ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 กุมภาพันธ์ 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
หลังจากกลายเป็น “บิ๊กเซอร์ไพรส์” จนเกือบเป็นอีกหน้าหนึ่งประวัติศาสตร์ทางการเมือง เมื่อคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) หรือพรรคน้องของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่นำโดย “เสี่ยป๋อม” ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรครวม 14 คน ได้แก่ 1.ร.ท.ปรีชาพล หัวหน้าพรรค 2.นายฤภพ ชินวัตร รองหัวหน้าพรรคคนที่ 1 3.น.ส.สุณีย์ เหลืองวิจิตร รองหัวหน้าพรรคคนที่ 2
4.นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ รองหัวหน้าพรรคคนที่ 3 5.นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล รองหัวหน้าพรรคคนที่ 4 6.นายรุ่งเรือง พิทยศิริ 7.นายจุลพงศ์ โนนศรีชัย กรรมการบริหารพรรค 8.นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค 9.นายต้น ณ ระนอง รองเลขาธิการพรรคคนที่ 1 10.นายวิม รุ่งวัฒนจินดา รองเลขาธิการพรรค 11.นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ รองเลขาธิการพรรคคนที่ 3 12.นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ 13.น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียนสมาชิกพรรค และ 14.นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ เหรัญญิกพรรค
มีมติเป็นเอกฉันท์เสนอพระนาม “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ทษช. เพียงชื่อเดียวต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
โดยถือฤกษ์ 09.10 น. วันที่ 8 กุมภาพันธ์
ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.และการเสนอชื่อนายกฯ ของแต่ละพรรค ในการเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 24 มีนาคม
แต่ “บิ๊กเซอร์ไพรส์” ทางการเมืองของพรรค ทษช.เกิดขึ้นเพียงไม่เกินข้ามคืน เพราะช่วงเวลา 22.40 น.ของวันเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชโองการ เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
มีใจความสรุปไว้ชัดเจนว่า “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี” และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์อยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ
ถือเป็นการกระทำที่มิบังควร ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
แน่นอน เมื่อพระราชโองการระบุชัดเจนว่า พระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ ที่ประชุม กกต.จึงมีมติไม่รับรองการเสนอชื่อนายกฯ ของพรรค ทษช. ที่จะใช้ในการเลือกตั้งได้
เท่ากับว่าในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น พรรค ทษช.จะไม่มีแคนดิเดตนายกฯ ให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้พิจารณา เนื่องจากพรรค ทษช.เสนอชื่อนายกฯ เพียงชื่อเดียว ไม่มีชื่อนายกฯ ในลำดับที่ 2 และ 3 ไว้เป็นอีกหนึ่งทางเลือก
แต่ที่คณะกรรมการบริหารพรรค ทษช. ทั้ง 14 คนต้องลุ้นระทึกคือ ที่ประชุม กกต.ได้พิจารณาคำร้องของศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ยื่นร้องต่อประธาน กกต.ให้พิจารณายุบพรรค ทษช. ที่ดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งเป็นข้อห้ามตามระเบียบหาเสียงเลือกตั้ง
เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 ชัดเจน จึงเห็นควรให้ กกต.ต้องดำเนินการให้ได้ข้อยุติและเป็นบรรทัดฐาน อีกทั้งต้องดำเนินการให้ได้ข้อยุติอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเร็ว ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้
ซึ่งมติจากที่ประชุม กกต.ทั้ง 7 คน จะมีมติส่งคำร้องเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบหรือไม่ยุบพรรค ทษช.ต่อไป
โดยระบุความผิดว่า
การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ทษช. เข้าข่ายผิดมาตรา 92 (2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง คือ กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
ซึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 กำหนดฐานความผิดไว้ว่า เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการ
(1) ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
ซึ่งการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือที่เรียกว่า “ใบดำ” นั้น กฎหมายไม่ได้เขียนระยะเวลาเอาไว้ว่านานเพียงใด ขณะเดียวกันก็ถูกกำหนดเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ และกรรมการองค์กรอิสระ
ดังนั้น ถ้าหากถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ย่อมหมายความว่า ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองหรือกรรมการองค์กรอิสระได้ตลอดไป
จังหวะก้าวจากนี้ของพรรค ทษช. แม้จะยังมีโอกาสในการส่งข้อมูลหลักฐานเพื่อชี้แจงมูลความผิด ก่อนที่ กกต.จะรวบรวมข้อมูลหลักฐานส่งเป็นคำร้องเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรค ทษช.
แต่ยุทธศาสตร์การสู้ศึกเลือกตั้งของพรรค ทษช. นับจากนี้คงเป็นไปในลักษณะ “ห่วงหน้า พะวงหลัง” จะเดินหน้าสู้ศึกเลือกตั้งแบบเต็มร้อยก็ยังคงทำไม่ได้ เพราะยังต้องมีวิบากกรรมให้ต้องมาลุ้นกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะมีมติยุบหรือไม่ยุบพรรคในช่วงใดอีก
หากผลการยุบพรรค ทษช. เกิดขึ้นก่อนวันกาบัตรเลือกตั้ง 24 มีนาคมนี้ นอกจากคณะกรรมการบริหารพรรคจะต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองแล้ว ในส่วนของผู้สมัคร ส.ส. และสมาชิกพรรคจะต้องตกอยู่ในสภาพแพแตก ไม่สามารถลงสนามเลือกตั้งได้ เนื่องจากหาพรรคสังกัดได้ไม่ทัน 90 วันก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง
แต่หากผลการยุบพรรค ทษช.เกิดหลังการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้งจะยังสามารถหาพรรคสังกัดใหม่ได้ในช่วง 30 วัน และสามารถไปรวมเสียงร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้
แม้วงยุทธศาสตร์ระดับคีย์แมนของพรรค ทษช.จะออกมาประเมินท่าทีการขับเคลื่อนของพรรค ทษช. ภายหลัง กกต.มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ทษช.ว่า แนวทางหนึ่ง คณะกรรมการบริหารพรรคอาจจะขอยุติบทบาทและให้พรรค ทษช.ได้ดำเนินไปสู่การเลือกตั้งต่อ ส่วนอีกแนวทางหนึ่งขอยุติบทบาทพรรค ทษช.ไปก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติยุบพรรค และแนวทางสุดท้ายคือ เดินหน้าสู้ศึกเลือกตั้ง ส.ส.กันทั้งพรรคไว้ไปรอลุ้นคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญกันดาบหน้า
ส่วนผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะมี “บิ๊กเซอร์ไพรส์” หรือ “เกมโอเวอร์” ต่อพรรค ทษช. อีกไม่นานคงได้รู้กัน