เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | วิบัติบริสุทธิ์แห่งภาษา

อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 ความตอนหนึ่งว่า

“…ในฐานะที่ข้าพระพุทธเจ้าเป็นนักเขียนหนังสือและเป็นคนหนังสือพิมพ์ ก็ย่อมมีภาษาไทยเป็นเครื่องมือทำมาหากินอีกอย่างหนึ่งด้วย และถ้าหากว่าเครื่องมือทำมาหากินของข้าพระพุทธเจ้านั้นวิบัติไป เสียหายไป ชำรุดทรุดโทรมไป อาชีพของข้าพระพุทธเจ้าก็จะต้องร่วงโรย จนในที่สุดก็จะต้องอดอยาก ทำมาหากินไม่ได้ นับว่าเป็นเคราะห์กรรมส่วนตัว ซึ่งน่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง…ฯ”

อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยกตัวอย่างอีกว่า

“…อย่างที่ได้มีพระราชดำรัสว่า คำว่า “ฉัน” นั้น ถ้าใช้ว่า “ชั้น” ก็พอจะอนุโลมกันได้ ก็ถูกต้องที่สุด แต่ทีนี้พอถึงคำว่า “ดิฉัน” ได้เปลี่ยนไปเป็น “เดี๊ยน” บ้าง “อะฮั้น” บ้าง อย่างนี้ก็น่าจะบันยะบันยังกันไว้บ้าง ไม่น่าจะปล่อยปละละเลยไป เราเห็นว่าจะยอมกันไม่ได้ ถ้าว่าเป็น “ดีฉัน” หรือ “อีฉัน” ก็เห็นจะพอฟัง แต่ว่าถ้าถึง อะฮั้น เดี๊ยน ก็น่าวิตกอยู่ และการที่ลุกลามเช่นนี้ ไม่ใช่อยู่ในเฉพาะคนที่เป็นหนุ่มเป็นสาว หรือคนที่หย่อนการศึกษา สมเด็จพระราชาคณะองค์หนึ่ง แทนที่จะพูดว่า “อาตมภาพ” ใช้คำว่า “อะฮาบ” ก็ใกล้คำว่า “อะฮั้น” ก็มี ข้าพระพุทธเจ้าได้ยินมาเช่นนั้นจริงๆ ไม่ใช่กราบบังคมทูลมาเป็นความเท็จเลยแม้แต่น้อย”

“นี่เป็นเรื่องของความวิบัติ…ฯ”

เวทีสัมมนาวันนั้น เป็นเวทีเกียรติยศยิ่ง นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานกระแสพระราชดำริแล้ว

ยังมีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายร่วมเสวนาด้วย ดังมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ “พระองค์วรรณ” ม.ล.หญิงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับพระราชทานโอกาสโปรดให้ร่วมแสดงความคิดเห็นในช่วงท้ายด้วย

เรื่องสำคัญที่เสวนากันคือ ชี้แจงปัญหาการใช้คำไทย ดังทรงมีพระราชปรารภว่า การใช้คำไทยที่แปลจากภาษาต่างประเทศทุกวันนี้นั้นมักไม่ค่อยจะตรงต่อความหมายในภาษาเดิมนัก สมควรจะได้วางแนวทางการใช้ไว้ให้เป็นหลักที่จะปฏิบัติให้สะดวกสืบไป

พระองค์วรรณนั้นทรงได้รับยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งการบัญญัติศัพท์” ทรงแสดงความเห็นตอนหนึ่งว่า

“…การบัญญัติศัพท์ใหม่บอกว่า ถ้าใช้กลุ่มคำไทยตั้งขึ้นจะเป็นการผิดหลักจำยาก เพราะอาจยาวไปมากจนไม่เป็นศัพท์ก็ได้ การตั้งศัพท์ใหม่ เช่น “พลร่ม” “น้ำแข็ง” เช่นนี้ประชาชนพอใจมาก และก็เป็นการถูกต้องแล้ว ถ้าคิดคำไทย นำคำที่ใช้ในภาษาไทยมาควบกันเข้าอย่างนี้ เช่นคำว่า “หีบเสียง” หรือ “ไฟฟ้า” ข้าพเจ้าเห็นว่าผู้ที่คิดในสมัยนั้นมีปัญญาเฉียบแหลมดีมาก…”

ทรงกล่าวต่อว่า

“…แต่ว่าสมัยนี้เป็นสมัยวิทยาศาสตร์ เรื่องก็ยุ่งยากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เพราะฉะนั้น การที่จะคิดคำไทยเข้ามาควบกันเช่นนี้จะทำได้แค่ไหน ก็ได้แต่รับว่าจะพยายามทำ อย่างที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแต่ก่อนแล้ว เมื่อเวลาจะคิดศัพท์ขึ้นก็พยายามหาคำไทยก่อน…”

คุณหมออวย เกตุสิงห์ เป็นอีกท่านหนึ่งที่ได้รับพระราชทานโอกาสให้พูดถึงการบัญญัติศัพท์เฉพาะในทางแพทย์ ซึ่งท่านได้กราบบังคมทูลตอนหนึ่งว่า

“…คนไทยเรามีโชคดีที่มีภาษาที่มีลักษณะพิเศษอยู่สองสามประการที่ไม่แพ้ภาษาใดในโลก ประการหนึ่ง เรามีการออกเสียง มีอักขรวิธีที่สามารถจะทำเสียงได้มากมาย จนกระทั่งกล่าวได้ว่า เกือบไม่มีภาษาใดในโลกที่เราไม่สามารถจะเขียนเลียนเสียงได้ด้วยอักษรไทยของเรา นับว่าเป็นสมบัติที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ต่างกับภาษาต่างประเทศเป็นอันมาก ที่มีการจำกัดในเรื่องเสียง อีกข้อก็คือ คำไทยเราเป็นคำสั้นๆ ง่ายๆ ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้ ประโยชน์ในข้อที่สามคือ การที่เราสามารถจะสร้างคำขึ้นมาใหม่ โดยเอาคำสองหรือสามคำมาต่อกันเข้า ทำให้ได้คำซึ่งมีความหมายแปลกไปจากเดิม นับว่าเป็นสมบัติที่ดียิ่งของภาษาไทย”

“มีคนจำนวนไม่น้อยไม่นึกถึงข้อนี้จึงพยายามจะใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อสร้างคำไทยขึ้น…”

ขอเชิญผู้รักภาษาทั้งหลาย ไม่เฉพาะภาษาไทยเท่านั้น ไปหาอ่านบันทึกเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 ดูเถิด จะทราบว่าแม้จนวันนี้การใช้คำไทยก็ยังเป็นปัญหาอยู่

เป็นปัญหามากขึ้นทุกวันด้วยซ้ำไป

ปัญหาการใช้คำหรือภาษามีมากขึ้นตามโลกยุคไร้พรมแดน โดยเฉพาะโลกยุค “จอแผ่น” วันนี้

เพื่อนนักเลงภาษาคนหนึ่งพยายามบัญญัติศัพท์คำฝรั่งที่ว่า เซ็นทรัลล็อก (Central Lock) เป็นภาษาไทยล้วนๆ ไม่ใช้บาลี-สันสกฤต ที่สุดได้คำว่า “ลั่นดานรวม”

ซึ่งเข้าทีเข้าท่าดียิ่ง

แต่ “ไม่ติด” เพราะคำว่า “ลั่นดาน” คนเลิกใช้กันแล้ว เขาใช้ “แต่งกลอน” แทน

เหมือนคำบราเซียร์ที่แปลไทยว่า “ยกทรง” สมัยหนึ่งอาจารย์สถิตย์ เสมานิล ท่านเล่าว่า มีคนพยายามแปลว่า “กรวยนม” ซึ่ง “ไม่ติด” เหมือนกัน

หมายความว่า คำไทยเราเองก็มีปัญหาเรื่อง “หมดอายุ” เหมือนกัน คือมันหมดอายุไปตามกาลเวลาสมัยนิยมและหน้าที่การใช้งาน

หมดอายุตามกาลเวลาสมัยนิยม เช่น คำว่า “ชิ้น” โบราณหมายถึง “ชู้ชม” สมัยนี้ก็คือ “กิ๊ก”

หมดอายุตามหน้าที่การใช้งาน เช่น คำ “ดงข้าว” “ไม้ขัดหม้อ” เมื่อมีหม้อหุงข้าวไฟฟ้ามาแทน คำเหล่านี้ก็หมดไปด้วย

โลกไร้พรมแดน ภาษาพลอยไร้พรมแดนไปด้วย ปัจจุบันเห็นจะบัญญัติศัพท์ไม่ทันกันแล้ว จึงมักใช้ศัพท์ตรงมาสื่อกันทั้งดุ้น ใครรู้ก็ฟังออก ใครไม่รู้ก็เฉยไว้ ทำทีว่าฟังออก พลอยเป็นผู้รู้ไปกับเขาดีกว่า

นี่เป็นยุค “สับสนอลหม่านทางภาษา” คือปล่อยให้ภาษาเดินหน้าไปตามโลกสมัยไร้พรมแดน โดยไม่สนใจเรื่อง “ความเข้าใจ” ของผู้คนว่าจะมีหรือหาไม่ ถือเอาความ “ทันสมัย” เป็นหลัก

โดยเฉพาะการใช้ภาษาต่างประเทศเป็นหลัก ที่ไม่คำนึงถึงการแปลให้เป็นที่เข้าใจในภาษาไทย และการไม่แปลภาษาไทยให้เป็นที่เข้าใจในภาษาต่างประเทศ

ตัวอย่างห้างใหญ่แถวสยาม มีภาษาอังกฤษว่า SOUTH WING LOBBY มีอักษรไทยกำกับว่า เซ้าต์วิงลอบบี้

อย่างนี้เป็นการสอนหัดอ่านภาษาอังกฤษ ก็ไม่รู้ว่าจำเป็นอะไรต้องมาสอนหัดอ่านคำนี้ ที่ตรงนี้กันทำไม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานกระแสพระราชดำริช่วงท้ายของการประชุมทางวิชาการเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ว่า

“ภาษานี้เกิดปัญหาขึ้นได้มากหลายทาง ต้องพยายามช่วยกันแก้ปัญหาต่างๆ นี้ และถกเถียงกันเพื่อที่จะขบให้แตกและให้ภาษาของเราบริสุทธิ์ใช้การได้”

ภาษา

๐ ศักดิ์สิทธิ์แห่งภาษา

เป็นปัญญาอันเยี่ยมยล

ปรุงคนให้เป็นคน

ให้เข้าใจต่อใจกัน

๐ เป็นอารยธรรม

อันส่ำสมและสร้างสรรค์

เป็นภูมิปัญญาบรร

-พบุรุษดำรงทรง

๐ ภาษาจักพาสาร

มาจดจารประจงลง

จักรวาลพึงพิศวง

ด้วยอำนาจแห่งภาษา