ลิสต์กลโกงอาชญากรรมไซเบอร์ หลอกขายของ-อ้างคนดังฉ้อโกง ปอท.แนะเช็กประวัติ-วิดีโอคอล

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) หน่วยงานหลักที่รวมพลเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีฝีไม้ลายมือในการแกะรอย สืบสวน ติดตามผู้กระทำความผิดผ่านเทคโนโลยี ดูเหมือนนับวันจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยสเกลเทคโนโลยีที่ก้าวไกลข้ามขอบฟ้า ผนวกกับรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน ที่ไม่ว่าอย่างไรเสียก็ต้องมีเรื่องให้เกี่ยวพัน เกี่ยวโยงกับเทคโนโลยีไม่รู้จบ ทำให้เหล่าโจรไฮเทคเพิ่มจำนวนควบคู่ไปกับวิธีกลโกงที่เพิ่มยอดตามไปด้วย

พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ ผกก.2 บก.ปอท. ผู้รับผิดชอบหน้างานในส่วนคดีที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงโดยตรง เปิดเผยว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน เรายังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขนาดนี้ ทำให้รูปแบบกลโกงยังเป็นการฉ้อโกงทั่วไปแบบไม่ซับซ้อน ทำให้คนอาจจะมีสติในการไตร่ตรอง จนยากที่จะตกเป็นเหยื่อ

แต่ในปัจจุบันความไฮเทคพัฒนาขึ้น คนร้ายอาศัยช่องทางเหล่านี้ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงได้หลากหลายขึ้น

สามารถจำแนกออกเป็น 2 แบบด้วยกัน

 

รูปแบบแรก หลอกให้ซื้อ-ขายของ ด้วยการสร้างเว็บไซต์ หรือเปิดเพจเฟซบุ๊ก ให้คนเข้าใจว่าใช้สำหรับซื้อ-ขายสิ่งของต่างๆ

เช่น กรณีของ นายจิรายุ วิรตีวิภัช หรือ เอกรินทร์ มงคลไชยวุฒิ ที่เปิดเพจปลอมขายโทรศัพท์ชื่อ เจโฟน บีบีโฟน แอนด์เซอร์วิส เจี๊ยบโมบาย และเพจรับสมัครงานออนไลน์

หลอกให้ประชาชนทั่วไปโอนเงินมาให้

แต่สุดท้ายไม่ได้สินค้าตามที่ตกลงกันไว้

โดยทำมากว่า 7 ปีแล้ว แต่ไม่เคยถูกจับเพราะผู้ต้องหาระวังตัวเป็นอย่างดี ใช้บัญชีของบุคคลอื่นเปิดให้โอนเงิน และใช้ระบบการซื้อบัตรเติมเงิน (ทรู มันนี่) ก่อนจะให้นำรหัสเติมเงินมาให้ตน พร้อมเชิดเงินหายไป

ตรวจสอบยังพบว่ามีผู้เสียหายเกือบ 500 คน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 5 ล้านบาท ต่อมาตำรวจ ปอท. สืบสวนแกะรอยกระทั่งสามารถจับกุมไว้ได้

นอกจากนี้ ยังมีกรณีคดีของ น.ส.วิจิตรตรา รักถิ่นเกิด อายุ 27 ปี ชาว จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ถูกคนแจ้งความจับหลังจากโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ชื่อ “วิจิตรตรา รักถิ่นเกิด” หลอกขายเสื้อสีดำ ก่อนจะถูกจับกุมได้ที่ จ.นครปฐม

 

ผกก.2 ตำรวจหน่วยไฮเทค กล่าวต่อว่า รูปแบบที่ 2 หลอกลวงให้เชื่อว่าเป็นบุคคลอื่น หรือบุคคลมีชื่อเสียง เช่น นักแสดง เน็ตไอดอล นักมวย เป็นต้น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ ให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนา

รูปแบบของจุดประสงค์ยังสามารถแบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่ เพื่อต้องการใช้ในการขายของ หรือ เพื่อให้ได้เงินมา

เช่น กรณีของ นายตัน ภาสกรนที หรือเสี่ยตัน อายุ 57 ปี กรรมการผู้อำนวยการบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ปอท. หลังมีกลุ่มมิจฉาชีพปลอมเพจขึ้นมากว่า 21 เพจ และใช้หลายชื่อ เช่น ตัน-ภาสกรนที, ตันภาสกรนที, ตัน ภาสกรนที และตัน.ภาสกรนที

รวมทั้งมีการหลอกลวงว่าแจกรถเบนซ์ แจกเงิน แจกโทรศัพท์ บ้าน ทองคำ และของรางวัลอื่นๆ แต่มีเงื่อนไข คือ ให้ผู้เสียหายซื้อบัตรเติมเงินจำนวน 500-1,000 บาท ก่อนส่งรหัสบัตรเติมเงินไปให้คนร้ายผ่านทางเฟซบุ๊กที่ปลอมขึ้นมาเป็นค่าธรรมเนียมก่อนรับของ

กระทั่งต่อมาตำรวจสามารถจับกุม นายศุภชัย สืบสุนทร อายุ 22 ปี ไว้ได้ในเวลาต่อมา

 

“หรือจะเพื่อต้องการทำทีเป็นยืมเงิน ก่อนที่คนร้ายจะเชิดเงินหนีไป เช่น กรณีของ นายอาภรณ์ โสภาพ อายุ 49 ปี นักมวยชื่อดังเจ้าของฉายาไอ้หนุ่มชีวาส ที่พบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กของตน ทักแชตไปหาเพื่อนในเฟซก่อนระบุว่ามีปัญหาต้องการยืมเงินเพื่อนในเฟซบุ๊ก ทำให้มีการโอนเงินผ่านบัญชีของคนร้ายจำนวนหลายพันบาท ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงเป็นอย่างมาก หรือจะเพื่อการนำไปหลอกลวงในรูปแบบที่เรียกว่า “โรแมนซ์สแกม” ด้วยวิธีการนำรูปชาวต่างชาติหน้าตาดี โปรไฟล์เริ่ด ชีวิตหรูหรา มาหลอกหญิงไทยให้หลงรัก หลงเชื่อ พร้อมหลอกเอาเงินไปด้วยวิธีต่างๆ ตามที่พบเห็นเป็นข่าวหลายครั้งหลายครา แต่วิธีระวังตัวของคนร้ายกลุ่มนี้ จะยืมมือบุคคลที่ 3-4-5 มาเปิดบัญชีธนาคารแทนตนเองที่อาจจะใช้วิธีแชตจีบหญิงข้ามไกลจากต่างประเทศ ทำให้ตำรวจสาวไม่ถึงตัว จับได้เพียงแต่ผู้เปิดบัญชีให้เท่านั้น

“แม้คนร้ายในโซเชียลหรือเทคโนโลยีจะสรรหาวิธีต่างๆ มาฉ้อฉล หลอกลวงหลากหลายวิธี แต่หากศึกษาจริงๆ แล้วจะพบว่าปัจจุบันนี้ไม่ได้มีวิธีฉ้อโกงที่แปลก แตกต่างไปจากหลายปีก่อนหน้านี้สักเท่าไหร่ แต่สิ่งที่พัฒนาน่าจะเป็นการเลือกสินค้ามาหลอกขายแบบอิงกระแส โดยจับความต้องการของผู้บริโภคในเวลานั้น ว่ามุ่งความสนใจต่อสิ่งใด หรือขณะนั้นอะไรที่กำลังเป็นที่อินเทรนด์ ชนิดที่แต่ละคนต้องพยายามขวนขวายหามาเพื่อสนองความต้องการของตัวเองให้ได้ จึงไม่แปลกที่จะเรียกความสนใจได้ไม่ยาก

“ดังนั้น สาเหตุหลักที่คนตกเป็นเหยื่อกลโกงเหล่านี้ ต้องยอมรับว่าเกิดจากความโลภ อยากได้ เห็นว่าของดี ราคาถูก ผนวกกับความอยากได้ อยากครอบครอง ตลอดจนการใช้จิตวิทยาของพวกโจรไฮเทค ที่ได้ฝึกปรือมาอย่างดี แถมยังเร่งรัดเวลาการตัดสินใจเชื้อเชิญให้ตกหลุมพราง ด้วยประโยคในลักษณะว่า เหลือของเพียงชิ้นเดียว หากไม่ตัดสินใจภายในเวลานี้ ยังมีคนรอต่อคิวจองอีกหลายคน เป็นเหตุให้เราไม่มีเวลาคิด วิเคราะห์ ไตร่ตรองความน่าจะเป็นว่าของแบบนี้ จะขายราคาถูกได้มากขนาดนี้หรือไม่ จึงไม่แปลกหากคนจะรีบตัดสินใจตอบตกลงพร้อมโอนเงินให้เสร็จสรรพ

“ดังนั้น ก่อนจะหลงเชื่อ หรือจะโอนเงิน หรือให้ของมีค่า มีราคากับบุคคลใดนั้น เราควรจะตรวจสอบประวัติความน่าเชื่อถือของบุคคลนั้น หรือนัดแนะรับของกันตัวต่อตัว แบบเห็นหน้า หรือทดลองวิดีโอคอลคุยแทนการแชตคุยธรรมดา เพราะหากเป็นมิจฉาชีพจริง คนเหล่านั้นจะไม่กล้ามาพบ และไม่กล้าวิดีโอคอลอย่างแน่นอน” พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ แนะทิ้งท้าย

ไม่เช่นนั้นเราอาจจะ “กระโจนลงหลุม” แบบเต็มตัว โดยไม่ทันตั้งตัว!!!