วิรัตน์ แสงทองคำ : เรื่องของสองแบงก์ กับการปรับตัวในยุคโลกพลิกผัน

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เป็นอาการหนึ่ง สัญญาณการขยับปรับตัวสังคมธุรกิจไทย เป็นไปอย่างคึกคัก มีสีสัน และซับซ้อน

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) พร้อมด้วย 4 ผู้จัดการใหญ่ กับผู้บริหาร FinTech (คนล่าสุด) ออกโรง (เมื่อ 28 มกราคม 2562) “ประกาศพันธกิจสู่ธุรกิจแบงก์ยุคใหม่” ด้วยศัพท์แสงที่น่าตื่นเต้น พอจะจับสาระได้ว่า “แบงก์ยุคใหม่” ที่เรียกว่า Cognitive Banking ขณะอ้างไว้หลายครั้งท่ามกลางบทสนทนาหลายคนในงานนั้น เกี่ยวข้องกับ Augmented Intelligence

ถัดมาไม่กี่วัน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีข่าวใหญ่ติดต่อกัน เริ่มด้วย (5 กุมภาพันธ์ 2562) ประกาศแต่งตั้ง 4 ผู้จัดการใหญ่เป็นครั้งแรก ดูไปแล้วเป็นโมเดลเดียวกับธนาคารกสิกรไทยซึ่งมีมาราวๆ 5-6 ปีแล้ว ตามติดมาด้วย (7 กุมภาพันธ์ 2562) เปิดแผนการใหญ่เช่นกัน “จัดทัพ…ขับเคลื่อนองค์กรสู่รากฐานธุรกิจธนาคารในอนาคต” เมื่อพิจารณาสาระอย่างกว้างๆ แล้วไม่ค่อยจะแตกต่างกันนัก นอกจากคำว่า “สร้าง Agile Organization”

ในภาพใหญ่อันคึกคัก มีภาพย่อยๆ ที่ควรสนใจ เป็นไปคล้ายๆ กัน

 

ธนาคารกสิกรไทยเปิดแผนพร้อมๆ เปิดตัวผู้บริหารคนใหม่ (เรืองโรจน์ พูนผล) ในฐานะประธานกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อ 1 มกราคม 2562

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ มีผู้จัดการใหญ่ 1 ใน 4 คน (อรพงศ์ เทียนเงิน) เพิ่งแต่งตั้งใหม่ ก็เพิ่งเข้ามาไม่นานนัก เริ่มต้นจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (พฤษภาคม 2560) ดิจิทัล เวนเจอร์ส (กิจการ FinTech เครือธนาคารไทยพาณิชย์) ก่อนจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น มาเป็นกรรมการและกรรมการเทคโนโลยีธนาคาร (เมษายน 2561)

ทั้งยังเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารดิจิทัล เวนเจอร์สอยู่ด้วย

จากเรื่องย่อยๆ มาสู่ภาพพัฒนาการใหญ่อีกยุคหนึ่ง สร้างแรงกระเพื่อมต่อระบบธนาคารไทย เพิ่งเริ่มต้นเมื่อไม่นานมานี้

ภาพความเคลื่อนไหวธนาคารใหญ่ดังกล่าว เชื่อว่ามาจากบทวิเคราะห์อันหลักแหลมว่าระบบธนาคารดั้งเดิมกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ซึ่งมาเร็วและรุนแรง ด้วยปรากฏการณ์ใหม่ FinTech (Financial Technology)

แน่นอน ความเคลื่อนไหวขยับปรับตัวครั้งใหญ่อย่างตื่นเต้น มาจากธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่ง “เป็นคู่แข่งสำคัญในความพยายามก้าวสู่ธนาคารทันสมัยอย่างต่อเนื่องกันมาตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา” ผมว่าไว้นานแล้ว

เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจังเมื่อปี 2559 –ปลายเดือนเมษายน ธนาคารกสิกรไทยเปิดตัวบริษัท กสิกร บิสซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KASIKORN Business-Technology Group : KBTG) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน โดยร่วมกับพันธมิตรทั้ง FinTech และ Tech Startup

“วันนี้เราพยายามเดินไปในทิศทางที่เป็นอนาคต โลกของการเงิน อนาคตของวิธีการทำงานของคนยุคใหม่ และอนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทย เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อคิดหาอะไรที่วันนี้ยังไม่เกิด หาให้ได้ก่อนที่จะอุ้ยอ้ายเกินไปและทำงานไม่ได้”

บัณฑูร ล่ำซำ ผู้นำธนาคารกสิกรไทยกล่าวไว้ในงานเปิดตัวครั้งนั้น

 

ไม่กี่เดือนจากนั้น (กรกฎาคม 2559) ธนาคารไทยพาณิชย์แถลงข่าวเปิดตัวบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (Digital Ventures หรือ DV) “ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมธนาคารผ่านการลงทุนและการค้นคว้านวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่มีความสามารถให้เติบโตร่วมไปกับธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเริ่มความพร้อมด้วยการลงทุนในบริษัท startup ระดับโลก” (ส่วนหนึ่งของถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการ)

หากโฟกัสการปรับตัวครั้งใหญ่ครั้งใหม่ธนาคารไทยจากนั้น คงต้องจับตามองที่นี่ด้วย กรณีกสิกรไทยมองไปที่ KBTG ส่วนไทยพาณิชย์ที่ DV

ภาพนั้นเปิดสู่ภายนอก สู่ผู้ใช้บริการผ่านสาขาธนาคาร ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ที่มิใช่ผ่านสาขาธนาคาร ผ่านการแถลงข่าวอย่างตื่นเต้นเป็นระยะๆ ส่วนที่ผมสนใจมากเป็นพิเศษ โฟกัสไปยังโครงสร้างการบริหาร ซึ่งสะท้อนความพยายามขยับปรับตัวอย่างกระฉับกระเฉง

ด้วยปรากฏความไม่ลงตัว แรงกระเพื่อมสั่นไหวบ้างในบางครั้ง

 

KBTG แห่งธนาคารกสิกรไทย ในช่วงไม่ถึง 3 ปี เปลี่ยนตัวประธานบริษัทมาแล้วถึง 3 คน จาก “คนใน” นักบริหารประสบการณ์กว้างๆ สู่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี สุดท้ายจึงมาถึง “คนนอก” ผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีระดับโลก และมีความเกี่ยวข้องกับพวก Tech Startup

ส่วน DV กับธนาคารไทยพาณิชย์ เริ่มจาก “คนนอก” ซึ่งมีประสบการณ์ เชื่อมโยงผู้บริโภคเข้ากับเทคโนโลยี มาสู่ผู้บริหารผู้มีประสบการณ์ โดยเฉพาะในธุรกิจที่ปรึกษาและเทคโนโลยีระดับโลก อรพงศ์ เทียนเงิน เป็นคนที่ 2 เข้ามาบริหาร DV ดูจะมีบทบาทมากขึ้น หลังจากธนาคารไทยาณิชย์แถลง “นำกลยุทธ์ Going Upside Down” หรือ “กลับหัวตีลังกา” (มกราคม 2561) ซึ่งไม่เพียงสั่นสะเทือนธุรกิจธนาคารไทยในภาพรวม ยังสร้างแรงกระเพื่อมที่ธนาคารไทยพาณิชย์เองไม่น้อย

เขาได้ข้ามมาเป็นรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส (เมษายน 2561) ด้วยบทบาทสะท้อนแผนการใหญ่ของธนาคารในฐานะ Chief Digital Transformation Officer

 

ว่าไปแล้ว ธนาคารไทยกับ “คนนอก” มีเรื่องราวมากมาย มักเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์สำคัญๆ เสมอ ที่น่าสนใจ กรณีธนาคารกสิกรไทยเพิ่งมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ในฐานะธนาคารไทย นำ “คนนอก” ชาวต่างชาติ ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาร่วมทีมบริหารอยู่พักหนึ่ง

สำหรับกรณีประสาน ไตรรัตน์วรกุล เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย (2547-2553) ถือเป็นกรณีพิเศษ ช่วงต่อระหว่างตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. (2542-2546) กับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (2553-2558)

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์กับ “คนนอก” มีเรื่องราวมากมาย มักเกิดขึ้นในช่วงปรับตัวครั้งใหญ่เป็นระยะๆ เสมอมา เรียกได้ว่าตลอดช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมาก็ว่าได้

อย่างไรก็ตาม กรณี “คนนอก” ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นช่วงเวลาการปรับตัวที่แตกต่าง จากช่วงที่ผ่านๆ มา มิใช่ช่วงที่มuวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ไม่คาดคิดที่เคยเกิดขึ้น หากเป็นช่วงธนาคารไทยกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ เผชิญหน้า “ความไม่แน่นอน” บางระดับ ธนาคารไทยต้องการบุคลากรที่มีประสบการณ์แตกต่าง ซึ่งไม่สามารถมีขึ้นในระบบธนาคารเอง

แนวทางข้างต้น ควรสะท้อนภาพใหญ่และแนวโน้มใหม่ สังคมธุรกิจไทย ว่าด้วยกระบวนใหม่การพัฒนาบุคลากร พร้อมๆ กับระบบเปิดกว้างสำหรับ “คนนอก”

 

ภาพสะท้อนการปรับตัวธนาคารไทยกรณีข้างต้น กับถ้อยแถลงด้วยศัพท์แสงใหม่ๆ อันตื่นเต้น ล้วนเป็นกระแส แนวทางที่เป็นไป เชื่อกันว่านำเสนอมาจาก “คนนอก” เช่นกัน คนนอกที่ว่ามาจากบรรดาบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกแห่งโลกตะวันตก ผู้เชี่ยวชาญ มีความเชื่อมโยงแนวทางและระบบธนาคารโลก เป็นไปตามความเป็นไปทางธุรกิจ อันมีมาตรฐานที่ครบถ้วน เข้มงวด เป็นระบบและแบบแผนเดียวกันทั้งโลก

มีคนวงในเล่าให้ฟังว่า เวลานี้ธนาคารไทยใหญ่ล้วนจ้างบริษัทที่ปรึกษาตะวันตกชื่อดังแทบทุกแห่งที่มีอยู่ ในโครงการที่เรียกว่า Digital Transformation ในแต่ละธนาคาร มีนับสิบๆ โครงการย่อย นับสิบๆ สัญญาว่าจ้าง

บริษัทที่ปรึกษา (Consulting firm) มีบทบาทอย่างเงียบๆ อยู่เบื้องหลังธนาคารไทยมานานพอสมควรและมีมากขึ้น เมื่อระบบธนาคารเชื่อมโยงกับทั้งโลกมากขึ้น มีกฎเกณฑ์และระบบธนาคารโลกซับซ้อนมากขึ้น เข้มงวดมากขึ้น

หากย้อนกลับไป เรื่องตื่นเต้นคงเริ่มตั้งแต่ไทยพาณิชย์กับกสิกรไทยช่วงชิงกันเป็นผู้นำเปิดบริการ ATM ช่วงก่อนปี 2530 พัฒนาสู่อีกขั้นกรณีกสิกรไทย กับ Re-engineering (ปี 2536-2537) เป็นจุดเริ่มต้นการปรับตัวธนาคารไทยไปสู่มาตรฐานสากลตามกระแสตะวันตกมากขึ้นๆ

ในช่วงหลังวิกฤตการณ์ปี 2540 บริษัทที่ปรึกษาตะวันตกมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจไทย.นวงกว้าง “โดยเฉพาะระบบธนาคารไทยลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เพื่อการปรับโครงสร้างธุรกิจและจัดซื้อระบบเทคโนโลยีใหม่” ผมเองเคยว่าในช่วงนั้น อันที่จริงก็เป็นความจำเป็น ความเป็นไปที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะนี้ยังเชื่อว่า “ระบบธนาคารไทยลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” คงดำเนินไป

ส่วนที่ว่า “Cognitive Banking” กับ “Agile Organization” เกี่ยวข้องกับผู้คนในสังคมวงกว้างอย่างไร คงต้องว่ากันอีกที