ที่มาข่าวลือการเป็น “จักรพรรดิจากสวรรค์” ของ “บูเช็กเทียน” และมรดกพุทธศาสนาในฐานะ “อดีตภิกษุณี”

แม่น้ำที่ไหลขนาบไปกับถ้ำผาหลงเหมินนั้น ชื่อแม่น้ำอี้เหอ ในช่วงที่พระนางบูเช็กเทียนแสวงหาความชอบธรรมในการขึ้นครองแผ่นดินจีนนั้น เรื่องที่ชาวจีนเล่าให้ฟังก็เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นความยากลำบากของพระนางที่จะทำให้ผู้คนยอมรับการที่สตรีจะก้าวขึ้นมาเป็นพระจักรพรรดิ

หยวนชิงกัง เป็นอาจารย์ที่รู้ฟ้ารู้ดินได้วางแผนเอาแผ่นหินมาสลักเป็นอักษรจีนว่า บูเช็กเทียนต้าตี้ ประมาณว่า พระจักรพรรดิบูเช็กเทียน แล้วเอาทิ้งในแม่น้ำอี้เหอสายนี้ พอถึงหน้าแล้งน้ำลด ชาวบ้านไปเจอแผ่นหินนี้ ก็กลายเป็นที่เลื่องลือว่า พระนางถูกกำหนดมาโดยพระประสงค์ของสวรรค์ที่จะให้พระนางเป็นจักรพรรดิโดยแท้

แม้ว่าพระนางจะเป็นผู้ว่าราชการแทนพระสวามี โดยทรงนั่งว่าราชการหลังม่านด้านหลังขององค์สมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจง จนทำให้ประชาชนเรียกขานพระองค์ว่า “2 ธีรราช” และพระเจ้าถังเกาจงมีพระราชโองการให้ออกพระนามของพระนางในฐานะสมเด็จพระราชชินีแห่งสวรรค์คู่กับพระนามของพระองค์

หยวนชิงกังนั้น ก็มีแผนซ้อนแผนอยู่ เมื่อผลักดันให้พระนางได้ขึ้นเป็นพระจักรพรรดิเต็มพระองค์ และประทับที่ลั่วหยางในฐานะเมืองหลวง ตนเองจะดูแลซีอานให้ เพราะรู้ล่วงหน้าว่า แม่น้ำอี้เฮอจะเอ่อล้น น้ำจะท่วมเมืองลั่วหยาง พระนางก็จะเข้าตาจน และตนเองก็จะได้ครองเมืองซีอานโดยสมบูรณ์

ปรากฏว่าแม่น้ำอี้เหอเอ่อล้นท่วมเมืองลั่วหยางจริง ใน ค.ศ.1938 ระดับน้ำที่ท่วมเมืองสูงถึง 6 เมตร ทางการปักเสาทำเครื่องหมายไว้ให้ปรากฏจนปัจจุบัน

ในปี ค.ศ.675 พระอาการประชวรของสมเด็จพระจักรพรรดิถังเกาจงหนักขึ้น พระองค์จึงทรงมีพระราชปรารภให้แต่งตั้งจักรพรรดินีบูเช็กเทียนเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่มีเสนาบดีคัดค้าน พระองค์จึงยังมิได้แต่งตั้งพระนางบูเช็กเทียนขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการ

ในช่วงปีนี้ มีผู้คนเป็นจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อความกริ้วโกรธของพระนางบูเช็กเทียน ผู้ที่ถูกลงโทษนั้น มีทั้งที่ถูกลงโทษด้วยความผิดจริง และถูกใส่ร้าย

ปลายปี ค.ศ.683 พระจักรพรรดิถังเกาจงเสด็จสวรรคตขณะประทับที่เมืองลั่วหยาง พระนางจึงเป็นผู้ดูแลบริหารงานแผ่นดินอยู่เบื้องหลัง ทรงขจัดพระโอรสองค์อื่นๆ ลง เพื่อให้พระโอรสองค์ที่สามของพระนางได้ขึ้นครอง

 

เจ้าชายหลี่เสี่ยนได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์ถัง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระจักรพรรดิจงจง ทรงครองราชย์เพียงระยะเวลาสั้นๆ ใน ค.ศ.684 แล้วก็ถูกปลดลง

แล้วให้พระโอรสองค์สุดท้องของพระนางคือเจ้าชายหลี่ตั้นขึ้นครองแทน โดยออกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าถังรุ่ยจง

ตลอดเวลาที่ให้พระโอรสขึ้นครอง พระนางยังทรงกำอำนาจที่แท้จริงไว้ และใน ค.ศ.690 ทรงบังคับให้พระเจ้าถังรุ่ยจงสละราชบัลลังก์ให้แก่พระนาง

ทรงตั้งราชวงศ์ใหม่เป็นราชวงศ์โจว โดยมีพระนางบูเช็กเทียนทรงเป็นผู้ครองบัลลังก์เองในฐานะฮ่องเต้

เส้นทางการขึ้นสู่พระราชอำนาจและราชบัลลังก์ของพระนางบูเช็กเทียนเพื่อเป็นกษัตริย์หญิงพระองค์แรกและพระองค์เดียวแห่งประเทศจีนนั้น ผ่านอุปสรรคขวากหนามและทั้งยังเต็มไปด้วยเล่ห์เพทุบาย มีการใส่ร้ายป้ายสี ลอบสังหารอยู่หลายคราก่อนที่พระนางจะทรงตั้งราชวงศ์โจวของพระนางได้

หลินยู่ถัง นักประพันธ์ชื่อดังของจีน (พ.ศ.2438-2519) กล่าวไว้ในหนังสือ “ประวัติบูเช็กเทียน” ถึงสถิติการวางแผนสังหารบุคคลที่ขัดขวางเส้นทางของพระนางว่า ทรงสังหาร ลูก หลาน และเชื้อพระวงศ์ที่ใกล้ชิดรวม 23 พระองค์ สังหารเจ้าชายในราชวงศ์ถังแซ่หลี่ 50 พระองค์ เสนาบดีและขุนพลฝีมือดีอีก 36 คนรวมทั้งหมด 109 คน

 

บทบาทของพระนางที่เราสนใจ คือบทบาททางด้านศาสนาพุทธ

เราต้องไม่ลืมว่า ในตอนแรกที่เป็นสนมของพระเจ้าถังไท่จง เมื่อพระเจ้าถังไท่จงสวรรคต พระนางไม่มีลูก จึงต้องถูกส่งให้ไปออกบวชที่สำนักภิกษุณี พระนางบวชอยู่ไม่น้อยกว่า 2 ปี กว่าที่จักรพรรดิถังเกาจงจะให้ออกมารับราชการอีก

ในช่วงนั้น พระนางย่อมได้รับอิทธิพลจากคำสอนในพุทธศาสนาทั้งทางตรงและทางอ้อม

เมื่อพระนางขึ้นครองราชย์ และได้บริหารราชการอย่างเต็มที่ในฐานะกษัตริย์ด้วยพระองค์เอง จึงได้พัฒนาและทะนุบำรุงพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ เหนือศาสนาเต๋า โปรดให้สร้างวัดต้าหยุน หรือวัดเมฆใหญ่ขึ้นในแต่ละจังหวัดที่อยู่ภายใต้อาณาเขตของเมืองหลวงทั้งสอง คือ ฉางอัน และลั่วหยาง

โปรดให้แต่งตั้งตำแหน่งพระภิกษุอาวุโส 9 ตำแหน่ง

โปรดให้ตั้งแท่นบูชาบรรพบุรุษ 7 ชั้นไว้ในวัดหลวง แต่พระนางก็ยังรักษาพิธีบวงสรวงอดีตจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ถังทั้งสามพระองค์ คือพระเจ้าถังเกาจู่ พระเจ้าถังไท่จง พระสวามีองค์แรก พระเจ้าถังเกาจง พระราชสวามีองค์ที่สอง

งานด้านการส่งเสริมพระพุทธศาสนาพระนางยังทรงทำอย่างต่อเนื่อง ที่เราไปถ้ำตุนฮวางเมื่อปี 2560 เราก็ได้ชมพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดที่ถ้ำตุนฮวางที่พระนางโปรดให้สร้างขึ้น งานการประดิษฐานพระพุทธศาสนา เราจะได้เห็นสิ่งก่อสร้างที่น่าประทับใจที่ยังมีหลงเหลือเป็นมรดกของชาติให้เราเข้าถึงได้แม้ปัจจุบัน

ทั้งนี้ เป็นการเกริ่นเพื่อที่จะนำท่านผู้อ่านไปชมหลงเหมินกับคณะของเราในอาทิตย์หน้า ถ้ำผาหลงเหมินเป็นงานพุทธศิลป์ที่พระนางทรงดำริขึ้นโดยตรงในสมัยที่พระนางเป็นกษัตริย์ครองเมืองลั่วหยาง

 

เมื่อพระนางมีพระชนม์ 82 พระโอรสของพระนางคือ เจ้าชายหลีเจ๋อได้ขึ้นครองบัลลังก์ เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิถังจงจง ในขณะที่พระนางถูกควบคุมตัวไปประทับที่ตำหนักรอง คือพระตำหนักซ่างหยางกง แต่ยังคงได้รับการยกย่องในฐานะฮองเฮา

ในวันรุ่งขึ้น พระเจ้าถังจงจงทรงรื้อฟื้นราชวงศ์ถังขึ้นใหม่ แล้วกลับไปใช้ราชวงศ์ถังดังเดิม ราชวงศ์โจวที่พระนางทรงก่อตั้งมานาน 14 ปี จึงเป็นอันสิ้นสุดลง ในปลายปีเดียวกันนั้น พระนางสิ้นพระชนม์ ในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.705

ในปี ค.ศ.706 พระจักรพรรดิถังจงจงทรงให้มีการฝังพระศพของพระนางร่วมกันกับพระศพของพระจักรพรรดิถังเกาจง พระราชบิดาในสุสานเฉียนหลิงใกล้กับเมืองหลวงฉางอัน ปัจจุบันอยู่ในเขตมณฑลส่านซีทางตะวันตกของจีน

สุสานแห่งนี้เป็นที่ฝังพระศพของสองจักรพรรดิแห่งเดียวในจีนยาวนานกว่า 2,000 ปี

มีการตั้งแท่นศิลาอยู่บริเวณหน้าสุสาน แท่นศิลานี้เป็นหินก้อนเดียว สูงประมาณ 10 เมตร กว้าง 2 เมตร มีการแกะสลักสวยงามและประณีต ปกติ แท่นศิลาเช่นนี้จะเป็นแท่นศิลาจารึก แต่กลับไม่มีจารึกใดๆ ให้ปรากฏ

ชีวิตที่ผกผัน มีสีสันมากมาย มีทั้งเรื่องร้ายและดี

แต่ประวัติศาสตร์ก็ต้องบันทึกว่า สมเด็จพระจักรพรรดิบูเช็กเทียนเป็นผู้มีพระปรีชาสามารถในการปกครองบ้านเมืองมาก โดยทรงส่งเสริมการเกษตร ลดหย่อนภาษี การสอบเข้ารับราชการ เป็นต้น ภายใต้การปกครองของพระนางที่ทรงครองราชสมบัติ 14 ปี ประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ถังมีกำลังเข้มแข็ง มีเสถียรภาพทางสังคม รวมถึงมีการพัฒนาเศรษฐกิจก้าวหน้าไปอย่างมาก

สมเด็จพระจักรพรรดิบูเช็กเทียนจึงเป็นบุคคลที่น่าสรรเสริญอีกพระองค์หนึ่ง