วิเคราะห์การเมือง | อาฟเตอร์ช็อกชงยุบ ทษช. สู่เกมเดินสายสู้ คว่ำ “พปชร.”

หลังจากอาฟเตอร์ช็อกสุดๆ ตั้งแต่ช่วงเช้าหลังการยื่นเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ถึงดึกของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ จนเป็นเหตุให้มีการยื่นฟ้องยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) โดยใช้เวลาดำเนินการทั้งหมดเพียง 5 วันเท่านั้น

ภาระหนักจึงไม่ใช่แค่ตกกับพรรค ทษช.เท่านั้น

แต่เท่ากับตกลงบนบ่าฝ่ายประชาธิปไตย ที่มีแนวทางต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยรวมด้วย

เพราะแม้จะบอกว่า “พรรคเพื่อไทย” กับพรรค ทษช. ไม่ได้ฮั้วกัน

แต่กว่า 150 เขตที่ “เพื่อไทย” เว้นว่างไว้ไม่ส่งก็มีรูโบ๋ให้เห็นชัดขึ้น

งานนี้ทำเอาทั้งนักร้องและนักกฎหมายฝ่ายซ้าย ต้องรีบชิงสกัดพรรคหลักในฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งก็คือพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นการใหญ่

เริ่มจาก “นายวิญญัติ ชาติมนตรี” เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ เข้ายื่นร้องยุบพรรค พปชร.ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคำร้องของ กกต.ในการยุบพรรค ทษช. โดยยกประเด็น อาทิ

1. มีกลุ่มบุคคลเข้าครอบงำการจัดตั้งพรรค เรียกรับผลประโยชน์เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังพบว่ามีกลุ่มบุคคลเข้าครอบงำพรรคโดยทางตรงและทางอ้อม ในลักษณะการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบโดยเฉพาะการนำเอานโยบายประชานิยมของรัฐบาลมานำเสนอเป็นนโยบายของพรรค พปชร. เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 28 โดยมีจุดมุ่งหมายให้ พล.อ.ประยุทธ์สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อไปหรือไม่

2. พรรค พปชร.กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช. ได้มาซึ่งอำนาจปกครองด้วยวิธีพิเศษ ไม่ได้เป็นไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตย แล้วยังยินยอมให้พรรค พปชร.เสนอชื่อเป็นนายกฯ จึงขอคัดค้านการประกาศรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรค พปชร. ตามมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญด้วย

โดยการยื่นร้องยุบพรรค พปชร.ครั้งนี้ “นายวิญญัติ” ยอมรับแบบแมนๆ ว่าเป็นการสวนกลับ กกต.ในกรณีที่ กกต.มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค ทษช.

จากนั้นไม่นาน “นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” อดีต ส.ว. และสมาชิก ทษช. ชิงยื่นร้องยุบพรรค พปชร.ต่อทันที โดยยก 3 ประเด็นหลักมาชี้ให้เห็น คือ

1. ร้องเรียนเรื่อง ถ้า กกต.เห็นว่า บัญชีรายชื่อของพรรค ทษช.เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นหัวหน้า คสช. ก็ต้องเป็นปฏิปักษ์เช่นเดียวกัน

2.นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร. เป็นหัวหน้าพรรคโดยที่ยังไม่เป็นสมาชิกพรรค และยังมีการลาราชการไปดำเนินการหาเสียง และจัดการเรื่องพรรคการเมือง ทั้งที่ขณะนั้นยังไม่เป็นสมาชิกพรรคด้วย

และ 3. กรณีระดมทุนโดยการขายโต๊ะจีนของพรรค พปชร.ที่ กกต.อนุญาตให้แต่ละพรรคใช้จ่ายเงินไม่เกิน 35 ล้านบาท ส.ส.แต่ละคนใช้เงินไม่เกิน 1.5 ล้านบาท แต่พรรค พปชร.ระดมเงินถึง 650 ล้านบาท เท่ากับโต๊ะจีนโต๊ะละ 3 ล้านบาท

ขัดกับบทบัญญัติมาตรา 20 วรรค 2 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

หลายคนมองว่า การเดินหน้ารุมร้องยุบพรรค พปชร.นั้น เป็นการแก้เกมให้กับฝั่งพรรค ทษช. ซึ่งโดนรุมทึ้งอยู่

ซึ่งนายเรืองไกรบอกเสียงหนักแน่นว่า “ไม่ได้เป็นการแก้เกม แก้เกี้ยว หรือแก้อะไรทั้งนั้น แต่เอาจริง และ กกต.ต้องปฏิบัติด้วยมาตรฐานอย่างเดียวกัน ทั้งนี้ ในฐานะคนร้องคิดว่า เราได้กระตุ้น กกต.ไปแล้วว่า บนหลักข้อกฎหมายอย่างเดียวกัน

คือ หาก กกต.ใช้หลักกฎหมายเรื่องการกระทำตามมาตรา 92(2) กรณีเป็นปฏิปักษ์ เป็นเหตุให้ยุบพรรค ก็ควรจะใช้กับหัวหน้า คสช. เป็นหลักด้วย

เพราะหัวหน้า คสช. เป็นคนฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วคนฉีกรัฐธรรมนูญ ได้อำนาจโดยการรัฐประหาร ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองหรือ

ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่ง คือฝั่งของพรรค ทษช. ฝ่ายกฎหมายของพรรคเตรียมช่องทางสู้ไว้ ทีมกฎหมายเตรียมแก้ข้อกล่าวหาโดยการยกประเด็นต่างๆ มาคัดค้าน ได้แก่

1. มติของ กกต.เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นกระบวนการที่มีการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบ โดยจะยกตัวอย่างกรณียุบพรรคทั้งหมดที่ผ่านมาที่หากจะมีการยุบพรรค จะต้องมีฝ่ายเลขาฯ ที่ต้องไปตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ตามอำนาจของ กกต.ก่อน โดยที่ผ่านมาที่มีการร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายทะเบียนจะเป็นคนรวบรวมพยานข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จะยุบพรรคโดยที่ กกต.ปิดห้อง แล้วใช้อำนาจของตัวเองโดยลำพัง ไม่ผ่านระบบงานสืบสวน สอบสวน จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่า เหตุใดต้องทำให้เป็นเรื่องที่ปิดบัง เก็บงำ อำพรางไว้ จึงจะใช้เป็นข้อต่อสู้ของฝ่ายกฎหมายด้วยว่า กระบวนการมีวาระซ่อนเร้น

2. เมื่อมีพระราชโองการออกมาก็ควรจะยุติได้แล้ว ไม่ควรมีองค์กรใดทั้งศาลรัฐธรรมนูญหรือ กกต. มาก้าวล่วงวินิจฉัยพระราชโองการอีก เมื่อมีดำริ หรือคำแนะนำมาแล้วนำไปปฏิบัติตามก็ควรยุติได้แล้ว ไม่ใช่เอามาตีความว่าพรรค ทษช.กระทำการอันมิบังควร โดยที่ กกต.เองไม่ได้สอบสวนข้อเท็จจริงอะไรเลย มิเช่นนั้นจะกลายเป็นการกระทำการให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทเสียเองในการที่เอาพระราชโองการมาวินิจฉัยให้คุณให้โทษกับใคร

3. ประกาศช่วงคืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่ควรเป็นโทษย้อนหลัง เพราะขณะที่มีการเสนอชื่อไม่ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 160 หรือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 34 ประกอบพระราชโองการเมื่อปี 2515 ถือว่ากระทำอย่างถูกต้อง แต่เมื่อมีประกาศออกมา พรรค ทษช.ก็น้อมรับ

ดังนั้น กกต.ไม่ควรเอาของใหม่มาเป็นโทษย้อนหลังในการยุบพรรค ทษช.

และ 4. มาตรา 5 วรรค 2 ที่อ้างว่ากรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ใช้ประเพณีการปกครองนั้น กรณีนี้ต้องดูว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 88 และ 89 ประกอบ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 13-14 เป็นกรณีที่เปิดให้ทุกพรรคเสนอชื่อนายกฯ ไม่ใช่กรณีที่มีรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ แบบนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองตรงไหน

ในเมื่อ ทษช.ทำตามที่กฎหมายกำหนด

ตัดภาพมาที่ฝ่ายบริหารพรรค หลังจากที่แถลงเบรกการเดินหน้าทำกิจกรรมทางการเมืองทุกอย่าง เพื่อระดมสมองสู้คดีอย่างเดียว วันนี้ได้มีการตั้งหลักใหม่ โดยเลือกแบ่งทัพออกเป็น 2 ส่วนในการเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

ทัพแรก คือคณะกรรมการบริหาร ที่ต้องตั้งรับ ระดมสรรพกำลังทั้งกำลังกายและกำลังสมองสู้คดี โดยไม่ลงมาเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงเลือกตั้ง

และทัพ 2 นำโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์และคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เปลี่ยนแผนลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครของพรรคหาเสียงต่อ ที่ต้องปรับแผนออกมาในรูปนี้ เพราะมีผู้สมัคร ส.ส.และสมาชิกพรรคจำนวนมากสะท้อนเข้ามาในลักษณะเหมือนถูกพรรคทิ้งให้เคว้ง และเป็นการลอยแพกลายๆ ทั้งๆ ที่ประชาชนในพื้นที่ยังคงให้กำลังใจ และให้การสนับสนุนอยู่

เท่ากับว่าเวลานี้พรรค ทษช.หนักกว่าพรรคอื่นในสนามเลือกตั้ง เพราะทั้งต้องตั้งรับและต่อสู้ในศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ไปพร้อมๆ กัน ทั้งที่ยังไม่เห็นความแน่นอนของอนาคตอีกด้วย