ทวีศักดิ์ บุตรตัน : เมื่อ “ประยุทธ์” ขอโชว์วิชั่นแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

เมื่อวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ ระหว่างลุ้นตามข่าวคณะกรรมการการเลือกตั้งเปิดให้พรรคการเมืองต่างๆ เสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นวันสุดท้าย ซึ่งก็เกิดปรากฏการณ์การเมืองมึนงงอลหม่านไปทั้งบางอย่างที่รู้ๆ กัน เลยหันไปฟัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดออกอากาศในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

นายกฯ นำเสนอประเด็นสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้น่าสนใจจนลืมเรื่องการเมืองอึนๆ อึมๆ ครึมๆ ไปชั่วครู่

พร้อมกันนี้ขอสรุปเนื้อหาและบันทึกวิชั่นของลุงตู่ไว้ในคอลัมน์นี้

 

“จากวิกฤตฝุ่นละอองในปัจจุบัน ผมอยากถือโอกาสขยายวิสัยทัศน์ของเราทุกคน ไปสู่เรื่องสิ่งแวดล้อมที่มากกว่ามองที่ตัวเราเอง แต่เป็นเรื่องของส่วนรวม ประเทศชาติ สังคมโลก ทุกฝ่ายต้องลงมือแก้ไขปัญหาไปด้วยกันอย่างจริงจังในลักษณะบูรณาการ ด้วยกลไกประชารัฐ” พล.อ.ประยุทธ์เกริ่นในรายการ

ปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นเชื่อมโยงกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของพวกเราโดยตรงและโดยอ้อม

ความเสื่อมโทรมและมลพิษจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นเรื่องอนาคต หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่สนใจ กลับกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เช่น รักษาพยาบาล

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทุกภูมิภาค ไม่ใช่สภาพอากาศที่ผันแปรรายวันตามปกติ แต่มันคือสภาพอากาศสุดขั้ว หนาวจัด ร้อนจัด แล้งจัด พายุถล่ม ซึ่งล้วนเป็นผลพวงหนึ่งมาจากน้ำมือของมนุษย์เราทุกคนทั่วโลก และในประเทศของเราเอง มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

สิ่งที่ปรากฏชัดทุกวันนี้ เช่น ออสเตรเลียกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อน อุณหภูมิทะลุ 50 องศาเซลเซียส สหรัฐอเมริกาและแคนาดากำลังเผชิญกับลมวนขั้วโลก (Polar Vortex) เกิดอากาศหนาวจัดติดลบ 40-50 ํc

เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล เกิดวิกฤตมลพิษทางอากาศ PM 2.5 ที่มองไม่เห็น และหมอกควันปกคลุมท้องฟ้า

ทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากลัวและกำลังจะส่งผลอย่างรุนแรงในปลายศตวรรษนี้ คืออุณหภูมิเฉลี่ยของมหาสมุทรสูงขึ้น และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจสูงขึ้นถึง 1 เมตร

อีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าอาจทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ ทั้งหลาย ด้วยน้ำทะเลหนุนเข้ามาทางปากอ่าวและระบบนิเวศน์ถูกทำลายอย่างรุนแรง

พื้นที่เกษตรกรรมจะเกิดปัญหา น้ำกิน-น้ำใช้เริ่มจะไม่บริสุทธิ์

การประชุมใหญ่เวิร์ลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ปีนี้ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นพิเศษ

มีรายงานประเมินความเสี่ยงของโลกประจำปี 2019 (The Global Risks Report 2019) ชี้ว่าสภาพอากาศสุดขั้วเป็นความล้มเหลวในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติทางธรรมชาติคือภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดต่อเศรษฐกิจและความอยู่รอดของมนุษย์ในอนาคต

ขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ G20 ประกาศว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นวาระสำคัญในการประชุมปีนี้ จะผลักดันงานทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทร

รายงานล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) แห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ชี้ชัดว่าถ้าจะรักษาสมดุลทางสภาพภูมิอากาศของโลกให้ได้ เราจะต้องป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 ํc

หมายความว่าเราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายใน 12 ปีข้างหน้านี้

เป้าหมายนี้เป็นไปได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่าย ทุกประเทศ ต้องลงมือปฏิวัติรูปแบบทั้งเศรษฐกิจ การผลิตและการบริโภคให้พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยที่สุด

จะเห็นว่าชั่วอายุของเรานี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ สิ่งที่เราลงมือทำตอนนี้ และอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อคนรุ่นต่อๆ ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รัฐบาลนี้จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศในทุกมิติที่เน้นการพัฒนาสีเขียว ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม

 

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญๆ อาทิ

(1) กำกับดูแลการปล่อยมลพิษทางน้ำและทางอากาศอย่างเคร่งครัดและจริงจังของสถานประกอบการ โรงงานและนิคมอุตสาหกรรม

(2) การผลักดันกฎหมายใหม่ เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

(3) กำหนดให้การกำจัดขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ เน้นการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยเพิ่มบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้สามารถจัดการขยะมูลฝอยตกค้างตามหลักวิชาการได้ราว 27 ล้านตัน จากทั้งหมด 30 กว่าล้านตัน

(4) รณรงค์ลดการใช้โฟมและถุงพลาสติก โดยร่วมมือกับศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ สามารถลดได้ราว 370 ล้านใบ

(5) ลดพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Capseal) ได้กว่า 2,600 ล้านชิ้น/ปี หรือประมาณ 520 ตัน/ปี

(6) ห้ามสูบบุหรี่บริเวณพื้นที่ชายทะเล หรือในพื้นที่สาธารณะ

(7) จัดการของเสียอันตรายชุมชนอย่างถูกต้อง 6 หมื่นกว่าตัน จาก 6 แสนกว่าตัน

(8) แก้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน จำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ลดลงกว่าร้อยละ 40 โดยปริมาณค่าฝุ่นละอองที่ตรวจพบลดลง จำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานก็ลดลงด้วย

อีกทั้งมีการขยายความร่วมมือกับ 5 ประเทศอนุภูมิภาคแม่โขงในการแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอย่างยั่งยืนอีกด้วย

 

สําหรับแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กของรัฐบาลนั้น ประกอบด้วย มาตรการระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว ที่ต้องการความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย อาทิ ให้รถยนต์ดีเซล ขสมก. รถยนต์ของทางราชการ ปรับเปลี่ยนไปใช้น้ำมันบี 20

รัฐบาลจะเร่งพัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบ ให้เป็นทางเลือกในการเดินทาง แทนรถยนต์ส่วนบุคคล และเร่งรัดแผนการเปลี่ยนรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้เป็นรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำ

ส่วนมาตรการระยะยาวในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ ที่กำลังเป็นทิศทางการพัฒนาของโลก ก็คือการพัฒนาไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า

วางโรดแม็ปอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปสู่การเป็นฐานการผลิตและส่งออกยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า หรือเป็น “EV Hub” ของภูมิภาค และของโลก

เรื่องที่ 2 โครงการวิจัยและพัฒนา เพื่อดัดแปลงรถยนต์ใช้แล้วให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าในราคาไม่เกิน 2 แสนบาท หรือถูกลงเรื่อยๆ ให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถซื้อรถใหม่เป็น EV ที่ยังแพงอยู่ จะช่วยประหยัดเงินค่าน้ำมันได้ราว 45,000 บาทต่อปีแล้ว ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์

ทราบอีกว่ามีเอกชนรายหนึ่งจะเปิดตัว “ควายทอง” รถเมล์ไฟฟ้าแบรนด์ไทย ช่วยเติมเต็มระบบขนส่งมวลชนของเรา ที่สามารถประหยัดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“ขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมของเราให้เหมือนกับการรักษาสุขภาพของตนเอง และดูแลทุกคนในครอบครัวและคนอื่นๆ ให้มีความสุขด้วย เพราะเราอยู่ร่วมกันบนแผ่นดินไทย” พล.อ.ประยุทธ์ปิดท้ายรายการ

ท่านผู้อ่านมีความเห็นอย่างไรครับกับวิสัยทัศน์เรื่องสิ่งแวดล้อมของ 1 ในตัวเต็งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย?