ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 กุมภาพันธ์ 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
“ส่วนตัวชื่นชมทหารที่เป็นทหารอาชีพเพราะเป็นผู้เสียสละ ปกป้องอธิปไตยของชาติ และสนับสนุนให้ทหารอาชีพเหล่านี้ได้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
แต่ไม่ชื่นชมทหารที่มาทำรัฐประหารยึดอำนาจจากประชาชน”
คือข้อความตอนหนึ่งที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก ตอบโต้ภายหลัง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ออกมาไล่ให้ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน”
เพราะไม่พอใจคุณหญิงสุดารัตน์หาเสียงเลือกตั้งชูนโยบายตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหม 10 เปอร์เซ็นต์ จากทั้งหมดกว่า 200,000 ล้านบาท
การออกมา “แลกหมัด” เปิดเผย โดยไม่เกรงกลัวว่าอีกฝ่ายคือ “เบอร์ 1” ของกองทัพ
ที่แสดงออกหลายครั้งทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ถึงจุดยืนสนับสนุนการสืบต่ออำนาจรัฐบาล คสช. โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.
อดีตผู้บังคับบัญชาที่โอบอุ้มกันมา ซึ่งวันนี้ได้ก้าวเข้าสู่สนามการเมือง ตอบรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคพลังประชารัฐ
ความห้าวหาญของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
ไม่เพียงสะท้อนความเป็น “หญิงเหล็ก” ที่ผ่านเบ้าหลอมทางการเมืองมานาน 27 ปี นับตั้งแต่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.กรุงเทพฯ สมัยแรกเดือนมีนาคมปี 2535 ก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
ยังสะท้อนการก้าวขึ้นเป็น “เบอร์ 1” ของพรรคเพื่อไทยอย่างเต็มภาคภูมิ ไม่ว่าในฐานะประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง หรือในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
กล่าวกันในทางการเมือง
หากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ฉายา “บุรุษผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ถึงตอนนี้ถ้าจะเรียกคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็น “หญิงผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ก็คงได้เหมือนกัน
ถึงก่อนหน้านี้สถานะในพรรคของ “คุณหญิง” จะไม่ค่อยมั่นคงมากนัก โดยมีกระแสข่าวออกมาเป็นระยะว่าแกนนำพรรคหลายคนไม่ให้การยอมรับเท่าใดนัก
การจดตั้งพรรคไทยรักษาชาติขึ้นมาใหม่ โดยมีอดีตแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคน “แยกตัว” ออกไปร่วม
แม้ด้านหนึ่งจะอธิบายว่าเป็นการดำเนินยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์พัน เป็นแบงก์ร้อย” แก้เกมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ได้รับการออกแบบมาสกัดกั้นพรรคใหญ่ หรือกล่าวถึงที่สุดก็คือพรรคเพื่อไทย ไม่ให้ได้รับเลือกตั้งเกินครึ่ง
อีกด้านหนึ่งก็มีกระแส “เสี้ยม” ทำนองว่า การที่แกนนำและอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางส่วน แยกวงไปอยู่พรรคไทยรักษาชาติ ก็เพราะไม่อาจยอมรับบทบาทการนำของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
รวมถึงการที่กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ถึงจะมีมติเสนอคุณหญิงอยู่ในบัญชีชื่อนายกฯ ของพรรค ที่เตรียมเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา
ขณะเดียวกันพรรคก็ใส่ชื่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ เข้าไปด้วย รวมเป็น 3 คน
ในแง่บวก การที่ 1 พรรคเสนอชื่อ 3 แคนดิเดตนายกฯ อาจมีผลทำให้พรรคคู่แข่งในสนาม “ล็อกเป้า” ไม่ถูก เพราะไม่รู้คนไหนคือ “ตัวจริง” คนไหน “ตัวหลอก” ในเกม
เสมือนทีมฟุตบอลใช้ระบบกองหน้า 3 ตัว ทำให้แผงกองหลังคู่ต่อสู้สับสน จับทางไม่ถูก ไม่รู้จะเลือกประกบตัวไหน ทำให้โอกาสทำประตูมีมากขึ้น
อีกแง่หนึ่งมีคนพยายามแสดงความเป็นห่วง เกรงว่าอาจเกิดความขัดแย้ง ชิงดีชิงเด่นกันเองใน 3 คนที่ได้รับการวางตัวเป็นกองหน้า เกิดกรณีแย่งกันยิงประตู เพื่อเป็นฮีโร่
ขาดสำนึกในการเล่นเป็นทีม นำมาสู่ความพ่ายแพ้ในที่สุด
โชคดีทั้ง “สุดารัตน์-ชัชชาติ” หรือแม้กระทั่ง “ชัยเกษม” ต่างรู้เท่าทันผู้หวังดีแต่ประสงค์ร้าย
ภาพ 3 แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ออกควงแขนเดินสายหาเสียงไปทั่วทุกพื้นที่จึงปรากฏขึ้น
ภายหลังเหตุการณ์ 8 กุมภาพันธ์ จากกรณีการยื่นชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไทยรักษาชาติ จนต้องไปลุ้นระทึกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งยุบพรรคหรือไม่
ระหว่างรอผล คอการเมืองต่างพุ่งความสนใจไปยังพรรคฝ่ายประชาธิปไตย จะได้รับผลสะเทือนในทางดีหรือทางร้าย หรือทั้งสองทาง จากกรณีพรรคไทยรักษาชาติหรือไม่ อย่างไร
โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย พรรคใหญ่ฝ่ายประชาธิปไตย ตัวแปรสำคัญของการเมืองไทยหลังเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมนี้ ที่อาจต้องยุติแผน “แยกกันเดิน รวมกันตี” ไว้ชั่วคราว
หันมาใช้แผน “ไปต่อไม่รอแล้วนะ”
เพราะไม่รู้ท้ายสุดชะตากรรมพรรคไทยรักษาชาติจะลงเอยรูปแบบใด การเมืองเป็นเรื่องรอไม่ได้ การเลือกตั้ง 24 มีนาคม ขยับใกล้เข้ามาทุกที
ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย หรือพรรคไหนๆ ไม่มีเวลามารีรอ จำเป็นต้องใช้เวลาที่เหลือ 1 เดือนให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุด
นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า ถึงที่สุดแล้วหากไทยรักษาชาติถูกตัดสิน “ยุบพรรค” คะแนนเสียงของพรรคก็จะกระจายมาลงที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ดี
หลักๆ คงหนีไม่พ้นพรรคเพื่อไทย กับพรรคอนาคตใหม่ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่กำลังมาแรงในกลุ่มนิสิต นักศึกษา และประชาชนคนรุ่นใหม่ ประเมินได้จากกระแส #ฟ้ารักพ่อ
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ยังน่าจะเกาะกุมคะแนนเสียงระดับรากหญ้าเอาไว้ได้
จากผลสำรวจ “อีสานโพล” ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ใน 20 จังหวัดภาคอีสาน พบว่า
ที่มีแนวโน้มได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุด คือผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 44.8 รองลงมาได้แก่ พรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 21.2 ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 7.4
ภายใต้สถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน
พรรคเพื่อไทยตัดสินใจส่งสัญญาณชูคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ขึ้นเป็น “ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิง” ในการปราศรัยใหญ่ครั้งแรกของพรรค
1วันหลังวันวาเลนไทน์ พรรคเพื่อไทยเปิดปราศรัยใหญ่ครั้งแรก เวทีลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
โดยมีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคทั้ง 3 คน แกนนำและกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งผู้สมัคร ส.ส.กทม.ของพรรค 22 เขตร่วมเวทีพร้อมเพรียง
รวมถึงหนุ่มโอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร สมาชิกพรรค บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มาร่วมพบปะทักทายประชาชนจำนวนมากด้านล่างเวที
หลังแกนนำสลับกันขึ้นปราศรัย ทั้งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายชัยเกษม นิติสิริ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายวัฒนา เมืองสุข นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา นายโภคิน พลกุล เป็นต้น
สปอตไลต์ก็ฉายจับไปที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งขึ้นมากล่าวปราศรัยปิดท้าย
ท่ามกลางคนฟังแน่นลานคนเมือง สื่อมวลชนรุมล้อม เสียงเพลงประจำพรรคดังกระหึ่ม ประกอบภาพวีดิทัศน์การนำทีมเดินสายหาเสียงหลายจังหวัดทั่วประเทศ
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด พิธีกรบนเวทีกล่าวเรียกเสียงปรบมือและเสียงกรี๊ดดังๆ ให้กับ “บุคคลที่ถูกคาดหมายว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทย”
เนื้อหาการปราศรัยของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในวันนั้น แต่ละคำ แต่ละประโยคเป็นการประกาศศึกกับรัฐบาล คสช. และพรรคสืบทอดอำนาจ แบบตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม
“หมดเวลารถถัง ได้เวลานักบริหารมืออาชีพ ได้เวลาพรรคเพื่อไทยกลับมากอบกู้เศรษฐกิจ”
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ผู้สมัคร ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กว่า 4 ปีที่ผ่านมาคงเป็นเครื่องพิสูจน์ได้แล้วว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องหรือไม่
เชื่อว่าช่วงโค้งสุดท้าย ทางตรงเข้าสู่เส้นชัย คุณหญิงสุดารัตน์จะได้ใจประชาชน จะเป็น “นารีขี่ม้าขาว” เบียดเข้าเส้นชัยด้วยนโยบายกอบกู้เศรษฐกิจ ด้วยทีมบริหารมืออาชีพ
ประเทศไทยจะมีนายกฯ หญิงคนที่ 2 ต่อจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไม่ ประชาชนจะเป็นผู้พิจารณา ให้คำตอบด้วยตัวเองในวันที่ 24 มีนาคมนี้ แน่นอน