ธงทอง จันทรางศุ | “Aging Society”

ธงทอง จันทรางศุ

อายุของผู้คนสมัยนี้ยืนยาวกว่ายุคปู่ย่าตาทวด หรือแม้กระทั่งสมัยคุณพ่อคุณแม่ของเรามากนะครับ

ผมเคยอ่านหนังสืองานศพของผู้ใหญ่สมัยก่อน จำนวนมากวายชนม์ตั้งแต่อายุไม่ถึง 60 ปีบริบูรณ์

สังเกตดูจากรูปภาพ ท่านผู้ใหญ่สมัยนั้นอายุเพียงแค่ 50 ปีก็ดูแก่เหลือใจแล้ว

จึงไม่น่าประหลาดใจที่ธรรมเนียมไทยของเราแต่โบราณรวมถึงคนในอีกหลายประเทศจึงนิยมนับถือว่าการมีอายุอยู่จนครบห้ารอบหรือ 60 ปีบริบูรณ์เป็นเขตสำคัญ

เป็นหมุดหมายของชีวิตว่าก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้อาวุโสเต็มตัวแล้ว ต้องมีการฉลองกันใหญ่โต

ลูกหลานก็มาร่วมกันชื่นชมยินดี

อีกประการหนึ่งผู้ใหญ่แต่ก่อนท่านแต่งงานกันเร็ว มีครอบครัวกันตั้งแต่อายุยังน้อย

ฝ่ายชายยังไม่ทันได้บวชเรียนก็อาจมีลูกไปหลายคนแล้ว

ยิ่งถ้าเป็นฝ่ายหญิงอายุถึง 20 ปีแล้วยังไม่ได้ออกเรือน อนาคตก็ดูจะริบหรี่ เป็นที่หนักใจของคนเป็นพ่อเป็นแม่ว่าลูกสาวจะขึ้นคานเสียแล้วหรือ

เพราะฉะนั้น ผู้ใหญ่รุ่นเก่ากว่าจะอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ท่านผู้นั้นก็กลายเป็นปู่ย่าตายายไปแล้ว

ชะดีชะร้ายหลานอาจจะมีเหลนให้ดูแล้วก็เป็นได้

นี่ไม่ได้พูดเล่นนะครับ สมมุติว่านาย ก. มีลูกตอนอายุสิบแปดปี

ลูกของนาย ก. มีลูกซึ่งเป็นหลานของนาย ก. ตอนอายุสิบแปดปีเหมือนกัน

นาย ก. ก็มีหลานปู่ตอนอายุไม่ถึงสี่สิบปี

ครั้นหลานของนาย ก.มีลูกตอนอายุยี่สิบปี

นาย ก.อายุยังไม่ทันจะแซยิดเลยก็มีเหลนเสียแล้ว

มาถึงสมัยนี้ บ่อยครั้งไปที่ผมเห็นคู่บ่าวสาวอายุประมาณสี่สิบปี กว่าจะมีลูกได้อายุสี่สิบกว่าแล้ว เมื่อตัวเองเกษียณอายุ ลูกชายลูกสาวยังเรียนไม่จบปริญญาตรีเลย

สังคมของเราเปลี่ยนไปถึงขนาดนี้

จะเป็นด้วยเหตุผลการกินการอยู่ที่ดีขึ้น การใช้ชีวิตที่ไม่ได้ลำบากตรากตรำเท่ายุคก่อน

รวมทั้งการแพทย์และหยูกยาที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก

หรืออะไรก็แล้วแต่ ได้ทำให้สังคมไทยเราก้าวเข้าสู่สมัยที่กล่าวได้เต็มปากว่าเป็นสังคมของผู้สูงอายุ

และนับวันก็จะมีผู้สูงอายุซึ่งถ้าเราขีดเส้นไว้ที่อายุ 60 ปี จำนวนร้อยละของผู้สูงอายุเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศก็จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่จำนวนเด็กเกิดใหม่มีน้อยลง

โรงเรียนจำนวนนับร้อยโรงในต่างจังหวัดต้องปิดตัวลง เพราะมีเด็กน้อยเกินกว่าจะตั้งเป็นโรงเรียนหนึ่งโรงได้

ผมทราบว่าทางกระทรวงศึกษาธิการกำลังปวดสมองกับเรื่องนี้

อย่าว่าแต่โรงเรียนชั้นประถมหรือมัธยมเลยครับ มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็กำลังเครียดกับเรื่องนี้เหมือนกัน เพราะมีจำนวนนิสิตนักศึกษาน้อยลงไปเรื่อยๆ

บางสาขา บางวิชาอาจจะต้องปิดเรียนกันเลยทีเดียว

ที่พูดมายืดยาวนี้ก็เพื่อจะบอกว่า เราทุกคนต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยที่ฝรั่งเรียกว่า Aging Society หรือสังคมผู้สูงอายุกันแล้ว เราจะรับมือกับเรื่องเหล่านี้อย่างไรดี

ในทางฝ่ายราชการได้มีข่าวฮือฮากันมาระยะหนึ่งแล้วว่า กำลังดำริที่จะปรับการเกษียณอายุจากที่ใช้อยู่ในปัจจุบันใช้เกณฑ์ 60 ปี เปลี่ยนไปเป็น 63 ปีหรือ 65 ปี

มีการกล่าวเรื่องนี้ไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศที่ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติมาแล้วด้วย

แต่พอจะทำจริงไม่ง่ายนักนะครับ เพราะต้องแก้กฎหมายหลายฉบับ

ต้องใคร่ครวญผลกระทบถึงระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการให้รอบคอบ

และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือคำถามว่า เราจะขยายเพดานเกษียณอายุเป็น 63 ปีหรือ 65 ปีสำหรับข้าราชการทุกคนจริงหรือไม่

ผมเคยอยู่ในราชการมาจนเกษียณอายุ อยากจะกระซิบบอกดังๆ ว่า สำหรับบางคนแล้ว การให้อยู่ในราชการจนอายุ 60 ปีก็นานเกินไปเสียแล้ว

อยากให้ออกในวันในพรุ่งเลยครับ เพราะอยู่ไปก็มีแต่ปัญหา

ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่อายุเพียงอย่างเดียว หากแต่อยู่ที่คุณภาพ ประสิทธิภาพ และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย

อย่าลืมนะครับว่ากำลังคนในราชการของเรามีขนาดมหึมามหาศาลมาก

เรามีคนของรัฐอยู่ประมาณสองล้านคนเศษ เพื่อให้บริการกับประชาชนจำนวนหกสิบกว่าล้านคน

หลายครั้งที่เรามีมาตรการให้คนเกษียณอายุก่อนกำหนดเวลา ที่เรียกว่าเออร์ลี่รีไทร์ เพื่อลดขนาดของราชการให้เล็กลง แบบ “จิ๋วแต่แจ๋ว”

ถ้าเราขยายอายุการเกษียณอายุออกไปให้ไกลกว่าเดิม โดยข้าราชการทุกคนอยู่ครบเต็มอัตราศึก เราจะตอบตัวเองว่าอย่างไร

หรือเรามีทางเลือกอื่นว่า บางคนอยู่ บางคนไม่อยู่

ถ้าจะทำอย่างนั้นใครจะอยู่ใครจะไม่อยู่ แค่นี้ก็อลหม่านแล้วเห็นไหมครับ

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมด้วยว่า ถ้าคนเก่าไม่ออกจากราชการ คนใหม่ก็เข้าสู่ระบบราชการยาก เพราะมีจำนวนจำกัดเป็นเพดานอยู่

ขณะที่เราห่วงผู้สูงวัยกลัวว่าจะไม่มีงานทำ

เราก็ต้องห่วงเด็กรุ่นใหม่ว่าจะมีงานทำด้วยหรือไม่

อีกทั้งคนแก่ก็มีแนวโน้มที่จะทำอะไรเหมือนเดิม ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง

แตกต่างจากคนหนุ่มคนสาวที่เขาพร้อมจะพบกับความเปลี่ยนแปลงมากกว่า

เราต้องไม่ลืมว่า เหรียญทุกเหรียญมีสองด้านเสมอ

ผมเคยได้ยินว่าในบางประเทศ เขาสนับสนุนหรือมีมาตรการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีทางเดินที่จะเลือกออกจากระบบราชการในช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิตที่มีความเหมาะสม เพื่อที่จะไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในภาคเอกชนหรือมีกิจการที่เป็นอิสระของตัวเอง โดยไม่สายเกินไปที่จะเริ่มบทใหม่ของชีวิต

เช่น ผู้ที่อยู่ในภาครัฐจนอายุประมาณ 40 ปี มีประสบการณ์มากพอสมควร ยังอยู่ในวัยที่มีเรี่ยวแรงไปเริ่มงานใหม่ได้ ถ้าเป็นเมืองไทยก็ไม่ไปไหนหรอกครับ เพราะยังไม่ได้บำเหน็จบำนาญ ต้องรอรับราชการครบ 25 ปีเสียก่อน จึงจะมีบำนาญได้

ถึงเวลานั้นก็แก่เกินกว่าจะไปไหนเสียแล้ว ต้องรอเป็นปลัดกระทรวงลูกเดียวแบบผม ฮา!

ความคิดอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ คงการเกษียณอายุราชการไว้ที่ 60 ปีเหมือนเดิม

แต่หาทางให้ผู้ที่เกษียณอายุแล้ว ยังสามารถมีชีวิตที่เป็นประโยชน์กับราชการได้ด้วยวิธีทางเลือกต่างๆ

อธิบายให้เห็นภาพได้ง่ายๆ เช่น จ้างมาเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมาทำงานตามความถนัดของท่าน แบบไม่ต้องทำงานเต็มเวลา

บางท่านอาจสนใจจะทำงานอาสาสมัครเสียด้วยซ้ำไป

ทางราชการอย่างมากก็ช่วยดูแลเรื่องค่ารถค่าเรือ อย่าให้ถึงกับท่านต้องเข้าเนื้อ

เพียงนี้ท่านก็อาจสนใจแล้ว

หลายปีก่อนผมเดินทางไปที่ประเทศฝรั่งเศส

บ่ายวันหนึ่งมีเวลาว่างออกไปเดินเล่นที่ชานเมืองของกรุงปารีส มีห้องสมุดประชาชนของเทศบาลแห่งหนึ่ง ที่เจ้าหน้าที่ล้วนเป็นผู้สูงวัยทั้งสิ้น

พูดคุยซักถามแล้วได้ความว่า ท่านเหล่านั้นเกษียณอายุจากหน้าที่การงานต่างๆ แล้วมาช่วยทำงานในห้องสมุด เป็นงานอาสาสมัคร

สังเกตได้ทีเดียวว่าทุกท่านมีความสุขกับการทำงานและรู้สึกว่าชีวิตตัวเองยังมีคุณค่า ได้ออกจากบ้านมาพบผู้คน

ทางฝ่ายเทศบาลก็ไม่ต้องจ่ายเงินมากหรือจ่ายเงินแต่เพียงเล็กน้อยก็ได้แรงงานที่มีคุณภาพมาช่วยงานแล้ว

สังคมไทยกำลังพบกับโจทย์หรือคำถามใหม่ๆ ทำนองนี้อีกมาก เพียงแค่ประเด็นเรื่องการเกษียณอายุที่ยกขึ้นมาเล่าสู่กันฟังวันนี้ก็น่าคิดน่าตรึกตรองใช่ไหมครับ

อย่าดูถูกคนแก่ แต่ก็ห้ามไว้ใจคนแก่เต็มร้อยเหมือนกัน

คนแก่บางคนก็ร้ายมากทีเดียว ไม่ได้น่ารักน่าเอ็นดูแบบผมทุกคนนะครับ