คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : บวชผี บวชพุทธ บวชพราหมณ์

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

บวชพระในไทยมีอะไรไม่เหมือนในอินเดียและลังกาหลายอย่าง เป็นต้นว่าผู้บวชต้องเป็นนาคก่อน และกระทำพิธีในอุโบสถที่มี “ใบเสมา” ซึ่งไม่มีของอย่างนี้ทั้งลังกา (แต่เดิม) และอินเดีย

ไหว้ครูดนตรีและโขนละครของเราก็ไม่เหมือนของเขา เพราะมีรายละเอียดต่างๆ ที่ค่อนไปทางศาสนาพื้นเมืองเราเองเยอะ เช่น เครื่องบวงสรวงจำพวกหัวหมูสุราบาน

แม้แต่บวชพราหมณ์ของทางไทย (พราหมณ์ประจำพระเทวสถาน) เรา ก็ไม่เหมือนบวชพราหมณ์ทางอินเดียคือของเราทำเหมือนอย่างพิธีบวชพระของเราเอง

ท่านให้ผู้ที่จะบวชพราหมณ์ เอา “บริขาร” เข้าไปกราบขอบวชจากพระครูพราหมณ์ซึ่งเสมือนพระอุปัชฌาย์ แล้วพระครูพราหมณ์จึงคล้องยัชโญปวีตให้ (ไทยเรียกสายธุรำมงคลพราหมณ์) เหมือนคล้องอังสะ

ทางอินเดียนั้น แม้จะต้องมี “คุรุ” ซึ่งอาจเป็นบิดาของผู้จะทำพิธีก็ได้ทำให้ แต่เมื่อจะคล้องยัชโญปวีตหรือสายสิญจน์แสดงความเป็นพราหมณ์ เขาให้เด็กพราหมณ์หรือพรหมจารีคล้องตนเอง เสร็จก็เรียน “คายตรีมนตร์” จากคุรุ ทำบูชาไฟบำบวงเทพเจ้าเป็นสำคัญ

ไม่มีขั้นตอนระเบียบวิธีเหมือนอย่างบวชพราหมณ์ในเมืองไทย ซึ่งน่าจะรับเอาวิธีบวชพระมาปรับใช้ เพราะพราหมณ์บ้านเรานั้นถือว่าตนเป็นนักบวชประเภทหนึ่งเหมือนกับพระ

 

ผมรู้สึกสนใจสิ่งของบางอย่างในพิธีบวชพระในบ้านเราคือ “กรวยอุปัชฌาย์” ซึ่งใช้ถวายพระอุปัชฌาย์ ก่อนจะขอบวช แล้วยังใช้ถวายพระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์ด้วย

ปัจจุบันกรวยอุปัชฌาย์ ใช้แก้วหรือภาชนะอย่างใดก็ได้นำมาหุ้มปลายทรงพุ่ม ประดับประดาให้งดงาม ใช้ถวายก่อนจะขอบรรพชาอุปสมบท

แต่เดิมเป็นกระทงใบตองภายในบรรจุหมากพลู ปิดด้วยกรวยใบตอง แล้วเปลี่ยนกระทงใบตองมาเป็นภาชนะอื่นๆ ทีหลัง เป็นของที่ไม่ได้ระบุไว้ในพระวินัย และเข้าใจว่าไม่มีในประเพณีการบวชของที่อื่น เช่น ในอินเดีย ลังกาหรือในฝ่ายมหายาน

เห็นแล้วก็นึกถึง “ขันกำนล” หรือขันที่ใช้ในพิธี “ครอบครู” ทั้งดนตรีและโขนละคร

ขันกำนลในพิธีไหว้ครู ประกอบด้วยขันโลหะและเครื่องบูชาภายในได้แก่ ดอกไม้ธูปเทียน ผ้าเช็ดหน้าสีขาวหนึ่งผืน (คงแทนการมอบผ้านุ่งผ้าขาว) และ “เงินกำนล” คือค่าบูชาครูตามแต่ครูจะเรียก สมัยก่อนคงมีหมากพลูด้วยแต่ปัจจุบันไม่ได้บังคับ และมีกรวยใบตองปิด

ขันกำนลเป็นเครื่องบูชาเพื่อขอให้ครู “ครอบให้” เหมือนขอให้พระอุปัชฌาย์บวชให้

การครอบเหมือนการบวชพระ คือมีลำดับอาวุโส ใครครอบก่อนมีอาวุโสกว่า เวลาจะครอบก็เข้าไปโดยลำดับ ครอบเสร็จก็กลับมานั่งในพิธีก็ต้องนั่งตามลำดับครอบ ไม่สลับที่กัน

 

ผมคิดว่า ขันกำนลและกรวยพระอุปัชฌาย์มาจากคติพื้นเมือง เป็นของศาสนาผี มีหน้าที่เช่นเดียวกับบายศรีคือเป็นภาชนะใส่เครื่องบูชา ถูกนำเข้ามาใช้ในทางพุทธและพิธีไหว้ครูที่มีกลิ่นอายของพราหมณ์

คนที่นับถือผีพื้นเมืองหรือวิชาทางไสยศาสตร์ ก็มีขันแบบนี้ เรียกขันครูหรือขันตั้ง นอกจากจะเป็นเครื่องบูชาแล้ว ยังถือเป็นที่สถิตของผีครูด้วย

ที่จริงจะบวชผี (ครอบ) บวชพราหมณ์หรือบวชพระในบ้านเรา มีอะไรที่สัมพันธ์กันมากอยู่ นอกจากเรื่องขันกำนล กรวยอุปัชฌาย์และพิธีกรรม ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือการใช้คำเรียก “อุปัชฌาย์”

อุปัชฌาย์ เป็นคำบาลีแปลว่า ผู้เข้าไปเพ่ง หมายถึงผู้เข้าไปดูแลกวดขันศิษย์ของตน ในพจนานุกรมหมายถึงพระเถระผู้ให้การบวช

ในเมืองไทยใครจะเป็นพระอุปัชฌาย์ต้องมีตราตั้ง จะเหมาะสมหรือไม่โดยธรรมวินัยไม่เกี่ยว ไม่งั้นกลายเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อน โดนจับ

กฎหมายใหญ่กว่าพระธรรมวินัยมีที่เมืองไทยนี่แหละโยมเอ๋ย

อุปัชฌาย์ เป็นคำบาลี สันสกฤตใช้ว่า อุปัธยาย มีความหมายอย่างเดียวกัน

 

ในพระตำราพิธีไหว้ครูโขนละครสมัยรัชกาลที่สี่ เรียกเทพเจ้าซึ่งคือเทวรูปและหน้าโขนทั้งหมดในพิธีว่า “ครูปัธยาย” คำนี้มาจากครูบวกคำว่า อุปัธยายนั่นเอง

ครูปัธยาย หรือแผลงไปเป็น “ครูบาธิยาย” ยังใช้เรื่อยมาจนสมัยรัชกาลที่หก มีความหมายถึงครูเทพผีในพิธีรวมทั้งครู (มนุษย์) ผู้ประกอบพิธีไหว้ครูครอบครูด้วย

คำนี้ยังใช้ในพิธีเกี่ยวกับช้างหรือทางคชศาสตร์ โดยเรียกแบบเดียวกับในพิธีไหว้ครูโขนละคร คือเรียกครูปะกำ (ผีครูหมอช้าง) ว่าครูปัธยาย และหมอช้างอาวุโสก็จะมีตำแหน่ง “ครูบา” (ครูบาธิยาย) ด้วย

หมอช้างนี่เขาก็มีระบบเหมือนการบวชครับ คือมีการครอบโดยลำดับจาก “ครูบา” ไม่ครอบก็ไม่มี “สิทธิ์” ทำอะไรหลายอย่าง

การใช้คำเรียกสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบุคคลศักดิ์สิทธิ์ว่า พระอุปัชฌาย์หรืออุปัธยายที่มีหมดทั้งพุทธทั้งพราหมณ์ผีในสังคมไทย จึงสะท้อนว่าการบวชพระ การบวชพราหมณ์ การครอบครูทั้งศาสนาโขนละครและศาสนาพระปะกำ (บวชผี) มีความคิดอย่างเดียวกัน

คือพิธีกรรมการ “บวช” นั้น เสกสร้างให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์อย่าง “ผี” หมายถึงทำให้บุคคลนั้นเป็นบุคคลที่ศักดิ์สิทธิ์ชนิดให้คุณให้โทษได้ และเป็นอำนาจอย่างลึกลับไม่มีเหตุผลใดๆ โดยการส่งผ่านความศักดิ์สิทธิ์มาจากผีหรือบุคคลศักดิ์สิทธิ์ (ครู อุปัชฌาย์ อุปัธยาย ครูบาธิยาย) อีกทอด

ความคิดเกี่ยวกับการบวชเช่นนี้ จึงทำให้มีผลต่อความคิดที่เรามีต่อพระและพราหมณ์ คือทั้งสองบุคคลนี้มีอำนาจลึกลับศักดิ์สิทธิ์

ดังนั้น พระและพราหมณ์ในสังคมไทยจึงสืบความศักดิ์สิทธิ์มาจากผี และมาทำหน้าที่แทนหมอผีหรือครู

 

พูดอีกอย่างว่า เรายืมทั้งคำและรูปแบบบางอย่างของการบวชจากอินเดีย (หรือลังกา) เพื่อสวมคติความเชื่อที่เรามีอยู่แล้วนั่นเอง

ทั้งๆ ที่การบวชพระที่ตั้งอยู่บนแก่นทางพุทธศาสนาจะไม่เกี่ยวอะไรกับความศักดิ์สิทธิ์แบบนั้นเลย หากเข้าใจขั้นตอนพิธีกรรมบวชพระ จะรู้ว่าก็เพียงแค่การขอสละโลกไปอยู่ในชุมชนใหม่ โดยมีครูอาจารย์และสมาชิกใน “สังฆะ” นั้นๆ ยอมรับ โดยมีเป้าหมายเดียวกัน

เปลี่ยนสถานะจากฆราวาสไปสู่ผู้สละโลก ซึ่งไม่ได้กลายเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ในทันทีทันใดโดยพิธีกรรม แต่เป็นด้วยการฝึกฝนปฏิบัติ

เป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ด้วยคุณความดีและเมตตา ที่เท่าเทียมกับมนุษย์คนอื่น

จะเข้าใจและคืนความเป็น “มนุษย์”ให้พระ ครูและพราหมณ์ได้

คงต้องทำความเข้าใจใหม่ต่อการบวชด้วย