คุยกับทูต ‘มุห์เซน โมฮัมมาดี’ อิหร่านวันนี้ ที่ ศก.โตอัน18ของโลก มีดีที่ท่องเที่ยว อาหาร ความเชื่อ

คุยกับทูต มุห์เซน โมฮัมมาดี บทบาทของอิหร่านวันนี้ (2)

“อิหร่านเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 18 ของโลกโดยมีจีดีพีประมาณ 439.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ.2017 เพราะนอกจากจะเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเคมีรายใหญ่แล้ว เรายังเป็นหนึ่งในผู้จำหน่ายพรม ผลไม้แห้ง และคาเวียร์จำนวนมาก และยังได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับสูงในการผลิตรถยนต์ เครื่องจักร อุตสาหกรรมโลหะ อาหาร ยา บริการด้านเทคนิค ผลิตภัณฑ์เคมีเสื้อผ้า ปูนซีเมนต์ และสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกด้วย”

นายมุห์เซน โมฮัมมาดี (H.E. Mr. Mohsen Mohammadi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย เปิดเผยถึงความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการค้า

“จากรายงานของ British Petroleum 2015 แจ้งว่า อิหร่านถือครองแหล่งก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วว่าใหญ่ที่สุดในโลก (17% ของทั้งหมด) และมีน้ำมันสำรองที่พิสูจน์แล้วมากที่สุดเป็นอันดับสี่ (10% ของทั้งหมด)”

“นอกจากนี้ อิหร่านยังอุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติอื่นๆ อีกมากมาย “อ่าวเปอร์เซียและช่องแคบฮอร์มุซ” (Strait of Hormuz) ก็เป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคโดยมีอิหร่านเป็นผู้ให้บริการหลักด้านความปลอดภัย”

บริเวณช่องทางแคบๆ ระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน คือ “ช่องแคบฮอร์มุซ” (Strait of Hormuz) เป็นทางออกทางมหาสมุทรทางเดียวของบริเวณส่วนใหญ่ของประเทศที่ส่งปิโตรเลียมออกในอ่าวเปอร์เซีย จึงเป็นแหล่งสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ตะวันออกกลาง

อิหร่านได้นำกลยุทธ์ที่ครอบคลุมการปฏิรูปการตลาดตามที่ปรากฏในเอกสารวิสัยทัศน์ 20 ปี ของรัฐบาลเช่นเดียวกับแผนพัฒนาห้าปีครั้งที่ 6 สำหรับปี ค.ศ.2016-2021 ซึ่งประกอบด้วยสามเสาหลัก ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

และการส่งเสริมความเป็นเลิศทางวัฒนธรรม

“ในด้านเศรษฐกิจ แผนพัฒนาคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจประจำปีอยู่ที่ 8 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ภาคการเงิน การธนาคาร การจัดสรร และการจัดการรายได้น้ำมัน เป็นสิ่งที่สำคัญในลำดับต้นๆ ซึ่งรัฐบาลได้ระบุไว้ในแผนห้าปี”

ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับครึ่งแรกของปี ค.ศ.2017 บ่งชี้ว่าการเติบโตของจีดีพีปีต่อปีที่ 4.5% การส่งออกที่ไม่ใช่น้ำมันของอิหร่านกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีมูลค่าสูงถึง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยอิหร่านกำลังเตรียมการส่งออกปิโตรเคมีประมาณ 25 ล้านตันต่อปี ซึ่งรวมถึงโอเลฟินส์ (olefins) ไซลีน (xylene) และเมทานอลส์ (methanols) และในปี ค.ศ.2020 รวมก๊าซธรรมชาติเหลวอีกประมาณ 35 ล้านตัน

“การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเราทำให้มีคุณภาพและมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น 24 ล้านคน อิหร่านจึงได้รับการจัดอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลกด้านนาโนเทคโนโลยี โดยเป็นผู้ผลิตปุ๋ยเหล็กนาโนอินทรีย์ตัวแรกของโลก และผู้ผลิตเส้นใยนาโนที่มีสัณฐานใหม่ผ่านการสังเคราะห์เส้นใย aureole นาโนที่ใช้งานได้”

ถึงแม้อิหร่านจะมีจุดเด่นเรื่องน้ำมัน และปิโตรเคมี ที่ยังต้องการให้มีการพัฒนาและสร้างมูลค่าการค้าในด้านนี้ให้เพิ่มยิ่งขึ้น แต่อิหร่านก็ยังมีความน่าสนใจและเหมาะในการลงทุนในด้านอื่นๆ อีก และที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนชาวไทย คือด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมในอิหร่าน

ในแง่ของการท่องเที่ยว อิหร่านมีจุดขายด้านการท่องเที่ยวที่ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และภูมิประเทศที่หลากหลาย นอกจากเมืองหลักๆ ของอิหร่านอย่าง เตหะราน (Tehran) ชีราซ (Shiraz) อีสฟาฮาน (Isfahan) แล้ว ยังมีเมืองอื่นที่ควรค่าแก่การท่องเที่ยว เช่น คานโดวาน (Kandovan) ซึ่งได้ฉายาว่า เป็นคัปปาโดเกียแห่งอิหร่าน ตั้งอยู่ตอนเหนือใกล้กับเมืองตาบริซ (Tabriz)

“อิหร่านเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่กว่า 7,000 ปี มีอดีตที่รุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก จึงถูกเรียกว่าเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมเก่าแก่ ที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกด้านแหล่งท่องเที่ยว อันดับที่ 5 ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และองค์การยูเนสโก (UNESCO) ก็ได้ประกาศให้สถานที่ท่องเที่ยว 23 แห่งของอิหร่านขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก”

“อารยธรรมเก่าแก่ของอิหร่านหรือเปอร์เซีย มีอิทธิพลโดยตรงต่อวัฒนธรรมและผู้คนในภูมิภาค คาบสมุทรอาระเบีย เอเชียกลางและแถบคอเคซัส ตุรกี บางส่วนของจีน และแม้แต่ยุโรป รวมทั้งเอเชียตะวันตกและเอเชียตะวันออก”

“เรามีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ จึงมีปฏิทินเป็นของตัวเอง เทศกาลปีใหม่ของอิหร่านเริ่มต้นในวันที่ 21 มีนาคม ซึ่งเราเรียกว่า โนรูส (Nowruz) อันเป็นความภาคภูมิใจของชาวอิหร่านที่ International Nowruz Day ได้รับการประกาศโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติตามมติ A/RES/64/253 ของปี ค.ศ.2010 และเป็นความคิดริเริ่มของหลายประเทศในการมีส่วนร่วมในวันหยุดปีใหม่กับอิหร่าน (ได้แก่ ประเทศอัฟกานิสถาน แอลเบเนีย อาเซอร์ไบจาน อดีตสาธารณรัฐยูโกสลาเวียแห่งมาซิโดเนีย อินเดีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน ตุรกี และเติร์กเมนิสถาน)”

“ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ปีที่แล้ว เราได้เฉลิมฉลอง Nowruz ร่วมกับสถานทูตคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน อินเดีย และปากีสถาน ที่ United Nations ESCAP ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และเราจะเฉลิมฉลองแบบเดียวกันนี้ร่วมกับ 4 ประเทศดังที่กล่าวมาแล้ว และอีกหลายประเทศที่มีอารยธรรมอิหร่านโบราณ ในวันที่ 21 มีนาคม ปีนี้อีกเช่นกัน”

อิหร่านติด 1ใน 10 อันดับแรกของประเทศที่มีสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์มากที่สุด และอยู่ในอันดับที่ 48 ในแหล่งท่องเที่ยวของโลก ตามรายงานขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UN World Tourism Organization)

“เราได้เห็นจำนวนนักท่องเที่ยวไปเยือนอิหร่านเพิ่มขึ้น 10% เนื่องจากต่างชาติยกเลิกการคว่ำบาตรต่อประเทศของเรา ซึ่งเกินกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึงสองเท่า บ่งบอกถึงตลาดการท่องเที่ยวที่เฟื่องฟูของอิหร่าน”

“เมื่อปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวไปเยือนอิหร่านมากกว่า 5.2 ล้านคน เป้าหมายของเราคือเพิ่มจำนวนให้เป็น 20 ล้านคนต่อปี รัฐบาลอิหร่านหวังที่จะเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศจากปัจจุบันที่มีมูลค่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็น 25 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี”

ท่านทูตมุห์เซน โมฮัมมาดี ชี้แจง

“อิหร่านมีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 17 ของโลก (1,628,750 ตร.ก.ม.) จึงมีความหลากหลายทางสิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยา และสภาพภูมิอากาศ มีภูเขา ทะเลทราย และแนวชายฝั่ง ตลอดปีมีสี่ฤดูกาล แต่ละภาคของประเทศในเวลาเดียวกันภูมิอากาศจะแตกต่างกัน คุณสามารถว่ายน้ำเมื่ออยู่ทางทิศใต้ในเวลาเดียวกันกับที่คุณสามารถเล่นสกีได้ทางเหนือ ขณะที่ในบางท้องถิ่นอาจมีอุณหภูมิติดลบ 20 C และอาจบวก 30 C ในอีกท้องถิ่นหนึ่ง”

“ในด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ก็มีหลายทางเลือกเช่นกัน เมืองชีราส (Shiraz) และแพร์ซโพลิส (Persepolis) ที่เคยรู้จักกันในชื่อ Takhte Jamshid นั้นเป็นเมืองประวัติศาสตร์ ส่วนเมืองอิสฟาฮาน (Isfahan) เมืองยาซด์ (Yazd) และเมืองทาบริซ (Tabriz) นับเป็นเมืองยอดนิยมของนักท่องเที่ยว เดือนเมษายนและพฤษภาคม คือช่วงเวลาที่ดีที่สุด แต่ถ้าต้องการเล่นสกี แน่นอนว่าควรเลือกฤดูหนาว”

“สำหรับชาวมุสลิม คริสเตียน ยิว หรือชาวโซโรอัสเตอร์ มองว่าอิหร่านเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการจาริกแสวงบุญ”

ศาสนาโซโรอัสเตอร์เกิดและเผยแผ่ในภูมิภาคตะวันออกของจักรวรรดิเปอร์เซียโบราณมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งศาสนาอิสลามได้เข้าครอบครองอาณาจักรในบริเวณนั้น

“เรื่องการดูแลสุขภาพ อิหร่านเป็นประเทศที่มีมาตรฐานทางการแพทย์ในระดับสูง จึงเป็นจุดหมายปลายทางที่ดีในการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพเช่นกัน ในแต่ละปีมีประชาชนจากประเทศทั่วโลกเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลที่อิหร่านประมาณ 50,000 คน”

“อาหารในอิหร่านนั้นมีความแตกต่างกันตามภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ผมขอแนะนำให้ลิ้มลองเคบับ (Kebab) ซึ่งมีหลายแบบ เช่น Ghormeh Sabzi เป็นหนึ่งในอาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาอาหารเปอร์เซีย (ประกอบด้วยสมุนไพรสีเขียวถั่วผักและเนื้อสัตว์หลากหลายชนิดและส่วนผสมของมะนาวมะขามกับสมุนไพรหอมๆ)”

“Gheymeh (ประกอบไปด้วยถั่วลันเตาสีเหลือง เนื้อวัวก้อนเล็กๆ และมะนาวแห้งกับลูกจันทน์เทศ และอบเชย ราดด้วยมันฝรั่งทอด)”

“ตามด้วยขนมหวานที่ขึ้นชื่อของอิหร่าน ส่วนพิสตาชิโอ (pistachio) ซึ่งเป็นถั่วชนิดหนึ่งมีต้นกำเนิดในอิหร่าน พรม และงานฝีมือของอิหร่าน จัดเป็นของที่ระลึกที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายทีเดียว”

“เมื่อปีที่แล้ว อดีตเอกอัครราชทูตอิตาลี มาดามของเอกอัครราชทูตโคลอมเบีย อัครราชทูตที่ปรึกษาของสถานเอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย และอีกหลายคน ได้เดินทางไปอิหร่าน ต่างก็ได้กล่าวชื่นชมว่า การได้ไปเยือนอิหร่านถือเป็นความทรงจำที่มีคุณค่าและมิอาจลืมเลือน”

“อันเป็นการยืนยันว่า ชาวอิหร่านเป็นผู้มีอัธยาศัยไมตรี เพราะเราเชื่อกันว่า แขกที่มาเยือน เป็นเพื่อนของพระเจ้า”