การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ /โคโนะโดริ เล่ม 4 ความรุนแรงในครอบครัว

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

โคโนะโดริ เล่ม 4

ความรุนแรงในครอบครัว

 

วันนี้คุณหมอโคโนะโดริสังเกตเห็นรอยฟกซ้ำที่ลำคอหญิงสาวคนหนึ่งที่มาฝากครรภ์พร้อมสามี เขากำลังจะเขียนใบนัดอยู่แล้วจึงเปลี่ยนใจให้หญิงสาวนั้นรอก่อน เพื่อพบพยาบาลผดุงครรภ์

คุณโคมัตสึ พยาบาลผู้ช่วยซึ่งเคยทำงานผดุงครรภ์มาก่อนเชิญหญิงสาวคนนั้นเข้าห้อง แนะนำตัว พูดคุยทั่วไป แล้วจึงเอ่ยปากถาม “สามีของคุณใช้ความรุนแรงกับคุณรึเปล่าคะ”

จะเห็นว่าเรื่องความรุนแรงเป็นเรื่องที่แพทย์ไม่ควรปล่อยข้าม จะไม่ปล่อยข้ามเมื่อโรงพยาบาลได้สร้างระบบรองรับก่อนแล้ว แพทย์ไม่ต้องลังเลที่จะส่งต่อให้ระบบรับไปดูแลต่อ ขอให้ใส่ใจก็พอ

คุณโคมัตสึอาจจะมิใช่เจ้าหน้าที่ด้านนี้โดยตรง แต่เธอรู้งาน เริ่มด้วยการแนะนำตัวอย่างเป็นทางการ ถ้าทำได้ควรเสิร์ฟน้ำให้เรียบร้อย ถ้าจำเป็นเสิร์ฟน้ำชาหรือกาแฟก็ยังได้ ขั้นตอนเหล่านี้เป็นขั้นตอนเตือนผู้มารับความช่วยเหลือ คือ client ว่าวันนี้ “เรามีเรื่องคุยกัน”

จากนั้นสร้างความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ด้วยความเคารพและให้เกียรติ โดยเป็นความสัมพันธ์สองทิศทาง เราเรียกว่าแร็พพอร์ต (rapport)

งานข้างหน้าจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นกับความแข็งแรงของแร็พพอร์ต

 

จากนั้นให้พูดคุยเรื่องทั่วไปก่อน ดินฟ้าอากาศ ฝุ่นควันมากมั้ย จราจรติดขัด จะรีบไปไหนรึเปล่า คุณโคมัตสึเลือกคุยเรื่องโภชนาการ ขั้นตอนนี้เรียกว่าสมอลล์ทอล์ก (small talk)

การพูดคุยสมอลล์ทอล์กนี้เป็นการเตรียมตัวผู้ป่วย ห้องที่คุณโคมัตสึใช้นี้มีโปสเตอร์รณรงค์ป้องกันความรุนแรงติดไว้บนฝาผนังด้วย มากกว่านี้นี่คือขั้นตอนเตรียมตัวเอง ผู้ให้ความช่วยเหลือซื้อเวลาให้ตัวเองพักหนึ่งแต่อย่านานเกินไป

หากนานเกินไปเท่ากับส่งสัญญาณให้ผู้มารับความช่วยเหลือรู้ว่าเราหวั่นไหว ไม่มั่นคง ส่งผลสะเทือนถึงแร็พพอร์ตให้คลอนแคลนตามไปด้วย

จากนั้น จู่โจมด้วยความนิ่ง

การ์ตูนก็เขียนได้อย่างชาญฉลาดและเป็นงาน หลังจากคุณโคมัตสึถามคำถามนั้นออกไป “สามีของคุณใช้ความรุนแรงกับคุณรึเปล่าคะ” ภาพก็ตัดไปฉากอื่น ไม่ให้นักอ่านรู้ว่าจะเกิดอะไร เหมือนนักเขียนทำการบ้านมาแล้วว่าจะไม่เกิดอะไร เพราะเรามิได้คาดหวังว่าจะเกิดอะไร

นี่เป็นแค่ขั้นตอนแรกๆ ที่มืออาชีพ (professionals) ทำงาน

 

หญิงสาวนั้นเดินออกจากโรงพยาบาลพร้อมสามี เธอชื่อเรียวกะ ฮาเซคาว่า สามีให้เงินเธอแล้วบอกให้เธอไปผ่อนคลายกับเพื่อนบ้าง “จะได้ไม่เครียดเกินไป” ซื้อกับข้าวมาฝากด้วยนะ เรียวกะพูดว่าจะกลับบ้านหกโมงนะ

เรียวกะกลับมาถึงบ้านหกโมงครึ่ง สามีนั่งรอ ชี้ให้ดูบ้านที่สกปรกเลอะเทอะไม่เก็บกวาด แล้วนี่หกโมงเท่าไรแล้ว พอเธอพยายามอธิบายก็ถูกจิกหัว ทำร้าย จากนั้นตามด้วยคำขอโทษ

นี่คือวงจรร้ายในบ้าน บุคคลเช่นนี้มิใช่ผู้ป่วย

คุณเรียวกะไปพบคุณหมอโคโนะโดริในวันถัดมา พร้อมรอยแผลที่รอบดวงตา คุณหมอเชิญเธอพบพยาบาลผดุงครรภ์และนักสังคมสงเคราะห์อีก ระบบถูกเปิดสวิตช์แล้ว นักสังคมสงเคราะห์มุคาอิได้รับการแจ้งเอาไว้ล่วงหน้า

ในห้องให้คำปรึกษา คุณโคมัตสึแนะนำตัวคุณมุคาอิอย่างเป็นทางการ นั่นเท่ากับได้ส่งผ่านสายแร็พพอร์ตมาที่บุคลากรมืออาชีพอีกคนหนึ่ง คุณมุคาอิแนะนำตัวเอง เธอไม่จำเป็นต้องสมอลล์ทอล์กอีก เพราะบัดนี้ความช่วยเหลือได้ถูกจัดตั้ง (established) ขึ้นมาแล้ว เธอถามเรื่องแผลใหม่ที่ดวงตาได้เลย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่คุณเรียวกะว่าตัวจริงมาแล้ว

“ฉันไม่ดีเองค่ะ” คุณเรียวกะพูด

คุณมุคาอิรู้ว่าคำพูดนี้มิใช่คุณเรียวกะพูดเอง เป็นสามีของเธอทำให้เธอเชื่อเช่นนั้นตลอดมา “เธอผิดเองนะ ที่ทำให้ฉันโกรธ” นี่เป็นความสามารถของบุคคลที่มีบุคลิกภาพผิดปกติในการควบคุมหรือบงการ (manipulate) คนรอบข้าง

“ความรุนแรงในครอบครัวมีทั้งความรุนแรงทางร่างกาย ทางจิตใจ ทางเพศ และทางเศรษฐกิจ”

ทางร่างกายคือทำร้ายร่างกายตรงๆ ทางจิตใจ เช่นที่สามีของคุณเรียวกะสามารถควบคุมจิตใจของเธอ ทางเพศ เช่น ที่แท้แล้วเป็นไปได้ว่าคุณเรียวกะมิได้อยากจะตั้งครรภ์ หรือถูกทำให้เชื่อว่าหากตนเองมีลูกแล้วสามีจะเปลี่ยนไปในทางที่ดี ทางการเงินคือเรื่องที่หญิงไทยจำนวนมากไม่รู้ว่าตนเองกำลังประสบอยู่

ความตอนนี้เป็นคุณมุคาอิพูดกับคุณเรียวกะ แต่คงต้องการให้นักอ่านฟังเสียมากกว่า

 

คุณเรียวกะนึกถึงภาพที่สามีดูแลเธอในหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา เธอพูดต่อไปด้วยความบริสุทธิ์ใจและเชื่อในสิ่งที่ตนเองพูด “ปกติเขาเป็นคนที่อ่อนโยนมากๆ เลยค่ะ แต่ฉันไปทำให้เขาโกรธเข้า เป็นความผิดของฉันเองค่ะ” ตามด้วย “ถ้าเด็กคนนี้คลอดออกมา เขาจะไม่ทำรุนแรงอีกแล้วแน่นอนค่ะ”

คุณโคมัตสึเดือดลุกขึ้นเถียง คือสิ่งที่มืออาชีพจะไม่ทำ เธอคงต้องกลับไปเข้าคอร์สฝึกอบรมใหม่ เมื่อเราเถียง คุณเรียวกะจะตั้งการ์ดทันที!

“ถ้าฉันไม่เชื่อใจสามี แล้วใครจะเชื่อใจเขาล่ะคะ!” ทั้งนี้ โดยที่คุณเรียวกะพอทราบแล้วว่าสามีของเธอมิได้มาจากครอบครัวที่ดีเท่าไรนัก

ถึงตอนนี้ เราจะเห็นว่าคุณเรียวกะใช้กลไกป้องกันตัวทางจิตถึง 2 ชั้น

ชั้นที่หนึ่ง คือฝันหวาน (fantasy) หรือฝันกลางวัน (day dreaming) ว่าสามีจะดีขึ้นเองเมื่อมีลูก เหมือนที่คนจำนวนมากมักเชื่อว่าจับมันแต่งงานแล้วมันจะดีเอง

ชั้นที่สอง คือให้ข้ออ้าง (rationalisation) แก่ตัวเองว่าเธอต่างหากที่กำลังทำหน้าที่ปกป้องสามี ชั้นที่สองนี้เกิดขึ้นเมื่อคุณโคมัตสึรุกรานสามีของเธอตรงๆ ด้วยอารมณ์โกรธ จะต่างอะไรกับที่สามีของเธอทำกับเธอ

“การกระทำรุนแรงนั้นเป็นการกระทำเพื่อที่จะปกครองอีกฝ่ายโดยไม่มีเหตุผล” คุณหมอโคโนะโดริพูดนอกรอบในเวลาต่อมา “ผมจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเด็กทารก ต่อให้เขาจะต้องกลายเป็นเด็กไม่มีพ่อก็ตาม”

คุณมุคาอิเลื่อนภารกิจของตนเองต่อไปที่ขั้นที่สาม เธอไม่เสียเวลาโต้เถียงหรือเอาชนะคะคานคุณเรียวกะ นั่นมิใช่มืออาชีพ

เอาใหม่ ทบทวน

 

ขั้นที่ 1 สร้างแร็พพอร์ต ความสัมพันธ์ที่ให้เกียรติและเท่าเทียม เรามิได้อยู่เหนือ (above) ผู้ต้องการความช่วยเหลือ และแม้ว่าเขาจะไม่ต้องการให้ช่วยหรือพยายามทำลายความสัมพันธ์นี้ก็ตาม

ขั้นที่ 2 เผชิญด้วยปัญหาที่ตรงประเด็น ทำให้ผู้มารับความช่วยเหลือรู้ว่าเรารู้อะไร

ขั้นที่ 3 วางความช่วยเหลือ แล้วรอ

คุณมุคาอิปิดบทสนทนาด้วยการวางแผ่นพับและบอกข้อมูลเกี่ยวกับบ้านหลบภัยฉุกเฉินที่คุณเรียวกะจะได้ใช้ทันทีเมื่อต้องการ คุณมุคาอิรู้ดีว่าคุณเรียวกะจะต้องการแน่เมื่อถึงเวลา เธอต้องการตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพียงแต่ยังมิสามารถเปล่งวาจาออกมา

“ช่วยด้วยค่ะ” คุณเรียวกะเปล่งวาจาเมื่อคุณหมอโคโนะโดริกำลังจะลุกเดินออกไปหลังจากมาตรวจครรภ์เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กในครรภ์ยังดีอยู่ คุณเรียวกะถูกทำร้ายอีกครั้งเมื่อสามีจับได้ว่าเธอไปพบนักสังคมสงเคราะห์มา

ครั้งนี้เธอดั้งจมูกและกระดูกซี่โครงหัก

 

ขอให้นึกถึงการช่วยเหลือผู้ที่ตั้งใจจะฆ่าตัวตายในตอนที่แล้ว หลักการเดียวกันคือเราสร้างความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม การยอมรับว่าตนเองจะปลิดชีวิตตนเองมิใช่เรื่องเสื่อมเกียรติ จากนั้นเราเผชิญผู้ป่วยด้วยข้อมูลที่ชัดเจนว่าเรารักษาได้ ตามด้วยขั้นที่สามคือวางช่องทางความช่วยเหลือลงบนโต๊ะ เช่น ยื่นใบนัดให้ผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตายรับด้วยมือของตนเอง แล้วพูดว่า “ผมจะรอ” ความช่วยเหลือพร้อมเสมอ

คุณเรียวกะจะถูกย้ายไปซ่อน และทำการคลอดที่อื่น หลังจากนั้นการ์ตูนมิได้เล่าต่อว่าเรื่องทำนองนี้ในประเทศญี่ปุ่นมักจะจบอย่างไร

“ครอบครัวคืออะไรกัน” คุณเรียวกะเอ่ยขึ้น

“คุณมีครอบครัวอยู่ใกล้ตัวคุณที่สุดอยู่แล้ว ไม่ใช่หรือครับ” คุณหมอโคโนะโดริว่า

บทความนี้ใช้คำว่าคุณนำหน้าคนทุกคนเมื่อทำงานในโรงพยาบาล รวมทั้งนำหน้าเรียวกะเมื่อเธออยู่ในโรงพยาบาล เพราะทุกคนในระบบนี้มีความเท่าเทียมกัน

“การกระทำรุนแรงนั้นเป็นการกระทำเพื่อที่จะปกครองอีกฝ่ายโดยไม่มีเหตุผล”

จะระดับบ้านหรือระดับประเทศ ต่างกันตรงไหน