วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์ /หนังสือกับการอ่าน : ไต่บันได (จบ)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

หนังสือกับการอ่าน : ไต่บันได (จบ)

 

นีล ไกแมน บอกว่า ผู้ใหญ่ที่หวังดีมักจะห้ามเด็กอ่านหนังสือที่เขาชอบ และสั่งให้อ่านหนังสือที่ตัวเองเห็นว่าดี เช่น แบบเรียนสมัยนี้ ซึ่งก็เหมือนกับฮาวทูหรือคู่มือปรับปรุงตนเองสมัยวิกตอเรีย สุดท้าย คนรุ่นนี้จะกลายเป็นเด็กที่เห็นว่าการอ่านนั้นไม่น่าสนุกและไม่คูล

เขาเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวว่า อย่าทำอย่างที่เขาทำกับฮอลลี่ ลูกสาวอายุ 11 ขวบ คือเมื่อเห็นเธอกำลังอ่านนิยายของ อาร์.แอล. สไตน์ เขาหยิบนิยายของสตีเฟน คิง เรื่อง Carrie ยื่นให้และบอกว่า “ถ้าลูกชอบเล่มนั้น ก็น่าจะชอบเล่มนี้!”

และนับแต่นั้นมา “ตลอดช่วงทีนเอจ เธออ่านแต่หนังสือที่ปลอดภัยอย่างบ้านเล็กในป่าใหญ่ และยังมองผมอย่างแปลกๆ ถ้าพูดถึงคิง”

 

ในฐานะคนเขียนหนังสือสำหรับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นนิทานหรือนิยาย ทุกคนมีพันธสัญญาต่ออนาคตและเด็ก ดังนั้น แม้เราจะเขียนถึงคนที่ไม่มีอยู่จริง ก็ต้องเข้าใจว่าความจริงนั้นไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ นิยายคือเรื่องโกหกที่บอกความจริง และความจริงคือการบอกว่าตัวเราคืออะไร

ตรงนี้ เขาพูดถึงนิยายแฟนตาซีหรือวรรณกรรมเพื่อการหนี (escap-ism) ซึ่งเรามักจะถือว่าเป็นนิยายที่เลว หรือ “ยาฝิ่น” ส่วนนิยายที่ดีจะต้องสมจริงหรือสะท้อนโลกปัจจุบันท่านั้น

เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน เคยบอกว่า “คนที่ไม่ชอบการหนี ก็มีแต่คนที่เป็นผู้คุมเท่านั้น” ไกแมนเห็นด้วย “ถ้าเราอยู่ในที่แย่ๆ ที่มีแต่คนห่วยๆ การได้โอกาสหนีบ้างย่อมดีแน่” นิยายแฟนตาซีก็เป็นอย่างนั้น ที่สำคัญ ในขณะที่เด็กกำลังหนี นิยายจะให้อาวุธหรือเสื้อเกราะประจําตัว ซึ่งถ้าเอากลับไปยังโลกแห่งความจริงได้ ก็จะมีประโยชน์มาก เพราะเมื่อต้องหนีจริงๆ เด็กจะมีทักษะและเครื่องมือที่จำเป็น

นักเขียนต้องไม่ทำให้นิยายน่าเบื่อ เขียนให้สนุกหรือทำให้เด็กอยากพลิกหน้ากระดาษไวๆ นักเขียนจะต้องทะนุบำรุงการอ่านด้วยการเขียนนิยายที่เขาอ่านแล้ววางไม่ลง และขณะที่เล่าเรื่อง ก็ให้อาวุธเสื้อเกราะแก่เขาด้วย เช่น ให้ข้อคิดต่างๆ แต่ต้องไม่สั่งสอนหรือยัดเยียด และที่สำคัญ ต้องไม่เขียนสิ่งที่เราไม่อยากอ่าน และต้องยอมรับว่ากำลังทำงานสำคัญ เพราะถ้าทำให้เด็กไม่สนใจนั้น เป็นการทำลายทั้งตัวเองและผู้อ่าน

นิยายสอนให้ฝัน

การบอกว่าโลกนี้ใหญ่โตเหลือเกินและเราเป็นแค่อณูหรือเมล็ดข้าวในยุ้งฉางที่เล็กเหลือเกินนั้นง่าย

แต่ความจริงก็คือ คนคนเดียวนั้นแหละที่เปลี่ยนโลก เขาสร้างอนาคต และทำได้โดยจินตนาการว่าโลกนี้จะเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหนและอย่างไร

พูดอีกอย่าง เราต้องไม่ทิ้งปัญหาไว้ให้คนรุ่นต่อไป และไม่ปล่อยให้เด็กของเราอยู่กับโลกโสมมที่เราสร้างขึ้น เราต้องบอกนักการเมืองว่าเราต้องการอะไร และไม่โหวตให้ผู้ที่ไม่ส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้

 

อย่างไรก็ตาม เขาไม่เชื่อว่าอักษรที่อยู่บนจอนั้นดีกว่าที่อยู่ในหนังสือ เขาเล่าว่าเคยคุยกับเพื่อนชื่อ ดักลาส อดัมส์ (ผู้เขียน The Hitchhik-er’s Guide to the Galaxy) ซึ่งพูดเอาไว้ในยุคก่อนคินเดิลว่า “หนังสือเหมือนฉลาม มันอยู่ในมหาสมุทรมาก่อนไดโนเสาร์เสียอีก และที่ทำให้มันยังเป็นอย่างนั้นก็เพราะมันเป็นฉลามได้ดีกว่าสัตว์อื่น”

หนังสือก็เหมือนกัน ทรหดกว่าใคร ยากจะทำลาย ทนน้ำ ทำงานด้วยแสง และทำให้เรารู้สึกดีเวลาอยู่ในมือ พูดอีกอย่าง หนังสือเป็นหนังสือได้ดี และมีที่ทางให้มันเสมอไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด ซึ่งมีทั้งอีบุ๊ก ออดิโอบุ๊ก ดีวีดี และเว็บ

ไกแมนคิดว่าประเด็นคือข้อมูล ในสมัยโบราณ มนุษย์ยังอยู่ในยุคที่ขาดแคลนข้อมูล มันจึงหายากและแพง แต่ห้องสมุดและหนังสือยังเป็นที่พึ่งพา ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ เสื้อผ้า เครื่องประดับ หรืออะไรก็ตาม

ถ้าห้องสมุดคือข้อมูล หนังสือเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งของข้อมูล ไม่ว่าจะบนกระดาษหรือจอ ห้องสมุดให้ข้อมูลที่ถูกกฎหมาย นอกจากนั้น ยังเป็นที่ซึ่งคนที่ไม่มีคอมพิวเตอร์หรือสัญญานอินเตอร์เน็ตก็ใช้ได้ฟรี ซึ่งสำคัญมากสำหรับการหางานหรือเงินประกันสังคม

ไม่นานมานี้ เราจะได้ยินเสียงที่ว่า โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยคนไม่รู้หนังสือ และการอ่านเป็นของน่าเบื่อ แต่เวลานั้นผ่านไปแล้ว ตัวอักษรเป็นรูปแบบหลักของสื่อสังคมและอีเมล การอ่านออกเขียนได้จึงสำคัญกว่าที่เคย เราต้องมีพลเมืองของโลกที่อ่านและเขียน หรือทำให้คนอื่นเข้าใจตัวเองได้ ห้องสมุดจึงเป็นหนทางสู่อนาคต

เอริก ชมิดต์ แห่งกูเกิล บอกว่าเรากำลังอยู่ในเศรษฐกิจแบบใหม่ ซึ่ง “ภายในสองวัน มนุษย์สามารถสร้างข้อมูลได้เท่ากับที่สร้างมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนถึงปี พ.ศ.2546 หรือราวห้าเอ๊กโซไบต์ต่อวัน”

ดังนั้น เพื่อค้นหาข้อมูลที่ต้องการ ความยากไม่ได้อยู่ที่การหาต้นไม้ในทะเลทราย แต่อยู่ที่การหาต้นไม้ในป่า เราจึงต้องมีการนำทางหรือ navigating ซึ่งห้องสมุดช่วยได้

 

นีล ไกแมน จบลงด้วยการอ้างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งเคยถูกถามว่าจะทำให้เด็กฉลาดขึ้นได้อย่างไร คำตอบของไอน์สไตน์คือ “อ่านนิทานให้ฟัง และถ้าอยากให้เด็กฉลาดกว่านั้น อ่านนิทานมากขึ้น” และบอกว่า นอกจากพ่อแม่จะใช้เวลาอ่านนิทานเป็นการสร้างความเชื่อมโยงกับเด็ก เราจะต้องอ่านนิทานให้เขาฟัง โดยเฉพาะเรื่องที่เขาชอบ และไม่หยุดอ่านแม้เด็กจะอ่านเองได้แล้ว

การไม่มีห้องสมุดคือวิธีทำลายความชอบอ่านของเด็ก ขณะนี้รัฐบาลในหลายประเทศกำลังปิดห้องสมุดลงโดยอ้างว่าเพื่อประหยัด โดยไม่ยอมรับว่ากำลังขโมยเงินจากอนาคตและปิดทางออกของสังคม

สำหรับการอ่าน เราต้องเชื่อว่าเด็กกำลังไต่บันได และยอมให้เด็กเริ่มด้วยนิยายที่เราเห็นว่าไม่ดี เพราะการชอบอ่านอะไรก็ตามจะทำให้เขาไต่สูงขึ้นไปเรื่อย