ต่างประเทศ : “เอไอ” สงครามเทคโนโลยีสหรัฐ-จีน

ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ล้ำหน้ามากขึ้นทุกวัน นับย้อนไปตั้งแต่เอไอที่มีชื่อว่า “ดีพบลู” ที่สามารถเล่นหมากรุกเอาชนะแชมป์หมากรุกไปได้ในปี 1996 เรื่อยมาจนถึง Alphago เอไอที่สามารถเล่นโกะ เกมวางหมากอันซับซ้อน โค่น “เค่อ เจีย” แชมป์โลกคนล่าสุดไปได้เมื่อปี 2017

ล่าสุดในปี 2019 “เอไอ” ภายใต้ “โปรเจ็กต์ดีเบตเตอร์” พัฒนาโดยไอบีเอ็มของสหรัฐสามารถโต้วาทีแข่งกับมนุษย์ได้อย่างสูสี

ขณะที่ในเวลาไล่เลี่ยกันฟากฝั่งของจีนก็พัฒนาเอไอที่สามารถวินิจฉัยโรคในเด็กได้อย่างแม่นยำไม่แพ้แพทย์ที่เป็นมนุษย์ได้

เวทีแข่งขันอันร้อนแรงของเทคโนโลยีเอไอ โดยเฉพาะสหรัฐและจีนนั้นอาจมองได้ว่าเป็นสงครามเทคโนโลยีที่สหรัฐกุมความได้เปรียบในฐานะผู้บุกเบิกและผู้นำในการพัฒนา

ทว่าเวลานี้อาจกำลังถูกจีนโค่นแชมป์ลงในอีกไม่นาน

 

คําสั่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกามุ่งเน้นการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ให้มากยิ่งขึ้น เป็นข้อพิสูจน์ว่า “เอไอ” นั้นเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่สำคัญยิ่ง

ทรัมป์ลงนามในคำสั่งผู้บริหารที่มีชื่อว่า “The American AI Initiative” ให้รัฐบาลสหรัฐทุ่มเททรัพยากรทั้งหมดที่มีเพื่อช่วยส่งเสริมนวัตกรรมเอไออย่างเต็มที่

แถลงการณ์จากทำเนียบขาวระบุว่า “ในขณะที่ความก้าวหน้าของเอไอมีเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก เราไม่สามารถอยู่เฉยๆ และถือว่าเราจะสามารถรับประกันความเป็นผู้นำของเราเอาไว้ได้”

แน่นอนว่านโยบายดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการตอบสนองต่อความห่วงกังวลต่อจีน ที่อาจจะขึ้นมาครองตำแหน่งผู้นำเทคโนโลยีเอไอแทนสหรัฐ ผลจากแนวนโยบายยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน รวมไปถึงการเพิ่มการลงทุนอย่างมหาศาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แถลงการณ์ของทำเนียบขาวระบุว่า แผนดังกล่าวนั้นมีขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเอไอ ด้วยการทำให้ทรัพยากรนั้นมีอย่างเพียงพอสำหรับนักวิจัย มีการวางกรอบแนวปฏิบัติสำหรับการออกกฎหมาย สนับสนุนเนื้อหาด้านเอไอในระบบการศึกษา และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐ

แม้แถลงการณ์จะไม่ได้พูดถึง “จีน” แต่ก็เป็นการเรียกร้องให้มีการทำแผนแม่บทเพื่อปกป้องความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเอไอ และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของสหรัฐจาก “คู่แข่งขันทางยุทธศาสตร์และปฏิปักษ์ต่างชาติ”

อย่างไรก็ตาม คำสั่งประธานาธิบดีของทรัมป์ก็ถูกวิจารณ์ว่ายังคงมีความไม่ชัดเจนถึงเรื่องยุทธศาสตร์ และเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้จ่าย

 

เมื่อมองไปที่ประเทศจีน ชัดเจนว่าจีนนั้นมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน โดยรัฐบาลได้กำหนดแผนแม่บทในการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2017 ซึ่งถูกเรียกว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” เป็นแผน 3 ขั้นคือ การพัฒนาเทคโนโลยีเอไอให้เทียบเท่าสหรัฐภายในปี 2020 พัฒนาไปสู่การค้นพบสิ่งใหม่ครั้งใหญ่ในปี 2025 และเป็น “ผู้นำของโลก” ในด้านเทคโนโลยีเอไอภายในปี 2030 ภายใต้งบประมาณมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน หรือราว 4.63 ล้านล้านบาท

จีนก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อล่าสุด บริษัทวิจัยซีบีอินไซต์ พบว่าจีนกลายเป็นประเทศที่มีบริษัท “สตาร์ตอัพ” ในด้านปัญญาประดิษฐ์ที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจำนวนมากที่สุดในโลก หรือคิดเป็นกว่าครึ่งของบริษัทที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอไอทั่วโลก

บริษัทด้านเทคโนโลยีจดจำใบหน้าของจีน 2 บริษัทอย่าง SenseTime และ Face++ เป็นสองบริษัทที่มีกองทุนรวมตราสารทุนมากที่สุด

ขณะที่บริษัทระดับท็อปของจีนที่อยู่ในลิสต์ เช่น Yitu Technology และ 4Paradigm สองบริษัทปัญญาประดิษฐ์ และบริษัทรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติอย่าง Pony.ai และ Momenta เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังร่วมมือกับภาคเอกชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในยุทธศาสตร์การวิจัยแห่งชาติโดยเลือกเอาห้าบริษัทยักษ์ใหญ่เป็นผู้นำในการพัฒนาด้านต่างๆ

เช่น Baidu บริษัทเซิร์ชเอนจิ้นชื่อดัง เน้นไปที่การพัฒนาระบบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ Alibaba Group Holding บริษัทด้านอีคอมเมิร์ซ เน้นไปที่เรื่องเมืองอัจฉริยะ บริษัท Tencent Holding บริษัทโซเชียลมีเดียและอุตสาหกรรมเกมเน้นไปที่ระบบการวินิจฉัยโรคด้วยเอไอ

ขณะที่ iFlytek ให้เน้นไปที่ระบบสั่งการด้วยเสียงที่เชี่ยวชาญ ขณะที่บริษัท Sense Time จะเน้นไปที่ระบบการมองเห็นอัจฉริยะ

 

แนวโน้มการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเอไอ เห็นได้ชัดว่าเป็นผลมาจากการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังของจีน โดยองค์กรที่ยื่นจดสิทธิบัตรมากที่สุดในโลก 500 อันดับนั้นเป็นมหาวิทยาลัยและองค์กรวิจัยที่มาจากประเทศจีนจำนวนถึง 1 ใน 5

นอกจากนี้ยังมีองค์กรของจีนที่ติดอันดับในการผลิตผลงานวิจัยด้านเอไอมากที่สุดในโลกจำนวนมากถึง 10 จากทั้งหมด 20 อันดับด้วย โดยอันดับหนึ่งคือ Chinese Academy of Science ที่จดสิทธิบัตรมากถึง 2,500 ฉบับ และมีการตีพิมพ์ผลงานวิชาการมากถึง 20,000 ฉบับเลยทีเดียว

แนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่าจีนกำลังเดินในเส้นทางที่จะก้าวไปสู่มหาอำนาจของโลกในด้านปัญญาประดิษฐ์ในเวลาอันใกล้

และสหรัฐเองก็คงต้องเน้นไปที่การวางยุทธศาสตร์พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ภายในอย่างจริงจังและเร่งด่วน