สุจิตต์ วงษ์เทศ/ ฟ้อนรำไทย ไม่อินเดีย

ศิวนาฏราช (พระศิวะฟ้อนรำ) สลักรูปพระศิวะมี 10 กร ยืนร่ายรำบนหลังหงส์ 3 ตัวเหนือหน้ากาล แวดล้อมด้วยบริวารสำคัญ (ทางขวา) พระนารายณ์และพระอุมา (ทางซ้าย) พระพรหมและพระคเณศ ทับหลังหินทรายเหนือกรอบประตูทางเข้าปราสาทประธาน ปราสาทศีขรภูมิ เทวสถานบูชาพระศิวะ สร้างเมื่อเรือน พ.ศ.1600 แต่ถูกซ่อมแปลงเป็นพุทธสถานแบบล้านช้าง เมื่อเรือน พ.ศ.2100 บ้านปราสาท ต.ระแหง อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ฟ้อนรำไทย ไม่อินเดีย

 

ท่าฟ้อนรำของไทย เป็นอย่างเดียวกับท่าฟ้อนรำของอุษาคเนย์ จะแยกจากกันมิได้

เพราะไทยมีความเป็นมาทั้งทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้จากอุษาคเนย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้ว สืบเนื่องจนสมัยปัจจุบัน

แต่ทางการไทยใช้ตำราที่ทำไว้เกือบ 100 ปีมาแล้ว เอาจากตำนานอินเดียโดยไม่ไตร่ตรอง ว่านาฏศิลป์และดนตรีไทยได้จากอินเดีย ซึ่งมีกำเนิดจากพระศิวะร่ายรำปราบอสูร แล้วมีภาพสลักท่ารำเหล่านั้นไว้ที่ผนังประตูทางเข้าเทวสถานเมืองจิทัมพรัมในอินเดียใต้

ข้อความอย่างนี้มีในตำรานาฏศิลป์และดนตรีของทางการไทย ที่ใช้ในการเรียนการสอนตามสถานศึกษาทุกระดับ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศส่วนมากใช้ตำราเดียวกัน

ท่าฟ้อนรำจากภาพสลักบนหน้าบันและทับหลังของปราสาทในวัฒนธรรมขอมจากอีสาน ล้วนเป็นไปตามแบบแผนยืด-ยุบ ด้วยสามัญลักษณะอุษาคเนย์ที่ต่างจากนาฏศิลป์อินเดีย ดูจากนางรำเรียงแถวถวายไตรโลกยวิชัย ทับหลังปราสาทพิมาย จ.นครราชสีมา

 

ยืด-ยุบ เนิบช้า สามัญลักษณะ

 

ท่าฟ้อนรำดั้งเดิมของไทยและอุษาคเนย์ มีโครงสร้างหลักเรียกสามัญลักษณะ คือ ยืด-ยุบ หมายถึงทำท่าแอ่นมือสองข้าง กางแขน ก้าวขา ย่อเข่า เหมือนยืดขึ้น ยุบลง สลับกันอย่างเนิบช้า ตั้งแต่ต้นจนจบ

ศิวนาฏราช ภาพสลักพบในไทย ทั้งที่ปราสาทพนมรุ้ง (บุรีรัมย์) และปราสาทศีขรภูมิ (สุรินทร์) รูปพระศิวะร่ายรำ ล้วนแสดงออกอย่างเนิบช้า ด้วยโครงสร้างหลักสามัญลักษณะ ยืด-ยุบ ซึ่งต่างกันมากกับศิวนาฏราชในอินเดีย ที่แสดงออกด้วยลีลาท่าทางรวดเร็วและรุนแรง

เป็นพยานว่าท่าฟ้อนรำของอินเดียไม่มีอิทธิพลเหนือท่าฟ้อนรำพื้นเมืองดั้งเดิมของอุษาคเนย์ (ซึ่งมีไทยรวมอยู่ด้วย)

ท่าฟ้อนรำของนางอัปสร ตามแบบแผนยึด-ยุบด้วยสามัญลักษณะอุษาคเนย์ที่ต่างจากนาฏศิลป์อินเดีย ดูจากภาพสลักที่ปราสาทนครวัด ราว พ.ศ.1650 ในกัมพูชา

 

ไม่รับนาฏศิลป์อินเดีย

 

นาฏศิลป์อุษาคเนย์ดั้งเดิมเป็นต้นแบบสืบเนื่องถึงปัจจุบันให้นาฏศิลป์เขมร, นาฏศิลป์ลาว, นาฏศิลป์ไทย โดยปราศจากอิทธิพลของนาฏศิลป์อินเดีย

ถ้าจะมีบ้างบางท่าจากนาฏศิลป์อินเดีย ก็เฉพาะท่านิ่ง หรือท่าตาย ซึ่งไม่ส่งผลต่อนาฏศิลป์ไทยและเพื่อนบ้าน เช่น ท่ารำแม่บทบางท่าของโนราชาตรี ได้แก่ ท่ากินนร, ท่าแมงมุมชักใย เป็นต้น คล้ายกับท่ากรณะในคัมภีร์ภารตนาฏยศาสตร์ และคล้ายกันมากกับท่ารำในศิลาจำหลักที่บุโรพุทโธ (บนเกาะชวา อินโดนีเซีย)

ประติมากรรมบางชิ้นแบบทวารวดีในไทย กับแบบก่อนเมืองพระนครในกัมพูชาแสดงท่ารำตามตำรานาฏยศาสตร์ 108 ท่า ที่สลักไว้ประดับซุ้มประตูทางเข้าเทวสถานจิทัมพรัม ในอินเดียใต้ พ.ศ.1650-1700 ราชสำนักอุษาคเนย์ยกย่องเป็นท่ารำศักดิ์สิทธิ์เพื่อกระทำบำเรอบูชามหาเทพ จึงให้ทำเป็นประติมากรรมไว้โดยไม่มีฟ้อนระบำรำเต้นจริงๆ ในชีวิตประจำวัน [มีงานวิจัยอย่างน้อย 2 เรื่อง (ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร) ที่ให้รายละเอียดหลักฐานโบราณคดีว่าไม่รับนาฏศิลป์อินเดีย]

เหตุที่ไม่รับนาฏศิลป์อินเดีย เพราะนาฏศิลป์อุษาคเนย์ดั้งเดิมเป็นแบบแผนแข็งแรงอยู่นานแล้ว และในชีวิตจริงต่างฟ้อนระบำรำเต้นอย่างท้องถิ่นอุษาคเนย์ มียืด-ยุบตามสามัญลักษณะ ดังคำอธิบายของนักปราชญ์หลายท่าน จะคัดมาต่อไปนี้

“ท่าฟ้อนรำศิวนาฏราชที่หน้าปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ และที่ประสาทอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในดินแดนไทยและดินแดนกัมพูชา ล้วนแสดงลีลาแตกต่างจากท่ารำของอินเดีย แต่เป็นท่าฟ้อนรำของท้องถิ่น ดังที่ปรากฏอยู่กับท่าฟ้อนรำของบรรดานางอัปสรทั้งที่ปราสาทนครวัดและปราสาทบายน” [จากหนังสือ ศาสนาพราหมณ์ในอาณาจักรขอม ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เรียบเรียงจากบทความของ Kamaleswar Bhattacharya]

“การฟ้อนรำในนาฏศิลป์อินเดียนั้น แตกต่างกับการฟ้อนรำของผืนแผ่นดินใหญ่ภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีลักษณะแตกต่างกับการฟ้อนรำไทยมากทั้งในจังหวะซึ่งคล่องแคล่วว่องไวรวดเร็วกว่าของไทย และการใช้อวัยวะต่างๆ ซึ่งดูออกจะหนักหน่วงและเด็ดขาดกว่าการใช้อวัยวะในการฟ้อนรำไทย ท่ารำต่างๆ ของอินเดียในสมัยก่อนซึ่งปรากฏเป็นตำรับตำรานั้น หากจะพิจารณาดูแล้วก็เห็นว่าไม่มีความคล้ายคลึงกับท่ารำของไทย

[จากหนังสือ นาฏศิลป์ไทย โดย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ธนาคารกรุงเทพ จัดพิมพ์ พ.ศ.2526]

สรุปแล้วฟ้อนรำไทยและอุษาคเนย์ ไม่อินเดีย ครูอาจารย์ที่เคยบังคับขู่เข็ญให้นักศึกษา “ท่องจำ” ว่านาฏศิลป์และดนตรีไทยมาจากอินเดีย (พระอิศวรฟ้อนรำที่เมืองจิทัมพรัม) กรุณาทบทวน เพราะข้อมูลวิปริตอย่างนั้นควรเลิกได้แล้ว