ธงทอง จันทรางศุ | มัลติมีเดียพิพิธภัณฑ์ จาก “กู้กง” ไต้หวัน

ธงทอง จันทรางศุ

จนอายุล่วงเข้าวัยนี้แล้ว

ผมนับนิ้วได้ว่าเคยเดินทางไปประเทศไต้หวันมาแล้วสองครั้ง

ครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช 2520 ยุคนั้นผมเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยมาสดๆ ร้อนๆ และเป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกของผมด้วย ทำให้รู้สึกตื่นเต้นกับทุกสิ่งทุกอย่างที่พบเห็น

รวมทั้งการได้ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไต้หวัน ซึ่งมีชื่อเรียกแบบย่ออันเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “กู้กง” ด้วย

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีชื่อเสียงร่ำลือว่า เมื่อตอนที่จอมพลเจียงไคเช็กและคณะพรรคก๊กมินตั๋งรบแพ้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นเหตุให้ต้องถอยร่นจากแผ่นดินใหญ่ตกทะเลมาอยู่ที่เกาะไต้หวันนั้น จอมพลเจียงไคเช็กได้บัญชาการให้ขนย้ายบรรดาสารพัดสมบัติมหาศาลของจีนแผ่นดินใหญ่แล้วหอบหิ้วข้ามมาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้

ดังนั้น ถ้าใครอยากดูของเก่าฉบับต้นตำรับของจีนจึงไม่ควรพลาดชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นอันขาด

แต่ตอนนั้นผมเป็นเด็กครับ ถึงแม้มีโอกาสไปเดินดูพิพิธภัณฑ์กู้กงมาครึ่งวัน ความรู้สึกซึมซาบแบบจับจิตจับใจก็มีได้เพียงแค่ระดับหนึ่ง

จนเมื่อประมาณหนึ่งปีเศษที่ผ่านมา คือเมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช 2560 ได้มีโอกาสไปเที่ยวไต้หวันอีกครั้งหนึ่ง

ผมจึงจัดโปรแกรมส่วนตัวแยกจากหมู่คณะเพื่อน หาทางไปเดินกู้กงด้วยลำพังตนเองอีกครั้งหนึ่ง

คราวนี้ไปตอนแก่แล้วครับ ความรู้ความเข้าใจก็เพิ่มพูนขึ้นมากเป็นธรรมดา

ใช้เวลาหมดไป 4-5 ชั่วโมงยังรู้สึกไม่สาแก่ใจ แต่ก็จำใจต้องลาจากเพราะมีเวลาอยู่เพียงแค่นั้นจริงๆ

นึกอยู่ในใจเสมอว่าถ้ามีโอกาสอีกครั้งสองครั้ง จะต้องเดินทางไปไต้หวันเพื่อดูกู้กงแบบยกโปรแกรมให้วันสองวันไปเลย

แต่ก็ทำได้เพียงแค่นึกนะครับ ยังไม่มีโอกาสได้ทำจริง

แล้วอยู่มาวันหนึ่งก็ได้รับทราบข่าวว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวันหรือกู้กงที่ว่านี้ จัดนิทรรศการพิเศษมาแสดงที่เมืองไทย โดยจัดแสดงอยู่ที่ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในย่านสี่พระยา กำหนดเวลาตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และวันสุดท้ายคือวันที่ 12 กุมภาพันธ์ปีนี้

ผมเองมัวแต่ผัดวันประกันพรุ่ง กว่าจะได้ไปดูนิทรรศการพิเศษที่ว่านี้ก็ล่วงเข้าสัปดาห์สุดท้ายแล้ว

นิทรรศการชั่วคราวที่ว่า เขาบอกกล่าวเพื่อไม่ให้ใครผิดหวังไว้เสียแต่เบื้องต้นว่า เป็น Multi media Art Exhibition และเป็นการมาจัดแสดงนอกประเทศครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราด้วย

คนรุ่นผมและโดยเฉพาะตัวผมนั้นรับสารภาพหน้าชื่นตาบานว่าความรู้เรื่องเทคโนโลยีต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก

เมื่อเขาประกาศอย่างนั้นก็ยังสงสัยอยู่ครามครันว่าถ้าเราไปเดินดูเข้าจริงๆ แล้วจะพบเห็นอะไรบ้าง

แน่นอนว่าไม่ควรคาดหวังว่าเขาจะขนเอาถ้วยโถโอชามประเภทเครื่องลายครามข้ามน้ำข้ามทะเลมาให้เราดู

แต่เอาเถิด ในเมื่อเป็นแฟนคลับกันมาแต่เก่าก่อน แฟนมาเยี่ยมถึงบ้านจะไม่โผล่หน้าไปทักทายกันได้อย่างไร

เมื่อไปเดินดูนิทรรศการดังกล่าวมาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งก็ได้ข้อราชการมารายงานว่าอย่างนี้ครับ

นิทรรศการที่ว่านี้เน้นการนำเสนอด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมัลติมีเดียต่างๆ

โดยขึ้นต้นด้วยการจำลองภาพเขียนสำคัญๆ มาหลายรายการ เป็นผลงานภาพเขียนฝีมือจิตรกรชาวจีนเอง

หรือบางภาพก็เป็นผลงานของจิตรกรชาวตะวันตกซึ่งเป็นนักบวชนิกายเยซูอิตที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในประเทศจีน

ต้นฉบับจริงอยู่ที่ไต้หวัน ที่เขาพามาเมืองไทยนั้นเป็นภาพจำลองชนิดเหมือนเปี๊ยบ

เหมือนทั้งขนาด ทั้งสีสันหรือแม้กระทั่งรอยชำรุดรอยพับ

พอเราได้เห็นภาพเหล่านั้นแต่ละภาพแล้วเราก็จะได้ชมภาพที่ว่ากลับมีชีวิตขึ้นด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งอาจใช้กล้องสวมเข้ากับศีรษะของเราพร้อมกับมีหูฟังเพื่อได้ยินเสียงประกอบเรื่อง หรือบางจุดก็อาจเป็นการยืนดูด้วยสายตาเปล่าพร้อมกันหลายคนได้เหมือนกัน

ผมขออธิบายโดยวิธียกตัวอย่างให้เห็นรายละเอียดเพิ่มขึ้นสักสองสามรายการนะครับ

ภาพแรกที่เราได้เห็นเมื่อเข้าไปในห้องแสดงนิทรรศการ เป็นภาพเขียนโดยจ้าวเมิ่งฟู่ จิตรกรจีนยุคราชวงศ์หยวน ซึ่งมีอายุไล่เลี่ยใกล้เคียงกันกับอาณาจักรสุโขทัยของเรา

รูปที่เขาวาดนั้นเป็นความงดงามในฤดูใบไม้ร่วงที่มองเห็นภูเขาขนาดใหญ่สองลูกเป็นฉากหลัง

ภาพนี้มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Autumn Colors on the Qiao and Hua Mountain ภาพที่ว่านั้นใส่กรอบแขวนบนข้างฝาเฉยๆ แบบไม่มีฤทธิ์มีเดชอะไร

แต่ก็ต้องยอมรับว่ารูปของเขาสวยจริงครับ ดูแล้วสงบ และได้บรรยากาศอารมณ์ผสมผสานของฤดูใบไม้ร่วงเป็นอย่างดี

พอเราชมภาพจำลองที่แสนจะเหมือนจริงแล้ว เดินไปอีกมีเพียงกี่ก้าวก็มีเจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวก นำอุปกรณ์ที่ครอบศีรษะมาสวมให้

เจ้าเครื่องมือที่ว่านี้ ทำให้เราสามารถเห็นภาพที่ฉายบนจอว่างเปล่าที่อยู่ตรงหน้าเป็นรูปสามมิติมีชีวิตชีวาขึ้นมา

พร้อมกันกับที่หูของเราจะได้ยินเสียงบรรยาย เสียงธรรมชาติ เช่น เสียงน้ำไหล นกร้อง เรื่อยไปจนถึงเสียงดนตรีประกอบภาพเหล่านั้นด้วย

พอสวมอุปกรณ์ดังกล่าวเสร็จ สิ่งที่ผมเห็นในคลองจักษุก็คือภาพทุกอย่างเหมือนจริงอยู่ตรงหน้า

บางทีเครื่องมือก็พาผมเข้าไปใกล้บ้านหลังหนึ่งที่อยู่ในภาพ ได้เห็นคุณผู้หญิงที่เดิมยืนนิ่งเป็นตุ๊กตาอยู่ในภาพเขียน กลับมีชีวิตเดินไปมาได้ ฝูงกวางที่ยืนอยู่ในมุมหนึ่งของภาพแบบไม่กระดุกกระดิก ก็กลับเอี้ยวตัวไปมาและหยอกล้อกันเล่นกับเพื่อนฝูงอย่างร่าเริง

อะไรต่อมิอะไรมีชีวิตขึ้นมาหมดเลยครับ

ผมสวมอุปกรณ์ที่ว่านี้อยู่ประมาณเจ็ดหรือแปดนาทีก็จบการแสดงมัลติมีเดียที่จุดนี้

ลองดูอีกสักรูปหนึ่งไหมครับ ภาพนี้จำลองมาจากภาพต้นฉบับมีความยาวถึง 12 เมตร เป็นผลงานที่ช่วยกันวาดของจิตรกรหลวงจำนวนห้าคนในราชสำนักของจักรพรรดิเฉียนหลง เพื่อแสดงถึงวิถีชีวิตของประชาชนริมฝั่งแม่น้ำสายหนึ่งในประเทศจีน

ภาพนี้มีชื่อในภาคภาษาอังกฤษว่า Up the River During Qingming

ภาพจำลองนี้วางไว้บนโต๊ะจัดแสดงที่ยาวถึง 12 เมตรเศษพอกันกับความยาวของรูป เพียงแค่ดูภาพจำลองภาพนี้ก็สนุกมากแล้ว เพราะเขาช่างบันทึกรายละเอียดของวิธีชีวิตไว้ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตชาวบ้าน พ่อค้าพ่อขาย

แม้กระทั่งเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ในเหตุการณ์ในราชสำนัก

เท่านั้นยังไม่พอครับ เมื่อผมเงยหน้าขึ้นจากโต๊ะที่แสดงภาพจำลองดังกล่าว มองตรงออกไปข้างหน้า ที่ฝาผนังก็จะมีจอแสดงมัลติมีเดียขนาดใหญ่ยาวประมาณ 12 หรือ 13 เมตรพอกัน กับความยาวของรูปภาพ

แต่ภาพที่ปรากฏบนจอนั้นคือการถ่ายเข้าไปใกล้หรือเป็นภาพโคลสอัพ ที่แสดงรายละเอียดทีละท่อนทีละส่วนจากภาพที่เราเห็นของจริงมาแล้ว

เรียกว่าเจาะกันเป็นจุดๆ ไป แบบเลื่อนไหลไปเรื่อยๆ

และที่สนุกมากคือ ผู้คนที่อยู่ในภาพบนจอเบื้องหน้าเรามีอาการเคลื่อนไหวได้

เช่น ริ้วกระบวนแห่เจ้านายหรือขุนนาง ก็จะเห็นบริวารถือร่มถือกลด คอยเดินตามเจ้านาย

ภาพที่แสดงเรื่องราวของโรงงิ้ว ตัวละครที่อยู่บนโรงก็ดี ชาวบ้านที่นั่งหรือยืนอยู่หน้าโรงงิ้วก็ดี กลับมีลมหายใจ มีเนื้อมีหนังมีชีวิตจิตใจขึ้นมาได้

ผมซึ่งเป็นแต่เพียงคนยืนดูอยู่ไกลๆ ยังรู้สึกว่างิ้ววันนี้สนุกเลยครับ

นี่เล่าสู่กันฟังแบบย่นย่อนะครับ จะเล่าครบทุกชิ้นทุกภาพเห็นจะเกินกำลังครับ พอถึงตอนใกล้จะจบ เขามีเรื่องสนุกให้เราทดลองเล่น โดยเราสามารถระบายสีเป็นสีต่างๆ ลงบนภาพม้าที่เป็นลายเส้นอยู่บนกระดาษพื้นขาวและผู้จัดนิทรรศการเตรียมไว้ให้เราแล้วเรียบร้อย

กติกาคือ ต้องระบายเฉพาะตรงตัวม้านะครับ พื้นที่นอกกรอบเส้นรูปม้าต้องปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ พอระบายสีเสร็จเจ้าหน้าที่ก็จะรับผลงานไปจากศิลปินเอก (คือตัวผม) ไปวางบนเครื่องมืออะไรสักอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ม้าที่ผมได้ลงสีสวยงามแล้วนั้น สามารถโลดเต้นคึกคะนองกลับหน้ากลับหลังได้บนจอพร้อมกันกับม้าอีกหลายตัวของศิลปินเอกคนอื่นที่มาดูนิทรรศการพร้อมกับผมได้แสดงฝีไม้ลายมือไว้ด้วย

นิทรรศการแบบนี้ทำให้คนดูตื่นตาตื่นใจ และรู้สึกได้แน่นอนว่างานศิลปะที่เป็นโบราณวัตถุเหล่านั้น ไม่ได้อยู่ห่างไกลจากตัวเรา เทคโนโลยีมัลติมีเดียทำให้เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภาพที่ว่าเหล่านั้น

และผลที่เกิดติดตามมาพร้อมกันก็คือ ภาพเหล่านั้นได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความรับรู้ของเราด้วย

ความรู้ในการผลิตผลงานมัลติมีเดียแบบนี้ ผมมั่นใจว่าคนไทยของเราทำได้ และถ้ามีโอกาสได้ทำก็จะสามารถทำได้ดีกว่าคนอื่นเสียด้วย ถ้าเราทำให้ผลงานในลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นและแทรกซึมเข้าไปแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่มากมายในบ้านของเรา เด็กและเยาวชนก็จะสนุกในการเดินเข้าไปในมิวเซียม ซึ่งดีกว่าการไปเดินเล่นตามศูนย์การค้าเป็นไหนๆ

หรือว่าเรากลัวว่าศูนย์การค้าจะร้าง เศรษฐกิจจะตกต่ำ เลยไม่มีใครกล้าลงทุนในเรื่องแบบนี้ก็ไม่ทราบ

ระหว่างที่บ้านเรายังไม่มีโอกาสได้มีนิทรรศการแบบนี้เป็นของตัวเราเอง ก็ดูของคนอื่นไปก่อนก็แล้วกัน โบราณท่านว่าเราจนก็ต้องเจียมเป็นธรรมดา

“จน” ที่ว่านี้ไม่ใช่จนปัญญา แต่จนใจน่ะครับ