วงค์ ตาวัน | เพลงนี้ สะเทือนฝ่ายไหน ?

วงค์ ตาวัน

อยู่ดีๆ ก็มีคนมากระตุกทั่วทั้งสังคมไทยให้หันมาสนใจศึกษาสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเกิดเหตุ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการปลุกเพลง “หนักแผ่นดิน” ให้ฟื้นคืนชีพใหม่ ทั้งที่เพลงปลุกใจชาตินิยมเพลงนี้ หมดยุคไปนานแล้ว หลังจากสิ้นสุดสงครามคอมมิวนิสต์ในบ้านเมืองเรา

แต่พอหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีก เลยทำให้ได้เห็นภาพความขัดแย้งในบ้านเมืองยุคขวาพิฆาตซ้าย

โดยเพลงแต่งขึ้นในช่วงปี 2518 ซึ่งเริ่มโหมกระแสกวาดล้างฝ่ายซ้ายในไทย ซึ่งหมายถึงขบวนการนักศึกษาประชาชนที่เติบโตอย่างมากในยุคนั้น

นับจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นการล้มรัฐบาลทหาร โดยการชุมนุมต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชน จากนั้นขบวนการก็ขยายตัว มีบทบาทสูงมากในสังคมไทย

ต่อมาในช่วงปี 2518 ยุคที่สงครามคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ร้อนระอุอย่างมาก หน่วยทหารสหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพในหลายจังหวัดของไทย เป็นฐานในการเข้าช่วยเหลือรัฐบาลฝ่ายขวาในเวียดนาม กัมพูชา ลาว เพื่อสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่สุดท้ายฝ่ายขวาพ่ายแพ้หมด พรรคคอมมิวนิสต์ใน 3 ประเทศดังกล่าว ได้รับชัยชนะ ยึดอำนาจรัฐสำเร็จ

รัฐบาลไทย กองทัพไทย และกองทัพสหรัฐ พากันหวาดผวาว่าไทยจะล้มเป็นประเทศต่อไปตามทฤษฎีโดมิโน่

แล้วก็เลยเพ่งเล็งขบวนการนักศึกษาประชาชน ซึ่งตีความว่าเป็นฝ่ายซ้าย และเป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย

เพลงหนักแผ่นดินจึงเกิดขึ้น เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปลุกพลังมวลชนฝ่ายขวา ออกมาต่อต้านฝ่ายนักศึกษา-ประชาชน แล้วลงเอยก็เกิดเหตุการณ์ฆ่าหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป้าหมายเพื่อกวาดล้างฝ่ายซ้ายให้หมดสิ้นไป!

ปกติแล้วเพลงปลุกใจรักชาตินั้นมีมากมายหลายเพลง

แต่เพลงหนักแผ่นดินจะเขียนเนื้อหาลงรายละเอียด เน้นๆ การโจมตีขบวนการนักศึกษาประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่เรียกกันว่าขวาพิฆาตซ้าย

จึงเห็นได้ว่า พอผ่านพ้นช่วงขัดแย้งซ้ายขวา จนกระทั่งสงครามคอมมิวนิสต์ในป่าสิ้นสุดลงราวปี 2525 จากนั้นมาเพลงหนักแผ่นดินก็ไม่ค่อยมีการเอามาเปิดฟังกันอีก เพราะต่างจากเพลงปลุกใจสร้างความรักชาติเพลงอื่นๆ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นนามธรรม ใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย ทำให้สามารถเอามาเปิดใช้ได้เรื่อยๆ

ที่ว่าเพลงหนักแผ่นดิน เขียนโดยมีรายละเอียดเจาะจง ได้แก่เนื้อหาที่ว่า “คนใดยุยงปลุกปั่น ไทยด้วยกันหวังให้แตกกระจาย ปลุกระดมมวลชนให้สับสนวุ่นวาย เพื่อคนไทยแบ่งฝ่ายรบกันเอง คนใดคิดร้ายราวี ประเพณีของไทยไม่ต้องการ เกื้อหนุนอคติ เชื่อลัทธิอันธพาล แพร่นำมันมาบ้านเมืองเรา”

คำว่าปลุกระดม เป็นคำที่ใช้โจมตีศูนย์นิสิตนักศึกษาฯ บ่อยๆ ในสมัยนั้น

หรือคำว่าแพร่ลัทธิอันธพาล ต้องการกล่าวหาว่า มีการนำเอาลัทธิคอมมิวนิสต์มาเผยแพร่นั่นเอง!

การโหมเปิดเพลงนี้ในวิทยุเครือข่ายกองทัพบกช่วงปี 2518-2519 นั้น ทำควบคู่ไปกับการออกอากาศบทความ บทวิเคราะห์ ที่มุ่งทำให้สังคมไทยเกลียดชังขบวนการนักศึกษา-ประชาชน ซึ่งมีพิธีกรดังๆ หลายรายทำหน้าที่ในนามชมรมวิทยุเสรี ซึ่งมีสถานีวิทยุยานเกราะ ทำหน้าที่เป็นแม่ข่าย

แต่เมื่อนำเพลงหนักแผ่นดิน มาใช้ถล่มใส่ฝ่ายซ้ายมากๆ ก็มีการตอบโต้กลับ โดยวงดนตรีเพื่อชีวิตของฝ่ายนักศึกษา นำเพลงนี้มาร้องบนเวทีชุมนุมบ่อยๆ เช่นเดียวกัน พร้อมกับอธิบายเนื้อหาของเพลงว่า จริงๆ แล้ว คนหนักแผ่นดินนั้นก็คือ ฝ่ายผู้มีอำนาจในขณะนั้นมากกว่า

โดยเฉพาะท่อนที่ว่า “คนใดหลงชมชาติอื่น ชาติเดียวกันเขายืนข่มเหง ได้สินทรัพย์เจือจานก็ประหารไทยกันเอง ทีชาติอื่นเกรงดังญาติของมัน” หรือ”คนใดเห็นไทยเป็นทาส ดูถูกชาติเชื้อชนถิ่นไทย แต่ยังฝังทำกิน กอบโกยสินไทยไป เหยียดคนไทยเป็นทาสของมัน”

เนื่องจากในช่วงนั้น ฝ่ายนักศึกษามีการเคลื่อนไหวต่อต้านอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาที่มีเหนือรัฐบาลไทยเรา อันเป็นยุคที่ยุทธศาสตร์โลกของสหรัฐ คือการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์

สหรัฐจึงเข้ามามีบทบาททั้งการเมืองและการทหาร ด้วยเลือกไทยเป็นศูนย์กลางในการหยุดอิทธิพลคอมมิวนิสต์

แต่พร้อมๆ กันกลุ่มทุนข้ามชาติของอเมริกัน ก็เข้ายึดสัมปทานมากมายในไทยด้วย จนมีการเคลื่อนไหวประท้วงบริษัทใหญ่ๆ ของสหรัฐที่เข้ามากอบโกยทรัพยากรไปจากบ้านเรา

มีการประท้วงของนักศึกษาทั้งขับไล่ฐานทัพสหรัฐออกไป ทั้งขับไล่กลุ่มทุนของสหรัฐด้วย

ฝ่ายนักศึกษาจึงนำเอาเพลงหนักแผ่นดินมาร้องมาเล่น เพื่อจะบอกว่า ผู้มีอำนาจนั่นเอง ที่ปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาครองไทยเป็นเหมือนเมืองขึ้น

ช่วงนั้นคนไทยเลยได้ฟังเพลงนี้ทั้งทางวิทยุกองทัพบก และได้ฟังดนตรีเพื่อชีวิตของนักศึกษาก็เอามาร้องเพื่อโต้ตอบสวนทาง

แต่หลังจากฝ่ายขวาใช้แผนสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ผลที่ตามมากลับทำให้นักศึกษาและประชาชน แห่กันเข้าป่าไปร่วมจับอาวุธต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ยิ่งทำให้สงครามคอมมิวนิสต์ขยายไปทั่ว จนทำให้ฝ่ายรัฐจวนเจียนจะพ่ายแพ้อยู่เหมือนกัน

โชคยังดีที่เกิดความขัดแย้งในขบวนการคอมมิวนิสต์โลก ระหว่างจีนกับรัสเซีย ลุกลามไปมาถึงสงครามจีนบุกเวียดนาม แล้วเวียดนามก็เข้าไปล้มเขมรแดงในกัมพูชา

ส่งผลทำให้คอมมิวนิสต์ไทยระส่ำระสายไปด้วย

แล้วกองทัพไทยยุคใช้มันสมอง โดยบิ๊กจิ๋ว ชวลิต ยงใจยุทธ ผลักดันให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกฯ ออกคำสั่งที่ 66/23 ใช้การเมืองนำการทหาร เปิดทางให้นักศึกษาในป่า ที่กำลังเกิดความสับสนขัดแย้ง กลับคืนเมืองได้โดยไม่มีความผิดใดๆ

จากปี 2523 การสู้รบของคอมมิวนิสต์ก็แผ่วลง จนกระทั่งจบสิ้นในราวปี 2525

เพลงหนักแผ่นดิน จบสิ้นบทบาทไปนานแล้ว จนในสถานการณ์ที่กำลังจะเข้าสู่เลือกตั้ง 24 มีนาคม เมื่อนักการเมืองชูนโยบายหาเสียงจะตัดงบฯ การทหาร ทำเอาฝ่ายผู้นำกองทัพออกอาการหงุดหงิด นำมาสู่การโต้ตอบนักการเมือง ด้วยการปลุกเพลงหนักแผ่นดินขึ้นมาอีก

แต่ความที่ผู้นำกองทัพกับรัฐบาล คสช.เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วผู้นำ คสช.ก็เตรียมตัวจะเป็นนายกฯ ต่ออีกสมัยหลังเลือกตั้ง โดยมีการตั้งพรรคใหญ่โตมาขับเคลื่อนรองรับไว้แล้ว

ดังนั้น จึงกลายเป็นการเลือกตั้งที่สู้กันระหว่างขั้ว คสช. กับขั้วต่อต้าน คสช. และชนกับรัฐบาลทหาร อย่างชัดแจ้ง

ฝ่ายที่เรียกว่าเป็นพรรคประชาธิปไตย จึงเน้นหาเสียงพุ่งเป้าไปที่งบประมาณทหาร ทั้งเพื่อกระตุ้นประชาชนที่กำลังไม่พึงพอใจกับสภาพเศรษฐกิจยุคนี้ และทั้งเป็นการโชว์จุดยืนตรงข้ามกับพรรคการเมืองขั้วทหารที่แนบแน่นกับผู้นำทหารด้วย

เมื่อผู้นำกองทัพขยับออกมาโต้ ฝ่ายแกนนำ คสช.และพรรคขั้วนี้ก็ขยับออกมาโต้ไปพร้อมกันด้วย ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดทั้งขบวน

เหล่านี้จะยิ่งทำให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิ์มองเห็นภาพของ 2 ฝ่ายในการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งนี้

เห็นภาพ 2 ขั้วชัดเจน เพื่อจะได้ตัดสินใจง่ายขึ้น ทั้งในแง่การเมืองเรื่องประชาธิปไตยกับการเมืองแนวอนุรักษนิยม ไปจนถึงปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง กับงบประมาณด้านความมั่นคง

แล้วยิ่งถ้าเพลงหนักแผ่นดิน ทำให้คนส่วนใหญ่ได้รู้ย้อนไปถึงบทบาทช่วง 6 ตุลาคม 2519

เห็นภาพเก้าอี้ฟาดศพ และได้ฟังเพลงประเทศกูมีไปพร้อมกันด้วย

การปลุกเพลงหนักแผ่นดิน จะเกิดประโยชน์กับฝ่ายไหนมากกว่าในสถานการณ์เลือกตั้ง น่าจะพอเห็นได้!?!