คุยกับทูตอิหร่าน ‘มุห์เซน โมฮัมมาดี’ ถึงความสัมพันธ์หลายร้อยปีก่อนกับสยาม และประวัติศาสตร์สำคัญ

คุยกับทูต มุห์เซน โมฮัมมาดี บทบาทของอิหร่านวันนี้ (3)

ประวัติความสัมพันธ์ทางการทูตสยามกับอิหร่าน ได้เริ่มต้นและสิ้นสุดลงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาการเมืองภายในของกรุงศรีอยุธยาที่มีความขัดแย้งกัน ทำให้ราชวงศ์ปราสาททองสิ้นสุดลง จนถึงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ค.ศ.1767 และปัญหาภายในของราชวงศ์ซาฟาวิยะห์ (Safavid dynasty) แห่งอิหร่าน ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติต้องยุติลง

“ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและสยาม หรือระหว่างอิหร่านและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เกิดขึ้นหลังสมัยจักรวรรดิซาสซานิยะห์ (Sassanid Empire) ที่เป็นหนึ่งในจักรวรรดิเปอร์เซียซึ่งเป็นจักรวรรดิสุดท้าย (ค.ศ.224-ค.ศ.651) ก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามามีอิทธิพลและแพร่หลายในดินแดนนี้”

นายมุห์เซน โมฮัมมาดี (H.E. Mr. Mohsen Mohammadi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย เล่าถึงความเป็นพันธมิตรระหว่างอิหร่านและสยามตั้งแต่ครั้งประวัติศาสตร์

“ในรัชสมัยของกษัตริย์สุลัยมาน (King Soleyman) แห่งราชวงศ์ศอฟาวิยะฮ์ (Safavid dynasty) คณะราชทูตชุดแรกของอิหร่านเข้ามาในสยามเมื่อปี ค.ศ.1686 โดยบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรยืนยันว่า มีชาวอิหร่านจำนวนมากดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในการปกครองของสยามในเวลานั้น บันทึกที่เกี่ยวกับภารกิจนี้ถูกจัดเก็บไว้ในห้องสมุดพิพิธภัณฑ์อังกฤษ (British Museum Library)”

“หนึ่งในชาวอิหร่านที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในสยามและเป็นที่รู้จักกันดีตราบเท่าทุกวันนี้ คือ เชค อาหมัด กูมี หรือ เฉก อะหมัด (Sheikh Ahmad Ghomi) พ่อค้าและนักบวชชาวอิหร่านซึ่งเดินทางมาสยามในศตวรรษที่ 16 และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงให้การต้อนรับเป็นอย่างดี”

“ตำแหน่งสูงสุดของเชค อาหมัด กูมี คือ ผู้ให้คำปรึกษาแก่พระมหากษัตริย์ หลังทำหน้าที่สำคัญ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หัวหน้าสำนักงานศุลกากรทำหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศของสยาม และเป็นเชค-อัล-อิสลาม (Sheikh-al-Islam) หรือผู้นำสูงสุดของชุมชนมุสลิมในสยามด้วย”

เจ้าพระยาบวรราชนายก (เชค อาหมัด) เป็นมุสลิมชีอะห์อิสนาอะชะรี เกิดเมื่อ ค.ศ.1543 ณ ตำบลปานีเนะ ชาฮาร์ เมืองกุม (Qom,Qum) ศูนย์กลางของศาสนาอิสลามในประเทศอิหร่าน

ปลายแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เชค อาหมัด และบริวารได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ตั้งบ้านเรือนและห้างร้านค้าขายอยู่ที่ตำบลท่ากายี

จนกระทั่งมีฐานะเป็นเศรษฐีใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา และสมรสกับนางเชย มีบุตร 2 คนและธิดา 1 คน

ปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เชค อาหมัด ได้ช่วยปรับปรุงราชการกรมท่า จนได้ผลดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาเชค อาหมัด รัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา และจุฬาราชมนตรี นับได้ว่าเป็นปฐมจุฬาราชมนตรีและเป็นผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์อะอิสนา อะชะรีมาสู่ประเทศไทย

เมื่อเชค อาหมัด พร้อมด้วยมิตรสหาย ร่วมใจกันปราบปรามชาวต่างชาติกลุ่มหนึ่ง ที่ก่อการจลาจล และจะยึดพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าพระยาเชค อาหมัด รัตนาธิบดี สมุหนายกอัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ

ในปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เชค อาหมัด ซึ่งมีอายุ 87 ปี เป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก จางวางกรมมหาดไทย ต่อมาได้ถึงแก่อสัญกรรมในปี ค.ศ.1631 รวมอายุ 88 ปี เชค อาหมัด เป็นต้นสกุลของไทยมุสลิมหลายนามสกุล รวมทั้งสกุลบุนนาค ส่วนสถานที่ฝังศพของเชค อาหมัด ตั้งอยู่ในบริเวณสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

“หลัง 400 ปีที่จากไป วันครบรอบแห่งการเสียชีวิตของเชค อาหมัด ยังคงเป็นที่ระลึกถึงและอยู่ในความทรงจำโดย เป็นบุคคลที่สำคัญในประเทศไทย อันเป็นความภาคภูมิใจและเกียรติยศของชาวอิหร่าน ทุกวันนี้มีสองครอบครัวใหญ่ที่มีชื่อเสียงทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลของเชค อาหมัด ชาวเปอร์เซียในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ ตระกูลอาหมัดชูเลย์ (Ahmadchulay) และบุนนาค ถือเป็นสกุลที่เก่าแก่และทรงอิทธิพลมากที่สุดในอดีต เป็นที่รู้จักกันมากในประเทศไทย”

“ความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างอิหร่านและไทยเริ่มต้นในปี ค.ศ.1955 เมื่อมีการประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการจัดตั้งความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ประเทศไทยและประเทศอิหร่านได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ.1955 และมีการลงนามสนธิสัญญาทางไมตรีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับจักรวรรดิอิหร่าน ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1967

“นับเป็นการเสด็จเยือนครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนอิหร่านอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 23-30 เมษายน ค.ศ.1967 และล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ ฉลองวันครบรอบอภิเษกสมรส 28 เมษายนในอิหร่านด้วย”

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ เยือนอิหร่าน ระหว่างวันที่ 7-12 ธันวาคม ค.ศ.1976

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนอิหร่าน ค.ศ.1977 และ ค.ศ.2004 ซึ่งเป็นช่วงทั้งก่อนและหลังการปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolution)

การปฏิวัติอิสลาม (การปฏิวัติอิหร่าน หรือการปฏิวัติ ค.ศ.1979) เกี่ยวข้องกับการโค่นราชวงศ์ปาห์ลาวีภายใต้พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา และแทนที่ด้วยการปกครองแบบสาธารณรัฐอิสลามภายใต้ผู้นำปฏิวัติ อายะตุลลอฮ์ รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี (Ayatollah Ruhollah Khomeini) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การฝ่ายซ้ายและองค์กรอิสลาม สถาบันศาสนา นักบวช นักวิชาการ และขบวนการนักศึกษาชาวอิหร่าน

การนัดหยุดงานและการเดินขบวนทำให้ประเทศเป็นอัมพาต ชาห์เสด็จออกนอกประเทศอิหร่านเพื่อลี้ภัยเมื่อวันที่ 16 มกราคม ปี ค.ศ.1979 นับเป็นพระมหากษัตริย์เปอร์เซียพระองค์สุดท้าย

อิหร่านออกเสียงลงคะแนนการลงประชามติทั่วประเทศให้เป็นสาธารณรัฐอิสลามเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1979 และรับรองรัฐธรรมนูญเทวาธิปไตย-สาธารณรัฐนิยมฉบับใหม่ โคมัยนีกลายเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ ในเดือนธันวาคม ค.ศ.1979

ท่านทูตมุห์เซน โมฮัมมาดี ให้ความเห็นว่า

“การปฏิวัติอิสลาม ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและอิหร่านแข็งแกร่งมากขึ้นเพราะ “นโยบายมุ่งตะวันออก” (Look East Policy) ของอิหร่าน ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการขยายความสัมพันธ์ทางการเมืองและการค้าเป็นหลัก”