การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์/ โคโนะโดริ เล่ม 6 สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

โคโนะโดริ เล่ม 6 สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า

 

วันหนึ่ง นักสังคมสงเคราะห์ คุณมุคาอิพาสตรีวัยกลางคนคนหนึ่งมาที่โรงพยาบาล

“ซากุระ” สตรีนั้นทักคุณหมอโคโนะโดริ

“คนคนนี้คือคุณครูคางามิ เป็นรองผู้อำนวยการสถานรับเลี้ยงเด็กอิเรเน่โฮมค่ะ” คุณมุคาอิแนะนำ “วันนี้คุณครูคางามิพาเด็กคนนี้มาตรวจร่างกายค่ะ”

ครูคางามิอุ้มเด็กมาด้วยหนึ่งคน “เขาชื่ออาโอจิจังค่ะ อีกไม่นานคงจะหาผู้รับอุปการะได้แล้วค่ะ” ที่แท้คือเด็กที่เกิดจากหญิงท้องไม่พร้อมและมิได้ฝากครรภ์ในเล่มที่หนึ่ง

ทันใดนั้นมีสายเรียกคุณหมอโคโนะโดริไปห้องผ่าตัด เขาจึงบอกลาครูคางามิ

“ซากุระจัง โรคหอบหืดหายแล้วรึยังจ๊ะ” คางามิเอื้อนถามก่อนคุณหมอจะไป

“ครับ หายดีแล้วครับ” โคโนะโดริหันมาตอบก่อนจากไป

โคโนะโดริไปถึงห้องคลอดแต่ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว เขาจึงขอตัวออกจากโรงพยาบาลแล้วไปที่สถานรับเลี้ยงเด็ก

 

“เป็นสถานที่กว้างขวาง ผิดกับที่ผมจินตนาการเอาไว้เลย” โคโนะโดริเดินชมสถานที่

“ภาพที่คุณหมอโคโนะโดริจินตนาการเอาไว้ประมาณนี้ใช่มั้ยคะ” ครูคางามิพาเขาไปที่ภาพถ่ายบนฝาผนัง “ภาพถ่ายนี้คืออาคารหลังก่อนของสถานรับเลี้ยงเด็กแห่งนี้ค่ะ”

“ผมจินตนาการไว้ประมาณนี้แหละครับ” โคโนะโดริพูดขึ้น หันมาหาคุณครูแล้วยิ้ม “คุณครูคือคุณแม่ของผมใช่มั้ยครับ”

“จ้ะ เธอเคยอยู่ที่นี่สามปี” ครูคางามิเฉลย

“ว่าแล้วเชียว” โคโนะโดริพูดขึ้น ทันใดนั้นเด็กชายคนหนึ่งมาจับมือเขาเอาไว้ “อื๋อ?”

“ปะป๊า” เด็กชายคนนั้นพูดขึ้น ถึงตรงนี้ควรฝากถึงสำนักพิมพ์สักครั้งหนึ่ง อันที่จริงผมไม่เคยท้วงติงเรื่องทำนองนี้เท่าไรนัก ทุกสำนักพิมพ์หนังสือการ์ตูนผิดพลาดเรื่องวรรณยุกต์กันอยู่เสมอๆ หนังสือที่อ่านเขียนว่า “ป่ะป๊า” เสียงเอกไม่จำเป็นต้องใส่ไม้เอกซ้ำ “ป่ะป๊าเหรอ” โคโนะโดริก้มลงดูแล้วผันเสียงผิดซ้ำสอง

ครูคางามิเล่าให้ฟังว่า เด็กชายคนนี้อยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิดจนตอนนี้อายุได้สามปีแล้ว เขาเป็นโรคหอบหืดรุนแรงจึงไม่มีใครรับไปเป็นบุตรบุญธรรมเสียที พ่อ-แม่ที่มารับบุตรบุญธรรมมักเลือกเอาเด็กที่แข็งแรงไปก่อนเสมอ

“เหมือนกันเลยนะครับ ผมเคยเป็นโรคหอบหืดเหมือนกัน”

“มากกว่าครึ่งของเด็กที่นี่จะได้กลับไปอยู่กับพ่อหรือแม่หรือญาติ แต่ร้อยละ 10 ของเด็กที่เหลือเท่านั้นที่จะมีคนรับไปเลี้ยง อีกร้อยละ 90 พออายุเกินสามขวบจะย้ายไปอยู่สถานคุ้มครองเด็ก”

 

ผู้อำนวยการเดินเข้ามาทักและนั่งคุยด้วย เมื่อรู้ว่าซากุระเป็นคุณหมอแล้วจึงหันไปแสดงความยินดีกับครูคางามิ สมัยนั้นครูคางามิและผู้อำนวยการเพิ่งจะเป็นพี่เลี้ยงเด็กเท่านั้นเอง เป็นวันเวลาที่จำนวนเด็กยังไม่มาก พี่เลี้ยงเด็กสามารถดูแลเด็กได้ 1 ต่อ 1 ผิดกับเวลานี้ที่พี่เลี้ยงเด็กต้องดูแลเด็กครั้งละ 3-4 คน

พี่เลี้ยงเด็ก 1 คน ควรดูแลเด็กกี่คน?

พี่เลี้ยงเด็กดูแลเด็กกี่คนมิได้เป็นประเด็นมากเท่ากับข้อคำถามที่ว่าพี่เลี้ยงเด็กคนหนึ่งควรแสดงตัวเป็น “แม่” มากน้อยเพียงใด

คุณครูคางามิเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่ดูแลซากุระเพียงคนเดียว เธอจึงเป็นแม่ แม่ที่มีอยู่จริงเพียงคนเดียวก็สามารถสร้างหมอได้ 1 คนแล้ว เพราะทารกต้องการมนุษย์เพียงคนเดียวเป็นเสาหลักของพัฒนาการ หากแม่คนหนึ่งมีพ่อที่ใส่ใจช่วยเหลือ งานเลี้ยงดูเด็กจะง่ายขึ้นมาก แต่ถ้าพ่อจากไป แม่เพียงคนเดียวพอแน่นอน และถ้าแม่ตายจากไป

มนุษย์เพียง 1 คนที่ก้าวออกมาเป็นแม่ก็เพียงพอที่จะช่วยให้เด็กคนหนึ่งพัฒนาไปได้

 

แม่ที่มีอยู่จริงเพียง 1 คนและสามารถทำให้เด็กไว้วางใจ (trust) จะทำให้เด็กไว้วางใจโลก และเมื่อไว้วางใจโลกแล้วก็จะสามารถพัฒนาต่อไปได้ นี่เป็นปฐมบทของชีวิตในช่วง 12 เดือนแรก

แม่ที่มีอยู่จริงเพียง 1 คน ทำให้เด็กสามารถจดจำใบหน้าของแม่ได้ (face recognition) เมื่อเด็กจดจำใบหน้าของแม่ได้แล้ว เขาจะมีความสามารถยับยั้งตนเอง (inhibition) ให้หยุดทำกิจกรรมหนึ่งแล้วเปลี่ยน (shifting) ไปดูใบหน้าของแม่ คือวงกลมสองวง สันจมูกและรอยยิ้ม ความสามารถที่จะยับยั้งตนเองแล้วเปลี่ยนไปทำอีกเรื่องหนึ่ง (inhibition & shifting) นี้จะก่อร่างสร้างตัวขึ้นเป็นวงจรประสาทก่อน EF (executive function) ขึ้นในสมองเพื่อใช้ในการหยุดหนึ่งไปทำอีกหนึ่ง

หยุดงอแงแล้วไปอาบน้ำ

หยุดเล่นเกมแล้วไปทำการบ้าน

หยุดเที่ยวเล่นไปอ่านหนังสือเตรียมสอบแพทย์

ความสามารถเหล่านี้มิใช่เรื่องของนิสัยดังที่เข้าใจ แต่เป็นเรื่องของวงจรประสาทที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่วัยทารกด้วยแม่ 1 คนที่มีอยู่จริง

พี่เลี้ยงหนึ่งคนจะดูแลเด็กกี่คนก็ได้ตามกำลังความสามารถเหมือนแม่ทั่วไปที่มีลูกมากกว่า 1 คน ที่สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย พี่เลี้ยง 1 คนดูเด็ก 5 คน นั่นคือชัดเจนว่าคนไหนเป็นแม่ คือแม่ที่มีอยู่จริง เช่นนี้เด็กจะพัฒนาได้

ขณะที่สถานเลี้ยงเด็กบางแห่งในบางจังหวัด ใช้นโยบายพี่เลี้ยง 5 คนเลี้ยงเด็ก 30-40 คนด้วยระบบหมุนเวียน เช่นนี้จะไม่มีแม่เกิดขึ้นเลยแม้แต่คนเดียว

 

ผู้อำนวยการเล่าต่อไปว่า ช่วงหลังมีเด็กที่ถูกละเมิดมาอยู่ที่สถานรับเลี้ยงเด็กมากขึ้น เด็กเหล่านี้ถูกทำลายความไว้วางใจที่มีต่อพ่อ-แม่หรือผู้เลี้ยงดู ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถไว้วางใจโลกได้ เช่นนี้เด็กจะพัฒนาไม่ได้

“ช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ขวบ เด็กต้องการความรักอย่างมาก” ผู้อำนวยการเล่าให้ฟัง “เด็กที่ได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจจึงเป็นงานยากมากๆ สำหรับพวกเรา”

ตัวเลข 3 ขวบนี้คือเวลาวิกฤต เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของชีวิต เพราะความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ถูกสร้างเรียบร้อยแล้วเมื่อ 3 ขวบ หลังจากนี้เราจะทำอะไรกับเด็กที่ไม่ไว้ใจโลกและไม่มีแม่ได้น้อยมาก

คุณหมอโคโนะโดรินั่งลงเล่นเปียโนให้เด็กๆ ฟัง ก่อนที่จะลาผู้อำนวยการและคุณแม่คางามิไป ตอนที่เขาจากสถานที่แห่งนี้ไปครั้งแรกเมื่อมีพ่อ-แม่บุญธรรมมารับเอาไป แม่คางามิแอบร้องไห้อยู่หลังบานประตู ครั้งนี้เธอเกือบทำเช่นเดิม ก่อนที่จะวิ่งออกไปตะโกนไล่หลังคุณหมอโคโนะโดริว่า “ซากุระจัง แล้วกลับมาอีกน้า”

“ครับ” โคโนะโดริหันมาโบกมือ