“ลูกเสือ” วิชาที่ทรงโปรด

พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 6 ให้มีคณะลูกเสือแห่งชาติ ประกอบด้วยลูกเสือทั้งปวงและบุคลากรทางการลูกเสือ

มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงเป็นลูกเสือสำรองตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2504 ซึ่งเป็นวันที่โรงเรียนจิตรลดาทำพิธีเปิดหน่วย “ลูกเสือสำรอง” โดย นายกอง วิสุทธารมณ์ อธิบดีกรมพลศึกษาขณะนั้น ในฐานะเลขาธิการสภาคณะกรรมการจัดการลูกเสือแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2559 อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดลูกเสือสามัญซึ่งเป็นวิชาที่พระองค์ทรงโปรดมากที่สุด ขึ้นเป็นภาพปก พร้อมพาดหัวข่าวว่า (ขออนุญาตนำความบางประการมาตีพิมพ์ซ้ำ ณ ที่นี้)

“ทรงโปรดวิชาลูกเสือ” พร้อมโปรยข่าวตอนหนึ่งว่า “ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ วิชาที่ทรงโปรดคือ “ลูกเสือ” เพราะได้ออกกำลังกลางแจ้ง จุดประกายความฝันให้ศึกษาต่อวิชาทหารจากสถาบันชั้นนำ จนได้รับการยกย่องในระดับสากล”

ความอีกตอนหนึ่งบรรยายว่า “การได้เป็นลูกเสือสำรองเป็นความภาคภูมิใจและเป็นที่ใฝ่ฝันสำหรับเด็กชายที่เข้าสู่วัยเรียนทุกคนเช่นไร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ในขณะนั้นก็รู้สึกเช่นนั้น โดยพระองค์ทรงเฝ้ารอเวลานี้มานานแล้ว พร้อมกับพระสหายในวัยเดียวกัน”

 

หน่วยลูกเสือของโรงเรียนจิตรลดาแบ่งออกเป็น 2 หมู่ หรือ 2 ซิกซ์ เพราะขณะนั้นมีนักเรียนอยู่ในเกณฑ์เป็นลูกเสือสำรองได้เพียง 12 คน โดยหมู่หนึ่งแบ่งออกเป็น 6 คน หมู่แรกชื่อหมู่สีฟ้า ทรงเป็นหัวหน้าหมู่ หมู่ที่สองชื่อหมู่สีน้ำเงิน หัวหน้าหมู่คือ สัณห์ ศรีวรรฑธนะ

การเป็นหัวหน้าหมู่ลูกเสือสำรองนี้ โดยทั่วไปผู้บังคับบัญชาลูกเสือเป็นผู้เลือก แต่ในโรงเรียนจิตรลดาเปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกกันเอง

หัวหน้าหมู่มีหน้าที่ดูแลและเก็บสิ่งของซึ่งเป็นของหมู่ให้เรียบร้อย เมื่อถึงเวลาฝึกก็นำออกมาแจกให้ลูกหมู่ เสร็จแล้วก็เก็บรวบรวมไปไว้ยังที่ให้เป็นระเบียบ ซึ่งทรงปฏิบัติหน้าที่นี้ได้โดยไม่ขาดตกบกพร่อง แม้ทรงอิดเอื้อนบ้างในตอนแรก เพราะยังไม่เข้าพระทัยในหน้าที่นี้ดี

แต่เมื่อพระอาจารย์อธิบายถวายก็ทรงปฏิบัติตาม

พระองค์ทรงโปรดวิชาลูกเสือสำรองมาก เพราะนอกจากจะได้ทรงกระโดดโลดเต้นออกกำลังกายกลางแจ้งแล้ว ยังได้ทรงฟังนิทานสนุกๆ และได้ทรงร้องเพลงที่สนุกสนานอีกด้วย

ทรงเป็นนักเรียนที่ช่างซักมากที่สุดในชั้น

วันใดที่มีการฝึกลูกเสือสำรองจะทรงตื่นบรรทมเช้ากว่าปกติ เตรียมฉลองพระองค์ลูกเสือด้วยพระองค์เอง

สิ่งแรกที่ทรงทำหลังจากตื่นบรรทมก็คือ ขัดหัวเข็มขัดและรองพระบาทสำหรับเครื่องแบบลูกเสือ ทำความสะอาดพระนขา (เล็บ) เตรียมพร้อมสำหรับการตรวจอยู่ตลอดเวลา

 

ในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือไทย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2506 ในพิธีสวนสนามของลูกเสือ ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานครั้งแรก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ในขณะนั้น เสด็จฯ ไปทรงร่วมกิจกรรมกับลูกเสือโรงเรียนอื่นเป็นครั้งแรกที่ทรงร่วมพิธีสวนสนามของลูกเสือ ซึ่งประชาชนคนไทยที่ทราบข่าวก่อนหน้าพากันเป็นห่วงเป็นใยพระองค์ท่านไปต่างๆ นานา ด้วยเกรงว่าพระองค์จะประชวรลง

บางคนถึงกับกล่าวว่า “โถ ทูลกระหม่อมจะทรงทนแดดไหวหรือ ท่านจะทรงเป็นลมไหมนะ” โดยความห่วงใยในพระองค์ของพสกนิกรเรื่องนี้ เมื่อทรงทราบก็ได้รับสั่งว่า “ต้องได้ซิ ทำไมจึงดูถูกกันอย่างนี้นะ”

ครั้นถึงวันสวนสนามก็ทรงปฏิบัติหน้าที่ของลูกเสือสำรองของโรงเรียนจิตรลดาได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับลูกเสือคนอื่นๆ ในวันนั้น ทรงถือป้ายชื่อโรงเรียนผ่านพระที่นั่งด้วยพระอาการสง่า และทรงร่วมแสดงในนามหมู่ลูกเสือโรงเรียนจิตรลดาด้วย

 

สําหรับการที่ทรงมีความอดทนและรู้จักหน้าที่ของลูกเสือเป็นที่ประจักษ์ชัดอีกครั้งหนึ่งในการซ้อมใหญ่สวนสนามวันฉลองครบรอบวันกำเนิดลูกเสือไทย วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2508 ขณะนั้นทรงเป็นลูกเสือโทแล้ว

วันนั้นที่กรีฑาสถานแห่งชาติฝนตกหนักอย่างลืมหูลืมตาไม่ขึ้น บรรดาผู้คุมการฝึกซ้อมลงความเห็นว่าควรเชิญเสด็จเข้าประทับในชายคา เพราะอาจจะทำให้ประชวรหวัดได้ เจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่คนหนึ่งวิ่งออกไปที่สนาม ทูลเชิญเสด็จเข้าที่ประทับในชายคา ทรงมองหน้าผู้ทูลเชิญพร้อมกับสั่นพระเศียร แล้วรับสั่งว่า “ทำไมจะต้องให้ฉันหลบเข้าไปด้วยล่ะ ใครๆ เขาตากฝนได้ฉันก็ตากได้เหมือนกัน ฉันแข็งแรงพอ”

ก่อนหน้านั้น เมื่อโรงเรียนจิตรลดาเข้าพิธีประจำกองลูกเสือสามัญ โดยสมทบกับหน่วยโรงเรียนวชิราวุธ เป็นกองลูกเสือสังกัด อ.3 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2506 ทรงสอบได้เป็นลูกเสือโท เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2508 ในวันนั้นได้เสด็จฯ ไปทรงสอบเดินทางไกล และประกอบอาหารที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ ต.บางรัก อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ต้องเสด็จฯ ตั้งแต่เช้ามืด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสห้ามใครตามเสด็จนอกจากราชองครักษ์ซึ่งให้ตามเสด็จได้เพียงห่างๆ

การเสด็จเข้าค่ายลูกเสือที่ค่ายวชิราวุธครั้งนั้น ทรงทำอาหารเอง ซึ่งที่ทรงโปรดทำที่สุดคือ “ข้าวสวยคลุกไข่ปั้นเป็นก้อนทอด” โดยทรงโปรดการทำครัวเท่ากับความช่างเสวย บางคราวทรงทำอาหารเองด้วยหม้อและเตาดินเผาเล็กๆ แล้วประทับเสวยอย่างเอร็ดอร่อยร่วมกับผู้ตามเสด็จ

ทรงศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดาถึงมัธยมศึกษาปีที่ 1 จึงเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อที่อังกฤษ

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงกระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการศึกษาระดับอนุบาลขึ้น ณ พระที่นั่งอุดร ในพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2498

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2500 เสด็จฯ มาประทับ ณ พระที่นั่งจิตรลดารโหฐาน จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารเรียนถาวรในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และพระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนจิตรลดา”

บันทึกเรื่องนี้หนังสือพิมพ์เดลินิวส์นำมาจากหนังสือเฉลิมพระเกียรติที่กองทัพบกจัดทำขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของ “วิชาลูกเสือ” ที่ทรงโปรด

หากสำนักงานลูกเสือแห่งชาติจะนำไปให้ “ลูกเสือ” ได้เรียนรู้จะเป็นการดียิ่ง