สมหมาย ปาริจฉัตต์ : การสอนด้วย “การเชื่อมต่อห้องเรียน” ของ ร.ร.เอกชนสอนศาสนาอิสลาม

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เวทีประชุมปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการศึกษาแก่ครูและผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา (PMCA Classrooms Connected) ดำเนินต่อไปด้วยความคึกคัก

ก่อน 11.00 น. เล็กน้อย ครูวิทยาศาสตร์ 2 คน ครูอังกฤษ 2 คน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา 1 คน จากจังหวัดมาจาเลงกา ประเทศอินโดนีเซีย เดินทางมาถึง พิธีกรแนะนำให้สมาชิก ปรบมือต้อนรับอย่างอบอุ่น

ครูไซนุดดิน ซาคาเรีย ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ จากมาเลเซีย วิทยากรคนที่สองรับลูกต่อด้วยภาษาอังกฤษ ตามด้วยบาฮาสา

“ทุกคนในห้องนี้สุดยอดด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่แค่เรา 3 คนเท่านั้น” ก่อนเริ่มหัวข้อที่ได้รับมอบหมาย “การเชื่อมต่อห้องเรียน” Connect Classroom

“พวกเรามาที่นี่กันทำไม” ครูกระตุ้น ยั่วล้อ สร้างบรรยากาศให้ผู้เข้าร่วมเวทีหาความหมายเพื่อให้คำตอบกับตัวเอง

หนึ่ง เพื่อแชร์ความคิด สอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สาม เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย จากนั้นกดเมาส์คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ยิงภาพขึ้นจอทีละภาพแล้วบรรยายตามลำดับ

Success is driven not only by what you know but by what you can do with what you know ฯลฯ

แต่ละภาพ นอกจากมีความหมาย ให้ความคิด ปลุกเร้าให้ครูและผู้บริหารเปลี่ยนแปลงบทบาทตัวเอง โดยใช้เทคโนโลยียุคใหม่เป็นเครื่องมืออย่างน่าสนใจ

 

ผมคิดถึงครูไทย ครูเทศอีกมากมายที่ไม่ได้มาอยู่ร่วมในเวทีนี้ ทำอย่างไรถึงจะมีโอกาสได้เห็นภาพแต่ละภาพและคำบรยายประกอบ ที่ช่วยสร้างพลังความหวังและทักษะทำให้กลายเป็นครูคุณภาพคนใหม่ เว็บไชต์ของ 4 องค์กรพันธมิตรผู้ร่วมจัดรายการนี้สามารถเป็นช่องทางถ่ายทอดต่อไปได้หรือไม่

ขณะที่ครูและผู้บริหารมีโน้ตบุ๊กส่วนตัวบนโต๊ะประชุมทุกกลุ่ม โหลดภาพขึ้นหน้าจอ คีย์ความคิด ข้อความต่างๆ ปรับเปลี่ยนโปรแกรม พร้อมฟังถ้อยคำอธิบายความหมาย คำแนะนำการปฏิบัติต่างๆ ตามไปด้วย หนึ่งในนั้นเป็นโปรแกรมเกี่ยวกับการออกแบบเกมคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนการสอน (Microsoft KODU in Classrooms Around the World)

ครูไซนุดดินเล่าถึงสิ่งที่ทำ โครงการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครู ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย และประเทศอื่นๆ อีก 21 โรงเรียนในโลก โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเชื่อมต่อทั้งออสเตรเลีย เกาหลีใต้ รัสเซีย เวียดนาม ไนจีเรีย ญี่ปุ่น ศรีลังกา เลบานอน คาซัคสถาน เคนยา บรูไน พม่า เป็นต้น

ตัวอย่างการเรียนรู้เรื่อง “งานฝีมือในกลุ่มประเทศอาเซียน” ทำให้ครูและนักเรียนที่เข้าร่วมได้ทำงานร่วมกัน พัฒนาความสามารถในการใช้เทคโนโลยี พัฒนาภาษา ได้ความรู้การทำโครงงาน สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณีของแต่ละชาติ อย่างเรื่องนิทานพื้นบ้านทั่วโลก ทำให้ได้เชื่อมคน เชื่อมโลก

“ตอนนี้ผมหยุดสอนแล้ว ปรับตัวเองเป็นผู้อำนวยความสะดวก เป็นไกด์การเรียนรู้ I dare to be different” ครูกล่าวตบท้าย

 

หลังจบบรรยาย ผอ.โรงเรียนท่านแรกยกมือถาม มีแนวทางปฏิบัติกับการใช้ Hand Phone ของนักเรียนในโรงเรียนอย่างไรครับ

“ไม่ห้าม แต่พยายามแนะนำให้ใช้ให้เกิดประโยชน์กับการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่เกิดประโยชน์ในช่วงที่อยู่โรงเรียนเท่านั้น แต่เกิดหลังจากเด็กกลับไปทำที่บ้าน” ครูตอบ

และเล่าให้ผมฟังภายหลังว่า ขณะนี้กำลังทำโครงการใหม่ร่วมกับครูเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย ห้องเรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ Celebration Festival เวียดนามเรียกเทศกาล Tat มาเลเซียเรียกฮารีรายา พูดคุยภาษาอังกฤษแลกเปลี่ยนกันระหว่างเด็ก ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

ก่อนปิดเวทีช่วงเช้า พิธีกรย้ำสิ่งที่ครูไซนุดดินฝาก Connect Collaborate Communication ขอให้ทุกคนเริ่มทันที เริ่มที่นี่ Connected ยะลา นราธิวาส สงขลา ปัตตานี แสดงให้เห็นพลังความร่วมมือของครู ขยายผลการปฏิบัติให้ถึงครู ผู้บริหาร และนักเรียน ให้มากยิ่งขึ้น

 

ระหว่างพักเที่ยงก่อนเวทีภาคบ่ายจะเริ่มต้นอีกครั้ง กลุ่มผู้บริหารโรงเรียนในนามเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จัดประชุมหารือถึงความคืบหน้ากิจกรรมที่ดำเนินร่วมกันมา และควรทำอะไรกันต่อไป ทั้งหมด 16 โรง มาร่วม 15 โรง จากปัตตานี 4 โรง ได้แก่ โรงเรียนธรรมพิทยาคาร โรงเรียนศาสน์อิสลาม โรงเรียนพีระยานาวินคลองหินวิทยา โรงเรียนบากงพิทยา นราธิวาส 7 โรง ได้แก่ โรงเรียนดารุลฮิกมะห์ โรงเรียนอิสลามบูรพาวิทยา โรงเรียนอัตเตาฟีกียะห์อิสลามียะห์ โรงเรียนอิบตีดาวิทยา โรงเรียนจรรยาอิสลาม โรงเรียนต้นตันหยง โรงเรียนนิรันดรวิทยา สงขลา 2 โรง ได้แก่ โรงเรียนส่งเสริมอิสลาม โรงเรียนธรรมคีรีวิทยา ยะลา 2 โรง ได้แก่ โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ โรงเรียนอิสลามศาสน์ ดารุสลาม ทุกโรงผู้อำนวยการมาพร้อมกับครูวิทยาศาสตร์และครูภาษาอังกฤษ โรงเรียนละ 2 คน

เครือข่ายมี ดร.อัสมี อาบูบากา ผู้อำนวยการโรงเรียนพีระยานาวินคลองหินวิทยา จ.ปัตตานี เป็นประธาน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบการศึกษา ปี 2554 ทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ ไตรวิถีแห่งการเรียนรู้ การจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความเชื่อและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ดร.อัสมีนำแนวคิดจากการศึกษามาใช้ในการบริหารโรงเรียนจนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คุณภาพการจัดการศึกษาเป็นที่ยอมรับ จนเป็นโรงเรียนยอดนิยมแห่งหนึ่งของจังหวัดทีเดียว

เป็นผู้ยกมือถามครูไซนุดดินถึงปัญหาการใช้โทรศัพท์มือถือของนักเรียน มีแนวทางจัดการอย่างไรนั่นเอง

 

โรงเรียนพีระยานาวินคลองหินวิทยา อ.โคกโพธิ์ เปิดสอนตั้งแต่เตรียมอนุบาล ถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย สอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้นอนุบาล มีนักเรียน 1,942 คน

เด็กมัธยมเป็นนักเรียนประจำทั้งหมด 600 คน อนุบาล ประถมไป-กลับมีรถรับ-ส่ง มีหลักสูตรให้เลือกเรียน 3 โปรแกรม ได้แก่ QMEP อัลกุรอ่าน คณิตศาสตร์ อังกฤษ, QSEP อัลกุรอาน วิทยาศาสตร์ อังกฤษ และ QSSP อัลกุรอาน กีฬา วิทยาศาสตร์

โดยมีกฎห้ามนักเรียนนำโทรศัพท์มือถือมาโรงเรียน ครูทุกคนมีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเป็นของตัวเองเพื่อใช้งาน พัฒนาการเรียนการสอน

“คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กโรงเรียนอนุญาตให้ใช้เพื่อการเรียนการสอนอยู่แล้ว ปีหน้าจะเปิดให้ใช้แท็บเล็ตนำมาโรงเรียนได้ โดยตกลงกับผู้ปกครองมีเงื่อนไขกำหนดเวลาใช้ หลังจากนั้นให้ครูเก็บไว้เพื่อนำมาใช้เวลาเรียนเท่านั้น” ผอ.อัสมีย้ำ

เพื่อให้การใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้อง เกิดประโยชน์มากกว่าโทษ