จิตต์สุภา ฉิน : “กรุ๊ปแชต” วิวัฒนาการการสื่อสารของครู-ผู้ปกครอง

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เพื่อนลูกสองคนหนึ่งเคยแคปเจอร์หน้าจอแชตจากไลน์กลุ่มผู้ปกครองและครูที่โรงเรียนของลูกมาให้ดู

พร้อมกับระบายให้ฟังว่ากลุ้มใจเหลือเกินหลังจากได้อ่านข้อความที่ครูเขียนถึงนักเรียนแต่ละคนว่าใครทำอะไรในแต่ละวันบ้าง

แล้วลูกชายของเธอได้รับคอมเมนต์ว่า “น้อง…ก็ยังขี้อายพูดน้อยเหมือนเดิมค่ะ”

ฉันคิดว่าตอนนั้นเธอน่าจะทั้งรู้สึกกลุ้มใจที่ลูกยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้

ขณะเดียวกันก็เสียหน้าที่ผู้ปกครองคนอื่นก็ได้อ่านข้อความอย่างทั่วถึงกัน

เป็นเรื่องปกติที่การรวมคนจำนวนมากเข้ามาอยู่ในที่เดียวกันจะก่อให้เกิดทั้งเรื่องดีๆ อย่างการสร้างสายสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น หรือเรื่องน่าปวดหัวอย่างการกระทบกระทั่งกันในเรื่องที่ดูเล็กน้อยที่สุด

นับตั้งแต่สถาบันการศึกษาค้นพบวิธีการสร้างไลน์กลุ่มแล้วจับเอาผู้ปกครอง เด็ก และครู มาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เราก็มักจะได้ยินดราม่าที่เกิดขึ้นจากไลน์กลุ่มแบบนี้อยู่เรื่อยๆ

และธรรมชาติของดราม่าในโลกดิจิตอลคือจะต้องถูกแคปเจอร์หน้าจอออกมาแล้วส่งต่อแพร่กระจายออกไปเป็นไวรัลให้คนนอกกลุ่มได้เสพด้วยภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

กรณีหนึ่งที่ได้ยินมาก็คือตอนที่คุณแม่โวยวายเข้าไปในไลน์กลุ่มครูและผู้ปกครองว่ามีผ้ากันเปื้อนเด็กคนอื่นติดกระเป๋าลูกมา ของใครกันยะ ฉันไม่ได้รับจ้างซักผ้านะ แล้วก็ถ่ายภาพผ้ากันเปื้อนที่เขียนชื่อเจ้าของตัวน้อยติดเอาไว้ถูกทิ้งลงไปในถังขยะรวมกันกับขยะชิ้นอื่นๆ

สร้างความเดือดดาลให้กับผู้ปกครองที่ได้อ่าน กว่าจะสืบสาวเรื่องได้ว่าลูกของคุณแม่ขี้โมโหคนนี้นี่แหละที่เป็นคนหยิบผ้ากันเปื้อนของเพื่อนติดมือกลับบ้านไปเองก็โกลาหลวุ่นวายจนไลน์กลุ่มแทบแตก

แต่นี่จะไม่ใช่ความวุ่นวายสุดท้ายที่เกิดจากไลน์กลุ่มผู้ปกครองแน่นอน

 

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่หันมาใช้แอพพลิเคชั่นส่งข้อความในการสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียน

ล่าสุดประเทศจีนก็เจอปัญหาที่มีทั้งความคล้ายและต่างจากบ้านเราจนต้องออกมาประกาศแนวทางและเตรียมห้ามการใช้ไลน์กลุ่มแบบนี้แล้ว

ปัญหาที่จีนเจอก็คือพักหลังๆ ครูในบางโรงเรียนหันมาสั่งการบ้านนักเรียนผ่านแอพพลิเคชั่นวีแชต (WeChat แอพพลิเคชั่นส่งข้อความที่คนจีนแผ่นดินใหญ่ใช้กันแทบทุกคน ความนิยมก็คล้ายๆ กับไลน์ในบ้านเรานั่นแหละค่ะ)

แค่สั่งอย่างเดียวไม่พอ แต่ยังใช้กรุ๊ปแชตนี้ผลักภาระการสอนให้พ่อ-แม่ด้วยการบอกให้พ่อ-แม่ตรวจการบ้านของลูกตัวเองด้วย

พ่อแม่ที่มีทั้งงานประจำที่ต้องทำเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวันอยู่แล้ว ยังต้องมาสอนการบ้านลูก แถมต้องสอนเอง ตรวจเอง อีกต่างหาก

กระทรวงศึกษาธิการของจีนเห็นว่าปัญหาเรื่องนี้เริ่มพบเห็นมากขึ้น

ก็เลยประกาศแนวทางออกมาโดยมีข้อความที่ระบุว่า ครูและโรงเรียนจะต้องทำตามหน้าที่และความรับผิดชอบของตัวเองให้มากกว่านี้

การแชตสั่งให้พ่อ-แม่ผู้ปกครองตรวจการบ้านเด็กให้แทนถือว่าเป็นการละเลยหน้าที่ของตัวเอง

เป็นครูก็มีหน้าที่ต้องให้คะแนนเด็ก จะไปโยนภาระให้พ่อ-แม่ทำแทนได้ยังไงกัน

พร้อมกับตำหนิว่านี่เป็นการใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ผิด

ตั้งแต่สมาร์ตโฟนและแอพพลิเคชั่นส่งข้อความได้รับความนิยมและมีใช้กันอย่างแพร่หลาย ก็ทำให้คุณครูในจีนเริ่มสื่อสารกับนักเรียนแบบตัวต่อตัวน้อยลง

แทนที่จะให้การบ้านในชั้นเรียนให้นักเรียนจดลงไปบนกระดาษก็กลับไปสั่งการบ้านในแชต

แทนที่จะยื่นเอกสารให้นักเรียนด้วยมือของตัวเองก็กลับไปพิมพ์ใส่แชต ซึ่งหลังจากนี้ไปการกระทำแบบนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้อีกแล้ว

นอกจากนี้ ในแนวทางที่ประกาศออกมาก็ยังขอให้ครูจำกัดเวลาที่นักเรียนจะต้องทำการบ้านด้วยอุปกรณ์ดิจิตอลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องสายตาของเด็กด้วย

 

การที่ครูเลือกวิธีสื่อสารกับเด็กผ่านทางแอพพลิเคชั่นส่งข้อความเป็นหลักก็เป็นการเพิ่มระยะเวลาการใช้อุปกรณ์ดิจิตอลของเด็กให้มากเกินความจำเป็นไปโดยอัตโนมัติ เพราะเด็กก็ต้องคอยนั่งเฝ้าว่าเมื่อไหร่ครูจะส่งข้อความมา

ถ้าไม่เช็กอยู่เรื่อยๆ ก็อาจจะพลาดรายละเอียดสำคัญ ไม่มีการบ้านไปส่งในวันถัดไปและอาจถูกลงโทษได้

ยิ่งถ้าการบ้านนั้นต้องอาศัยการหาข้อมูลออนไลน์อีกก็ยิ่งเป็นการเพิ่มระยะเวลาอยู่หน้าจอให้นานขึ้น

สุดท้ายก็จะนำไปสู่ปัญหาด้านสายตาและปัญหาการติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้

เด็กจีนคนหนึ่งในเซี่ยงไฮ้เล่าว่า เขามักจะต้องยืมโทรศัพท์แม่มาใช้ในการทำการบ้าน เพราะว่าครูมักจะเขียนรายละเอียดลงไปในกระดาษ จากนั้นก็ถ่ายรูปกระดาษใบนั้นแล้วส่งเข้าไปในกรุ๊ปแชตผู้ปกครอง

นี่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่กระทำกันจนกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว

พ่อของเด็กคนนี้ไม่อยากซื้อโทรศัพท์ให้ลูกเพราะลูกเพิ่งจะอายุ 12 ขวบ บางวันทั้งพ่อและแม่ต้องทำโอทีเลิกดึกยังกลับบ้านไม่ได้ ก็ต้องโทรศัพท์ไปขอให้เพื่อนบ้านช่วยเอาการบ้านที่ครูส่งมาในแชตไปให้ลูกดู

วุ่นวายกันประมาณนั้น

 

ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าคงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ให้เด็กนักเรียนสมัยนี้ใช้อุปกรณ์ดิจิตอลเพื่อเข้าถึงโลกอินเตอร์เน็ต

แต่อย่างน้อยๆ ก็ขอว่าการบ้านที่ครูจะสั่งให้เด็กทำนั้นขอให้เป็นการบ้านที่เด็กสามารถทำเสร็จได้โดยไม่ต้องพึ่งโทรศัพท์ได้ไหม เพราะไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนจะสามารถซื้อแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ตโฟนได้ บ้านไหนไม่มี ลูกก็ไม่ต้องทำการบ้านกันพอดี

พ่อ-แม่เหล่านี้ไม่ได้ต่อต้านการใช้เทคโนโลยีนะคะ พวกเขาเรียกร้องว่ายังอยากให้เด็กใช้ปากกาขีดเขียนลงบนกระดาษ แต่งานชิ้นไหนที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือดิจิตอลมาช่วยก็ให้แบ่งเป็นชิ้นๆ ไป อย่างเช่น การให้เด็กใช้อุปกรณ์เหล่านี้มาช่วยเวลาที่ต้องการฝึกทักษะการฟัง หรือการพูด เป็นต้น

ย้อนกลับมาดูที่ไลน์กลุ่มผู้ปกครองบ้านเรา เนื่องจากฉันไม่มีลูกจึงไม่สามารถบอกได้ว่าตอนนี้วิวัฒนาการไลน์กลุ่มประเภทนี้ไปถึงไหนกันแล้ว

แต่ก็คาดว่าสถานการณ์ไม่น่าจะแตกต่างกับที่จีนกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้สักเท่าไหร่

สิ่งที่ฉันค่อนข้างกังวลคือ แม้ไลน์กลุ่มจะทำให้พ่อ-แม่ผู้ปกครองได้สื่อสารใกล้ชิดกับครู แต่การต้องมารับรู้รายละเอียดยิบย่อยที่ไม่จำเป็นอยู่เรื่อยๆ จะทำให้ความเครียดพุ่งปรี๊ดได้หรือเปล่า บางทีครูอาจจะต้องปรับการใช้ไลน์กลุ่มมาเป็นการใช้ไลน์เดี่ยวให้มากขึ้น

เรื่องบางเรื่องควรเป็นเรื่องที่คุยกันเองระหว่างครูและผู้ปกครองของเด็กคนนี้เท่านั้น ไม่มีความจำเป็นต้องป่าวประกาศให้คนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องได้รู้

หรือเรื่องบางเรื่องผู้ปกครองอาจจะไม่จำเป็นต้องรับรู้เลยก็ได้เพราะเป็นเรื่องระหว่างเด็กกับครู

ส่วนผู้ปกครองก็อย่าไปคิดว่านี่เป็นกลุ่มเพื่อนที่สามารถเมาธ์มอยได้แบบไม่มีขอบเขต

กรุ๊ปแชตแบบนี้จริงๆ ก็ไม่ต่างจากกรุ๊ปแชตเรื่องงานสักเท่าไหร่ ควรมีพื้นที่ให้แก่กัน

วางตัวอย่างเหมาะสมเป็นมืออาชีพ น่าจะหลีกเลี่ยงดราม่าได้เยอะค่ะ