ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 กุมภาพันธ์ 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | เสฐียรพงษ์ วรรณปก |
เผยแพร่ |
วิธีคิดแบบแยกประเด็น
วิธีที่ 10 เป็นวิธีสุดท้ายก็คือ คิดแบบแยกแยะ หรือคิดแยกประเด็น เป็นประเด็นๆ ไป เรียกตามศัพท์เทคนิคว่า วิภัชชะ หรือวิภัชวิธี
ว่ากันว่า การมองอะไรทุกแง่ทุกมุม ทำให้เข้าใจอะไรได้ดีและถูกต้อง เวลาใครถามก็สามารถตอบได้ถูกต้อง เพราะรู้จักแยกแยะประเด็นตอบ ตรงข้ามกับการตอบคลุมๆ โอกาสจะถูกมีน้อย อย่างมากก็ถูกแบบกำปั้นทุบดิน คือเอากำปั้นทุบลงดิน ทุบที่ไหนก็ถูกดินทั้งนั้นแหละ ไม่อัศจรรย์อะไร
พระพุทธเจ้าทรงเรียกคำสอนของพระองค์ทั้งระบบในบางครั้งว่า “วิภัชวาท” เรียกพระองค์เองว่า “วิภัชวาที” เพราะวิธีการของพระพุทธศาสนาไม่สนับสนุนให้ใครมองอะไรคลุมๆ ตีขลุมเอาแบบกำปั้นทุบดิน
เมื่อพุทธศตวรรษที่ 3 พระมหาราชพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า อโศกมหาราช ครองราชย์ที่เมืองปาตลีบุตร แห่งชมพูทวีป แรกๆ พระเจ้าอโศกก็มิได้นับถือพระพุทธศาสนา
พระองค์เล่าว่า (เล่าไว้ในศิลาจารึก) เมื่อพระองค์ยกทัพไปตีเมืองกลิงครัฐ ทอดพระเนตรเห็นคนล้มตายเป็นจำนวนมาก ก็ทรงสลดพระราชหฤทัย ที่ทรงเป็นเหตุให้คนล้มตายเป็นพันเป็นหมื่นชีวิต จึงหันมานับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่เน้นความไม่รุนแรง และการไม่เบียดเบียน
แต่มีข้อมูลอีกกระแสหนึ่งว่า พระเจ้าอโศกทรงสดับธรรม เรื่อง “ความไม่ประมาท” จากสามเณรน้อยนามนิโครธ ผู้เป็นพระภาคิไนย (หลาน) ของพระองค์เอง ทรงเกิดความเลื่อมใส ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ว่ากันอย่างนั้น
ความจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม เป็นอันว่าในที่สุดพระเจ้าอโศกก็เป็นชาวพุทธ อาจเป็นด้วยว่า พระองค์ทรงรู้สึกว่าพระองค์เคยทำบาปมามาก พอมาเป็นชาวพุทธจึงทรงสร้างบุญกุศลมากมาย สร้างวัดแปดหมื่นสี่พันวัด สร้างพระเจดีย์สี่หมื่นแปดพันองค์ ทรงถวายความอุปถัมภ์พระภิกษุด้วยจตุปัจจัยไทยธรรมเป็นจำนวนมาก
พระสงฆ์องค์เจ้าก็ไม่มีความลำบากในเรื่องอาหารบิณฑบาต ปฏิบัติกิจศาสนาอย่างสะดวก
คนต่างศาสนาเห็นว่าพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาอยู่ดีสบายอยากสบายอย่างนั้นบ้าง จึงพากันมาปลอมบวชเป็นจำนวนมาก
บวชมาแล้วก็มิได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน มิได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
เพราะพวกเขามิได้บวชด้วยความเลื่อมใสนี่ครับ เมื่อไม่เรียนก็ไม่รู้เป็นธรรมดา จึงสอนธรรมผิดๆ ถูกๆ สร้างความสับสนขึ้นในพระพุทธศาสนา ดังภาษาศาสนาว่า เกิด “สัทธรรมปฏิรูป” (สัทธรรมปลอม) ขึ้นในพระศาสนา
พระสงฆ์จึงขอแรงพระเจ้าอโศกมหาราชช่วยชำระสะสางพระศาสนา (หรือ “สังคายนา”) โดยเรียกพระมาสอบทีละรูปๆ ข้อสอบที่ออกเป็นคำถามแบบ “อัตนัย” คือถามคำถามเดียวว่า พระพุทธเจ้าทรงมีวาทะอย่างไร หรือพระพุทธเจ้าตรัสสอนวิธีไหน
ถ้ารูปใดไม่ตอบว่า “วิภัชวาท” (แยกประเด็นตอบ) ปรับตกหมดแม้ตอบได้ว่า วิภัชวาท แต่อธิบายและยกตัวอย่างไม่ได้ว่าเป็นอย่างไรก็ตกอีกเหมือนกัน ผู้ที่สอบตกถูกจับสึกหมด
ว่ากันว่ามีเป็นหมื่นๆ รูปทีเดียว
วิภัชวาท หมายถึงการรู้จักแยกประเด็น แยกเรื่อง ไม่ตีขลุมรวมๆ กันไป ไม่ว่าจะเป็นการมองหรือตอบปัญหา ขอยกตัวอย่าง การโต้ตอบสนทนากันในชีวิตประจำวันก็แล้วกัน บางทีจะเห็นชัดขึ้น
คนสองคนนั่งถกเถียงกันด้วยเรื่องต่างๆ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ จนกระทั่งเรื่องใหญ่โต แบบที่ว่า “ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ”
คนที่หนึ่งเอ่ยขึ้นว่า “รัฐบาลชุดนี้แย่มาก รัฐมนตรีแต่ละคนทุจริตคอร์รัปชั่นฉิบหาย”
คนสองทักว่า “โทษแต่รัฐบาลหรือรัฐมนตรีไม่ได้ดอก ต้องโทษบรรดาพวก ส.ส. เพราะรัฐมนตรีมาจาก ส.ส.”
เมื่อถามว่าหมายความว่าอย่างไร คนที่สองนี้จึงขยายความว่า “ก็พวก ส.ส.นั้นเข้าสภามาด้วยการซื้อเสียงทั้งนั้น เมื่อคนคอร์รัปชั่นมาเป็นรัฐมนตรี รัฐบาลมันก็แย่อย่างที่เห็นนี่แหละ”
คนแรกพูดอย่างตีขลุม ไม่แยกประเด็นมองแม้แต่นhอย เหมาเอาเลยว่า รัฐบาลนี้แย่ รัฐมนตรีทุกคนคอร์รัปชั่น รัฐมนตรีคอร์รัปชั่นอาจมีแต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นอย่างนั้นทุกคน
คนที่สองดีกว่านิดหน่อยที่มองว่า ไม่ควรโทษรัฐมนตรี ควรโทษ ส.ส. อย่างน้อยส่อให้เห็นว่ารู้จักมองแบบสืบสาวหาเหตุ แต่ก็ยังตีขลุมหรือเหมารวมเช่นเดิมว่า ส.ส.ทุกคนซื้อเสียงด้วยกันทั้งนั้น การมองอย่างนี้คับแคบ และมีส่วนผิดมากกว่าถูก
เพราะความจริงแล้ว คนที่เข้าสภามาอย่างขาวสะอาด ไม่ซื้อเสียงเลยก็มี
พวกที่อยู่แวดวงการเมือง ก็มักดูถูกนักการเมืองว่ากะล่อน พูดจาไม่อยู่กับร่องกับรอย พูดง่ายๆ ว่า “โกหกเป็นไฟทีเดียว” จนถึงกับพูดว่า นักการเมืองพูดจาเชื่อถือไม่ได้
ถ้าไปถามนักการเมือง นักการเมืองก็จะบอกว่า อย่าไปเหมาเอาอย่างนั้น นักการเมืองที่เขาพูดคำไหนคำนั้น ไม่กะล่อน ไม่ลื่นไหลไปมาก็มีมิใช่น้อย พูดแล้วก็ได้แต่ก้มมองตัวเอง ทำนองจะให้เข้าใจว่า “อย่างน้อยก็มีผมนี่คนหนึ่งละ เป็นคนตรงไปตรงมา ไม่กะล่อน ว่าอย่างนั้นเถอะ”
แต่นักการเมืองก็ตัวดีเหมือนกัน ชอบบอกให้คนอื่นรู้จักแยกแยะ ไม่ควรเหมารวม แต่พวกเขาเอง เมื่อพูดกับนักการเมืองต่างพรรคก็มักจะเหมารวมเช่นกัน ตัวอย่างเรื่องจริงที่เกิดขึ้นทุกครั้งหลังการเลือกตั้ง
นักการเมืองทุกพรรคต่างซัดทอดกันว่าซื้อเสียง หัวหน้าพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองนั่งออกทีวีด้วยกัน ถูกพิธีกรถามว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงกันมากไหม
แต่ละคนก็บอกว่ามีการซื้อเสียงกันมากมายจริงๆ เมื่อถามว่าพรรคไหนซื้อเสียงก็ตอบว่า ไม่ใช่พรรคผม พรรคอื่น ถามตัวแทนพรรคอื่นๆ ต่างก็ตอบว่าไม่ใช่พรรคผม
ตกลงในประเทศมีพรรคการเมืองอยู่ (สมมติว่ามี) 8 พรรค แต่ละพรรคก็ว่ามีการซื้อเสียง แต่ต่างปฏิเสธว่าพรรคตนไม่ซื้อเสียง คนฟังก็สับสน สับสนว่ามันเป็นไปได้อย่างไร เมื่อยอมรับว่า “มีการซื้อเสียง” แต่เมื่อให้ชี้ว่า “ใคร” ก็ตอบไม่ได้ คำพูดของนักการเมืองเหล่านี้จึงกลายเป็น “ปรัชญา” ที่ลึกซึ้งเอามากๆ คือ ปรัชญาข้อที่ว่า
มีแต่การซื้อเสียง แต่ไม่มีผู้ซื้อเสียง
ไม่ต่างอะไรกับคนที่นั่งร่วมวงกันอยู่ มีเสียงผายลม และกลิ่นโชยออกมา ต่างคนต่างมองหน้ากันล่อกแล่ก ถามว่า ใครตด ปรากฏว่าไม่มีใครยอมรับ จึงมีคนพูดประชดว่า ถ้าอย่างนั้นผีตดกระมัง (บางทีคนประชดอาจเป็นตัวการที่ปล่อยลมพิษนี้ออกมาก็ได้)
ปรัชญาลึกซึ้งเหมือนกัน คือ มีแต่การตด แต่ไม่มีผู้ตด
พระพุทธศาสนาจึงสอนว่า ถ้าอยากจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ต้องรู้จักมองรู้จักคิดแบบแยกแยะ อย่าตีขลุมหรือเหมารวม หลักธรรมสำคัญที่เน้นเรื่องนี้ อริยสัจ กับ อิทัปปัจจยตา อริยสัจ สอนวิธีแก้ปัญหาได้ดีมาก คือสอนว่า การจะแก้ปัญหาได้ ต้องเริ่มด้วยการมองให้เข้าใจว่า ตัวปัญหาคืออะไร และสาวไปถึงสาเหตุว่า สาเหตุของปัญหานั้นคืออะไรบ้าง เมื่อรู้แล้วก็แก้ได้ง่าย
คำว่า “อะไรบ้าง” นั้นฝึกให้เรามองกว้างๆ ให้เข้าใจทุกสาเหตุทุกๆ ประเด็น เพราะไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นจากสาเหตุเดียว มองไม่ดีอาจไม่พบ แต่ถ้ามองให้ดี มองอย่างรอบคอบ แล้วจะพบว่ามันมีสาเหตุมากมาย
เอาแค่ตัวอย่างง่ายๆ ลูกชายเราสอบตก ถ้าถามว่า ทำไมลูกมันสอบตก มองแคบ ๆ ก็ว่า เพราะลูกมันไม่ใส่ใจเรียน ทำไมไม่ใส่ใจเรียน เพราะมัวแต่เล่นเกมคอมพิวเตอร์ พ่อมันซื้อคอมพิวเตอร์มาให้มัน ลูกมันก็เลยเพลิน เอาแต่เล่นเกมไม่สนใจเรียนหนังสือ
สรุปก็คือ ลูกสอบตกเพราะคอมพิวเตอร์เป็นสาเหตุ
แต่ถ้ามองให้ละเอียดแล้ว มิใช่คอมพิวเตอร์แต่เพียงอย่างเดียว สาเหตุมาจากเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ต้องบอกก็คงนึกออกเป็นฉากๆ ใช่ไหมครับ
การสอนให้รู้จักมองให้ตลอดสาย สาวหาเหตุหาปัจจัยอย่างนี้แหละ คือ อิทัปปัจยตา ถ้าคนเราฝึกคิด ฝึกมองแยกแยะ สืบสาวหาต้นตอของเรื่อง มองให้กว้างครอบคลุม มองให้ทะลุตลอดสาย ก็จะกลายเป็นคนที่มีวิธีคิดแบบ “วิภัชวาท” โดยอัตโนมัติ
คนที่มองแบบวิภัชวาท จะเข้าใจความจริง เข้าใจโลก เข้าใจชีวิต เข้าใจคน และจะเป็นคนมีเมตตากรุณาต่อคนอื่นอย่างประหลาด เกิดอะไรขึ้นก็ไม่คิดโทษคนอื่นถ่ายเดียว หากเห็นว่า ถ้าจะเอาผิดตนก็ผิดด้วย แล้วก็มีความคิดที่จะ “อภัย” ดังบทกวีว่า
เขากล่าวผรุสวาทต่อข้า ข้าให้อภัย
เดินหลีกไปด้วยปราโมทย์
แต่แล้วก็อดโทษตัวเองมิได้
ที่ทำให้เขาโกรธกล่าวคำหยาบ
จนเสียกิริยาสุภาพชน