ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 กุมภาพันธ์ 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
นโยบายทางศิลปะของนาซีคือการชำระล้างสิ่งสกปรกในความคิดของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นชาวยิว รักร่วมเพศ คนผิวดำ คนต่างด้าว ยิปซี
รวมถึงงานศิลปะที่จะนำไปสู่ความเสื่อม ที่จะต้องทำให้สะอาดหรือกำจัดทิ้งแบบเดียวกับเชื้อโรค
กลุ่มและกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะสมัยใหม่ที่ประสบภัยจากนโยบายของฮิตเลอร์นั้นมีมากมายอย่างคิวบิสม์ (Cubism) อิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism), ดาด้า (Dada), เซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism), โฟวิสม์ (Fauvism), เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Expressionism), นิว อ็อบเจ็กทิวิตี้ (New Objectivity) ฯลฯ
ศิลปินในยุคสาธารณรัฐไวมาร์ อย่างออตโต ดิกซ์ (Otto Dix) ถูกนาซีหมายหัว ในฐานะศิลปินชั้นต่ำที่ทำให้ภาพลักษณ์ของสาธารณรัฐเสื่อมทราม

attack), 1924,ภาพพิมพ์โลหะ, ภาพจาก https://mo.ma/2Sd2PRs
เมื่อฮิตเลอร์เห็นภาพวาดของเขาเป็นครั้งแรก ก็ประกาศกร้าวว่า “มันเป็นความอัปยศอย่างมากที่เราไม่สามารถจับคนเหล่านี้เข้าคุกได้”
ดิกซ์ถูกกดดันให้ออกจากงานในสถาบันศิลปะ
ผลงานหลายชิ้นของเขาถูกเผา เขาถูกบีบบังคับให้เข้าร่วมในสภาวิจิตรศิลป์ของอาณาจักรไรซ์ ซึ่งอยู่ภายใต้ชายคาของกระทรวงวัฒนธรรม ในการควบคุมของโยเซฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbel) รัฐมนตรีกระทรวงข่าวสารและโฆษณาชวนเชื่อ ผู้เป็นเสมือนมือซ้ายของฮิตเลอร์ ดิกซ์ถูกบังคับให้สาบานว่าจะวาดแต่ภาพทิวทัศน์อันเรียบง่าย ไม่ก้าวร้าวรุนแรง
เขายังถูกบังคับให้วาดภาพเชิดชูอุดมการณ์ของลัทธินาซี เช่นเดียวกับศิลปินเยอรมันหลายคนในยุคนั้น
สถาบันศิลปะและการออกแบบอันเลื่องชื่อ ที่เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่มีความสำคัญที่สุดทางด้านศิลปะและการออกแบบของโลกอย่างเบาเฮาส์ (Bauhaus) เป็นเหยื่ออีกรายที่ต้องปิดตัวลง เมื่อพรรคนาซีเริ่มขึ้นสู่อำนาจในปี 1931 และถึงแม้มันจะถูกเปิดขึ้นใหม่ในปี 1932 แต่เพียงหกเดือนให้หลัง นาซีก็ตามไปปิดมันลงอีกจนได้

หรือศิลปินนามธรรมคนสำคัญ ผู้สอนในสถาบันเบาเฮาส์ อย่างวาสซิลี คานดินสกี้ (Wassily Kandinsky) เองก็เป็นเหยื่ออีกคนที่ประสบภัยจากนาซี
โดยหลังจากที่สถาบันปิดตัวลง คานดินสกี้เองก็ต้องลี้ภัยจากเยอรมนีไปอยู่ฝรั่งเศส
ในช่วงปี 1937 นาซียึดภาพวาดของเขาจำนวน 57 ภาพในระหว่างปฏิบัติการกวาดล้าง “ศิลปะชั้นเลว” ตามนโยบายของฮิตเลอร์ ที่เกลียดชังศิลปะสมัยใหม่เข้าไส้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานศิลปะนามธรรมของคานดินสกี้ เหตุเพราะมันกระตุ้นให้คนใช้สมอง และเปิดโอกาสให้คนแสดงออกทางความคิดอย่างเสรี ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำเผด็จการอย่างฮิตเลอร์ไม่ต้องการ
คานดินสกี้ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในประเทศฝรั่งเศสจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
เช่นเดียวกับศิลปินอย่างพีต มองเดรียน (Piet Mondrian), พอล คลี (Paul Klee) มักซ์ แอร์นส์ (Max Ernst), มาร์ก ชากาล (Marc Chagall), เอกอน ชีเลอ (Egon Schiele) และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ต่างก็เป็นผู้ประสบภัยจากนาซีกันถ้วนหน้า

ในช่วงเวลาที่ฮิตเลอร์ครองอำนาจ นอกจากเขาจะสังหารชาวยิวเป็นจำนวนมหาศาลแล้ว เขายังสังหารศิลปวัตถุไปอีกเป็นจำนวนกว่าล้านชิ้น ทั้งเผาทำลาย หรือยึดเอาขายเป็นทุนรอนของพรรคนาซี
ในขณะที่ผลงานศิลปะคลาสสิคชั้นครูในยุคต่างๆ ก็ถูกกองทัพนาซีฉกฉวยจากพิพิธภัณฑ์และโบราณสถานต่างๆ ในยุโรปเอาไปเก็บซ่อนเอาไว้เพื่อหวังจะสร้างอาณาจักรศิลปะในฝันของฮิตเลอร์ขึ้นมา
(โชคดีที่มีหน่วยราชการลับเรียกว่า Monuments man” ซึ่งก็คือภัณฑารักษ์ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายอนุรักษ์งานศิลปะนานาชาติ รวมตัวกันตามกู้คืนงานศิลปะที่ถูกขโมยไปซุกซ่อนไว้กลับคืนมาได้จำนวนมาก จนมีงานรอดเงื้อมมือนาซีมาให้เราได้ดูชมกันหลายต่อหลายชิ้นในปัจจุบัน)
อาจกล่าวได้ว่า นาซีเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นจากความรู้สึกทางสุนทรียะของฮิตเลอร์ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ โครงการสร้างโลกใหม่ขึ้นมาตามรสนิยมทางศิลปะของเขานั่นเอง
“อ่านเกี่ยวกับ The Monuments Men ได้ในหนังสือ The Monuments Men: Allied Heroes, Nazi Thieves, and the Greatest Treasure Hunt in History โดย โรเบิร์ต เอ็ม. เอ็ดเซล หรือดูได้ในภาพยนตร์ The Monuments Men (2014) ที่กำกับฯ โดยจอร์จ คลูนีย์
อนึ่ง “สัญลักษณ์สวัสติกะ เครื่องหมายของพรรคนาซี และเป็นสัญลักษณ์ต้องห้ามที่เป็นตัวแทนของความชั่วร้ายในปัจจุบัน เดิมทีนั้นเป็นสัญลักษณ์ของอินเดีย หมายถึงกงล้อแห่งสุริยะ หรือดวงอาทิตย์ ชื่อ “สวัสติกะ” เองนั้นก็เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า พรหม เป็นคำอวยพรให้โชคดี เหมือนกับคำว่าสวัสดีของไทย

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง สวัสติกะเป็นเครื่องหมายมงคลที่ถูกใช้ในทั่วโลก ทั้งในศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธนิกายมหายาน ชาวอเมริกันพื้นเมือง ไปจนถึงในยุโรป มันถูกใช้ในธงกองทัพอากาศของฟินแลนด์ (ซึ่งยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน), เป็นตราลูกเสือของอังกฤษ, ว่ากันว่า รัดยาร์ด คิปลิง ซึ่งเป็นนักเขียนที่ชอบอินเดียมากก็เคยประทับตราสวัสติกะบนหนังสือเขาทุกปก ถูกใช้ในโฆษณา ใบปลิว หีบห่อบรรจุภัณฑ์ และร้านค้า จนเมื่อพรรคนาซีก้าวขึ้นสู่อำนาจในเยอรมนีและใช้สวัสติกะเป็นเครื่องหมายของพรรคในปี 1930
ฮิตเลอร์คิดเองเออเองว่าชาวอารยันในอินเดียเป็นรากเหง้าของชาวเยอรมัน ในอุดมคติของเขา เขาจึงขโมยสัญลักษณ์สวัสติกะมาใช้ โดยเอามาดัดแปลงให้มีความเรียบง่าย ใช้แต่สีแดง ดำ ขาว ซึ่งทำให้มีพลัง มีความกลมกลืน โดดเด่น เตะตา จดจำง่าย จนสัญลักษณ์นี้กลายเป็นเครื่องหมายของพรรคนาซีไปในที่สุด
(หรือแม้แต่สัญลักษณ์ของกองกำลังของนาซีอย่างเอสเอส (Schutzstaffel) ที่เป็นรูปสายฟ้าคู่ ก็เป็นอักษร Rune ของเยอรมนี ที่มีความหมายถึงดวงอาทิตย์ และชัยชนะเช่นกัน)

ถ้าตัดประเด็นความเลวร้ายในประวัติศาสตร์ออกไป แม้แต่คนที่เกลียดนาซีก็ยังยอมรับว่านาซีเป็นหนึ่งในองค์กรที่มี Corporate Identity หรือ การใช้กราฟิกดีไซน์ในการสร้างอัตลักษณ์องค์กรที่แข็งแรงและทรงพลังที่สุดในโลก”
ในทางกลับกัน เมื่อผนวกกับพฤติการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และคร่าชีวิตผู้คนไปหลายล้านคนของนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเข้าไป จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมสัญลักษณ์สวัสติกะถึงเป็นสัญลักษณ์ต้องห้ามที่สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงอื้อฉาวในวงกว้างทุกครั้งที่มันถูกหยิบขึ้นมาใช้
“ข้อมูลจากบทความ สวัสติกะ : มงคลและความชั่วร้าย หนังสือ ดีไซน์ + คัลเจอร์ เขียนโดยประชา สุวีรานนท์