หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/ ‘ตีนกับรองเท้า’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ช้างป่า - ช้างคือผู้บุกเบิกเส้นทางในป่า ตีนอันแข็งแรงของพวกมันคือเครื่องมือที่ดี นอกจากใช้งาในการขุดแร่ธาตุต่างๆ ในโป่ง ช้างใช้ตีนช่วย ทำให้สัตว์อื่นๆ ได้กินด้วย

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ตีนกับรองเท้า’

 

เป็นเรื่องปกติที่เมื่อเดินไปตามทางที่สัตว์ป่าใช้เดิน เราจะพบเห็นร่องรอยของพวกมัน

สัตว์ป่าเดินทางตลอดเวลา วัตถุประสงค์หลักๆ คือไปยังแหล่งอาหาร บางตัวเดินทางใกล้ๆ ขณะมีไม่น้อยเดินทางไกลนับพันกิโลเมตร

ฤดูกาล รวมทั้งแหล่งอาหาร คือสิ่งกำหนด โป่ง, ทุ่งหญ้า, ต้นไม้ซึ่งกำลังออกผล

นักล่าผู้อยู่บนสุดอย่างเสือ ก็เดิน แม้ว่าพวกมันจะมีอาณาเขตอันแน่นอน

เสือตัวผู้เดินเพื่อสำรวจอาณาเขตของตัวเอง ตรวจสอบว่า มีการบุกรุกหรือไม่ ขณะเดินก็พ่นฉี่ หรือสเปรย์ และตะกุยดิน ใช้เล็บแหลมๆ ขูดลำต้นไม้ไว้เป็นสัญลักษณ์ให้เสือตัวอื่นรู้ว่านี่ถิ่นใคร

นักวิจัยพบว่า การเดินของเสือตัวผู้ มีรูปแบบชัดเจน

ส่วนตัวเมีย คล้ายจะวนไป-มา เพราะการเดินของเธอคือการเสาะหาอาหาร

สัตว์อื่นๆ อย่างหมี, สมเสร็จ ก็ทำสัญลักษณ์ไว้กับต้นไม้ บางตัวใช้ลำตัวถูต้นไม้เพื่อทิ้งกลิ่นไว้ สมเสร็จและเลียงผาจะขี้ไว้โคนต้นไม้ต้นเดิมที่เดินผ่าน

เสือตัวเมียก็ใช้ฉี่ที่สเปรย์ไว้กับต้นไม้ บอกเสือตัวผู้เจ้าของอาณาเขตให้รู้ว่า เธอพร้อมรับการผสม

เสือตัวผู้จะแวะอยู่บริเวณนี้ 3-4 วัน เพื่อทำหน้าที่

สำหรับสัตว์ป่า เรื่องการเป็นพ่อของลูกนี้ ตัวเมียจะเป็นฝ่ายกำหนดและคัดเลือก ดูเผินๆ อาจคิดว่า ตัวผู้ทำได้ตามอำเภอใจ แท้จริงพวกมันถูกเลือกมา

 

และตัวเมียจะเลือกอย่างพิถีพิถัน ตัวผู้แข็งแรง หรืออวดความสวยงามได้เข้าตาเท่านั้นจะได้รับการเลือก

ตัวผู้เมื่อทำหน้าที่เสร็จก็ถูกไล่ไป

ในความเป็นเสือตัวผู้ แม้ว่าในอาณาเขตจะมีตัวเมียถึง 4 ตัว มีสิทธิ์เลือก

แต่การปกป้องอาณาเขตไว้ให้ได้ในช่วง 4-5 ปี ไม่ใช่งานง่ายๆ อ่อนล้าลงเมื่อใด จะถูกตัวผู้หนุ่มที่แข็งแรงกว่า เบียดออกไปทันที นี่หมายถึงเสียทั้งบรรดาตัวเมียทั้งหลาย และอาณาเขต

นี่ย่อมไม่ใช่การต่อสู้ของเหล่าตัวผู้ที่เข้มแข็งหรอก

แต่มันคือเรื่องที่ตัวเมียจัดการอยู่เบื้องหลัง

 

ชีวิตซึ่งต้องเดินตลอดเวลา ตีนจึงเป็นอวัยวะอันสำคัญของสัตว์ป่า

รอยตีนสัตว์ป่า เป็นร่องรอยที่เราพบเห็นเสมอ

เมื่อเห็นรอย เรารู้ว่ารอยไหนเป็นรอยตีนหน้า รอยไหนตีนหลัง

เพราะรอยตีนหน้าจะใหญ่กว่า เหตุผลเพื่อรับน้ำหนักส่วนไหล่ ที่มีกล้ามเนื้อและหัว

สัตว์ป่าไม่ว่าจะเป็นสัตว์ผู้ล่า หรือสัตว์กินพืช จะดูแลรักษาตีนอย่างดี เพราะเป็นเครื่องมือนำไปสู่แหล่งอาหาร บาดแผลเล็กน้อยอาจขยายลุกลามใหญ่โต เดินไม่ได้ นั่นหมายถึงชีวิตจบสิ้น

บนทางเดิน เราพบเห็นรอยตีน

บางรอยกดลงบนพื้นอย่างมั่นคง บางรอยลื่นไถล

อาจเป็นเรื่องธรรมดาของการเดินไปบนเส้นทางทุรกันดาร

 

สิ่งสำคัญลำดับต้นๆ ของคนทำงานในป่าคือ รองเท้า

สำหรับผม คล้ายจะสำคัญกว่ากล้องเสียด้วยซ้ำ เพราะหากรองเท้าไม่ดี ทำให้เดินไม่สะดวกหรือพังก่อน ถึงจุดหมายไม่ได้ทำงาน กล้องก็ไม่มีความหมายอะไร

เพื่อนๆ ในป่าหลายคนไม่ต้องพึ่งพารองเท้า บางคนใช้เพียงรองเท้าแตะเก่าๆ เดินย่ำโคลน บุกหนาม ไต่ขึ้นหน้าผา

ผมสวมใส่รองเท้าเดินป่า คุณภาพดี เดินตามอย่างเงอะงะ

พวกเขาสอนผมอย่างหนึ่งว่า ต่างคนล้วนมีชีวิตและหนทางของตน

อยู่ในป่า มาตรฐานอันสูงลิ่วของคนเมือง มีการศึกษา หรือเชี่ยวชาญสามารถสูงสุด

มาตรฐานอย่างนี้ เมื่อเทียบกับคนซึ่งเกิดในป่า คล้ายกับเติบโตมาในโลกแคบๆ ดูเหมือนจะต่างกันลิบลับ

ในป่า พวกเขาเดิน นั่ง นอน ทำกิจกรรมทุกอย่างด้วยทักษะที่ได้รับถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ

ผมในฐานะคนจากในเมือง ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ รู้ตัวว่า เทียบกันแล้ว ผมไม่รู้หรือทำอะไรเพื่อดำรงชีพไม่เป็นสักอย่าง

 

ถึงวันนี้ ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากในการหาซื้อรองเท้าเดินป่าคุณภาพดีๆ แล้ว มันถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสม ใช้งานสมบุกสมบัน ซึ่งช่วยได้มาก

กระนั้นก็ตาม ในเป้คนทำงานในป่า จะมีกาวยาง เข็มและด้าย ติดไว้ซ่อมแซมเวลารองเท้ามีปัญหา

สภาพป่าบางแห่งเหมาะกับรองเท้าผ้าใบ พื้นเกาะ เดินบนหินลื่นๆ ได้

ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร พวกเขาใช้รองเท้าบู๊ตยาง

รองเท้าชนิดนี้ ต้องใช้ความคุ้นชินพอสมควร ข้อดีคือ ลุยโคลน และล้างออกง่าย

ผู้ไม่คุ้น โอกาสที่เท้าจะเป็นแผลเพราะยางแข็งๆ เสียดสีกับส้นเท้า ก็เกิดขึ้นไม่ยาก

เกือบทุกคนในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เชื่อมั่นกับรองเท้าผ้าใบ ใช้คู่กับถุงกันทาก

“ไม่ทนนักหรอกครับ เดินเที่ยวเดียวก็พัง แต่ชินแล้ว ข้อสำคัญไม่แพงมากครับ” เหตุผลของศรีผู้ช่วยนักวิจัย

“พื้นเกาะดีครับ เดินบนหินลื่นๆ ได้” ถาวรเป็นคนหนึ่งที่เอารองเท้าที่ใส่เตะตะกร้อมาเดินป่า

ส่วนแบมะ แห่งบ้านตาเปาะ เชิงเขาบูโด ไม่ใช้รองเท้า เขาเดินเท้าเปล่ามาตั้งแต่เด็ก

“หนังตีนแกหนา เหยียบหนามไม่เป็นไรหรอกครับ” มัสบูดกระซิบกับผม

 

ผมใช้รองเท้ามาหลายคู่ ใช้ทุกคู่อย่างคุ้มค่า ซ่อมแซมกระทั่งซ่อมไม่ได้แล้วจึงเปลี่ยน แม้ว่ารองเท้าบางคู่จะไม่เหมาะกับการเดินในโคลน หรือทางเละๆ เลย และยังสร้างปัญหากับเท้าบ่อยๆ

สัตว์ป่าสอนผมอีกอย่างหนึ่ง

ทำงานในป่า รองเท้าคือสิ่งสำคัญ

เช่นเดียวกับพวกมัน ที่ให้ความสำคัญกับตีน

 

และอีกประการที่พวกมันสอน

รองเท้าจำเป็นและสำคัญ

หลายครั้งเมื่อเดินไปไม่ถึงจุดหมาย

นั่นอาจเป็นเพราะตีนไม่แข็งแรงพอ

ไม่ใช่รองเท้า