ตำรวจต้องเลิกอยู่ใต้ท็อปบู๊ตทหาร! อดีตผู้การกองปราบปราม ประกาศลั่น! ขอพาตำรวจกลับบ้าน

ตํารวจต้องเลิกอยู่ใต้ท็อปบู๊ตทหาร! พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ อดีตผู้การกองปราบปราม ประกาศลั่นไว้ว่า ที่ผ่านมาตำรวจเหมือนเป็นปีศาจร้าย ถูกสั่งให้ทำตามทหารสั่ง ปฏิวัติทีไร ต้องไปนั่งในเฟรมที่มีแต่ทหาร จากนี้ไป ผบ.ตร.ต้องมานั่งข้างประชาชน แล้วต้องอยู่เคียงข้างกับคนที่ประชาชนเลือก

หลายคนรู้สึกเซอร์ไพรส์เมื่อได้เห็นชื่ออดีตผู้การแมว พล.ต.ต.สุพิศาล ตำรวจชื่อดังจากกองปราบฯ มาอยู่กับพรรคอนาคตใหม่ ก่อนหน้านี้เจ้าตัวเคยกระโดดลงสนามการเมือง ชิมลางสมัครลงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มาแล้ว

เจ้าตัวเล่าว่า การมาอยู่พรรคอนาคตใหม่ มีที่มาที่ไป จากการที่เคยเห็นคลิปเปิดตัวของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยะบุตร แสงกนกกุล หัวหน้าและเลขาฯ พรรค ขณะที่ตัวเองพำนักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ก็เลยสืบค้นหาประวัติสองคนนี้มาอ่านแล้วรู้สึกไม่ธรรมดา น่าสนใจ เลยพยายามอีเมลมาถามและหาช่องทางมาสมัครเอง

โดยมีความปรารถนาอันแรงกล้าว่าอยากเห็นตำรวจประเทศไทย ก้าวพ้นจากเงาท็อปบู๊ตของทหาร หลุดพ้นจากอำนาจการเมือง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าตำรวจตกอยู่ใต้ร่มเงาของทหารมานานแล้ว จึงอยากพาตำรวจกลับบ้านภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

“ร้อยกว่าปีที่มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีโรงเรียนนายร้อยตำรวจก่อตั้งมา แต่เวลายึดอำนาจทุกครั้ง คำถามที่ผมเกิดขึ้นในใจตลอดว่า ทำไมตำรวจถึงต้องไปนั่งอยู่ตรงนั้นในภาพที่ประกาศยึดอำนาจ ทำไมตำรวจถึงไม่นั่งข้างนายกรัฐมนตรี คนที่ประชาชนเลือกมา ตำรวจทำงานใกล้ชิดประชาชน ต้องดูแลรักษาปกป้องอำนาจของประชาชนเอาไว้ ออกจากร่มเงากองทัพแล้วกลับบ้าน บ้านในที่นี้คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” พล.ต.ต.สุพิศาลกล่าว

เวลาพูดถึงเรื่องปฏิรูปตำรวจ เหมือนกับการตัดชุด คนใส่ต้องตัดชุดเอง ไม่ใช่ใครก็ได้ตัดเสื้อโหลให้ ซึ่งต้องมีวิธีดีไซน์ไม่ให้การเมืองเข้ามาล้วงลูกสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ โดยที่คนในต้องดีไซน์กันเอง

เช่น ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผบ.ตร. ถึงเวลาแล้วที่ต้องให้ผู้กำกับการทั่วประเทศมีสิทธิ์เลือกจากแคนดิเดตที่เป็นรอง ผบ.ตร. ผ่านการแสดงวิสัยทัศน์ โดยให้ผู้กำกับเลือกจนมีผู้ผ่านเข้ามาสุดท้าย 2 ท่าน เพื่อให้เข้าสู่บอร์ดที่ยึดโยงกับประชาชนเข้ามานั่งอยู่

พล.ต.ต.สุพิศาลเผยว่า ถึงเวลาแล้วที่ตำรวจจะต้องไม่ไปเรียนเตรียมทหาร เพราะเรามีโรงเรียนนายร้อยตำรวจอยู่ เราพัฒนามาไกลมาก ที่สำคัญต้องมีนายร้อยตำรวจหญิง! เพื่อมาดูแลสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก นี่คือห่วงโซ่แรกที่อยากจะพาตำรวจกลับบ้าน

โดยมีความเห็นว่า ปีสุดท้ายของนักเรียนนายร้อยตำรวจต้องไปเรียนรู้กับประชาชน เข้าไปเรียนกับนิสิตนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ กระจายไปเรียนตามภาควิชาที่เกี่ยวข้องกับสังคม ทำให้เด็กนักเรียนนายร้อยตำรวจกลับเข้าสู่สังคม ไม่ใช่ติดอยู่ระบบอุปถัมภ์

ตำรวจต้องเรียนรู้จากสังคม ต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตน เจอผู้คนรู้จักยกมือไหว้ มีความใกล้ชิดยึดโยงกับประชาชน

นอกจากพ่อ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ที่ต้องพาตำรวจกลับบ้านแล้ว ยังมี “แม่” ที่ปฏิเสธไม่ได้ในอนาคต คือ “จังหวัด”

เพราะในภาพรวมระดับประเทศ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะมีมากขึ้น ตำรวจกับผู้ว่าราชการจังหวัด (ที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง) ตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ มีความชำนาญในพื้นที่เรื่องเหล่านี้ถือว่าสำคัญ ซึ่งตำรวจสามารถเป็นเจ้าพนักงานในจังหวัดท้องที่ตัวเอง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปอ้างไปเบ่ง ข้ามจังหวัด ยกเว้นตำรวจส่วนกลางไปกำจัดอิทธิพลหรือทำคดีสำคัญองค์การมีความซับซ้อน

ที่สำคัญเลิกเอาตำรวจต่างจังหวัดเข้ามาดูแลม็อบใน กทม.ได้แล้ว!

เมื่อไปอยู่ท้องถิ่น แต่ละสถานีตำรวจจะต้องมีการออกแบบโครงการของท้องที่ตัวเอง ยึดโยงกับส่วนจังหวัด

แต่ปัจจุบันภาพที่เกิดขึ้นเหมือนมาจากส่วนกลางแล้วให้ไปทำในต่างจังหวัด ซึ่งบางทีมันไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์เลย เนื่องจากสภาพที่แตกต่างกัน

ฉะนั้นต้องมีแม่ คือองค์กรส่วนท้องถิ่นคอยควบคุมดูแลเป็น Partner กัน กระจายอำนาจทางการบริหาร การบริการประชาชน ไม่ต้องให้ส่วนกลางเข้าไปล้วงลูกหรือเข้าไปจัดการได้ หรือมีอำนาจเรียกสำนวนมาดู ถ้าทำได้ การแต่งตั้งก็ไม่มีปัญหาเพราะว่าจะโตในจังหวัด ไม่ต้องถูกกลั่นแกล้งโยกย้ายไปไกล

สถานีตำรวจจะต้องถูกออกแบบด้วยโมเดลใหม่ๆ โดยเฉพาะการนำเอาการจัดการสมัยใหม่มาใช้ให้คล่องตัว สน.ต้องกลายเป็น co Space working เป็นแหล่งหาความรู้ได้ มี Free Wifi ให้ชุมชน ให้เด็กเยาวชนเข้ามา ทำให้การทำงานพูดคุยกันได้ใกล้ชิด ชุมชนต้องมีสิทธิ์มีเสียง สามารถแจ้งได้ว่าตำรวจคนไหนดีไม่ดี ร้องเรียนคอมเพลนได้ ต้องพูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่ามีตำรวจไปรบกวนหรือไม่ หรือแสดงอำนาจบาตรใหญ่หรือเปล่า

ตำรวจต้องไม่ใช่ปีศาจร้าย ต้องเซลฟี่ เข้ามาคุยได้ตลอดเหมือนบริการของภาคเอกชน

ในสหรัฐและในหลายประเทศก็ใช้ระบบแบบนี้ให้ตำรวจกับชุมชนใกล้ชิดเชื่อมโยงกันมานานแล้ว แต่ตำรวจประเทศเราไปดูงานมามาก แต่ขาดวิสัยทัศน์ ตำรวจชุมชนถูกสนับสนุนโดยเจ้าของธุรกิจสายเปย์ เสี่ยเจ้าของกิจการที่มีบารมี เราต้องลดสัดส่วนตรงนี้ออก เอาชุมชนจริงๆ เข้ามา ตำรวจต้องเปลี่ยน Mind Set ต้องมี Service Mind ในยุคใหม่ต้องถูกขับเคลื่อนด้วยดิจิตอล คนหรือประชาชนในชุมชน

ส่วนหน่วยงานกลางจะต้องยังคงดำรงอยู่เพื่อแก้ไขปัญหาผู้มีอิทธิพล ปัญหาคดีใหญ่ๆ ที่มีความซับซ้อน แล้วต้องลงทุนเทคโนโลยีมาเติมเต็ม เทคโนโลยีเราไปไกลมากแล้ว แต่ต้องรื้อใหญ่ทั้งระบบ ป้องกันเหตุ ไล่กล้องได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพในการทำงานที่เร็วตอบสนองให้เข้ากับยุค

แต่สภาพความจริงที่ผมเจอหลายอย่างที่ตำรวจต้องออกทุนตัวเองส่วนตัวในการซื้ออุปกรณ์เพื่อส่งเสริมการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นปริ๊นเตอร์ กระดาษ เครื่องปรับอากาศ หรือแม้แต่บางทีกล้องในการถ่ายรูปที่เกิดเหตุ เพราะว่าในอดีตโครงสร้างของตำรวจสมัยก่อนมีให้แค่อาคารอย่างเดียว แล้วปล่อยเป็นหน้าที่ของผู้กํากับการในการจัดหาทรัพยากรมา เลยมีปัญหาไปติดหนี้บุญคุณกับคนอื่นที่เป็นนายทุน

นี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น แล้วจะส่งผลไปถึงการแต่งตั้งโยกย้ายจะปลอดการเมืองอย่างแท้จริง เพราะมีภาคประชาชนเข้ามานั่งในบอร์ด มีการหมุนเวียน ไม่เกินวาระ

สําหรับสำนักงานตํารวจแห่งชาติมีงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากรัฐประมาณ 1 แสน 7 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ซึ่งเฉพาะเงินเดือน 8 หมื่นกว่าล้าน ที่เหลือผมมองว่าน่าจะให้องค์กรท้องถิ่น ถูกแบ่งประมาณจากกระจายลงไปใหม่เป็นการกระจายลงไปโดยสถานีนั้นๆ จะได้ไม่เป็นการตัดเสื้อโหลอย่างที่กล่าวไปแล้วคนในท้องที่ไม่ได้รับประโยชน์

แม้แต่เรื่องการตั้งด่าน คนไม่ชอบก็จำเป็นต้องเลิก! ประชาชนเขาต้องทนมาเสียเวลา เสียค่าน้ำมัน เสียอะไรมหาศาลกับการรอ ตำรวจที่เลือกตรวจค้นแบบไม่มีเป้าหมาย เว้นแต่การปิดล้อมตรวจค้นและการจับกุม อันนั้นต้องดำเนินต่อไป เพราะมีเป้าหมายชัดเจน แต่ควรพอได้แล้วกับการทำให้ท้องถนนเต็มไปด้วยการเสียเวลา เสียโอกาสบนท้องถนน เสียโอกาสในชีวิต ผจญรถติดมหาศาล

แล้วเมื่อพาตำรวจกลับบ้านแล้ว ขั้นต่อไปผู้นำสถานีตำรวจท้องที่นั้นๆ ต้องเป็นผู้นำที่รับฟังคน เป็นโค้ชหรือเป็นครูที่สอนลูกน้องได้

เป็นคนที่พร้อมจะเรียนรู้ ปรับตัวเองได้ตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่ผมปรารถนาอยากเห็นหลังการกระจายอำนาจ

เพราะผมผ่านเหตุการณ์การเมืองมา 3 ครั้ง สมัยผมเป็นนักเรียนเตรียมทหาร เหตุการณ์ตุลาคม 2516 เป็นยุคที่ผมต้องแต่งตัวนอกเครื่องแบบออกนอกบ้านเพื่อความปลอดภัย

ปี 2535 ผมต้องไปทำหน้าที่ที่สะพานมัฆวาน ผมก็ยิ่งมีความรู้สึกว่าทำไมทหารต้องมาสั่งตำรวจมาคุมตำรวจด้วย

ผมไม่เคยเห็นกองทัพได้รับความเสียหายในทรัพย์สินเหมือนกับตำรวจ ไม่เคยโดนเผาสถานที่ (สน.นางเลิ้ง)

เหมือนตำรวจ ภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้นถูกสร้างให้ดูเหมือนว่าตำรวจเป็นปีศาจร้ายของประชาชนอยู่ตลอดเวลา

ชมคลิปผ่าองค์กรตำรวจ เอา ตร.กลับบ้านออกจากเงาท็อปบู๊ตทหาร ได้ที่