จรัญ พงษ์จีน : สำรวจ แคนดิเดตนายกฯ 45 พรรคการเมือง “ใครมีแวว-มีลุ้น”

จรัญ พงษ์จีน

เหลืออีก 30 วันนิดๆ “ประชาชนเจ้าของประเทศ” จะได้ใช้สิทธิเสรีภาพตามกรอบรัฐธรรมนูญเพื่อเลือกตั้งกันในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ใช้วิจารณญาณเลือก ส.ส.ไปทำหน้าที่แทนตนในรัฐสภา

ในส่วนของ “นายกรัฐมนตรี” ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ “กกต.” ได้ประกาศรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน 45 พรรคการเมือง รวม 69 รายชื่อด้วยกัน

ดังนั้น หลังวันที่ 24 มีนาคม เมื่อมีการประกาศผลเลือกตั้งแล้ว บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี “ตามช่องทางที่ 1” หากไม่มีเหตุขัดข้องทางเทคนิค จะมาจากรายนามที่พรรคการเมืองเสนอเท่านั้น โดยเรียงตามตัวอักษร ประกอบด้วย

1.พรรคกรีน “นายพงศา ชูแนบ” 2.พรรคกลาง “นายชุมพล ครุฑแก้ว” 3.พรรคกสิกรไทย “นายทรรศชล พงษ์ภัควัต” 4.พรรคคนงานไทย “นายธีระ เจียบุญหยก” 5.พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย “นายธนพร ศรียากุล” 6.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน “นายปรีดา บุญเพลิง” 7.พรรคคลองไทย “นายสายัณห์ อินทรภักดิ์”

8.พรรคความหวังใหม่ “นายชิงชัย มงคลธรรม” 9.พรรคชาติไทยพัฒนา “น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา” 10.พรรคชาติพัฒนา “นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ-นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล-นายเทวัญ ลิปตพัลลภ” 11.พรรคชาติพันธุ์ไทย “นายโกวิทย์ จิรชนานนท์-นายพลศุภรักษ์ ศิริจันทรานนท์-นายภราดร พรอำนวย” 12.พรรคฐานรากไทย “นายบวร ยสินทร-ว่าที่ ร.ต.ญาณวุฒิ พรหมเดชากุล” 13.พรรคทางเลือกใหม่ “นายราเชน ตระกูลเวียง” 14.พรรคไทยธรรม “นายอโณทัย ดวงดารา-นายภูษิต ภุปภัสศิริ-นายกิติกร วิชัยเรืองธรรม”

15.พรรคไทยศรีวิไลย์ “นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์-นายณัชพล สุพัฒนะ-น.ส.ภคอร จันทรคณา” 16.พรรคประชากรไทย “นายสุมิตร สุนทรเวช-นายคณิศร สมมะลวน” 17.พรรคประชาชาติ “นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา-พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง-น.ส.ณหทัย ทิวไผ่งาม” 18.พรรคประชาธรรมไทย “นายพิเชษฐ สถิรชวาล-นายชัยวุฑ ตรึกตรอง” 19.พรรคประชาธิปไตยใหม่ “นายสุรทิน พิจารณ์” 20.พรรคประชาธิปัตย์ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

21.พรรคประชานิยม “พ.ต.อ.รวมนคร ทับทิพธงไชย-พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์-นายปฐมฤกษ์ มณีเนตร” 22.พรรคประชาภิวัฒน์ “นายสมเกียรติ ศรลัมพ์-นางนันทนา สงฆ์ประชา-ศ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ” 23.พรรคแผ่นดินธรรม “ศ.พิเศษ บรรจบ บรรณรุจิ-นายกรณ์ มีดี” 24.พรรคพลเมืองไทย “นายเอกพร รักความสุข” 25.พรรคพลังชาติไทย “พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์” 26.พรรคพลังท้องถิ่นไทย “นายชัชวาลย์ คงอุดม-ศ.โกวิทย์ พวงงาม” 27.พรรคพลังไทยดี “นายสาธุ อนุโมทามิ” 28.พรรคพลังไทยรักไทย “พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา-นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล”

29.พรรคพลังประชาธิปไตย “นายพูลพิพัฒน์ นิลรังสี” 30.พรรคพลังประชารัฐ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” 31.พรรคพลังสังคม “นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน” 32.พรรคพัฒนาประเทศไทย “นายศิลปิน หาญผดุงธรรมะ” 33.พรรคเพื่อคนไทย “นายวิทยา อินาลา” 34.พรรคเพื่อไทย “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์-นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์-นายชัยเกษม นิติสิริ” 36.พรรคเพื่อธรรม “นางนลินี ทวีสิน”

37.พรรคภราดรภาพ “ม.ร.ว.ดำรงดิศ ดิศกุล” 38.พรรคภาคีเครือข่ายไทย “น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์” 39.พรรคภูมิใจไทย “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” 40.พรรคมหาชน “นายอภิรัต ศิรินาวิน-นายพาลินี งามพริ้ง-นายสุปกิจ คชเสนี” 41.พรรคเศรษฐีใหม่ “นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” 42.พรรคสยามพัฒนา “นายเอนก พันธุรัตน์”

43.พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย “นายสมศักดิ์ โกศัยสุข” 44.พรรคเสรีรวมไทย “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” 45.พรรคอนาคตใหม่ “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”

 

หลังเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม การเมืองจะไหลเข้าสู่หมวด “สภาผู้แทนราษฎร” ทันที เมื่อ ส.ส.ได้รับเลือกตั้งถึงร้อยละ 95 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดแล้ว

ให้เรียกดำเนินการประชุมรัฐสภาได้ โดยให้ถือว่า “สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ เพื่อเลือกประธานรัฐสภา”

จากนั้นประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเรียกประชุมเพื่อลงมติ “เห็นชอบเลือกนายกรัฐมนตรี” โดยผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปต้องมาจากบุคคลที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอชื่อมาเป็นแคนดิเดตเท่านั้น

หยิบรายชื่อจากทั้งหมด 69 คน ที่ 45 พรรคการเมืองนำเสนอเข้าชิงชัยตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วัดหน่วยก้าน อ่านหมากทุกองคาพยพ เหลือตัวเต็งที่จะเข้าป้ายอยู่ไม่กี่ราย

“เต็งหนึ่ง” โค้งนี้ ต้องยกเครดิตให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่ตัดสินใจเปิดหน้าชก “ถอดรองเท้าคอมแบต” ลงสู้ศึก มาในนามแคนดิเดตของ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ตามเดิมจะส่งชื่อเข้าชิงถึง 3 พระหน่อไว้กันเหนียว แต่ท้ายที่สุด “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” กับ “อุตตม สาวนายน” ประกาศถอนตัว ดัน “บิ๊กตู่” ฉายเดี่ยว

“เต็งสอง” ยังเป็น 3 แคนดิเดตจาก “พรรคเพื่อไทย” หวยจะออกที่ใคร เป็นไปได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะ “คุณหญิงสุดารัตน์-นายชัชชาติ-นายชัยเกษม”

“เพื่อไทย” เสียวตาปลาอยู่พอประมาณ ผลต่อเนื่องมาจากการยุบ “พรรคไทยรักษาชาติ” ซึ่งไม่รู้ลูกจะวิ่งชนเหลี่ยมไหนมากระทบชิ่งเล่นงานเอา “เพื่อไทย” บ้างหรือเปล่า

“เต็งสาม” เป็นพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่ง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” มั่นใจสูงว่าจะเป็นขั้วทางเลือกที่สาม พลิกเกมชนะเลือกตั้ง สามารถกลับมาเป็นนายกฯ ภาค 2 ได้

“เต็งสี่” ยกให้ภูมิใจไทย ของ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” หากการเมืองเกิดรายการ “หมูหก” กรณีที่ “พลังประชารัฐ หรือเพื่อไทย” เสียงออกมาก้ำกึ่งสูสีฟอร์มรัฐบาลไม่ได้ ต้องหันมาใช้บริการ “ภูมิใจไทย” ที่ยังแทงกั๊กเข้าได้กับทุกฝ่าย

“ม้ามืด” น่าจับตา “พรรคอนาคตใหม่” ของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ถ้าเด็กวัยรุ่น อายุระหว่าง 18-22 ปีที่จะได้เลือกตั้งครั้งแรกเทคะแนนเสียงให้จริง ก็ย่อมประมาทไม่ได้ “ปาฏิหาริย์มีจริง” ก็เกิดขึ้นได้