คำ ผกา | คำคมเฉิ่มโบ๊ะ

คำ ผกา

อีแร้งบินสูง แต่เวลาหิวก็โฉบลงมากินหมาเน่า

เปรียบดั่งคนมีการศึกษาสูง

พอตัณหาเกิดก็ทำอะไรต่ำๆ

เหมือนคนไม่มีการศึกษาเลย

https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1357105

ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมในวัด หรือในที่สาธารณะของไทย มักนิยมติดป้าย คำสอน หรือคำคม เช่น ในวัดเรามักเจอป้ายคำสอนประเภท

“ใหญ่แค่ไหนก็เล็กกว่าโลงศพ”

“คนเก่งมีมาก ที่หายากคือคนดี”

“คนเก่งที่เห็นแก่ตัว คือคนชั่วที่เป็นภัยสังคม”

ฯลฯ

สำหรับคนที่เคร่งครัดเรื่องความงามหูงามตา เวลาเดินไปในสวนที่แสนจะร่มรื่น แล้วเจอป้ายคำสอนคำคมเหล่านี้ติดอยู่ตามต้นไม้ไปเรื่อยๆ อันดับแรกคือ รู้ว่ามันรกหูรกตา มันทำลายความงามของธรรมชาติ ต้นไม้ ใบไม้ เขาอยู่ของเขาสวยๆ จะเอาป้ายน่าเกลียดๆ เหล่านี้ไปติดให้เกลื่อนกลาดทำไม

นอกจากนี้ยังรู้สึกรำคาญว่าจะมาสั่งสอนอะไรนักหนา ทำไมต้องมายัดเยียดสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าดีว่างามใส่สมองคนอื่น

หยาบกว่านั้นก็อยากจะถามต่อไปว่า คนที่คัดเลือกข้อความเหล่านี้มาติดคิดว่าตัวเองเป็นใคร ทำไมถึงเชื่อว่าการคัดสรรของตนเองมันเจ๋งมาก มันดีมาก มันถูกต้องมากจนอยากให้ใครๆ ได้อ่าน ได้รู้ ได้เรียน

ความพังที่สุดของคำคมเหล่านี้คือความพังในเชิงตรรกะ

แต่คนอ่านที่ขาดสติจะเพลิดเพลินไปกับการคล้องจองของเสียงแบบกลอนแปด ซึ่งเป็นเหมือน earworm ของคนไทย มันคุ้นหูมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก

เมื่อเพลิดเพลินกับเสียงก็ไม่ค่อยจะตั้งคำถามกับความหมาย

และยิ่งความหมายของคำคมเหล่านั้นไปสอดคล้องกับค่านิยมกระแสหลักที่ถูกสถาปนาให้กลายเป็น “ความจริง” ตามคติของไทย หรือพูดให้หรูหราว่ามันสอดคล้องกับ grand narrative แบบไทย เช่น grand narrative ว่าด้วยสงครามระหว่างธรรมะกับอธรรม ในพล็อตที่ทำให้เราถูกผลักไปอยู่ใน false dilemma คือทางสองแพร่งที่ไม่มีอยู่จริง เช่น ระหว่างผู้นำที่เป็นคนดีที่ไม่เก่ง กับคนเก่งที่ไม่ดี เราจะเลือกอะไร?

คนไทยส่วนหนึ่งจะไม่เฉลียวใจว่า ทำไมมันต้องมีแค่สองทางให้เลือกวะ

และในโลกนี้ เราจะแบ่งคนออกเป็นแค่คนเก่งกับคนดีหรือ?

โดยทั่วไป เรามีมนุษย์ที่เก่งบางอย่าง ไม่เก่งบางอย่าง มีความดีบางประการและย่อมมีด้านมืดด้านชั่วบางประการเป็นสามัญของมนุษย์มิใช่หรือ

ส่วนการเลือกผู้นำนั้น เกษตรกรอาจมองว่าคนที่มาทำนโยบายสินค้าการเกษตรได้คือคนเก่ง ส่วนแรงงานในเมือง อาจจะมองว่าคนที่ทำเรื่องรัฐสวัสดิการได้คือคนเก่ง หรือคนที่เบื่อหน่ายความขัดแย้ง อาจจะมองว่าคนที่เก่งคือคนประนีประนอมสามารถทำงานได้ทุกฝ่าย เป็นต้น

แค่นี้เราก็เห็นว่า กลลวงของคำคมเหล่านี้อยู่ตรงที่การใช้คำที่มีความหมายเลือนราง เบลอ กว้างๆ เป็นคำที่ไม่ precise จับไม่มั่น คั้นไม่ตาย ซึ่งฉันขอเรียกว่าเป็น “คำแถ” ยิ่งคำว่า “คนดี” ยิ่งมีปัญหาเข้าไปใหญ่ เพราะเราไม่มีวันรู้เลยว่า นิยามของคำว่า “คนดี” คืออะไรกันแน่

คนที่เคร่งศาสนา ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ รักครอบครัว ไม่โกง ไม่กิน ไม่โกหก แต่เป็นคนที่สันโดษ ไม่มีสังคม ไม่มีเพื่อนฝูง ไม่รู้วิธีการทำงานกับคนอื่น มัธยัสถ์ สมถะ เก็บตัว

ถามว่าเราจะเลือกคนดีแบบนี้มาทำงานการเมือง หรือเป็น ส.ส.หรือไม่? (ซึ่งคนแบบนี้ก็คงไม่อยากทำงานการเมือง)

นี่ยังไม่นับว่า มี “คนดี” ประเภท มือถือสากปากคาบคัมภีร์เยอะมากในสังคมนี้

มีคนที่ perform ความดี เช่น ชอบอ้างธรรมะ ชอบโควตคำพูดหรือคำสอนของพระอาจารย์ดังๆ ชอบเทศนาให้คนเป็นคนดี คนเหล่านี้อาจมีพร็อพประกอบความดีเป็นเครื่องแบบ เช่น แต่งตัวด้วยผ้าดิบผ้าฝ้ายให้ดูสมถะ แสร้งทำที่อยู่อาศัยให้กลมกลืนกับธรรมชาติ

บางคนอาจถึงขั้นถือศีลกินเจ พินิจแต่ภายนอกก็เข้าข่ายเป็นคนดี แต่ส่องไปดูพฤติกรรมที่แท้จริงกลับใช้เครื่องแบบ “ความดี” นั้นไปทำมาหากิน ไปเรียกรับเงินบริจาค ไปโกงเงินคนอื่น ไปรับซื้อของคนอื่นมาแล้วไม่จ่ายเงิน หรือจ่ายเงินช้า หรือจ้างคนมาเป็นทีมงาน แล้วปล่อยให้ทีมงานรับหน้าเสื่อเคลียร์เรื่องสกปรกให้ หากสังคมจับได้ก็บอกว่า – อ๋อ ทีมงานพลาดไป – ตัว “คนดี” ก็ลอยหน้าลอยตาต่อไปได้ ใช้ความดี ใช้คำเทศนาหากินต่อไปได้

ส่วนการเมืองไทยนั้นก็ฉิบหายกันมาเยอะแล้ว เพราะคำว่า “คนดี”

เนื่องจากนับครั้งไม่ถ้วนที่เหล่าคนที่อ้างว่าตนเองเป็น “คนดี” ออกมาสนับสนุนรัฐประหาร

ล้มการเลือกตั้งด้วยเหตุผลว่ามี “คนชั่ว” เต็มสภา ต้องการเซ็ตซีโร่ ต้องการปฏิรูปการเมือง ที่สำหรับ “คนดี” ปฏิรูปการเมืองแปลว่า ล้มหลักการประชาธิปไตย

ดังนั้น คำคมที่ว่า “คนเก่งมีมาก ที่หายากคือคนดี” จึงสร้างคู่ตรงกันข้ามที่เป็นภาพลวงตา

นั่นคือ คู่ตรงข้ามระหว่าง คนเก่ง vs คนดี แต่ในโลกแห่งความจริง ไม่มีคู่ตรงข้ามระหว่างสองสิ่งนี้

เช่น เมื่อเรานั่งรถแท็กซี่ สิ่งที่เราต้องการจากคนขับแท็กซี่ เราคงไม่ได้อยากรู้ว่าเขาเป็น “คนดี” หรือไม่

แต่สิ่งที่เราต้องการจากคนขับแท็กซี่คือ เขาขับรถปลอดภัยหรือไม่ เขามีใบอนุญาตขับรถรับจ้างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ รถของเขาติดมิเตอร์ตามกฎหมายหรือไม่

ทีนี้ถ้ามีแท็กซี่ที่รถสะอาด ขับปลอดภัย ติดตั้งอุปกรณ์ในรถตามที่กฎหมายกำหนด แค่นี้เราก็ได้รับความพึงพอใจจากการใช้บริการแท็กซี่แล้ว โดยที่เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเขาเป็นคนดีหรือเปล่า เขาขี้เมาหรือเปล่า เขาเป็นคนชอบเอาเปรียบเพื่อนฝูงหรือเปล่า กลับไปบ้านเขาเป็นพ่อที่ดีของลูก เป็นผัวที่ดีของเมียหรือเปล่า? เขารักษาศีล สวดมนต์หรือไม่?

เช่นเดียวกัน เมื่อเราไปกินกาแฟ เราก็สนใจแค่ว่า พนักงานชงกาแฟให้เราถูกต้องหรือไม่? พูดจาสุภาพกับลูกค้าหรือเปล่า? โดยที่เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเขาเป็น “คนดี” หรือไม่ดี

การจับคู่ตรงกันข้ามระหว่างคนเก่ง vs คนดี จึงเป็นความคลาดเคลื่อนทางตรรกะ ที่ทำให้แถไถลออกไปจากคำว่า “มืออาชีพ” และลืมไปว่าในความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ส่วนตัว เราต้องการแค่ความเป็น “มืออาชีพ” ของคนต่างๆ และทั้งหมดนี้ไม่มีคำว่า “คนดี” อยู่ในสมการจนสามารถเอามาจับเป็นคู่ตรงกันข้ามกันได้เลย

กลับมาที่คนขับแท็กซี่ สิ่งที่จะกำกับให้คนขับแท็กซี่มีความเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่ “ความดี” หรือความเป็น “คนดี”

แต่เป็นการกำกับของระบบ เช่น ระบบของแกร็บ หรืออูเบอร์ ที่มีระบบให้คนขับแท็กซี่และผู้โดยสารสามารถ “รายงาน” ความพึงพอใจของการให้บริการ ทำให้คนที่อยู่ในระบบนี้ต้องแข่งขันกันที่คุณภาพและความเป็นมืออาชีพ

ในฐานะผู้โดยสาร ถ้าเราไม่อยากโดนแบล๊กลิสต์ เป็นผู้โดยสารต้องห้าม เราก็ต้องพูดจาดีมีมารยาท ไม่ขากถุย ข่มขู่คนขับ ส่วนคนขับก็ต้องทำรถให้สะอาด ไม่พาหลง ศึกษาแผนที่ ขับรถปลอดภัย มิเช่นนั้นก็จะไม่ผ่านการประเมินและต้องหลุดออกจากระบบไปโดยปริยาย – และทั้งหมดนี้ไม่มีใครประเมินกันที่ ใครถือศีลกี่ข้อ เป็นคนดีไหม เป็นลูกกตัญญูหรือเปล่า?

พูดง่ายๆ คำว่า “คนดี” นั้นเอาไปใช้ที่บ้านใครบ้านมัน คนบางคนอาจเป็นลูกกตัญญูมาก ได้ชื่อว่าเป็นคนดีของคนในบ้านมาก เป็นพรหมของพ่อของแม่ แถมยังเป็นคนเข้าวัด ธรรมะธัมโม ปล่อยนกปล่อยปลา ชอบช่วยเหลือสัตว์ตกยาก เก็บหมาจรจัดไปเลี้ยง ฯลฯ

แต่ในโลกการทำงานเป็นคนไม่รับผิดชอบ ไม่ส่งงานตามกำหนด ทำงานช้า งุ่มง่าม ขี้เกียจ ทำงานอะไรก็ไม่สำเร็จ ถามว่าเราจะจ้างคนนี้ไว้ทำงานต่อเพียงเพราะเขาเป็น “คนดี” ไหม?

คําว่า “ใหญ่แค่ไหนก็เล็กกว่าโลงศพ” ฟังเผินๆ เหมือนจะเท่ แต่ถ้าเราถามต่อไปว่าแล้วไง?

การบอกว่าคนเราเกิดมาก็ต้องตาย มันแปลกตรงไหน?

มันฉลาดตรงไหน?

เพราะในโลกนี้ไม่มีใครตายบ้าง?

รู้ว่าวันหนึ่งต้องตายแล้วจะให้ทำยังไง?

ให้นั่งหายใจไปเรื่อยๆ ไม่ทำอะไรเพราะวันหนึ่งก็ต้องตายอย่างนั้นหรือ?

ประเด็นคือ คำเหมือนจะคมแบบนี้ เป็นคำพูดที่พูดอีกก็ถูกอีกจนไม่รู้ว่าจะพูดไปทำไม?

สิ่งที่สำคัญสำหรับชีวิตมนุษย์ไม่ใช่เรื่องที่ว่า วันหนึ่งทุกคนก็ต้องตาย เป็นเรื่องที่ว่า ก่อนจะตาย เราจะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์มีศรี ไม่ถูกกดขี่เหยียดหยามหรือถูกละมิดสิทธิในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งต่างหาก

และหากเราไม่ได้รับความยุติธรรม เราก็ต้องเรียกร้องความยุติธรรม ไม่ใช่ถูกละเมิดถูกเอาเปรียบถูกกดขี่กลั่นแกล้งแล้วมาคิดว่า

เออ ไม่เป็นไรหรอก คนที่ใช้อำนาจอันไม่เป็นธรรมกับเรา วันหนึ่งเขาก็ต้องตายเหมือนเรานั่นแหละ เขาไม่ได้ใหญ่อยู่ค้ำฟ้าหรอก-ไม่ใช่มั้ง?

ทีนี้อุปมาอุปไมยประเภท อีแร้งบินสูงแต่เห็นหมาเน่าก็ต้องลงมากินเพราะห้ามในตัณหาของตนไม่ได้ เปรียบดั่งคนมีการศึกษาสูงแต่ทำตัวเหมือนคนไม่มีการศึกษานี่ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะอันดับแรก เมื่ออ่าน “ตัวบท” เช่นนี้ เราต้องตั้งคำถามก่อนว่า จริงเหรอที่ว่าคนไม่มีการศึกษาขาดความยับยั้งชั่งใจ?

ถ้าการโฉบลงไปกินหมาเน่า เปรียบดั่งการปล่อยตัวเองลงต่ำตามตัณหาตามความอยากแล้ว การยั้งใจตนมิให้เตลิดตามตัณหามันขึ้นอยู่กับระดับการศึกษาสูง-ต่ำหรือ?

ถ้าเช่นนั้น คนเรียนปริญญาเอก ย่อมยั้งใจตนไม่ให้ไปตามกิเลสได้มากกว่าคนจบ ป. 4 หรือ?

ถามต่อไปอีกว่า ถ้าเราทำตามตัณหาของเรา แล้วไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร ไม่ผิดกฎหมาย แล้วมันจะมีปัญหาที่ตรงไหน? ถ้าการกินหมาเน่าเป็นรสนิยมส่วนตัวของเรา และหมาเน่านั้นเราก็ไม่ได้ไปขโมยหรือแย่งใครมา แล้วมันผิดตรงไหน? มัน “ต่ำ” ตรงไหน?

ทั้งหมดที่ฉันเขียนมานี้ ไม่ได้บอกว่า “คำคม” เหล่านี้ไร้สาระ

แต่ไม่อยากให้หลงไปในลีลากลอนแปด คำคล้องจอง และบางถ้อยคำที่สอดคล้องกับความเชื่อคำสอนดาษๆ ที่เราได้ยินได้ฟังจนชินหู

ความชินหูจะส่งผลไปสกัดกั้นการใช้ความคิดเชิงเหตุผลและการตั้งคำถามของเรา

จะทำให้เราเคลิ้มแล้วอินไปกับอารมณ์ในถ้อยคำเหล่านั้นโดยอัตโนมัติ

เช่น คำว่า “หมาเน่า” อ่านปุ๊บได้กลิ่นเหม็นสะอิดสะเอียน ทำให้เราเชื่อไปเลยว่า นี่คือการเกลือกตัวลงมาในความเน่าเหม็น ต่ำช้า

ท้ายที่สุดความเหม็นนั้นก็กลบหลักเหตุผลว่า เออ…แล้วจะให้อีแร้งไปกินแอปเปิลเหรอ?

อีแร้งกินหมาเน่า กินศพก็ถูกแล้วไง แล้วทั้งหมดนี้ ไม่ควรจ้องพาโลโฉเกไปที่คนไม่มีการศึกษา หรือการศึกษาต่ำอะไรทั้งสิ้น

ปัญหาเรื่องความ ignorance หรือความเฉิ่มโบ๊ะของคนไทยส่วนหนึ่งก็มาจากการขาดความสามารถในการฉุกคิด ตั้งคำถาม และมักปล่อยตัวไหลไปกับความเชื่อ สุภาษิต คำพังเพยหรือความรู้เชิงโฆษณาชวนเชื่อที่มักจะตกยุคแล้วเป็นส่วนใหญ่

เพื่อจะหลุดจากความเฉิ่มโบ๊ะต่างๆ สิ่งที่เราพึงทำคือ ตั้งคำถามกับมนุษย์จำพวกที่ชอบโพสต์หรือเผยแพร่ “คำคม” เป็นเบื้องแรก