รายงานพิเศษ / ไม่ใช่แค่มองตารู้ใจ บทพิสูจน์ใจ ‘บิ๊กตู่-บิ๊กแดง’ จาก 8 ก.พ. ถึงตากฝน วาเลนไทน์ สู่ปรากฏการณ์ ‘หนักแผ่นดิน’ จี้สำนึกบุญคุณแผ่นดินเกิด

รายงานพิเศษ

 

ไม่ใช่แค่มองตารู้ใจ

บทพิสูจน์ใจ ‘บิ๊กตู่-บิ๊กแดง’

จาก 8 ก.พ. ถึงตากฝน วาเลนไทน์

สู่ปรากฏการณ์ ‘หนักแผ่นดิน’

จี้สำนึกบุญคุณแผ่นดินเกิด

 

หลังปรากฏการณ์ 8 กุมภาพันธุ์ 2562 สถานการณ์ทางการเมืองยิ่งเข้มข้น เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ความขัดแย้ง แตกแยก หนักหน่วงขึ้น มีการลามถึง “สถาบัน” โดยอีกฝ่าย ที่ไม่ใช่คนเสื้อแดง

ไม่ใช่แค่เพราะพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เสนอชื่อบุคคลสำคัญเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรค และกำลังจะถูกยุบพรรค

แต่เป็นกรณีบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ตอบรับการเป็นนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐด้วย

เท่ากับเป็นการกระโดดลงสู่สนามการเมืองแบบเต็มตัวแล้ว ประกาศการเป็นคู่ขัดแย้ง หาได้เป็นแค่กรรมการอีกต่อไป ทำให้นักการเมือง พรรคการเมือง มอง พล.อ.ประยุทธ์เป็นคู่แข่ง เป็นศัตรู ที่มีความได้เปรียบ

พร้อมกันนั้น การที่ พล.อ.ประยุทธ์ลงชิงชัยเก้าอี้นายกฯ ก็เป็นการดึงทั้ง คสช. และกองทัพลงมาเล่นการเมืองไปด้วย

แม้ว่าการที่ปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ. 3 เหล่าทัพ เป็นสมาชิก คสช.อยู่ด้วยนั้น จะเป็นการทำให้กองทัพต้องเลือกข้างอยู่ฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาล คสช.อยู่แล้วก็ตาม

แต่กองทัพก็กลายเป็นเป้าโจมตีของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม คสช. ฝ่ายที่ต่อสู้แย่งชิงเก้าอี้นายกฯ กับ พล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง เพราะเชื่อว่ากองทัพจะต้องสนับสนุนทุกวิถีทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง

แม้ว่า ผบ.เหล่าทัพจะออกมายืนยันว่า กองทัพวางตัวเป็นกลางทางการเมืองก็ตาม แต่ก็ดูน้ำหนักจะน้อย

พล.อ.ประยุทธ์ย่อมรู้ดีว่า การที่ตนเองลงสู่สนามการเมืองมาชิงเก้าอี้นายกฯ หลังจากที่ตั้งพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกเรียกว่า พรรคทหาร ขึ้นมาแล้วนั้น จะเป็นการดึงกองทัพลงสู่สนามการเมืองไปด้วย

เป็นการเลือกข้างให้กับกองทัพ ทั้งๆ ที่ทหารทั้งกองทัพอาจจะไม่ได้ต้องการเลือกข้างก็เป็นได้ และไม่ได้อยากถูกประชาชนไม่ว่าสีไหน ขั้วใด เกลียดชัง หรือด่าทอ เช่นที่เป็นอยู่

การเป็นหัวหน้า คสช. ที่เป็นคนกำหนดกติกาทั้งหมด ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เรื่อยมา แต่ที่สุดมาลงสู่สนามการเมืองชิงเก้าอี้นายกฯ ด้วยตนเอง แม้จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญก็ตาม

จึงไม่แปลกที่จะมีการร้องให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ในการเป็นแคนดิเดตชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

เมื่อการเมืองแบ่งข้างกันชัดเจนเช่นนี้ กองทัพถูกเป็นเป้าของนักการเมือง ทั้งพรรคอนาคตใหม่ จะหาเสียงด้วยการให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

ส่วนพรรคเพื่อไทย เสนอตัดงบประมาณกลาโหมลง 10% ลดขนาดกองทัพ ลดจำนวนนายพล ตามมาด้วยการเหน็บแนมประชดประชันต่างๆ

หัวหน้าพรรคบางพรรค ถึงขั้นประกาศจะเป็นนายกฯ และควบ รมว.กลาโหม ผ่าตัดกองทัพด้วยตนเอง

ทําให้บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่เป็นเลขาธิการ คสช. และ ผบ.กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ด้วย ถูกจับจ้อง เพราะเป็นเขี้ยวเล็บหลักของรัฐบาล คสช.

จนทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ซึ่งอัดอั้นตันใจ จนต้องถึงขั้นที่ออกมาเตือนนิ่มๆ ด้วยการให้ไปฟัง “เพลงหนักแผ่นดิน”

“รู้มั้ยว่า ตอนนี้เพลงอะไรกำลังฮิต” พล.อ.อภิรัชต์ทักทายพร้อมตั้งคำถามกับนักข่าวแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย พร้อมเฉลยด้วยสีหน้าเรียบเฉย ไม่ได้โกรธขึ้งใดๆ ว่า “เพลงหนักแผ่นดิน”

ก่อนที่จะตอบคำถามที่ว่า พรรคการเมืองหาเสียงให้ตัดงบประมาณกลาโหมลง 10% และยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ด้วยการบอกว่า “ให้ไปฟังเพลง” เมื่อถามย้ำว่า เพลงอะไร พล.อ.อภิรัชต์ก็ตอบย้ำว่า เพลงหนักแผ่นดิน

ที่ยิ่งเป็นการสยบกระแสข่าวลือปฏิวัติรัฐประหารล้ม พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนหน้านั้นลงไปได้อย่างสิ้นเชิง

หลังจากที่ พล.อ.อภิรัชต์ และ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกงานคู่กันที่ลพบุรี ชมการฝึกป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ ตามพระราโชบาย เมื่อวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2562

แถมเป็นวันแสดงความรัก ความห่วงใยที่ พล.อ.อภิรัชต์ น้องรักมีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ พี่เลิฟ ในยามที่ฝนตกพายุลมแรง หลังคาที่นั่งหวิดพัง จนพานายกฯ เข้ารถโมบายหลบภัย ก่อนที่จะออกมาตากฝนเคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ตลอดงานมาแล้ว

“ไม่เป็นความจริง ข่าวลือก็คือข่าวลือ ตอนนี้เรากำลังมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้ง” พล.อ.อภิรัชต์ออกมาสยบข่าวลือรัฐประหารในเวลานั้น

แม้จะมีการตอกลิ่มรัฐบาลกับกองทัพ ด้วยการทำเอกสารราชกิจจานุเบกษาปลอม คำสั่งหัวหน้า คสช.ใช้ ม.44 ปลด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ. ออกมาก็ตาม

“เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการใช้ ม.44 ย้าย ผบ.เหล่าทัพ เขาไม่ได้มีปัญหาอะไร มันเป็นเอกสารปลอม ซึ่งไม่รู้ว่าทำมาเพื่ออะไร ผมและ ผบ.เหล่าทัพมีความผูกพันเป็นพี่น้องกันมาหลายสิบปี” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

ท่าทีของ พล.อ.อภิรัชต์ที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เรื่องเกินคาด เพราะเป็นนายทหารที่มีจุดยืนชัดเจนมาตลอด ตั้งแต่เป็นพันเอก เป็น ผบ.ร.11 รอ. เป็นนายทหารที่ถูกขึ้นแบล๊กลิสต์ของคนเสื้อแดงมายาวนาน ทุกครั้งเป็นประเด็น ภาพในอดีตตอน พล.อ.อภิรัชต์ถือปืนแก๊สน้ำตาอยู่ในวงล้อมคนเสื้อแดง ที่สถานีดาวเทียมไทยคม ปทุมธานี เมื่อปี 2552 ก็มักจะถูกนำขึ้นมาแชร์อีกครั้ง

โดยจะเห็นได้ว่า พล.อ.อภิรัชต์เต็มที่กับ พล.อ.ประยุทธ์มายาวนาน ร่วมฝ่าวิกฤตคนเสื้อแดงในปี 2552 และ 2553 มาด้วยกัน

แต่ครั้งนี้ หลังปรากฏการณ์เพลงหนักแผ่นดิน ที่ พล.อ.อภิรัชต์ปลุกกระแสขึ้นมา แถมมีการเปิดกระหึ่มใน บก.ทบ. และหน่วยทหารด้วยแล้ว เสียงวิจารณ์ก็ตามมาอย่างหนัก ลามไปถึงบิ๊กจ๊อด พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทหารสูงสุด บิดา ที่เป็นประธาน รสช. หัวหน้าคณะรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 จนโยงไปถึงเรื่องครอบครัวเลยทีเดียว

แต่เป็นการชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของ พล.อ.อภิรัชต์ กับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่สยบข่าวลือปฏิวัติซ้อนลงไปได้

เพราะหากจะเป็นไปได้ ในสถานการณ์ข้างหน้า ไม่ใช่การปฏิวัติซ้อนล้มบิ๊กตู่ แต่หลังการเลือกตั้ง มีแต่ความเสี่ยงของการปฏิวัติซ้ำ หรือปฏิวัติตัวเองเสียมากกว่า หรืออาจเป็นการปฏิวัติรัฐประหารแบบพิเศษ เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลพิเศษเท่านั้น

การยกเพลง “หนักแผ่นดิน” มาพูดถึงนั้น พล.อ.อภิรัชต์ไม่ได้เจาะจงไปที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือพรรคเพื่อไทยเท่านั้น แต่รวมถึงพรรคการเมือง นักการเมืองต่างๆ ที่กำลังโจมตีกองทัพ และสร้างความแตกแยกในชาติ ด้วยถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว โดยเฉพาะในโลกโซเชียล

“เนื้อเพลงทุกเพลงที่ทางทหารนำมาร้องกัน ล้วนมีความหมาย เพราะแต่งมานานกว่า 50 ปีแล้ว บางเพลงตั้งแต่รัชกาลที่๖ 6 โดยเฉพาะเนื้อเพลงหนักแผ่นดิน ให้ข้อคิด เพราะสะท้อนให้เห็นความเห็นต่างของคนในชาติ และมีคนที่พยายามทำให้เกิดความขัดแย้ง และเกลียดชังของคนในชาติกันเอง” พล.อ.อภิรัชต์ให้เหตุผลที่อยากให้ฟังเพลงหนักแผ่นดิน เพราะเต็มไปด้วยบทเรียน

เพราะตอนนี้ “มีพวกที่ไม่สำนึกถึงบุญคุณแผ่นดินเกิด โดยเฉพาะการด่าทอผ่านโซเชียล ด้วยการใช้วาจาหยาบคาย ก้าวร้าว เหมือนไม่ใช่ ‘คนไทย’ ด้วยกัน มีแต่การใส่ร้าย ใส่ความ แค่ให้สะใจ ด่าให้เห็นว่ากล้าด่า เพื่อให้ได้คะแนนนิยม

“ผมอยากให้นึกย้อน 5 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเกิดอะไรขึ้น ใครคือต้นเหตุ และอะไรคือสาเหตุ นักการเมืองหลายคนไม่เข้าใจ โดยเฉพาะนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังมีคนที่หมิ่นสถาบันออกมาจาบจ้วงอย่างกว้างขวาง” พล.อ.อภิรัชต์กล่าวด้วยความไม่สบายใจ

 

กล่าวสำหรับ พล.อ.อภิรัชต์แล้ว แม้สังคมไทยจะรู้จักและได้ยินชื่อเสียงเห็นหน้าตา มีบทบาททางการเมืองมาตั้งแต่เป็น ผบ.ร.11 รอ. จนมาถึงเป็น ผบ.ทบ.มาเกือบ 5 เดือน จะเห็นได้ว่า บิ๊กแดงเป็นคนเดิมไม่เคยเปลี่ยน

เขาจึงมีม็อตโต้ประจำใจอย่างหนึ่งว่า Missions Change, Warriors Don’t ภารกิจอันเปลี่ยนไป แต่ความเป็นทหารนักรบไม่เคยเปลี่ยน

แถมยังเป็นนายทหารที่มีลักษณะคล้ายๆ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งจุดยืนเรื่องความจงรักภักดี และตรงไปตรงมา และบุคลิกลักษณะ พูดจาห้วนๆ จนถูกเรียกว่าเป็น “บิ๊กตู่น้อย” เพียงแต่ไม่ได้แสดงออกถึงความโมโหโกรธา อารมณ์เสียแบบ พล.อ.ประยุทธ์ แต่จะสุขุมมากกว่า หากแต่จะใช้คำพูดหนักหน่วง มาตั้งแต่วันแรกที่ขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. ก็ไม่ปฏิเสธโอกาสที่จะเกิดการรัฐประหาร

“ผมหวังว่า การเมืองจะไม่เป็นสาเหตุของความขัดแย้ง ความวุ่นวาย และการจลาจล เพราะถ้าการเมืองไม่เป็นสาเหตุของการจลาจล มันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น” พล.อ.อภิรัชต์กล่าวไว้

ก่อนที่จะออกมาเตือนกลุ่มเคลื่อนไหว และนักการเมือง ถึง 2 ครั้ง ว่า อย่าล้ำเส้น ก่อนที่จะมาถึงปรากฏการณ์เพลงหนักแผ่นดิน

พล.อ.ประยุทธ์ได้ชื่อว่าเป็นพี่เลิฟที่คอยสนับสนุน ผลักดันให้ พล.อ.อภิรัชต์เติบโตมาตลอด ตั้งแต่เป็น ผบ.ร.11 รอ. เป็น ผบ.มทบ.15 ที่ทำให้ชีวิตได้ถวายงานในหลวง ร.9 เวลาเสด็จประทับวังไกลกังวล เป็น ผบ.พล.ร.11 ก่อนที่จะได้เป็น ผบ.พล.1 รอ. โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์เจรจากับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกฯ ในเวลานั้นให้

ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์นำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.อภิรัชต์เป็น ผบ.พล.1 รอ. จากนั้นขึ้นรองแม่ทัพภาคที่ 1 แม่ทัพน้อยที่ 1 แม่ทัพภาคที่ 1 ผช.ผบ.ทบ. และ ผบ.ทบ. ในยุครัฐบาล คสช.นั่นเอง ความผูกพันของทั้งคู่จึงแนบแน่น แม้จะโตมาจากคนละสาย

จึงไม่แปลกที่ พล.อ.อภิรัชต์จะมีบทบาทสำคัญในการคลี่คลายสถานการณ์วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 เพราะ พล.อ.อภิรัชต์อยู่ต่างประเทศพอดี จึงทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่พรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อนายกฯ ของพรรค ให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับทราบก่อนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ด้วยซ้ำ

จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เดินหน้าตอบรับการเป็นนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ โดยไม่มีการลังเล โดยเฉพาะการแสดงความสบายใจ ในเย็นวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ก่อนที่จะขึ้นรถออกจากทำเนียบรัฐบาล เพราะรู้ดีว่าเหตุการณ์วันนั้นจะจบลงอย่างไร

เหตุการณ์นั้นก็เป็นการพิสูจน์ใจระหว่าง พล.อ.อภิรัชต์ และ พล.อ.ประยุทธ์ มาแล้ว

แต่สำหรับฝ่ายตรงข้าม เมื่อเห็นความแนบแน่นเป็นเอกภาพของกองทัพกับรัฐบาล คสช. และโดยเฉพาะ พล.อ.อภิรัชต์ กับ พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว ก็มีการสะพัดข่าวลือชุดใหม่ออกมา ด้วยการป้ายสีว่าจะมีการ “คิดการใหญ่” เกิดขึ้น

บรรยากาศทางการเมืองที่เต็มไปด้วยการตอบโต้กันไปมานี้ จนทำให้แทบลืมกันไปเลยว่า เรากำลังจะมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้ง 24 มีนาคม จนมีการปล่อยข่าวลือว่า จะไม่มีการเลือกตั้ง

ทั้งๆ ที่หลังเลือกตั้งแล้ว ก็จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4-6 พฤษภาคม 2562 รวมถึงการเป็นประธานอาเซียน ที่ต้องเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอีก 180 การประชุม

ไม่แค่นั้น ยังทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้กลายเป็นการเลือกข้าง โดยเฉพาะฝั่งสนับสนุน คสช. ถึงขั้นที่ตั้งเป้าจะเลือกพรรคพลังประชารัฐ โดยไม่สนใจว่าใครเป็นผู้สมัคร ส.ส. เพราะต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

ทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นการแบ่งข้าง ว่าจะเลือกพรรคทหาร หรือพรรคฝ่ายประชาธิปไตย จนทำให้กองทัพถูกโจมตี และถูกดึงมาเป็นประเด็นในการหาเสียงนั่นเอง

จึงยิ่งทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ถูกจับตามองมากขึ้นว่า จะก้าวต่อไปอย่างไร ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กำลังกรำศึกเลือกตั้ง ที่มีอนาคตตนเอง คสช. และอนาคตประเทศ เป็นเดิมพัน

  และคำถามที่ว่า หลังเลือกตั้ง หลังพระราชพิธีเสร็จสิ้น จะเกิดอะไรขึ้น…