นิธิ เอียวศรีวงศ์ | มวลชนคนขัดแย้ง

นิธิ เอียวศรีวงศ์

มีความสับสนอย่างหนักในสังคมไทยเกี่ยวกับ “ความขัดแย้ง” ดูเหมือนคนไทยจำนวนมากไปคิดว่าความขัดแย้งเป็นสภาพอปรกติ เกิดขึ้นในสังคมใด ก็ทำให้สังคมนั้นอ่อนแอใกล้แตกสลาย

แต่จะมีสังคมอะไรหรือที่ไม่มีความขัดแย้ง ขึ้นชื่อว่า “สังคม” ย่อมประกอบด้วยความหลากหลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มีคนต่างชาติพันธุ์, ต่างผลประโยชน์, ต่างคุณค่า ฯลฯ อาศัยอยู่ร่วมกัน ต้องใช้ทรัพยากรร่วมกัน แต่อยากใช้กันไปคนละทาง ก็ย่อมต้องขัดแย้งกันเป็นธรรมดา เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมีสังคมอะไรเหลือรอดมาถึงวันนี้ได้ มิแตกสลายไปหมดแล้วหรือ

ปัญหาที่แท้จริงของสังคมไทยไม่ได้อยู่ที่ความขัดแย้ง แต่อยู่ที่เราไม่รู้หรือไม่มีวิธีการคลายความขัดแย้งต่างหาก

พูดอย่างนี้ก็เท่ากับพูดว่า สังคมไทยอยู่กันมาเป็นร้อยๆ ปีโดยไม่เคยมีความขัดแย้งเลยกระนั้นหรือ จึงไม่รู้หรือไม่มีวิธีการคลายความขัดแย้ง คำตอบคือไม่ใช่ สังคมไทยก็มีความขัดแย้งกันมาตลอดเหมือนสังคมอื่นๆ ในโลก แต่วิธีคลายความขัดแย้งที่เคยใช้ได้ผลมาก่อน มันใช้ไม่ได้เสียแล้ว เพราะสังคมได้เปลี่ยนไปไกลจนไม่อาจย้อนกลับไปเหมือนเก่าได้อีก

ในอดีต ความสัมพันธ์ระหว่างคนมีอำนาจ (ซึ่งทำให้มีทรัพย์, เกียรติยศ และเข้าถึงทรัพยากรมาก) กับคนไม่มีอำนาจคือความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนกัน ฝ่ายผู้ไม่มีอำนาจได้รับโอกาสเข้าถึงทรัพยากรทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้จากผู้มีอำนาจ แลกกับการให้ความจงรักภักดีเป็นกำลังทางเศรษฐกิจ, การเมือง และเกียรติยศของผู้มีอำนาจ

มีความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มนี้หรือไม่

ย่อมมีแน่นอน แต่มีช่องทางคลายความขัดแย้งหลายอย่าง นับตั้งแต่วัฒนธรรมประเพณีไปจนถึงโอกาสที่จะหลบหลีกเสียจากการกดขี่ขูดรีดของผู้มีอำนาจ เช่น เปลี่ยนนายใหม่ หรือยกครัวหนีไปอยู่ต่างเมือง หรือเข้าไปสู่ท้องที่ซึ่งว่างอำนาจของนาย หรือต้องจำยอมให้ถูกเอาเปรียบต่อไป เพราะถือว่าเป็นเวรเป็นกรรมของตน

ในชุมชนของคนไม่มีอำนาจ ทรัพยากรถูกใช้ไปในทางเดียวกันหรือค่อนข้างสอดคล้องกัน ถึงมีความขัดแย้งกันบ้าง ก็มีวัฒนธรรมประเพณีและกฎหมายประเพณี ซึ่งฝากไว้กับศาสนาผี คอยกำกับและคลายความขัดแย้งลง อาญาสิทธิ์ของชุมชนมักเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้จากการยอมรับของชาวบ้าน ความขัดแย้งในเรื่องใหญ่ที่คลายลงยากจึงจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้พอมีอำนาจในชุมชน แต่ก็มีวัฒนธรรมประเพณีและพระราชอำนาจคอยกำกับและผ่อนคลายลงด้วยเช่นกัน

แต่หากกลไกเหล่านั้นล้มเหลว ก็เหลือเพียงสองวิธีที่จะคลายความขัดแย้งของชนชั้นนำได้ หนึ่งคือใช้พระราชอำนาจที่เด็ดขาดระงับเสียด้วยพระราชทัณฑ์หากจำเป็น แต่วิธีนี้ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก เพราะชนชั้นนำที่เป็นคู่ความขัดแย้งมักเป็นผู้มีกำลังในสังกัดมาก (หรือมีอำนาจมาก) การใช้พระราชอำนาจเด็ดขาดจึงเท่ากับทำให้เสือสองตัวเหลือตัวเดียว ไม่ปลอดภัยแก่ราชบัลลังก์เช่นกัน และวิธีที่สองคือใช้พระราชอำนาจในช่องทางและโอกาสที่เหมาะ ในการทำให้ทั้งสองฝ่ายประนีประนอมกันได้

ประนีประนอมไม่เกี่ยวกับใครถูกใครผิด ภาษาไทยที่ชอบใช้กันในปัจจุบันคือปรองดอง ตรงกับภาษาอังกฤษว่า reconcile คำนี้ในภาษาอังกฤษหมายความว่า ทำให้สองอย่างซึ่งต่างกันชนิดตรงข้าม จริงทั้งคู่ หรือถูกทั้งคู่ ฟังดูตลกดีนะครับ แต่ในชีวิตจริง ก็เป็นวิธีคลายความขัดแย้งที่ได้ผลอยู่เสมอ ถ้าคู่ขัดแย้งเป็นเพียงบุคคลสองฝ่าย ไม่เกี่ยวกับคนอื่นอีกจำนวนมาก

ดังนั้น เราจึงเคยชินที่มักไปมองว่า ความขัดแย้ง โดยเฉพาะในเรื่องบ้านเมือง เป็นเรื่องของ “ผู้ใหญ่” เพราะ “ผู้น้อย” ไม่ขัดแย้งกันด้วยเรื่องบ้านเมือง และหากไม่จัดการประนีประนอม (ซึ่งเรียกในสมัยหลังว่า “เกี้ยเซียะ”) หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับการตัดสินของอำนาจสูงสุด บ้านเมืองก็จะแตกร้าว เพราะชนชั้นนำต่อสู้กันเองจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง

อันที่จริงในสังคมโบราณหลายแห่ง ประชาชนหรือ “มวลชน” ก็ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งด้วยเรื่องบ้านเมืองทั้งนั้น ในยุโรปสมัยกลางสืบมาจนถึงหลังจากนั้น พระเจ้าแผ่นดินอาจยกแคว้นบางแคว้นในพระราชอาณาจักรให้แก่พระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์อื่น เป็นของหมั้นหรือสินสมรสให้แก่โอรส-ธิดาของตนเอง เจ้าครองแคว้นก็ต้องหันความภักดีไปให้แก่พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ที่ได้รับแคว้นนั้นไป ส่วนไพร่ทาสบนที่ดินนั้นไม่เกี่ยว เพราะก็ยังเป็นข้าของเจ้าครองแคว้นคนเดิม

ผมเข้าใจว่า ภาพของความขัดแย้งและคลายความขัดแย้งแบบสมัยอยุธยาเช่นนี้ ถูกจำลองมาใช้ทำความเข้าใจความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2540 ถึงปัจจุบัน การเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชน ไม่ว่าในสีเสื้ออะไร ถูกมองเหมือนเป็นเพียง “ไพร่” ในสังกัดของมูลนายฝ่ายใดเท่านั้น

วิธีคลายความขัดแย้งจึงยังทำเหมือนเดิม คือเมื่อความขัดแย้งเป็นเรื่องของบุคคลเพียงไม่กี่คน ก็อาจระงับเสียได้ด้วยการขจัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไป ดังนั้น จึงใช้วิธีทำรัฐประหารยึดอำนาจ แล้วใช้อำนาจเด็ดขาดแทนพระราชอำนาจชี้ถูกชี้ผิด ขจัดอำนาจฝ่ายหนึ่งออกไปเสีย บางคนเชื่อว่า หากหา “ผู้ใหญ่” ซึ่งเป็นที่นับถือของสองฝ่ายมาไกล่เกลี่ยก็อาจเลิกแล้วต่อกันไปได้

เทียบได้กับวิธีโบราณทุกอย่าง แต่ความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบัน ไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างคู่กรณีที่ประกอบด้วยบุคคลชั้นนำเพียงไม่กี่คนเท่านั้น หากรวมถึงผู้คนอีกเป็นล้าน ซึ่งล้วนแทรกความขัดแย้งของตนไว้กับความขัดแย้งของชนชั้นนำ “มวลชน” ทั้งสองฝ่าย (รวมทั้งฝ่ายอื่นอีกมาก) มีความเห็น ค่านิยม และผลประโยชน์ที่ไม่ตรงกัน วิธีคลายความขัดแย้งแบบโบราณจึงไม่อาจช่วยบรรเทาความขัดแย้งลงได้

ซ้ำร้ายอาจจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งบานปลายมากขึ้นไปอีก

ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งทำให้ “มวลชน” เข้ามาร่วมอยู่ในความขัดแย้งโดยตรงเช่นนี้ เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชีวิตของผู้คนเข้ามาเกาะเกี่ยวสัมพันธ์กันในวงกว้างอย่างไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อน เพราะทั้งรัฐไทยและสังคมไทยได้เปลี่ยนเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ไปแล้ว เกิดอะไรขึ้นที่ส่วนใดก็กระเทือนถึงส่วนอื่นไปหมด โดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ หลายอย่างก็ไม่มีใครเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น แต่มันต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เช่นสำนึกปัจเจกของผู้คน ความผูกพันที่เคยมีกับสิ่งอื่นๆ นับตั้งแต่เครือญาติ, ศาสนา, ชุมชน ฯลฯ คลายลง เหลือแต่ประเพณีซึ่งในแง่หนึ่งก็ฉาบฉวย เช่น กลับบ้านวันสงกรานต์จนรถติดทั้งประเทศ แต่แล้วก็ต้องกลับมาทำงานในเมืองใหญ่ ซึ่งทำให้ชีวิตต้องแยกจากทุกคนที่มุ่งไปหาเมื่อตอนสงกรานต์ เหลือแต่ความสัมพันธ์กับคนอื่นซึ่งไม่ใช่ญาติ, ไม่ใช่ครู, ไม่ใช่อุปัชฌาย์, ไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่พ่อ-แม่นับถือ ฯลฯ แต่คือนาย ก. นาย ข. นางสาว ค. เป็นคนๆ ไป

เหมือนคนในสังคมสมัยใหม่ทั้งหลาย ผู้คนผูกพันกันด้วยผลประโยชน์, ความคิดเห็น, ธุรกิจ, การใช้เวลาว่าง, รสนิยม ฯลฯ อันล้วนเป็นสิ่งที่แปรเปลี่ยนไปได้ในเวลาไม่นาน ไม่ใช่สิ่งที่คงทนถาวร ผู้คน “อันเฟรนด์” กันได้ง่ายๆ (ในชีวิตจริง ไม่ใช่ในเฟซบุ๊ก) เพราะจะเป็นหรือไม่เป็น “เฟรนด์” ต่อกันนั้น เป็นหนึ่งในทางเลือกร้อยๆ อย่างที่แต่ละคนมี ไม่สลักสำคัญเหมือนสังกัดสำนักบู๊ลิ้มเดียวกัน

“จับเข่าคุยกัน”, “ผู้ใหญ่คนกลาง”, “โซ่ข้อกลาง” หรือ “อัดแม่ง เก็บแม่งเสีย” จึงไม่อาจคลายความขัดแย้งของสังคมไทยได้เสียแล้ว เพราะความขัดแย้งไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น เอาเข้าจริงชนชั้นนำเสียอีกเป็นเพียงหุ่นที่ถูกชักเชิดโดย “มวลชน” (แต่เขาก็ยินดีให้ชักเชิด เพราะต่างได้ผลประโยชน์เข้าตัวมหาศาล หากเต้นไปตามแรงชักเชิดให้เป็นที่เร้าใจได้)

ท่ามกลางสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ความขัดแย้งย่อมต้องเกิดขึ้นในสังคมไทยเป็นธรรมดา แต่กลไกคลายความขัดแย้งที่เราเคยมี ใช้งานไม่ได้เสียแล้ว ไม่ว่าอำนาจเด็ดขาดหรือการประนีประนอม ไม่คลายความขัดแย้งในรอบนี้ หรือในรอบหน้าอย่างแน่นอน

ในสถานการณ์เช่นนี้แหละที่ต้องยอมรับ “กติกา” ของสังคมสมัยใหม่ ซึ่งไม่มุ่งระงับความขัดแย้ง เพราะระงับอย่างไรก็ไม่สำเร็จ และไม่เห็นความขัดแย้งเป็นเหตุของความเสื่อม (อันที่จริงในความขัดแย้งทำให้สังคมได้เรียนรู้แยะมาก) แต่ต้องรักษากติกาให้มั่น เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งบานปลายเป็นการปะทะกันด้วยกำลัง

ไม่มีครั้งไหนในสังคมไทยที่คำพิพากษาคดีต่างๆ ที่เกี่ยวโดยตรงหรือโดยอ้อมกับความขัดแย้ง ต้องเป็นที่ยอมรับอย่างไม่แคลงใจของคนทั่วไปยิ่งไปกว่าครั้งนี้ เพราะทำให้เห็นว่า อย่างน้อยกฎหมายยังเป็นที่พึ่งได้ เพราะเมื่อไรที่ปล่อยให้อำนาจเป็นใหญ่ แทนที่คู่ขัดแย้งจะสยบยอม กลับจะหาทางนำเอาอำนาจอื่นมาตอบโต้บ้าง บ้านเมืองลุกเป็นไฟด้วยเหตุที่ไม่มีใครเคารพกติกาของสังคมสมัยใหม่อีกต่อไป แต่จะใช้วัฒนธรรมเก่ามาดับไฟ ก็ดับไม่สำเร็จ

ประชาธิปไตย, นิติรัฐ, นิติธรรม ไม่ได้มีไว้สำหรับตอบปัญหาทางเศรษฐกิจให้ทันใจผู้คน แต่มีไว้เพื่อให้คนไทยไม่ต้องฆ่ากันเอง สิ่งเหล่านี้เป็นกติกาที่เราต้องช่วยกันเสริมสร้างให้แข็งแกร่งสืบไปในอนาคต ถ้ามองแต่ “กระเป๋า” ว่าจะตุงหรือไม่ตุงเพียงอย่างเดียว ก็อย่าลืมว่า ยิ่งคนไทยรวยขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งมีกำลังในการใช้วิธีการนอกกฏหมายนอกกติกาในการล้างผลาญกันมากขึ้น

ถ้ากองทัพมีงบประมาณมากกว่านี้ นอกจากจะซื้อเรือดำน้ำและรถถังเพิ่มแล้ว ยังอาจกระจายหน่วยทหารลงไปถึงระดับอำเภอหรือตำบล, ถ้ากรมป่าไม้มีงบประมาณมหาศาล ก็อาจมีกำลังคนไปเฝ้าเห็ดในป่าสงวนทุกดอก, ถ้า สสส. มีเงินแจกจ่ายกันในหมู่หมอๆ มากขึ้น ยังจะเหลือพื้นที่เสรีภาพในชีวิตประจำวันของผู้คนสักเท่าไร

คิดไปเถิดครับ ก็จะเห็นได้ว่า เงินเพียงอย่างเดียวไม่แก้ปัญหาสังคมไทยได้หรอก ซ้ำยังอาจทำร้ายสังคมไทยได้หนักหน่วงขึ้น ถ้าเราไม่มีกติกาของสังคมสมัยใหม่และใช้กติกากันอย่างเคร่งครัด (ตามหลักการ ไม่ใช่ตามตัวอักษร)