ศัลยา ประชาชาติ : ปล่อยผีขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ดีเดย์ 1 เมษายน ลั่นไม่กระทบ ศก.

การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องทำเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ราคาสินค้า ค่าครองชีพที่ขยับขึ้น จนเป็นที่รับรู้ในหมู่ผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนนายจ้าง

แม้วันเวลาที่จะประกาศใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่แต่ละปีอาจแตกต่างกันบ้าง ซึ่งบางปีมีการปรับขึ้นในวันที่ 1 มกราคม เพื่อเป็นของขวัญวันขึ้นปีใหม่ให้แก่ผู้ใช้แรงงาน บางปีมีการขึ้นค่าแรงในวันแรงงานสากล วันที่ 1 พฤษภาคม

ล่าสุด ปี 2561 ที่ผ่านมา มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในวันที่ 1 เมษายน แบ่งเป็น 7 อัตรา ปรับขึ้นตั้งแต่ 8-22 บาท/วัน โดยจังหวัดที่ปรับค่าจ้างรายวันขั้นต่ำสูงสุดที่ 330 บาท/วัน ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง ขณะที่ 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ปรับค่าแรงขั้นต่ำสุดที่ 308 บาท/วัน ส่วนกรุงเทพมหานคร ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 325 บาท/วัน

โดยมีหลักการคำนวณ กว่าจะได้ตัวเลขอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะปรับขึ้น คณะกรรมการค่าจ้างกลาง หรือไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง และตัวแทนจากภาครัฐ จะนำข้อเสนอที่อนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดทั่วประเทศเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะขอปรับขึ้นมาพิจารณา

จากนั้นมอบหมายให้คณะอนุกรรมการวิชาการค่าจ้างพิจารณาโดยนำปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งการเติบโต อัตราค่าครองชีพ ภาวะเงินเฟ้อ ความสามารถในการจ้างงานของนายจ้าง ตลอดจนตัวแปร 10 ข้อ

รวมถึงสูตรกลางที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางกำหนดขึ้น นำมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อให้ได้ตัวเลขที่เหมาะสม

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปีนี้เงื่อนเวลาที่จะต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำบังเอิญตรงกับช่วงโค้งสุดท้ายของการนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งพอดี

ประกอบกับสีสันและบรรยากาศในการหาเสียงของพรรคการเมืองแต่ละพรรคดุเดือดเข้มข้นขึ้นทุกขณะ

จึงไม่น่าแปลกใจหากปัจจัยทางการเมืองจะเข้ามามีผลต่อการตัดสินใจเคาะตัวเลขอัตราค่าจ้างใหม่ที่จะปรับขึ้นในรอบนี้

ขณะเดียวกันแม้ขณะนี้ยังไม่ครบกำหนดวันเดตไลน์ ที่นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้คณะอนุกรรมการวิชาการค่าจ้าง นำข้อเสนอที่อนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัดทั่วประเทศเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะขอปรับขึ้นในปีนี้ไปพิจารณา ภายในเดือนมีนาคมนี้

แต่กระแสข่าววงในระบุว่าตัวเลขการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างที่ถูกหยิบยกขึ้นพิจารณา เป็นข้อเสนอของคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ 28 จังหวัด ที่เสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่ 2-14 บาท/วัน ส่วนอีก 49 จังหวัดไม่ได้เสนอปรับขึ้นค่าจ้าง

เบื้องต้นคณะอนุกรรมการมีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างตามความเหมาะสมจำเป็นของแต่ละจังหวัด อาทิ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ภูเก็ต ชลบุรี ปรับขึ้น 5-7 บาท มี สิงห์บุรี เชียงใหม่ ระยอง สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา ส่วนที่เสนอปรับขึ้นต่ำสุด 2 บาท คือ ยะลา ปัตตานี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจังหวัดที่ไม่เสนอขอปรับขึ้นค่าแรง ที่ประชุมมีมติให้ปรับขึ้นเท่ากันทั้งหมดที่ 2 บาท/วัน

ส่วนที่หลายฝ่ายอาจยังสับสนและไม่มั่นใจว่า บัญชีค่าแรงขั้นต่ำอัตราใหม่จะประกาศบังคับใช้ทันวันที่ 1 เมษายนหรือไม่

ปลัดกระทรวงแรงงานยืนยันว่าการพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2562 จะประกาศบังคับใช้วันที่ 1 เมษายนนี้ ตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้แน่นอน เนื่องจากขณะนี้การพิจารณาตามขั้นตอนคืบหน้าไปมาก เพียงแต่คณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการกำลังเร่งสรุปตัวเลขค่าจ้างใหม่ให้ชัดเจนก่อน

และมั่นใจว่าการปรับครั้งนี้ยังอยู่บนพื้นฐานที่ว่านายจ้างอยู่ได้ ขณะที่ลูกจ้างก็พอใจ

 

ด้าน ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ที่ปรึกษาคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า โดยหลักการการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะใช้สูตรกลางในการประเมิน โดยนำปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทั้งโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ตลอดจนตัวแปร 10 ข้อมาวิเคราะห์ เมื่อได้ข้อสรุปจะส่งเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างกลางชี้ขาด และเมื่อที่ประชุมบอร์ดไตรภาคีมีมติเห็นชอบจึงนำเสนอ ครม.ต่อไป

“ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าฝั่งลูกจ้างต้องการให้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 360-365 บาท เท่ากันทั่วประเทศ แต่ในความเห็นส่วนตัวมองว่าไม่ควรจะปรับเท่ากันทั้งหมด เพราะค่าครองชีพแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน ศักยภาพของนายจ้างและลูกจ้างในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกัน ขณะเดียวกันอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาคือ ถ้าหากปรับขึ้นสูงอย่างรวดเร็วอาจส่งผลกระทบ ทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมซึ่งเป็นนายจ้างมีต้นทุนและความเสี่ยงเพิ่มขึ้น”

สำหรับความเคลื่อนไหวฝ่ายนายจ้าง นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย มองว่า หากปรับขึ้นค่าแรงงานสูงถึง 360-365 บาท/วัน ตามข้อเสนอของตัวแทนลูกจ้างบางกลุ่ม นายจ้างคงรับไม่ได้ สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ค่าจ้างที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 345 บาท/วัน เนื่องจากค่าแรงที่สูงเกินไปจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ซึ่งต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่า สงครามทางการค้า รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมือง

เพราะแม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องดูว่าหลังจากการเลือกตั้งจะมีความวุ่นวายหรือไม่ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้หากเกิดขึ้นจะส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกเครื่องนุ่งห่มในปีนี้ติดลบ จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 7-8% จากปี 2561

ส่วนนายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างฯ ไม่ต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องปรับขึ้นก็อยากให้พิจารณาในอัตราที่เหมาะสม เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคก่อสร้างแน่นอน โดยเฉพาะสัญญางานก่อสร้างโครงการเก่า อีกทั้งต้องการให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเข้าไปในราคากลางของโครงการใหม่ที่จะเปิดประมูลตามไปด้วย เพื่อให้สะท้อนถึงต้นทุนก่อสร้างอย่างแท้จริง

 

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้ นอกจากภาวะทางด้านเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะเติบโตได้ไม่ดีนัก อันเนื่องมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ไม่ได้กระจายตัวลงทุกส่วนในภูมิภาคแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจจะเข้ามาเป็นตัวแปรคือ การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมที่จะถึงนี้

แต่ดูเหมือนว่าได้มีการตั้งไทม์ไลน์การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไว้อย่างชัดเจนแล้ว โดยเฉพาะจากการยืนยันของประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง

แม้อานิสงส์ช่วงนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งจะทำให้พอคาดหวังได้ว่า รัฐบาลอาจต้องการซื้อใจปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ในระดับที่ไม่น้อยจนเกินไป และผู้ใช้แรงงานพอรับไหว แต่ต้องรอลุ้นอีกสองต่อว่าบอร์ดค่าจ้างกลางจะเคาะตัวเลขออกมาอย่างไร และจะประกาศใช้บัญชีค่าแรงใหม่ทัน 1 เมษายน ตามกรอบระยะเวลาที่ให้คำมั่นไว้หรือไม่