เพ็ญสุภา สุขคตะ : “พระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำ” – เครือข่ายรัฐมอญ อาธรศิลา และพระศีลาปาละ?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

อธิบายเรื่องตำนาน “พระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำ” จากชินกาลมาลีปกรณ์ไปแล้วอย่างละเอียดถึงสามตอน ชนิดเก็บเนื้อความทีละบรรทัด อย่างค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ท่ามกลางอาการถอดความไปสับสนไป

อย่างไรก็ดี อย่ามองว่า “ตำนานก็คือตำนาน” มีความน่าเชื่อถือเพียงน้อยนิด แค่ 30% เท่านั้น ที่เหลือเป็นเรื่องโม้ อิทธิฤทธิ์อภินิหาร

แม้เราอาจไม่ได้รับความถูกต้องชัดเจนในมิติทางประวัติศาสตร์ทั้งหมด ไม่ว่าเรื่อง “ศักราช-สถานที่-ชื่อเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้อง” แต่อย่างน้อยตำนานเรื่องนี้ก็พอให้ช่วยคลำทางได้ว่า มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้างในตั้งแต่ยุคสุวรรณภูมิจนถึงยุคพระเมืองแก้วแห่งล้านนา โดยใช้พระสิขีพุทธปฏิมา เป็นแกนกลางในการดำเนินเรื่อง

 

เครือข่ายรัฐมอญในสุวรรณภูมิ

การปรากฏชื่อรัฐ นคร เมือง หรือบางครั้งใช้คำว่าประเทศก็ดี ในตำนานเรื่องนี้ พบว่ามีชื่อของ อโยชฌปุระ รัมมนะประเทศ มหานคร ลวปุระ สุธรรม อริมัททนะปุระ หริภุญไชย และเขลางค์ รวมทั้งสิ้น 8 ชื่อหลักๆ

7 ชื่อ (ยกเว้นอริมัททนะ – พุกาม เป็นรัฐพม่าแต่เต็มไปด้วยอิทธิพลมอญ) ล้วนเป็นเครือข่ายรัฐมอญที่ร่วมสมัยกับอาณาจักรทวารวดีทั้งสิ้น

ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธุเดชา ผู้เชี่ยวชาญด้านรามัญศึกษา อธิบายว่า “รัมมนะประเทศ” ในความเข้าใจของชาวมอญในพม่านั้น เป็นที่ทราบกันดีว่ายังไม่ใช่หงสาวดี (เพราะหงสาวดีมาทีหลัง) แต่ในอดีตเมืองมอญโบราณที่ร่วมสมัยกับยุคสุวรรณภูมิจริงๆ จะแยกเป็น 3 เมืองใหญ่ๆ ที่ล้อมอ่าวเบงกอล คือ 1.เมืองกลิงครัฐ ในแคว้นโอริสสาของอินเดีย 2.เมืองจิตตะกอง ในบังกลาเทศ และ 3.เมืองสะเทิม (สุธรรมวดี) ในพม่า

ดังนั้น ตำนานเรื่องพระสิขีฯ กล่าวว่า พระสิขีฯ องค์ที่ 4-5 อีก 2 องค์เมื่อสร้างเสร็จให้ประดิษฐานไว้ที่รัมมนะประเทศโพ้น ฟังน้ำเสียงดูค่อนข้างไกลทีเดียว และหลังจากนั้นก็ไม่มีเรื่องราวใดๆ เกี่ยวข้องกับพระ 2 องค์นี้อีกเลย ผิดกับการยื้อแย่งช่วงชิงพระสิขีฯ ขององค์ที่ 1-2-3

เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว ก็น่าจะจริงตรงตามที่ ดร.อัครินทร์เสนอไว้ รัมมนะประเทศอีก 2 แห่งนั้นอยู่ไกลโพ้นมาก ย่อมหมายถึงกลิงครัฐและจิตตะกองนั่นเอง

ส่วน “อโยชฌปุระ” ในตำนานกล่าวถึงชื่อนี้สองช่วง ช่วงแรกปรากฏร่วมสมัยกับยุคพุทธกาลสืบเนื่องมาจนถึงยุคสุวรรณภูมิ เป็นจุดที่พระพุทธองค์เสด็จมาประทับบนหินดำ ดังนั้น น่าจะหมายถึงเมืองใดเมืองหนึ่งแถวตอนกลางของสยามที่เคยเป็นอดีตอาณาจักรทวารวดีอันรุ่งเรือง ประมาณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่คูบัว-ราชบุรี, อู่ทอง-สุพรรณบุรี ก็อาจเป็นศรีรามเทพนคร (อโยธยาเก่าก่อนยุคพระเจ้าอู่ทอง) ที่อยู่ไม่ไกลจากลพบุรี

หรืออาจเป็นภาพรวมของพื้นที่อาณาจักรทวารวดีภาคกลางโดยรวมหลายๆ เมือง

ส่วนคำว่า อโยชฌปุระ ที่ปรากฏอีกครั้งในช่วงที่สองว่ามีกษัตริย์เมืองนี้มาลักเอาพระสิขีฯ ไปจากลำปาง เป็นเหตุการณ์ตรงกับยุคที่ผู้เขียนตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ยังมีชีวิตอยู่ คือสมัยพระเมืองแก้วแล้ว ดังนั้น อโยชฌปุระยุคหลังจึงหมายถึง พระนครศรีอยุธยา อย่างไม่มีข้อแม้

มีข้อน่าสังเกตว่าคำว่า “ทวารวดี” ไม่เคยปรากฏหรือเป็นที่รู้จักกันท่ามกลางหมู่ของนักปราชญ์ราชบัณฑิตบนแผ่นดินล้านนาเลย ยามต้องการเอ่ยถึงรัฐมอญโบราณที่อยู่ใต้ละโว้ลงไป เนื่องจากคำว่า “ทวารวดี” เป็นคำที่บัญญัติขึ้นใหม่ ใช้ในแวดวงการศึกษาโบราณคดียุคเมื่อ 70-80 ปีมานี่เอง (ตามอักขระจารึกที่ปรากฏบนแผ่นเหรียญเงินว่า “ศรีทวารติปุณยะ”)

ดังนั้น ในความเข้าใจของคนที่อยู่ตอนบน เวลาต้องการกล่าวถึงรัฐที่อยู่ใต้สุโขทัยและละโว้ลงไป ไม่ว่ายุคสมัยใด ไม่ว่าประชากรจะเปลี่ยนจากมอญเป็นขอมปนไทยแล้วก็ตาม ยังคงเรียกรัฐนั้นว่าอโยชฌปุระอยู่เช่นเดิม

สอดคล้องกับพงศาวดารโยนก (เขียนสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระยาประชากิจกรจักร์) ที่กล่าวว่า

“ในปีกุนสัปตศก จุลศักราช 877 วันอังคาร เดือนยี่ยามสายจวนเที่ยง กองทัพไทยเข้าตีเมืองนครลำปางได้ทางประตูท่านาง เสียขุนช้างชาวนคร 3 หัวช้าง เสียหมื่นธรรมหอขวาง และชาวนครตายในเวียงมากนัก สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี (ตรวจสอบศักราชแล้ว ตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 หรือสมเด็จพระเชษฐาธิราช ราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ให้อาราธนาเอาพุทธสิกขีไปจากเศวตกูฎาราม (วัดกู่ขาว) เมื่อวันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้น 15 ค่ำ พระพุทธสิกขีองค์นี้เป็นพระศิลาดำ ซึ่งพระนางจามเทวีนำขึ้นมาจากกรุงละโว้ แล้วให้ไปแก่เจ้าอนันตยศ ราชบุตรผู้ไปครองเมืองเขลางค์นคร จึงประดิษฐานไว้ ณ วิหารวัดกู่ขาว”

ข้อความในพงศาวดารโยนก มีนัยสำคัญที่ต้องถอดรหัสอีกมากมาย ไม่ว่าประเด็นตกลงพระสิขีฯ องค์ไหนแน่ที่เจ้าอนันตยศได้รับจากแม่ องค์จากพุกาม หรือองค์จากละโว้? และทำไมต้องสร้างสถานที่ประดิษฐานพระหินดำด้วยชื่อที่แปลว่าสีขาว?

แต่ในช่วงนี้ขอโฟกัสที่คำว่า “อโยชฌปุระ” ในชินกาลมาลีปกรณ์ก่อน ว่าสรุปแล้วในยุคของพระเมืองแก้ว ตรงกับอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาจริง

กล่าวโดยสรุปคือ เรื่องราวของพระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำ สร้างขึ้นโดยชาวมอญในสุวรรณภูมิแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา แถวนครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี หรือลพบุรี ในยุคที่นักโบราณคดียุคหลังเรียกว่าอาณาจักรทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-13) 2 องค์แรกประดิษฐานที่นครปฐม (มหานคร) กับลพบุรี (ลวปุระ)

และได้มีการกระจายมอบไปประดิษฐานในรัฐเครือญาติของชาวมอญสุวรรณภูมิในฝั่งพม่าด้วยอีก 3 องค์ คือไว้ที่สะเทิม กลิงครัฐ และจิตตะกอง

องค์สำคัญที่สุดคือองค์แรก เริ่มต้นประดิษฐานที่นครปฐม ต่อมาถูกพระเจ้าอนิรุทธมหาราชแห่งพุกามยึดไปได้ (หลังจากที่อนิรุทธไม่สามารถยึดพระสิขีฯ จากสะเทิมได้ ตำนานไม่บอกรายละเอียดช่วงนี้ว่าเพราะเหตุใด บางทีอาจมีผู้เอาพระสิขีฯ ไปซ่อนที่เมืองตาก) จากนั้นกษัตริย์หริภุญไชยไปตีพระสิขีฯ องค์แรกนี้จากพุกามคืนกลับมาฝั่งมอญลำพูนได้ ต่อมานำไปไว้ที่เขลางค์นคร และสุดท้ายโอรสพระบรมไตรโลกนาถตีลำปางได้ นำไปไว้ที่กรุงศรีอยุธยาอีกที

เป็นดั่งนี้แล้ว น่าสนใจว่า ปัจจุบันพระสิขีฯ จะหมายถึงพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีองค์ไหนในอยุธยา?

 

พุทธลักษณะของพระสิขิปฏิมาศิลาดำ

ดังที่ได้กล่าวมาตั้งแต่ตอนแรกแล้วว่า ตำนานไม่ได้พรรณนารูปพรรณสัณฐานของพระสิขีฯ ทั้ง 5 องค์นี้ว่าหน้าตักกว้างเท่าไหร่ ความสูงประมาณไหน ประทับยืนหรือนั่ง

ถ้านั่งขัดสมาธิหลวมๆ พระบาทแปออกด้านนอกแบบทวารวดี หรือนั่งบัลลังก์ห้อยพระบาทแบบยุโรปที่ยุคทวารวดีนิยมอีกเช่นกัน? และกระทำปางอะไร แสดงธรรม สมาธิ ประทานพร ประทานอภัย มารวิชัย มีซุ้มนาคปรกไหม?

เมื่อไม่บอกรายละเอียด ก็จำเป็นต้องคลำทางเอาเองจาก “รหัสนัยทางภาษา” ที่ตำนานบอกว่า “แท่นหินดำ” ที่พระพุทธองค์ทรงประทับนั่งแผ่นนั้น ต่อมากษัตริย์มอญนำมาแกะสลักเป็นพระสิขีฯ จำนวน 5 องค์ มีชื่อว่า “อาทรศิลา” บ้างเรียก “ศีลานิธี”

 

อาธรศิลา หินดำ “จิ๋วแต่แจ๋ว”

ได้ ผศ.พงศ์เกษม สนธิไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านรามัญศึกษาอีกท่านมาช่วยถอดรหัส อาจารย์พงศ์เกษมอธิบายว่า “อาทร” ในภาษาบาลีนั้น อันที่จริงมาจาก “อาธร” ในภาษาสันสกฤต แปลว่า invincible

ส่วนคำว่า “ศีลานิธี” หรือ ศิลานิธิ นั้น แปลว่า หินแห่งพลังขุมทรัพย์ อันหมายถึงหินสีดำเนียนบริสุทธิ์ไม่เจือแร่สีอื่น

ยุคก่อนประวัติศาสตร์มีการพบขวานหินขัดมันสีดำเช่นนี้ด้วยเช่นกัน แต่ไม่บ่อยนัก ซึ่งพบว่าหินดำนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือ เมื่อเอาเหล็กมาวางทับบนหิน สามารถทำให้เหล็กหมุนบนตัวหินดำนั้นได้

อาจารย์พงศ์เกษมยืนยันว่า หินดำชนิด “อาธรศิลา” นี้เป็นหินหายาก ก้อนคงไม่ใหญ่มาก แถมก้อนเดียวยังแบ่งจำหลักเป็นพระพุทธรูปมากถึง 5 องค์อีกด้วย ดังนั้น แต่ละองค์จึงไม่น่าจะมีขนาดใหญ่เกินไปนัก ในทัศนะของอาจารย์พงศ์เกษมเชื่อว่า ดีไม่ดีหน้าตักอาจจะแค่ 5 นิ้วเท่านั้นเอง?

 

พระสิขีพุทธเจ้า-สิกขีที่แปลว่านกยูง?

ส่วนการทำพระพุทธรูป 5 พระองค์นั้น ดิฉันตั้งคำถามในใจว่า ต้องการจะสื่อถึง “พระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในภัทรกัป” (กกุสันโธ โกนาคมน์ กัสสปะ โคตมะ ศรีอาริยเมตไตรย) หรือเช่นไร

อนึ่ง คำว่า “สิขี” หมายถึงอะไรหรือ ทำไมต้องใช้ชื่อนี้ พบว่า “สิขี” มีความหมายสองนัย

นัยแรก สิขีคือชื่ออดีตพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในลำดับที่ 20 ชื่อ “พระสิขีพุทธเจ้า” (อดีตพุทธเจ้ามีทั้งหมด 28 พระองค์) หากพระพุทธรูปดังกล่าวทำขึ้นเพื่อรำลึกถึง พระสิขีพุทธเจ้าจริงก็น่าสนใจว่า อดีตพุทธเจ้าพระองค์นี้มีความสำคัญอย่างไร ต่อชาวมอญ หรือเกิดความนิยมขึ้นได้อย่างไรในรัฐทวารวดี ทำไมจึงไม่ทำอดีตพุทธเจ้าพระองค์อื่น?

กับอีกนัยหนึ่ง “สิขี” หรือที่ชาวลำพูนนิยมเรียกว่า “สิกขี” แปลตรงตัวตามพจนานุกรมว่า “นกยูง” ซึ่งอันที่จริงคำว่า “พระสิขี” ก็ปรากฏอยู่แล้วในประติมากรรมรูปเทพธิดา-เทวดา ที่คอยเฝ้าศาสนสถานประดับตามซุ้มพระพุทธรูป เป็นบุคคลครึ่งตัวยกมือขึ้นระดับอก

ดังนั้น คำว่า “พระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำ” ในความหมายของผู้สร้างตั้งแต่แรกเริ่ม จึงไม่น่าจะตั้งใจให้นำไปใช้เรียกปะปนกับประติมากรรมเทวนารี-เทวบุตรกึ่งกินนร-กินรีที่คล้ายนกยูง อย่างแน่นอน

 

พระศีลายุคปาละ?

อย่างไรก็ดี อาจารย์พงศ์เกษมยังได้กล่าวถึงความหมายของ “พระศีลาดำ” ในอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งเป็นทฤษฎีของ “อาจารย์จิตร บัวบุศย์” (หรือนามเดิมคืออาจารย์ประกิต ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมไทย แห่งสำนักเพาะช่าง ร่วมสมัยกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี) อธิบายว่า “พระศีลา” นี้ ในแวดวงปฏิมากรสยามจะเป็นที่รับรู้กันว่า ใช้เรียกพระพุทธรูปยืนกลุ่มหนึ่งที่ทำจากหินดำขัดมัน สร้างขึ้นในสกุลช่างศิลปะแบบปาละ (ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย แถวแคว้นโอริสสา เจริญขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-18)

ซึ่งพระพุทธรูปปาละกลุ่มนี้ มีลักษณะประทับยืนเอนกายแบบตริภังค์ (หย่อนขาเอียงสะโพกคล้ายเส้น S curve) และมักมีช้างนาฬาคีรีหมอบหรืออัครสาวกประดับอยู่สองข้าง ซึ่งพบว่ามีการนำเข้ามาสู่ดินแดนสยามภูมิภาคต่างๆ หลายองค์ ต่างกาลต่างวาระ และบางองค์ก็มีชื่อเฉพาะว่า “สิขีพุทธเจ้า” ด้วยเช่นกัน

เรื่องราวของคำว่า “พระศีลาปาละ” หรือ “พระศิลาดำ” ในการรับรู้ของชาวล้านนา ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สร้างปริศนาอยู่เนืองๆ ว่าจะเป็นองค์เดียวกัน หรือมีความเกี่ยวข้องกับ “พระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำ” ที่เรากำลังตามหาด้วยหรือไม่

ลำพังแค่เฉพาะโจทย์การตามหาพระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำ ก็ยุ่งยากจะแย่อยู่แล้ว นี่ยังต้องถอดรหัสเรื่องราวของ “พระศีลา” ต่างๆ (ซึ่งก็มีกระจายไม่รู้กี่องค์) ควบคู่กันไปอีกด้วยหรือนี่ แล้วบทความเรื่องพระสิขีฯ จะเขียนจบไหม เมื่อไหร่

ใจร่มๆ นะคะ ในเมื่อความทับซ้อนของ “พระสิขีพุทธปฏิมาศิลาดำ” ไปทาบเส้นเหลื่อมล้ำกับคำว่า “พระศีลาของปาละ” ก็ดี “พระศิลาละโว้” ก็ดี ดิฉันในฐานะนักถอดรหัสปริศนา ก็จำเป็นต้องไล่ตามแกะรอยตรวจสอบดูที่มาที่ไปและพุทธลักษณะให้ครบทุกประเด็นมิใช่หรือคะ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความกระจ่างชัดต่อแวดวงวิชาการประวัติศาสตร์ศิลปะโบราณคดีไม่ให้คลุมเครือ

แต่ยังไม่เอามาแทรกกับประเด็นพระสิขีฯ ช่วงนี้นะคะ รอให้เขียนพระสิขีฯ จบก่อน เดี๋ยวลุยเรื่องพระศีลากันต่อแน่

สัปดาห์หน้าจะพาไปไล่เลาะตระเวนดูว่าในเมื่อพระสิขีฯ แห่งเมืองเขลางค์ถูกอยุธยายึดไปแล้วจากกู่ขาว แต่เหตุไฉนวัดพระธาตุลำปางหลวงจึงยังมีพระศิลาละโว้ประดิษฐานอยู่อีกองค์หนึ่ง

รวมทั้งพระสิขีฯ องค์ที่สองจากละโว้ ที่พระนางจามเทวีอัญเชิญมาไว้วัดกู่ละมักลำพูนหายไปได้อย่างไรช่างไร้ร่องรอย

แต่ทำไมจึงมีเค้าลางของพระสิขีฯ ปรากฏอยู่ที่วัดมหาวัน?