียนไว้ในจดหมายถึงศิษย์คนหนึ่งของท่านว่า

“ผู้ใดก็ตามที่แสวงหาหนทางนี้ (คือลัทธิซูฟี) จะต้องแสวงหาเสบียงของเขาจากวัตถุดิบของอิสลามเพื่อว่าเขาจะได้ก้าวจากหนทางภายนอก (ชะรีอัต) ไปสู่หนทางภายใน (เฎาะริก็อต)

แล้วจากนั้นก็ก้าวไปสู่ความจริง (อัล-ลักก์) ผู้ใดก็ตามที่ยังไม่มีความรู้ดีในเรื่องภายนอกย่อมไม่อาจรู้เรื่องภายในได้ และย่อมไม่มีใครรู้ถึงสัจจะได้โดยไม่รู้เรื่องภายใน”

ฉะนั้นจึงเป็นที่แจ้งว่าลัทธิซูฟีที่แท้จริงนั้นไม่เหมือนกับลัทธินิยมลี้ลับของศาสนาอื่น เพราะมันยุ่งอยู่กับการผสมผสานระหว่างวิวรณ์ (วะฮีย์) และเหตุผล ระหว่างร่างกายและจิตใจให้กลมกลืนกัน อะไรก็ตามที่ไม่มีเหตุผลย่อมไม่ใช่อิสลาม ในทำนองเดียวกันถ้าร่างกายและจิตวิญญาณของเราหย่อนยานไปแม้แต่ชั่วครู่ชั่วยาม หรือถ้าสละด้านหนึ่งเพื่อเห็นแก่อีกด้านหนึ่งแล้วไซร้ก็ย่อมไม่เป็นไปตามคำสอนของอิสลาม

ความแตกต่างอีกข้อหนึ่งระหว่างลัทธิซูฟีของอิสลามกับลัทธินิยมความลี้ลับของศาสนาอื่นก็คือในศาสนาอิสลามไม่มีสิ่งขวางกั้นในการที่จะเข้าหาพระเจ้าโดยตรง

แต่ในศาสนาอื่นไม่สามารถเข้าหาพระเจ้าได้โดยไม่มีสื่อกลาง

 

พระเจ้าทรงประกาศไว้ในอัล-กุรอานว่า “เราตอบสนองเสียงเรียกร้องของผู้เรียกเมื่อเขาเรียกเรา” ส่วนในศาสนาอื่นๆ การเข้าไปหาพระเจ้าของเขาต้องผ่านสื่อกลางไป คือชนเพศพระ เช่น พวกพราหมณ์ของศาสนาฮินดู พระของยิวและของคริสต์ศาสนา แต่การอวดอ้างว่าคนเป็นสื่อกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์นั้นอิสลามถือว่าเป็นการอวดดี หยิ่งทะนง

ถึงกระนั้นในปัจจุบันนี้ก็ยังมีซูฟีบางคน หรือที่เรียกว่าพีร (Pir) อวดอ้างว่าตนเป็นตัวแทนของพระเจ้าเป็นการหลอกลวงโดยแท้คงทำไปเพื่อแสวงหาอำนาจหรือลาภผล ซูฟีในสมัยต้นๆ ซึ่งเป็นผู้อุทิศตนแด่พระเจ้าโดยแท้จริงนั้นไม่เชื่อในเรื่องการเป็นสื่อกลาง จึงพยายามที่จะติดต่อกับพระเจ้าโดยตรง

มีความแตกต่างอีกข้อหนึ่ง นั่นคือการซึมซาบเข้าไปในพระเจ้านั้นเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายของผู้ที่มุ่งมั่นในด้านลี้ลับทุกคน แต่ซูฟีไม่ได้ถือว่าพระเจ้าเป็นจักรวาลหรือจักรวาลคือพระเจ้าเหมือนดังในศาสนาอื่นๆ เขาเชื่อว่าจักรวาลไม่มีอยู่โดยตัวนั่นเอง แต่พระเจ้าทรงสร้างมันขึ้นจากความไม่มีอะไร

คัมภีร์อัล-กุรอานกล่าวว่า “ทุกสิ่งย่อมสูญสลายไปนอกจากพระเจ้า” ดังนั้น พระเจ้าผู้ทรงเป็นนิรันดร์จึงไม่อาจเป็นสิ่งเดียวกับจักรวาลซึ่งไม่เป็นนิรันดร์ได้

ในลัทธิแพนเธอิสม์หรือลัทธิที่เชื่อว่าพระเจ้าทรงสถิตย์อยู่ในทุกหนทุกแห่งมีความเชื่อว่ามีการอวตารจุติมาเกิดใหม่หรือการถ่ายทอดดวงวิญญาณจากร่างหนึ่งภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่งอีกร่างหนึ่งซึ่งผิดกับอิสลาม

การอวตาร (Incarnation) ของสิ่งหนึ่งในอีกสิ่งหนึ่งนั้นแสดงให้เห็นความมีอยู่ของสิ่งที่มีอยู่จริงๆ สองสิ่งที่แยกกันหรือแตกต่างกัน อันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้และผิดวิสัยในกรณีของพระเจ้า