แมลงวันในไร่ส้ม/ อุตลุดข่าวเลือกตั้ง ทษช.ลุ้น-คดียุบพรรค พปชร.ลุย-เล็ง ‘เก็บตก’

แมลงวันในไร่ส้ม

อุตลุดข่าวเลือกตั้ง

ทษช.ลุ้น-คดียุบพรรค

พปชร.ลุย-เล็ง ‘เก็บตก’

 

อีกคดีการเมืองที่เกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้ง และกลายเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ และเป็นข่าวต่อเนื่องในสื่อออนไลน์ต่างๆ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องยุบพรรคไทยรักษาชาติจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ไว้พิจารณาแล้ว

หลังจาก พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

หลัง 7 เสือ กกต. พิจารณาเห็นว่า รายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาตินั้น เป็นการดำเนินการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560

หลังจากมีมติรับคำร้อง เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นำสำเนาคำร้องมายังที่พรรคไทยรักษาชาติทันที

โดยศาลได้นัดพิจารณาครั้งต่อไปในวันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์นี้

ทางพรรคไทยรักษาชาติประกาศสู้คดีเต็มที่ โดยจะยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 7 วันหลังจากรับสำเนาคำร้อง หรือภายใน 21 กุมภาพันธ์นี้

ก็ต้องติดตามกันว่า คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินเร็วหรือช้าอย่างไร โดยมีเส้นตายอยู่ที่วันเลือกตั้ง 24 มีนาคม เพราะหากตัดสินเร็ว และผลคือยุบพรรค ก็เท่ากับไม่มีพรรคไทยรักษาชาติในการเลือกตั้งครั้งนี้

แต่ถ้าตัดสินยุบพรรคหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม หากพรรคไทยรักษาชาติมีผู้สมัครได้รับการเลือกตั้ง และ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งแล้ว ผู้สมัครหรือ ส.ส.เหล่านี้ สามารถหาพรรคสังกัดใหม่ได้ใน 60 วัน

แต่ถ้าตัดสินก่อนรับรองผล ก็เท่ากับสิ้นสภาพไปทั้งหมด รวมถึงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ด้วย

หรือถ้าตัดสินไม่ยุบพรรคขึ้นมา ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

อีกประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก ได้แก่ การที่นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า หากพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบพรรคจากคดีนี้ กรรมการบริหารพรรคจะถูกเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตทันที

ชาติชาย ณ เชียงใหม่

นายชาติชายระบุว่า เป็นไปตามที่กำหนดไว้ตามมาตรา 98(5) ของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคท้ายที่ระบุว่า “เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนแล้วมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง” และ “เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

การตีความของนายชาติชายถูกทักท้วงทันทีจากนายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการรัฐศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า จากการที่อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบางท่านได้ออกมาให้ความเห็นว่า การตัดสิทธิทางการเมืองตามมาตรา 92 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 ไม่มีระยะเวลาระบุไว้ ก็เท่ากับกรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตนั้น ผมไม่เห็นด้วย

เพราะโดยปกติแล้วกฎหมายจะบัญญัติบทกำหนดโทษไว้อย่างชัดเจนว่า หากมีความผิดตามมาตราใดในกฎหมายฉบับนั้น จะต้องรับโทษอย่างไร เมื่อพิจารณาดูใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 ในหมวดที่ 10 ที่ว่าด้วยบทกำหนดโทษ (มาตรา 100 ถึง 139) แล้ว พบว่าไม่ได้บัญญัติระยะเวลาไว้ว่าหากมีการกระทำความผิดตามมาตรา 92 จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นเป็นระยะเวลาเท่าใดแต่อย่างใด

ฉะนั้น จึงต้องนำบทใกล้เคียงมาเทียบคือ มาตรา 94 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ที่กำหนดให้คณะกรรมบริหารพรรคที่ถูกยุบห้ามไปจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคหรือมีส่วนร่วมในการจัดพรรคใหม่ ภายในเวลา 10 ปี หลังวันที่มีคำสั่งยุบพรรค

กอปรกับมาตรา 9 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ กำหนดว่า ผู้ที่มาตรา 9(3) ระบุว่า บุคคลที่ถูกห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะเป็นผู้จัดตั้งพรรคการเมืองไม่ได้ และเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้ แสดงว่ากรรมการบริหารพรรคจะไม่ถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต แต่จะถูกตัดสิทธิเป็นเวลา 10 ปี ตามมาตรา 94 แทน

นายชำนาญทิ้งท้ายโพสต์ไว้ว่า การตีความกฎหมายต้องตีความในลักษณะที่ไม่ขยายความไปเป็นโทษนะครับ

 

ผลของคดีความของพรรคไทยรักษาชาติ จะตกหนักที่ 14 กรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ ประกอบด้วย

ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย

นายฤภพ ชินวัตร น.ส.สุณีย์ เหลืองวิจิตร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ และ นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล กลุ่มนี้เป็นรองหัวหน้าพรรค

นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการ นายต้น ณ ระนอง นายวิม รุ่งวัฒนจินดา นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ รองเลขาธิการพรรค

ที่เหลือคือ กรรมการบริหารพรรคได้แก่  นายจุลพงศ์ โนนศรีชัย  นายรุ่งเรือง พิทยศิริ ที่ยื่นลาออกไป นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ โฆษกพรรค  นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ เหรัญญิก และ น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียนพรรค

ผลกระทบทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นอีกประเด็น และเป็นเรื่องกระทบต่อเกมอำนาจในภาพกว้างก็คือ หากโดนยุบขึ้นมาจริงๆ  ส.ส.ของพรรคนี้ ที่เก็งไว้ประมาณ 50 ที่นั่ง จะหายไป

พรรคเพื่อไทยที่เว้นส่ง ส.ส. 150 เขตเลือกตั้ง สร้างประวัติศาสตร์ เป็นครั้งแรกที่ส่ง ส.ส. ไม่ครบทุกเขต ย่อมไม่คาดคิดว่าสภาพเช่นนี้จะเกิดขึ้น และเท่ากับว่า พรรคที่จะเป็นแนวร่วม ส่อเค้าว่าจะสิ้นสภาพ

การแก้เกมคงทำอะไรไม่ได้แล้ว นอกจากลุ้นผลการพิจารณาของศาล และระดมรณรงค์หาเสียงเรียกร้องให้ประชาชนมาเลือก ส.ส.ของพรรคให้ถล่มทลายกันไปข้าง

ขณะที่การหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ เพิ่มความคึกคักขึ้นมาทันที

เพราะหากไทยรักษาชาติโดนยุบ ก็เท่ากับจะเกิดช่องว่างช่องใหญ่ ในระบบบัญชีรายชื่อ และเป็นโอกาสของพรรคพลังประชารัฐ ที่อาจจะพลิกเป็นหัวแถว หรืออย่างน้อยแซง ปชป.เข้าเป็นที่สอง

พร้อมกันนี้ ก็เริ่มได้ยินเสียงโจมตีพรรคอนาคตใหม่ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อย่างหนักหน่วง โดยขุดข้อหาต่างๆ มาถล่มอย่างต่อเนื่อง

เพื่อสกัดการก้าวเข้ามายึด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคนี้ เพราะประชาชนมองหาสิ่งใหม่ๆ มาแทนที่ หลังจากมีข่าวว่าพรรรคไทยรักษาชาติมีอาการลำบาก

เป็นเกมการเมืองที่พลิกไปพลิกมาในสนามเลือกตั้ง ที่เหลืออยู่ไม่ถึง 40 วันแล้ว