แพทย์ พิจิตร : “Nomos-Physis” แบบศรีธนญชัย

อาจารย์ชัยอนันต์กับอาจารย์สมบัติ จันทรวงศ์ ได้บุกเบิกการสอนวิชา “ความคิดทางการเมืองไทย” ขึ้นที่ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อราวทศวรรษ พ.ศ.2520

และต่อมาก็ได้กลายเป็นวิชาในระดับปริญญาเอกด้วย

ที่สำคัญคือ ท่านทั้งสองได้ผลิตตำรา “ความคิดทางการเมืองไทย” และที่สำคัญขึ้นไปอีกคือ ก่อนที่จะพิมพ์เป็นตำราออกมา ท่านทั้งสองได้ส่งให้อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์อ่าน และท่านอาจารย์นิธิก็ได้เขียนตอบมาโดยจั่วหัวเรื่องว่า “ปฏิกิริยา”

ซึ่งในตอนก่อน ได้กล่าวถึงข้อวิจารณ์แบบนักประวัติศาสตร์ของอาจารย์นิธิที่มีต่อการศึกษาความคิดทางการเมืองในแบบรัฐศาสตร์และปรัชญาการเมืองของอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์สมบัติ

ประเด็นคราวที่แล้วคือ อาจารย์นิธิไม่เห็นด้วยกับการใช้กรอบคิดเรื่องการขัดกันระหว่าง “ขนบจารีตประเพณีและธรรมชาติ” มาตีความวิเคราะห์ความคิดทางการเมืองในเรื่องศรีธนญชัยและศรีปราชญ์

ซึ่งกรอบคิดดังกล่าวปรากฏชัดในการศึกษาความคิดทางการเมืองกรีกโบราณภายใต้คำว่า “Nomos และ Physis” ซึ่งผมได้ขยายความไปบ้างแล้วว่ามันคืออะไร

คราวนี้จะขยายความต่อ และเมื่อขยายความจบแล้ว ก็จะมาพิจารณาว่า ตกลงแล้วกรอบคิดดังกล่าวนี้มันใช้ได้หรือไม่ได้อย่างไรในการวิเคราะห์ตีความความคิดทางการเมืองในศรีธนญชัย

และในการทำความเข้าใจกรอบคิดเรื่อง “Nomos-Physis” จำเป็นต้องเข้าใจความขัดแย้งแตกต่างระหว่างฟิลโลโซเฟอร์ (ผู้รักในความรู้-philosopher) และโซฟิสต์ (ผู้รู้-sophist) ที่เกิดขึ้นในบริบทศตวรรษที่ห้าก่อนคริสตกาลในนครรัฐเอเธนส์

 

หลังจากที่ผู้เขียนได้เล่าถึงกรอบ “Nomos-Physis” และความเหมือนและความต่างระหว่างฟิลโลโซเฟอร์และโซฟิสต์ไปแล้วในตอนก่อนๆ มาคราวนี้ ผู้เขียนจะลองนำเรื่องศรีธนญชัยมาวิเคราะห์พิจารณาภายใต้กรอบคิดดังกล่าว

พฤติกรรมของศรีธนญชัยหรืออีกนัยหนึ่งจะเรียกว่าการต่อสู้ของศรีธนญชัย เริ่มต้นจากการที่เขาไม่พอใจที่แม่ค้าให้ขนมแก่น้องชายเป็นพิเศษเพิ่มอีกหนึ่งห่อมากกว่าที่เขาได้ ทำให้ศรีธนญชัยผูกใจพยาบาทแม่ค้านั้น

ต่อมาก็พยาบาทน้องชายรวมทั้งพ่อ-แม่ของตนด้วยที่โยนภาระการเลี้ยงดูน้องและทำความสะอาดบ้านมาให้ตน สิ่งที่ศรีธนญชัยทำหรือ “ต่อสู้” ก็คือ ฆ่าน้องตัวเองและเอาข้าวของในบ้านไปทิ้งน้ำจนเกลี้ยงบ้าน

เมื่อพ่อ-แม่กลับมา สิ่งที่ศรีธนญชัยตอบก็คือ เขาได้ทำตามที่พ่อ-แม่บอกทุกประการคือ เมื่อพ่อ-แม่สั่งให้เขา “อาบน้ำทำความสะอาดน้องทั้งข้างนอกข้างใน” และ “ทำความสะอาดบ้านเรือนให้เกลี้ยง” ถ้าไม่ทำ จะโดนตี เขาก็เลยทำความสะอาดน้องทั้งข้างนอกและข้างในโดยการเอามีดผ่าท้องน้องและควักตับไตไส้พุงออกมาจนเกลี้ยงและเอาน้ำล้างจนเกลี้ยง

ส่วนบ้านนั้นก็เก็บกวาดและเอาข้าวของไปโยนทิ้งน้ำ

พูดง่ายๆ ก็คือ ศรีธนญชัยทำตามที่พ่อ-แม่สั่งตาม “คำพูด” ทุกคำ

หลังจากที่พ่อ-แม่ฟังคำตอบของศรีธนญชัยก็โกรธสุดๆ ไล่ตีและตัดลูกตัดพ่อแม่ ไล่ออกจากบ้านไป

 

ในแง่หนึ่ง เราอาจจะมองได้ว่า ศรีธนญชัยที่ขณะนั้นอายุเพียงห้าขวบเป็น “เด็กปัญญาอ่อน” หรือ “เด็กที่ยังไม่โตพอ” ที่รู้ภาษาแต่ไม่เข้าใจนัยของภาษาตามสำนวนที่ใช้ตามขนบกฎเกณฑ์ (nomos) ของสังคม แต่ในเนื้อเรื่องโดยรวมจะพบว่า ศรีธนญชัยไม่ใช่ “เด็กปัญญาอ่อน” หรือ “เด็กที่ยังไม่โตพอ”

ดังนั้น จึงต้องหันมามองอีกมุมหนึ่ง นั่นคือ ศรีธนญชัย “ฉลาดเจ้าเล่ห์” หรือเป็นคน “มีปัญญา” ที่รู้จัก “เล่นกับคำเล่นกับภาษา” ในขณะอายุเพียงห้าขวบเท่านั้น

ในขณะที่คนที่โตเป็นผู้ใหญ่แล้วจำนวนไม่น้อ ก็ยังไม่มีสติปัญญาพอที่จะ “เล่นกับคำเล่นกับภาษา” แต่ยึดติดกับนัยความหมายของคำและภาษาตาม “nomos” ที่สังคมกำหนดไว้เท่านั้น

ขณะเดียวกัน ก็น่าคิดว่า ถ้าศรีธนญชัยตอบพ่อแม่ว่า ตนแค้นน้อง โดยสืบเนื่องมาจากเรื่องที่ยายแม่ค้าเอ็นดูให้ขนมมากกว่า และก็แค้นพ่อ-แม่ที่ไม่ให้ความเป็นธรรมที่จะแบ่งขนมให้ตนเท่าๆ กับน้อง และแถมยังมาให้ตนต้องมีภาระดูแลน้องดูแลบ้าน พ่อ-แม่จะมีปฏิกิริยาที่แตกต่างไปจากนี้หรือเปล่า?

นั่นคือ พ่อ-แม่จะรู้สึกบ้างไหมว่า เด็กอายุห้าขวบคิดในเรื่องของความอยุติธรรมที่ตนได้รับ ไม่ว่าจะเป็นความอยุติธรรมที่ถูกต้องหรือไม่ก็ตาม น่าสนใจว่า ภายในหัวสมองของศรีธนญชัย ความยุติธรรมของเขานั้นคืออะไร?

และน่าสนใจที่จะตั้งข้อสงสัยว่า ตอนที่ศรีธนญชัยตัดสินใจฆ่าน้องและผลาญบ้านนั้น เขาคิดว่า พ่อ-แม่จะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับเขา?

หรือเขาไม่สนใจ ถึงแม้ว่าเขาจะถูกอัปเปหิ เพราะเขารู้ว่า ที่พึ่งถัดไปของเขาภายใต้ “nomos” ของสังคมไทยสมัยนั้นคืออะไร?

 

หลังจากที่ศรีธนญชัยถูกอัปเปหิตัดหางออกไปจาก “ครอบครัว” แล้วก็ไปพึ่งวัด บังเอิญพระภิกษุผู้ใหญ่ที่วัดไม่รู้เรื่องศรีธนญชัยมาก่อน และศรีธนญชัยก็บอกพระรูปนั้นไปว่า ตนไม่มีพ่อ-แม่ ไร้ญาติขาดที่พึ่ง พระท่านจึงรับเลี้ยงเป็นเด็กวัดไว้เอาบุญด้วยความเวทนาสงสาร

และต่อมาศรีธนญชัยก็ได้บวชเป็นสามเณรที่วัดนั้น

แต่ศรีธนญชัยก็ไม่ได้ “ต่อสู้” หรือ “มีพิษสง” อะไรกับพระที่เมตตาตน แถมยังดูแลปรนนิบัติพระท่านเป็นอย่างดี

ซึ่งอาจจะเป็นเพราะ ถ้าเขามีพิษสงอีก เขาอาจจะมีปัญหาเรื่องที่พึ่งหลังจากนี้ ในขณะที่เขายังมีอายุไม่มากนัก

เมื่อเวลาผ่านไป สามเณรศรีฯ มีอายุได้ 13 ปี ก็มีญาติของพระผู้ใหญ่เอาเด็กสาวหน้าตาดีมาฝากให้เรียนหนังสือ

และเนื่องจากสามเณรศรีธนญชัยหัวดีอ่านออกเขียนได้ จึงถูกมอบหมายให้สอนหนังสือเด็กสาวคนนั้น และเณรหนุ่มก็ทำการลวนลาม แต่สามเณรศรีธนญชัยก็รอดตัวมาได้จากการให้เหตุผลว่า ตนตั้งใจจริงในการสอน แต่นักเรียนสอนยาก และในการสอนให้หัดเขียนตัวหนังสือ จำเป็นต้องมีการจับมือ

และการจับมือก็เกิดขึ้นในลักษณะที่เหมือนการโอบข้างหลัง

 

ในเรื่องนี้ ถ้าตีความตาม “ขนบ” หรือ “nomos” ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิด แต่ถ้าคิดตาม “ธรรมชาติ” หรือ “physis” ก็ไม่ผิดที่เด็กหนุ่มจะคิดและอยากจะเจ้าชู้กับเด็กสาวที่หน้าตาดี การกระทำล่วงเกินสีกาถือเป็นเรื่องผิดสำหรับพระและสามเณร เป็นบาปและอาบัติ

การลงโทษที่ร้ายแรงที่สุดก็คือต้องสึก แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นความผิดทางกฎหมาย

แต่ถ้าล่วงเกินจนถึงขั้น ก็ผิดกฎหมาย และมีโทษจากบ้านเมือง แต่ทั้งศีลและกฎหมายต่างก็เป็น “nomos” ทั้งสิ้น

เณรศรีธนญชัยจึงยังได้สอนเด็กสาวนั้นต่อไปอีก จนทั้งสองเข้าวัยหนุ่มสาว และในที่สุดสามเณศรีฯ ก็อดใจไม่ได้ ทำการปลุกปล้ำเด็กสาวนั้น

แต่คราวนี้ศรีธนญชัยไม่รอด เพราะกามตัณหาบดบังสติปัญญาความสุขุมรอบคอบจนเผลอไม่ระวังตัว

เพราะก่อนหน้านี้เขาจะกระทำการต่อเมื่อสมภารจำวัดหลับ และจะคอยฟังเสียงกรนของสมภาร

แต่คราวนี้พลาด สมภารมาพบเข้า ก็เอาไม้ตีไล่ศรีธนญชัยออกไปจากวัด คราวนี้ศรีธนญชัยจะไปกินนอนอาศัยที่ไหน?

 

ศรีธนญชัยกลับบ้านพ่อ-แม่ การที่เขาคิดกลับที่บ้านพ่อ-แม่ ก็เพราะเขาเข้าใจ “nomos” ของสังคมขณะนั้นว่า คนมักจะให้อภัยกับคนที่บวชเป็นพระ ซึ่งก็ไม่ต่างจากค่านิยมในสังคมไทยปัจจุบัน ที่เราจะพบเห็นอยู่เสมอๆ ที่คนที่กระทำผิด ไม่ว่าจะผิดกฎหมายหรือผิดจริยธรรม ก็มักจะ “หาวัด” ไว้สักพักก่อน แล้วค่อยกลับคืนสู่สังคมทางโลกย์

นักการเมืองชาย-หญิงจำนวนไม่น้อยก็ยังทำกันอยู่ และโดยเฉพาะผู้ที่เป็นพ่อ-แม่ จะเชื่อว่า ถ้าลูกบวช ตนก็จะได้กุศลผลบุญ

ดังนั้น เมื่อเณรศรีธนญชัยกลับบ้าน พ่อ-แม่เห็นผ้าเหลืองก็จึงดีใจและให้อภัย อีกทั้งเณรศรีธนญชัยก็บอกกับพ่อ-แม่ว่า ที่กลับมานี้ ก็เพราะอยากจะสึกมาช่วยพ่อ-แม่ทำไร่ไถนา พ่อ-แม่ก็เชื่อและอโหสิกรรมอนุโมทนา

จากที่เล่ามานี้ จะเห็นได้ว่า ประเด็นสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องศรีธนญชัยก็คือ ประเด็นเรื่องความยุติธรรมในความคิดของศรีธนญชัยในเรื่องที่เขาไม่ได้รับส่วนแบ่งขนมที่เท่าเทียมกัน

เขาไม่ได้คิดเห็นแก่น้องชายหรือมีน้ำใจเอ็นดูน้องชาย หรือพยายามเข้าใจว่า ยายแม่ค้าอาจจะเอ็นดูน้องชายที่เล็กกว่า จึงแบ่งขนมให้มากกว่า อีกทั้งพ่อ-แม่ก็ไม่สนใจถึงความรู้สึกอยุติธรรมที่เขาได้รับ

ซึ่งจะว่าไปแล้ว เด็กๆ ทุกคนก็จะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในกรณีนี้เสมอ และกล่าวได้ว่าเป็น “ธรรมชาติ” ของมนุษย์ทุกคนทุกผู้ทุกวัย

เพียงแต่ “nomos” หรือขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีกติกาของสังคมเท่านั้นที่จะเป็นตัวกดทับ “physis” นี้ไว้

และ “nomos” หรือขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีกติกาของสังคมก็เป็นตัวกำหนดลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-แม่พี่น้องในครอบครัวว่า แต่ละคนในตำแหน่งแห่งที่ที่ “nomos” กำหนดไว้ควรจะมีทัศนคติและประพฤติปฏิบัติต่อกันอย่างไร

ซึ่งศรีธนญชัยมีส่วนทั้งที่ท้าทาย “nomos” และใช้ “nomos” นี้เพื่อประโยชน์ของตนล้วนๆ

 

Protagoras โซฟิสต์กรีกโบราณเคยกล่าวไว้ว่า “Man is the measure of all things of things that they are and of things that they are not.” อันตีความได้ว่า มนุษย์เป็นคนกำหนดคุณค่าต่างๆ ขึ้นมาเอง คุณค่านั้นมิได้ถูกกำหนดจากเทพเจ้าหรือธรรมชาติ อีกนัยหนึ่งก็คือ “nomos” ถูกกำหนดขึ้นโดยมนุษย์ในสังคมนั่นเอง

และตีความได้ว่า คนแต่งเรื่องศรีธนญชัยจะรู้ตัวหรือไม่รู้ก็ตาม แต่ก็สร้างบทให้ศรีธนญชัยท้าทาย “nomos”

และใช้ “nomos” นี้เพื่อประโยชน์ของตน อันเป็นประโยชน์ตามธรรมชาติ นั่นคือกินและกาม