ทราย เจริญปุระ | แม่บนบ่าลูกสาว

-ปีนี้ฉันอายุ 40-

หลังจากไหว้สวัสดีกันอยู่ไปมา คุณพยาบาลก็แนะนำตัวกับฉันและซักประวัติ

“ข้อมูลตรงนี้จะเป็นความลับนะคะ จะรู้กันแค่พยาบาล ผู้ทำประกัน และทางบริษัทเพื่อพิจารณาเท่านั้นค่ะ”

-บอกไปเถอะค่ะ- ฉันคิดในใจ แต่ไม่ได้พูดออกมา เรื่องส่วนใหญ่ในชีวิตฉันก็ไม่ได้เป็นความลับอะไรนักหนา และความจริงแล้ว, พอได้พูดออกมาสักครั้ง ครั้งต่อๆ ไปก็ง่ายขึ้น เรียบเรียงได้ต่อเนื่องขึ้น มีที่มาที่ไปมากขึ้น

แต่ก็นั่นแหละ, เราไม่มีวันจะเล่าชีวิตใครได้ครบหรอก

ต่อให้เป็นชีวิตของตัวเองก็ตาม

“เราทุกคนต่างมี “บาดแผลในอดีต” ที่อาจยังไม่ได้รับการรักษา และเมื่อทุกคนล้วนบาดเจ็บ จึงต่างทำให้อีกฝ่ายอ่อนล้า หมดพลังงานโดยไม่รู้ตัว—มีลูกสาวไม่น้อย พยายามจะเป็น “ลูกสาวที่ดี” จึงต้องทนแบกรับความคาดหวังของคนเป็นแม่ และเมื่อฝืนทนไม่ไหว หัวอกก็ระเบิด นำไปสู่ความสัมพันธ์อันแตกร้าวในที่สุด ความสัมพันธ์ในอุดมคติที่ “ยอมรับอิสระทางใจ” ซึ่งกัน จะเยียวยาความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาวได้”*

“พี่ทรายว่าแม่จะแต่งตัวแบบไหนตอนอายุ 40?”

คนเรานี่มันทุกข์เพราะความทรงจำจริงๆ นะ

จำได้ก็ทุกข์ ที่ยังเห็นมันทุกฉากทุกตอน

จำไม่ได้ก็ทุกข์ พยายามเฟ้นหา หลับตานึกให้กระจ่าง

ภาพตรงหน้าไม่เคยสำคัญกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว

อาจจะเพราะเราหาเหตุผลให้กับอะไรบางอย่างอยู่ตลอด

เราอยากรู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในวันนี้ เกิดขึ้นมาได้ยังไง

ทำไม

ได้อย่างไร

คำตอบนั้นซ่อนอยู่ในอดีต

อยู่ในภาชนะบรรจุที่บอบบางและเลื่อนไหล เรียกว่าความทรงจำ

ช่วงปีสองปีมานี้ หลายคนทักฉันว่าแต่งตัวสดใสขึ้นนะ ฉันก็ตอบแบบทีเล่นทีจริงไปว่าแก่แล้ว, ต้องสดใสสิ

แต่เหตุผลจริงๆ ก็คือ เมื่อก่อนฉันต้องใส่เสื้อผ้าของแม่เป็นหลัก แม่ฉันไม่ชอบเสื้อลาย จะลายดอก ลายตารางอะไรก็ไม่ชอบ เสื้อสีจัดๆ ก็ไม่ชอบ แถมมีรูปแบบเสื้อและการแต่งตัวอีกมากมายจุกจิกที่แม่ไม่ชอบ เมื่อไม่ชอบ ก็ไม่ซื้อ และฉันไปงานไหนก็ต้องใส่เสื้อแม่ ที่ผ่านการจัดให้จากแม่

ไม่ใช่มันไม่สวยนะ เสื้อแม่ฉันนี่ของดีๆ ทั้งนั้น ฉันจำได้ว่าแม่เป็นคนแต่งตัวจัดมาตั้งแต่ยังสาว ตุ้มหู กำไล ส้นสูง ทาปากสีชมพูจี๊ดใจ กระโปรงบานกรุยกรายไปรับฉันที่โรงเรียน

ดังนั้น พอแม่หล่นคำถามแบบนั้นมาใส่, ฉันจึงออกจะงงๆ

จำไม่ได้แน่ชัดแล้วว่าตอบแม่ไปว่ายังไง แต่ก็คงแนวๆ ว่าก็แบบที่แต่งอยู่ทุกวันนี้ไง แม่เลยตอบว่าแม่ไม่มีวันจะแต่งตัวเชยๆ หรือตามพิมพ์นิยมแบบแม่อื่นๆ แน่นอน

“สรุปว่าคุณทรายกินยารักษาตัวมาแล้วรอบหนึ่ง ก่อนจะมากินซ้ำอีกใช่มั้ยคะ” คุณพยาบาลจดข้อมูลลงใบ

ประวัติของฉัน “แล้วปัจจุบันนี้ละคะ?”

-ปัจจุบันนี้เหรอ-

ปัจจุบันนี้ฉันก็เพิ่งคุยกับน้องชายและพี่เลี้ยงที่ดูแลแม่อย่างโล่งอก ว่าหาซื้อผ้าอ้อมยี่ห้อที่แม่ชอบได้แล้ว หลังจากมันขาดตลาดไปพักหนึ่ง จนทำให้แม่งอแงเป็นอันมาก

“ถ้าพี่เพ็ญไม่ไหว บอกทรายนะคะ พักได้นะพี่” ฉันบอกพี่เลี้ยงของแม่ไปแบบนี้

“แล้วน้องทรายจะไหวเหรอคะ” พี่เพ็ญถามยิ้มๆ “ต้องออกไปทำงานด้วย”

“ก็ไม่ไหวค่ะ” ฉันยิ้มตอบพี่เพ็ญ “ก็คงต้องพึ่งเนิร์สแหละพี่”

เนิร์สในที่นี้คือเนิร์สเซอรี่ ต่างกันเพียงว่าไม่ได้เต็มไปด้วยเด็กน้อยที่กำลังโต แต่เป็นสถานดูแลและพยาบาลผู้สูงวัย หลายคนยังแข็งแรงพอเดินได้ หลายคนต้องเจาะคอให้อาหารทางสายยาง หลายคนมีแผลกดทับ

บางทีที่แม่ฉันไปอยู่เนิร์สแล้วฉันไปเยี่ยมหรือไปรับ ก็จะได้พบกับลูกๆ บางคนที่พาพ่อแม่มาฝากที่เนิร์สเช่นกัน

เรามักจะสบตากัน

ในแววตานั้นมีความเข้าใจอันเป็นส่วนตัว

มันเจ็บปวดนะ ที่วันหนึ่งเราต้องยอมรับความจริงว่าเราทำทุกอย่างให้ดีไม่ได้ ข้อความที่บอกว่า-แม่คนเดียวเลี้ยงลูกสิบคนได้ แม่คนเดียวทำไมลูกจะเลี้ยงไม่ได้-ก็กลับมาหลอกหลอน เรามันแย่ มันห่วย เรามันไม่อดทน เรามันไม่รับผิดชอบ แบ่งเวลาก็ไม่ได้

ช่างเลวเหลือทน

ดูซิ ต้องเอาเค้ามาไว้สถานพยาบาล

แต่เทียบกับก่อนหน้านี้ที่ฉันต้องคอยล็อกบ้าน ซ่อนกุญแจรถ เก็บของมีคมทุกชนิดและอุปกรณ์ใดๆ ที่อาจเป็นอาวุธให้แม่ใช้ทำร้ายตัวเองหรือคนอื่นได้ แบบนี้มันก็ดีกว่า

ดีกว่าให้ถึงเวลาเป็นข่าวขึ้นมาแล้วมีคนมาให้ความเห็นว่า “รู้ว่าแม่ป่วย ปล่อยไปได้ยังไง”

โลกอินเตอร์เน็ตนั้นเอาใจยาก เราไม่มีวันทำให้ถูกใจทุกคน ไม่นับเรื่องข้อแม้จริงในชีวิตจริงที่เรายังต้องอยู่ต่อไป

“รอบนี้คุณทรายกินยาต่อเนื่องมานานแค่ไหนแล้วคะ?” เสียงพยาบาลเรียกฉันกลับจากความทรงจำ

“ปีกว่าแล้วค่ะ” ฉันบอก “ระบุลงไปได้เลยค่ะ ว่าปีกว่า และคงต้องกินต่อเนื่องไปอีกพักใหญ่ล่ะค่ะ” ฉันตอบยิ้มๆ ชินเสียแล้วกับสายตาคนได้ยินคำตอบ ว่าจะกินยาอะไรนักหนา หล่อนไม่คิดจะพึ่งพาตัวเองเลยเหรอ

คิดสิ, ทำไมฉันจะไม่คิด

แต่จำนวนคนที่พึ่งพาฉันมีมากกว่านั้น ฉันรู้ดีว่าไม่แข็งแรงพอจะแบกทุกอย่างเอาไว้ในคราวเดียวกัน

แต่ตราบใดที่ฉันยังตัดห่วงและจิตที่พ่วงแม่เอาไว้เป็นศูนย์กลางของชีวิตได้ ฉันก็คงยังต้องพึ่งยาไปก่อนแบบนี้แหละ

ตลกดีที่รู้ทั้งรู้ แต่ฉันก็ทำอะไรกับความจริงนี้ไม่ได้

เรื่องแม่กับลูกสาวนี้ก็แปลก ฉันเคยคิดว่าเป็นอยู่แค่บ้านฉันบ้านเดียว จนโตขึ้นมาถึงได้รู้ว่าหลายๆ บ้านก็มีความรู้สึกเช่นนี้ลอยอ้อยอิ่งในความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาว

ความไม่เข้าใจ ความหวัง ความกดดัน และการเป็นตัวแทน

“…และปัจจุบันนี้ ปัญหาระหว่างแม่กับลูกสาวยิ่งโดดเด่น มีทั้งแม่ผู้ยึดติดกับลูกสาว และลูกสาวผู้ไม่อาจหลุดพ้นจากพันธนาการรักของแม่ จนได้แต่ทน ทน และทน… บางเคสแม่กับลูกสาวแค่ไม่ลงรอยกัน ขณะที่บางเคสถึงขั้นลูกสาวป่วยหนักเป็นโรคกินผิดปกติ (Eating Disorder) หรือมีภาวะซึมเศร้า หนังสือเล่มนี้ จึงอยากไขค้นถึงต้นตอว่าปัญหาระหว่างแม่กับลูกสาวเกิดจากอะไร และเสนอวิธีรื้อฟื้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นใหม่นั่นเอง”*

ทุกวันนี้ฉันแต่งตัวสดใสขึ้น ไม่ต้องกังวลอีกแล้วว่าใส่เสื้อลงมาแล้วจะถูกแม่ไล่ขึ้นไปเปลี่ยนไหม ฉันซื้อเสื้อที่สีแสบที่สุดด้วยความสะใจปนรู้สึกผิดนิดๆ

เอาเป็นว่าฉันจะไม่ใส่เสื้อสีสดๆ ลงไปหาแม่ก็แล้วกัน

เพราะเรื่องระหว่างเราก็แก้ไขอะไรไม่ได้เสียแล้ว ฉันทำได้เท่าที่ทำได้

และแม่ก็…เป็นเท่าที่เป็นอยู่

ทุกวันนี้แม่ใส่เสื้อกับผ้าอ้อมผู้ใหญ่เป็นหลัก ผิวแม่บางลงมากจนต้องคอยชโลมครีมตามแขนขาให้เรื่อยๆ

เพราะกลัวเป็นแผลกดทับ

บางวันแม่ก็พาตัวเองลงจากเตียงได้อย่างน่าอัศจรรย์

แต่ก็แค่นั้น, ลงมาแล้วก็ร้องไห้ ไม่ไปไหนต่อ ไม่เดินหน้า ไม่ถอยหลัง ไม่ขึ้น ไม่ลง ไม่มีอะไรดำเนินต่อ จนกว่าฉันหรือใครตรงนั้นจะช่วยอุ้มขึ้นเตียงอีกครั้ง

ฉันว่าแม่ไม่เคยคิดหรอก ว่าวันหนึ่งชีวิตจะเป็นแบบนี้

ฉันก็ไม่เคยคิดเหมือนกัน

เพราะในใจยังเห็นแม่เดินฉับๆ กระโปรงบานพลิ้ว เป็นกระโปรงตัวล่าสุดที่เพิ่งไปตัดกับพี่บ๊วยมา ตัวนี้ที่ฉันไปนั่งรอแม่ลองในร้านแคบๆ ของพี่บ๊วยแล้วแม่ก็บ่นความเล็กเหลือทนของร้านพี่บ๊วย

“ผ้าเป็นสิบเมตร เฉพาะผ้าก็กว้างกว่าห้องลองเธอแล้วนะบ๊วย” แม่ฉันพูดขำๆ

แม่หันมามองฉันที่นั่งเจ่ารออยู่ ก่อนจะบอกว่าพรุ่งนี้แม่จะใส่ไปรับพี่ทรายนะ

“มันจะใช้พื้นที่เยอะมากเลยนะพี่ทราย แต่ถ้าแม่เดินเร็วๆ กระโปรงจะพลิ้วสวยเลย กระโปรงเซอร์เคิลแบบนี้”

ใช่แม่, แม่สวยมากจริงๆ สวยที่สุด สมบูรณ์แบบที่สุดในกระโปรงบานพลิ้วรับแสงแดด

ไม่มีใครเห็นรอยแตกร้าวที่เริ่มขึ้นมาก่อนหน้านั้น

และภาพของแม่สำหรับทรายก็จะเป็นเช่นนั้นไปตลอดกาล

“โลกทั้งใบบนไหล่ลูกสาว” เขียนโดย อิชิฮาระ คาซุโกะ แปลโดย หนึ่งฤทัย ปราดเปรียว ฉบับพิมพ์ครั้งแรก มกราคม, 2562 โดยสำนักพิมพ์แซนด์คล็อคบุ๊คส์

*ข้อความจากในหนังสือ