ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | อนาคตประเทศไทยหลังเหตุการณ์ที่ไม่เคยเห็นในวันที่ ๘ ก.พ.

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

สองวันก่อนที่พรรคไทยรักษาชาติจะเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ เป็นนายกรัฐมนตรี โลกออนไลน์และสื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศต่างพูดถึง “ข่าวลือ” เรื่องบุคคลที่พรรคจะเสนอเป็น “นายกในบัญชี” อย่างกว้างขวาง ถึงแม้ส่วนใหญ่จะไม่เชื่อว่าข่าวนี้เป็นไปได้ก็ตาม

เท่าที่มีเอกสารปรากฎ สื่อทั้งหมดอ้างอิงคำพูดของคุณดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ซึ่งระบุในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ว่า “8 กุมภาฯ จะเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองระดับแผ่นดินไหว” และยิ่งไปกว่านั้นก็คือชื่อนี้ “ไม่ใช่คนตระกูลชินวัตร หรือ วงศ์สวัสดิ์ จะเป็นชื่อที่ อึกทึกครึกโครมทั้งแผ่นดิน”

ไม่มีใครในประเทศรู้แบบคุณดนัยว่าไทยรักษาชาติจะเสนอใครเป็นนายกฯ ตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญคุณมีชัย แต่คำพูดคุณดนัยว่าชื่อนี้ “”เปิดออกมาเมื่อไร แผ่นดินไหวทางการเมืองทันที” ทำให้โลกออนไลน์ตีความคำพูดนี้ว่าหมายถึงทูลกระหม่อมหญิงฯ จนสื่อมวลชนหยิบประเด็นนี้ไปขยายต่อโดยพร้อมเพรียง

ในช่วงกลางวันของวันที่ ๗ กุมภาฯ สื่อแทบทุกค่ายสื่อให้ผู้อ่านเห็นประเด็นนี้โดยรายงานคำตอบของทูลกระหม่อมหญิงฯ ใน IG ส่วนพระองค์แทบทั้งหมด พระดำรัสของพระองค์ต่อประชาชนที่แสดงความยินดีต่อข่าวนี้ว่า “ทรงพระสเลนเดอร์” ทำให้ทุกคนเชื่อเรื่องนี้จนข้อความนี้เป็นแฮชแทกของวันในพริบตา

เมื่อถึงช่วยบ่ายของวัน ข่าวนี้ถูกยกระดับเป็นคำถามที่สื่อถามเลขาฯ กกต.ว่าบุคคลที่ไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งจะเป็นนายกได้หรือไม่ และคำตอบของ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ว่าข้อห้ามที่เคยมีในรัฐธรรมนูญเก่าๆ ถูกยกเลิกไปแล้วในรัฐธรรมนูญ คสช.ก็ยิ่งทำให้สังคมเข้าใจว่า กกต.ตอบโดยมีนัยถึงเรื่องทูลกระหม่อมหญิงฯ โดยตรง

จากหัวค่ำถึงเช้า ๘ กุมภาฯ แทบไม่มีสื่อไหนที่ไม่ผลิตสารว่าพรรคไทยรักษาชาติจะเสนอทูลกระหม่อมหญิงฯ เป็นนายก และถึงแม้จะไม่มีสื่อไหนพูดว่ารู้ลึกอย่างคุณดนัย วิธีที่สื่อถ่ายทอดพระดำรัสทูลกระหม่อมฯ ประเภท “เราจะเดินไปด้วยกัน” ก็ทำให้ผู้อ่านเหลือแค่ความสงสัยว่าจะจริงหรือไม่จริง

ในเช้าวันที่ ๘ เวลา ๙.๑๐ น.ซึ่งพรรคไทยรักชาติเดินทางไปยื่นรายชื่อ “นายกในบัญชี” ตามกติกาที่รัฐธรรมนูญคุณมีชัยกำหนด วินาทีที่พรรคเปิดหนังสือซึ่งทูลกระหม่อมหญิงฯ ทรงพระเมตตาแสดงความยินยอมเป็นนายกฯ คือวินาทีที่สื่อซึ่งติดตามเรื่องเมืองไทยทั้งโลกส่งเสียง “อู้หู” สนั่นสำนักงาน กกต.

นับตั้งแต่ข่าวนี้ปรากฎในสถานะข่าวลือตลอดวันที่ ๗ จนมีเอกสารทางการจริงๆ ในวันที่ ๘ คำถามเดียวที่สื่อและแทบทุกคนในประเทศมีคือทูลกระหม่อมหญิงฯ จะทรงพระเมตตาเป็น “นายกในบัญชี” ของพรรคไทยรักษาชาติจริงหรือไม่ นอกเหนือจากคำตอบของ กกต.เรื่องการไม่เคยใช้สิทธิเลือกตั้งของพระองค์

ภายใต้เพดานความรับรู้ที่คนในสังคมมีเท่ากันจากสื่อจนถึง กกต. ทูลกระหม่อมหญิงฯ มีสถานะตามที่ทรงระบุใน IG ว่าลาออกจากฐานันดรศักดิ์จนเป็นสามัญชนแล้ว มิหนำซ้ำราชกิจจานุเบกษาเมื่อ25 ก.ค. 2515 ก็มีพระบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่แล้วเรื่องพระบรมราชานุญาตเรื่องนี้จริงๆ

ถ้าไม่มีพระราชโองการวันที่ ๘ กุมภาฯ เวลา ๒๒.๔๐ น. เรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” คนไทยคงเข้าใจว่าทูลกระหม่อมหญิงฯ เป็นสามัญชนอย่างที่เข้าใจกันแทบทั้งหมด เช่นเดียวกับ กกต.ที่ไม่พูดสักคำว่าทูลกระหม่อมฯ มีคุณสมบัติต้องห้ามในการเป็นนายกรัฐมนตรี

ด้วยพระราชโองการที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน ประชาชนไทยจึงเข้าใจว่าทูลกระหม่อมหญิงฯ ยังทรงสถานะสมาชิกแห่งพระบรมราชวงศ์ ต่อให้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้ว จากนั้น กกต.จึงได้ยึดพระราชโองการเป็นแนววินิจฉัยว่าทูลกระหม่อมหญฺิงฯ ไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง

ที่จริงการที่พรรคไทยรักษาชาติเสนอทูลกระหม่อมหญิงฯ เป็นนายกตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญในเช้าวันที่ ๘ ไม่ควรนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง แต่ทันทีที่ทรงมีพระเมตตาจนพรรคเสนอเรื่องนี้ต่อ กกต.ตามความรับรู้ในสังคมก่อนพระราชโองการเวลา ๒๒.๔๐ กลุ่มการเมืองก็ใช้เรื่องนี้โจมตีทางการเมืองในทันที

ในปฎิกริยาที่สังคมแสดงออกหลังเห็นหนังสือที่ทูลกระหม่อมฯ ทรงยินยอมเป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกจริงๆ คนมหาศาลประกาศว่าอยากลงคะแนนให้นายกของไทยรักษาชาติ คนอีกกลุ่มเชื่อว่าทูลกระหม่อมฯ จะหยุดประเทศจากความขัดแย้ง และหลายกลุ่มเห็นว่าท่านจะหยุดประเทศจากวงจรที่เป็นมาในยุค คสช.

ท่ามกลางสถานการณ์ที่สั่นสะเทือนประเทศราวแผ่นดินไหวในเช้าวันที่ ๘ จนถึงสึนามิในคืนเดียวกัน กลุ่มการเมืองบางกลุ่มตื่นตระหนกที่เห็นทูลกระหม่อมหญิงฯ ทรงมีพระเมตตาอย่างที่เป็นข่าว จากน้ั้นความวิตกว่าจะสูญเสียอำนาจกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดการโจมตีผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ทั้งหมดอย่างรุนแรง

นอกจากคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้โดยสุจริตใจ โลกออนไลน์บางส่วนก้าวร้าวถึงขั้นจาบจ้วงและใส่ร้ายป้ายสีทุกฝ่ายราวคนเสียสติ กลุ่มสุดโต่งที่มีแนวคิดไล่ล่าฝ่ายตรงข้ามตัวเองตั้งแต่ปี 53 ใช้เรื่องนี้ผลักดันความต้องการเดิมอย่างเปิดเผย แต่ยิ่งกว่านั้นคือมีพรรคการเมืองฉวยโอกาสนี้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง

เท่าที่มีหลักฐานปรากฎ พลังประชารัฐฉวยโอกาสปราศรัยว่าพรรค “ไม่ทำสิ่งที่มิบังควร” ซึ่งมีนัยยะว่าทุกเรื่องที่พรรคทำช่วงที่่ผ่านมาคือเรื่องที่บังควรทั้งหมด, แกนนำพรรคคุณสุเทพปลุกระดมด้วยท่าทีราวมาจากใต้ต้นมะขามแถวสนามหลวงยุค6 ตุลา 19 ส่วนคุณไพบูลย์แทบเรียกร้องให้ยุบไทยรักษาชาติไปเลย

มองในภาพกว้างที่สุด กระบวนการทางการเมืองที่แทบทุกฝ่ายในสังคม ไม่เว้นแม้แต่ กกต.เข้าใจว่าทำได้ในช่วงก่อนเวลา ๒๒.๔๐ ของวันที่ ๘ ถูกกลุ่มการเมืองบางกลุ่มและพรรคการเมืองบางพรรคใช้เป็นเงื่อนไขในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามตัวเองในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม อย่างน่าอับอาย

ตามคำแถลงของคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พระราชโองการเป็นแนววินิจฉัยว่าทูลกระหม่อมหญฺิงฯ ไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ จนป็นข้อยุติไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเสนอศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติตามที่บางกลุ่มการเมืองและบางพรรคต้องการ

ในฐานะ อดีต กกต.ซึ่งเคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฏีกา อาจารย์สดศรี สัตยธรรม แสดงความเห็นเรื่องทั้งหมดนี้โดยแยกเป็นสองประเด็น ประเด็นแรกคือการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงนั้น “ในเมื่อมีพระราชโองการ เราต้องรับเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม จะต้องยุติในเรื่องต่างๆ ทั้งข้อเท็จจริง เเละข้อกฎหมาย”

สำหรับเรื่องการยุบพรรคนั้น อดีต กกต.และผู้พิพากษาสดศรีแสดงความเห็นต่อไปว่า “ไม่ควรนำเรื่องนี้เข้ามาสู่การพิจารณาของ กกต. ด้วยซ้ำ ไม่ควรมองว่าพรรคไทยรักษาชาติควรรับผิดชอบในเรื่องการเสนอชื่อหรือไม่ เพราะกฎหมายก็ไม่ได้บังคับว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนั้น ห้ามไม่ให้เสนอชื่อบุคคลใด”

หนึ่งในประเด็นที่มีผู้ร้องให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติคือการใช้สถาบันฯ เพื่อหาเสียงทางการเมือง แต่เฉพาะในกรณีนี้ อดีตนักวิชาการอย่างอ.แก้วสรร ที่มีตำแหน่งในองค์กรการเมืองหลังรัฐประหาร ๒๕๔๙ และสนับสนุนการยุบพรรคก็ยอมรับว่า “เสนอชื่อ” ไม่ใช่ “หาเสียง” หรือตามที่พูดในไทยโพสท์ก็คือ

“ยังเถียงได้ว่า “การเสนอชื่อ” กับ “การหาเสียง” เป็นคนละเรื่องกัน การใช้คำว่า “ทูลกระหม่อม” ที่ปรากฏในบันทึกนั้นก็เป็น “ชื่อ”ที่จำต้องเขียนให้ตรงความเป็นจริง เขียนเพื่อเสนอต่อ กกต.  หาใช่มุ่งหาเสียงเสนอต่อสาธารณะคิดจะใช้สถาบันแต่อย่างใดไม่” (ไทยโพสท์ออนไลน์, 10 ก.พ.2562)

นอกจากเรื่อง “หาเสียง” ซึ่งฝ่ายอยากให้ยุบไทยรักษาชาติยังเห็นว่าเป็นข้อหาที่อ่อนเกินไป กกต.มีโอกาสเสนอศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคสามเรื่อง คือการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, การกระทำอันอาจเป็นปฎิปักษ์ต่อระบอบดังกล่าว และมีบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกเข้ามาครอบงำ

แม้ตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องของ กกต.ว่าการเสนอชื่อนายกตามพระเมตตาของทูลกระหม่อมฯ เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ข้อเท็จจริงคือคำร้องยุบพรรคเกิดภายใต้การปลุกกระแสของบางกลุ่มจนมีโอกาสที่สังคมมองกระบวนการนี้เป็น “เครื่องมือทางการเมือง” หากไม่สามารถทำให้สังคมเห็นว่า “การเสนอชื่อ” เข้าข่ายการกระทำทั้งสามกรณีจริงๆ

โดยหลักแล้วการยุบพรรคคือการละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานทางการเมือง ประเทศประชาธิปไตยจึงลงโทษพรรคการเมืองด้วยวิธียุบพรรคน้อยมาก แต่รัฐบาลเผด็จการหรือประชาธิปไตยจอมปลอมมักกำจัดคู่แข่งด้วยวิธีนี้เสมอ ตัวอย่างเช่นกัมพูชายุบพรรคฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจนสมเด็จฮุนเซ็นแทบไม่มีคู่แข่งเลย

กล่าวเฉพาะในสังคมไทย สิบสองปีหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ คือสิบสองปีที่การยุบพรรคถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างที่สุด อย่างน้อยก็ในการยุบพรรคที่ชนะการเลือกตั้งอันดันหนึ่งของประเทศจากปี ๒๕๔๔-๒๕๕๐ อย่างพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน

ในกรณีของพรรคไทยรักไทย พรรคโดนศาลรัฐธรรมนูญยุบด้วยข้อหาจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้งปี ๒๕๔๙ ซึ่งในที่สุดศาลฏีกายกฟ้องคดีนี้ในปี ๒๕๕๙ จนสังคมตั้งคำถามว่าตกลงพรรคผิดอะไร ส่วนพรรคพลังประชาชนโดนยุบโดยศาลอ้างว่ารองหัวหน้าพรรคผิดกฎหมายเลือกตั้งจนต้องยุบพรรคของสมาชิกทุกคน

ด้วยประวัติศาสตร์ของการยุบพรรคในสังคมไทยกับข้อเท็จจริงที่มีกลุ่มการเมืองผลักดันให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ การยุบมีเหตุให้สังคมมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนกำจัดฝ่ายตรงข้ามผู้มีอำนาจอย่างกรณีไทยรักไทยและพลังประชาชน และสื่อบางฉบับก็ระบุว่าผู้มีอำนาจยุคนี้อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ตรงๆ

ในรายงานของหนังสือพิมพ์ The Nation วันที่ 11 กุมภาพันธ์ แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยใน คสช.ยอมรับกับผู้สื่อข่าวว่า “ตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการยุบพรรค พรรคไทยรักษาชาติพลาดเอง และหากสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของพรรคไทยรักษาชาติกับพรรคเพื่อไทย ก็สามารถยุบได้ทั้งคู่”

ในคำให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อช่าวเดอะเนชั่น แหล่งข่าวจาก คสช.ระบุตรงๆ ด้วยซ้ำไปว่า “ถ้ายุบก็หมายถึงยุบก่อนการเลือกตั้ง” ซึ่งหมายถึงการยุบเพื่อไม่ให้พรรคไทยรักษาชาติหรือพรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัคร ส.ส.หรือผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้ง ๒๔ มีนาคม ได้อย่างสิ้นเชิง

ถึงบัดนี้มีข้อมูลปรากฎมาแล้วว่ากรรมการพรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงฯ โดยสมาชิกและผู้สมัคร ส.ส.ไม่รู้เห็นด้วย คุณจาตุรนต์ ฉายแสง ถึงกับโพสท์ทวิตเตอร์ในวันที่ ๑๒ ว่าไม่รู้และไม่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์วันที่ ๘ ต่อให้สังคมจะคิดว่าคุณจาตุรนต์ควรเป็นแคนดิเดทนายกของพรรคก็ตาม

นอกจากคุณจาตุรนต์แล้ว คุณพิชัยซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็โพสท์ข้อความยืนยันว่าไม่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์วันนั้นแบบเดียวกับคุณจาตุรนต์ และสังคมไทยก็ได้บทเรียนจากรัฐธรรมนูญปี 2550 มาแล้วว่ายุบพรรคคือการลงโทษคนแบบเหมาเข่งที่อันตราย

ต่อให้ กกต.เห็นว่าการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงฯ บนความไม่รู้ที่ทุกคนในสังคมไทยมีเหมือนกันก่อนทรงมีพระราชโองการเวลา ๒๒.๔๐ เป็นความผิดจริงๆ การกระทำดังกล่าวก็เป็นการกระทำของคณะกรรมการโดยแท้ และคงต้องมีคำอธิบายว่าจะลงโทษสมาชิกที่ไม่มีส่วนรู้เห็นเรื่องนี้อย่างไร

ถ้าพรรคไทยรักษาชาติถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบก่อนเลือกตั้ง 24 มีนาคม ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อราวๆ 300 คน จะหมดโอกาสลงเลือกตั้งทั้งหมด การยุบจึงทำให้ผู้สมัครโดยสุจริตเสียสิทธิโดยแท้ เช่นเดียวกับผู้ประสงค์เลือกพรรคที่จู่ๆ ผู้สมัครถูก “อุ้ม” ด้วยกระบวนการพิสดาร

ถึงที่สุดแล้วการยุบพรรคคือการละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการรวมกลุ่มทางการเมือง ยิ่งไปกว่านั้น การยุบพรรคในช่วงก่อนเลือกตั้งยังมีผลเอื้อประโยชน์ทางการเมืองกับคนบางกลุ่ม ผู้เกี่ยวข้องจึงต้องพิจารณาเรื่องทั้งหมดโดยยึดหลักกฎหมายและหลักประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์

การเลือกตั้งที่ คสช.เอาเปรียบทุกฝ่ายทำให้ประเทศร่วงหล่นสู่หุบเหวแห่งสังคมอนารยะที่ไม่มีสิ้นสุด คนมหาศาลอยากให้ประเทศออกจากจากวงจรอุบาทว์ข้อนี้ ประชาชนปีติข่าวทูลกระหม่อมฯ เพราะอยากเห็นอวสานของผู้มีอำนาจ ความปรีดาในวันนั้นจึงเป็นหลักฐานของความเอือมระอารัฐบาลขั้นน่าสะพรึงกลัว

นับตั้งแต่เช้าวันที่ 8 กุมภาพันธ์ แผ่นดินไหวทางการเมืองที่ตามมาด้วยสึนามิทางการเมืองในวันเดียวกันกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองขึ้นเรื่อยๆ พรรคคู่แข่งคณะรัฐประหารกำลังถูกประหารโดยกระบวนการทางกฎหมาย ส่วนพล.อ.ประยุทธ์กับพรรคพลังประชารัฐก็จะมีคู่ชิงตำแหน่งนายกและ ส.ส.น้อยลงทันที

ภายใต้การยุบพรรคที่กำจัดคู่แข่งของหัวหน้าคณะรัฐประหารและพรรคซึ่งหนุนหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกฯ การยุบพรรคอาจเป็นชนวนใหม่ของความไม่พอใจและความขัดแย้งงหลังเลือกตั้ง ๒๕๖๒ อย่างไม่ควรเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้เกี่ยวข้องทำเพื่อผลลัพธ์ทางอำนาจยิ่งกว่าหลักนิติธรรม