ฉัตรสุมาลย์ : ก่อนจะเป็นพระนางบูเช็กเทียน นางสนมปลายแถวสู่จักรพรรดินีผู้ทรงอำนาจ

เราอยู่ที่เมืองลั่วหยาง บางทีชาวจีนเรียกเมืองลกเอี้ยง ลั่วหยางเป็นราชธานีของจักรพรรดิหลายยุคหลายสมัย แต่พระองค์หนึ่งที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้คือ พระนางบูเช็กเทียน

พระนางบูเช็กเทียนมีชีวิตที่โลดโผน ถ้าเขียนกราฟชีวิต คงจะประมาณต่ำสุดและสูงสุด ตอนที่สูงสุดก็ประมาณว่าทะลุกราฟขึ้นไปเลยทีเดียว

ที่ว่าเช่นนั้น ก็มิได้เกินความจริง เพราะชีวิตของผู้หญิงในแผ่นดินจีน สูงสุดก็เป็นจักรพรรดินี นั่นคือเป็นพระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ

แต่พระนางบูเช็กเทียนไปสูงกว่านั้น คือทรงเป็นตัวจักรพรรดิเองเลยทีเดียว เช่นนี้ จะไม่ทะลุกราฟชีวิตได้อย่างไร

นอกจากต่ำสุดและสูงสุดแล้ว ยังทรงใช้ชีวิตที่มีสีสันอย่างไม่มีใครเทียบได้ ทรงเป็นพระสนมเล็กๆ ของพระเจ้าถังไท่จง พอพระเจ้าถังไท่จงสวรรคต พระนางก็ต้องออกไปบวชเป็นภิกษุณี

หนังจีนที่คนไทยพากย์ จะพากย์ว่า เป็นนางชี แต่ในประเทศจีนมีบวชเป็นภิกษุณีค่ะ

เจ้าชายหลี่จื้อ พระราชโอรสที่ขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าถังไท่จงเป็นพระเจ้าถังเกาจงนั้น เคยลอบมีสัมพันธ์สวาทกับบูเช็กเทียน พระสนมของพระราชบิดา ครั้นไปทำพิธีทางศาสนาเพื่ออุทิศกุศลถวายพระราชบิดา ก็ไปพบภิกษุณีบูเช็กเทียนเข้า ในที่สุดพระนางก็ลาสิกขาออกมารับใช้พระเจ้าถังเกาจง

และไต่เต้าขึ้นมานอกจากจะเป็นพระจักรพรรดินีแล้ว ยังต่อยอด เปลี่ยนราชวงศ์ ตั้งราชวงศ์ของพระนางขึ้นเอง บริหารประเทศเป็นพระจักรพรรดิอยู่นานถึง 14 ปี

ย่อมมิใช่ธรรมดา

 

เมื่อเราเข้าไปสัมผัสเมืองลั่วหยางที่พระนางเคยเป็นกษัตริย์ จึงสมควรที่เราจะเข้าไปศึกษาดูประวัติชีวิตของพระนางอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

พระนางเกิดที่เมืองลี่โจว ในมณฑลเสฉวน ประสูติวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ.624 (พ.ศ.1167) และสวรรคต ค.ศ.705 (พ.ศ.1248) พระชนม์ 81 พรรษา

บิดาเป็นพ่อค้าสามัญชน แต่มีฐานะ ฝ่ายพระราชมารดานั้น มีเชื้อสายจากราชวงศ์สุย ซึ่งปกครองจีนมาก่อนราชวงศ์ถัง มีพระนามปรากฏว่าท่านหญิงหยาง

บูเช็กเทียน เกิดในตระกูลที่มีฐานะ มีคนรับใช้ ไม่เคยต้องทำงานบ้านแต่อย่างใด บิดาสนับสนุนให้นางเรียนหนังสือ แตกต่างจากบิดาที่มีบุตรีบ้านอื่นๆ มาก ส่วนตัวของบูเช็กเทียนเองก็ตั้งใจเล่าเรียนวิชาต่างๆ ทั้งการเมือง การปกครอง วรรณกรรมและดนตรี

เมื่ออายุ 14 จึงถูกส่งเข้าถวายตัวเป็นนางสนมรุ่นเล็กของพระเจ้าถังไท่จง ในระดับของนางสนมนั้น ลดหลั่นกันถึง 9 ชั้น นางเป็นนางสนมชั้นที่ 5 แต่พระเจ้าถังไท่จงไม่ได้โปรดปรานเป็นพิเศษ มีเรื่องเล่าว่า พระเจ้าถังไท่จงมีม้าศึกที่ไม่มีใครปราบพยศได้ พระนางบูซึ่งเข้ารับใช้เป็นนางสนองพระโอษฐ์ ได้เสนอตัวว่าสามารถปราบม้าศึกตัวนี้ได้ โดยจะใช้ของ 3 สิ่ง ได้แก่ แส้เหล็ก ฆ้อน และกริช โดยจะใช้แส้เหล็กเฆี่ยนม้าก่อน ถ้าม้าไม่ยอมเชื่อฟังก็จะใช้ฆ้อนตีหัวม้า หากยังไม่ยอมเชื่อฟัง ก็จะใช้กริชเชือดคอให้ตาย

ข้อเสนอนี้ แสดงถึงความเอาจริงและเด็ดเดี่ยวของพระนางตั้งแต่สมัยที่พระนางมีพระชนม์อ่อนเยาว์

 

ในช่วงที่เป็นพระสนมของพระเจ้าถังไท่จงนั้น พระนางลอบมีสัมพันธ์สวาทกับเจ้าชายหลี่จื้อ พระโอรสองค์เล็กของพระเจ้าถังไท่จง แม้พระนางจะมีพระชนม์มากกว่าเจ้าชาย 4 ปี

ความสัมพันธ์นี้ต้องยุติลง เมื่อพระเจ้าถังไท่จงเสด็จสวรรคตลงใน ค.ศ.649 (พ.ศ.1192) เนื่องจากพระนางไม่มีพระโอรสหรือธิดา เมื่อพระจักรพรรดิเสด็จสวรรคต พระนางจึงต้องออกบวชเป็นภิกษุณี ตามโบราณราชประเพณี

พระนางถูกส่งตัวไปประจำอยู่ที่วัดกานเย่ และประทับอยู่ที่นั่นอย่างน้อยสองปี พระเจ้าถังเกาจงเสด็จไปที่วัดนั้น เพื่อประกอบพระราชพิธีถวายกุศลแก่พระราชบิดา ก็ได้พบนางอีกครั้ง

จักรพรรดินีหวัง เห็นว่าพระสวามียังมีความผูกพันกับนางอยู่ และเพราะว่าพระนางขัดเคืองอยู่กับพระสนมเอก คือ นางสนมเอกแซ่เซียว จึงชักชวนให้ภิกษุณีลาสิกขาออกมารับใช้พระเจ้าถังเกาจง ขณะเดียวกัน ก็จะได้ช่วยกันนางสนมแซ่เซียวที่พระนางไม่โปรดออกไป

ราว พ.ศ.1194 พระนางบูได้เข้าวังอีกในฐานะพระสนมของพระเจ้าถังเกาจง คราวนี้ได้ตำแหน่งเจาหยี ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดใน 9 ชั้นของนางสนม ทำให้พระนางมีอิทธิพลในการบริหารราชการภายในวังอย่างมาก ตลอดรัชสมัยของพระเจ้าถังเกาจง

 

พระสนมเซียวที่เป็นสามัญชน แต่เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าถังไท่จงมาก ถึงกับโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็นพระมเหสีลำดับที่ 3 ออกพระนามว่า พระมเหสีเซียว ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพระนางทรงครรถ์และให้พระประสูติกาลพระราชโอรสองค์น้อย ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าชายหลี่ซูเจี๋ย และยังตามมาด้วยพระธิดาอีกสองพระองค์

พระเจ้าถังไท่จงโปรดพระราชโอรสองค์นี้มากถึงกับแต่งตั้งให้พระโอรสองค์น้อยเป็นกษัตริย์ครองรัฐลี่ตั้งแต่แรกประสูติ และยังวางแผนที่จะให้เป็นรัชทายาทด้วย

จักรพรรดินีหวังตกพระทัยมาก ด้วยมีพระประสงค์ให้พระราชสวามีสถาปนาพระโอรสองค์ใหญ่ คือ เจ้าชายหลี่จง ที่เกิดจากนางสนมหลิว ซึ่งเป็นพระญาติกับพระจักรพรรดินีหวังเอง

ในสถานการณ์เช่นนี้ พระนางบูเช็กเทียน นางสนมเอกอันดับ 1 จึงมีบทบาทสำคัญมาก ปรากฏว่าใน ค.ศ.652 และ 653 พระนางทรงให้กำเนิดพระโอรสสองพระองค์ตามลำดับ คือ เจ้าชายหลี่หง และเจ้าชายหลี่เสียน

มาถึงจุดหักเหที่สำคัญในการบริหารการเมืองในวัง ใน ค.ศ.654 พระนางบูทรงมีพระประสูติกาลพระธิดาองค์หนึ่ง เมื่อพระจักรพรรดินีหวังเสด็จไปเยี่ยม ขณะที่อยู่ตามลำพังกับพระธิดาองค์น้อยนั้น เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเมื่อพระธิดาองค์น้อยที่มีพระชนม์ไม่ถึงเดือนก็สิ้นพระชนม์ลง

พระนางบูทรงกล่าวหาว่าพระจักรพรรดินีหวังเป็นสาเหตุให้พระธิดาของพระนางสิ้นพระชนม์

จักรพรรดิถังไท่จงทรงเชื่อในข้อกล่าวหาว่าพระจักรพรรดินีหวังเป็นผู้วางแผนปลงพระชนม์พระธิดาของพระองค์ จึงทรงให้ถอดยศและขับไล่พระจักรพรรดินีหวังออกจากราชสำนัก แล้วแต่งตั้งพระสนมเอกบูเช็กเทียนขึ้นเป็นพระจักรพรรดินี โดยข้ออ้างว่า พระจักรพรรดินีหวังไม่มีพระราชโอรส

 

ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เมื่อพระจักรพรรดินีหวังถูกปลดออกและถอดยศเป็นสามัญชนแล้ว ทั้งพระมารดาและพระมาตุลาของพระนางก็ถูกห้ามมิให้เข้าวังอีก

ทั้งจักรพรรดินีหวังที่ถูกปลดเป็นนางหวัง และพระมเหสีเซียวซูเฟยที่ถูกปลดเป็นนางเซียว ต่อมาก็ถูกฆาตกรรมอย่างเงียบเชียบ

เรายังจำเรื่องที่พระนางถวายคำแนะนำแก่พระเจ้าถังไท่จงเรื่องการปราบม้าศึกพยศได้ ว่าพระนางทรงมีอุปนิสัยเด็ดขาดเพียงใด

ในช่วงปลาย ค.ศ.655 พระนางบูเช็กเทียนได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นพระอัครมเหสี หรือฮองเฮา

ซึ่งน่าจะเป็นตำแหน่งสูงสุดที่สตรีพึงหวังที่จะก้าวขึ้นมาได้ในวัง

เนื่องจากพระเจ้าถังเกาจงมีพระสุขภาพพลานามัยไม่ดี ป่วยออดๆ แอดๆ อยู่เสมอ พระนางจึงทรงนั่งว่าราชการแทนพระองค์อยู่หลังม่านไม้ไผ่ยาวนานถึง 20 ปี

ในปี ค.ศ.660 ในช่วงปลายปี พระจักรพรรดิทรงมีอาการประชวรมากขึ้น พระจักรพรรดินีจึงทรงออกว่าราชการแทน พระนางได้แสดงความสามารถทั้งด้านสติปัญญาทั้งในด้านวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ รวมทั้งการบริหารราชการอย่างถูกต้อง จนพระนางสามารถรวบอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดิมาได้ทั้งหมด

ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างฐานบารมีเพื่อการก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งเพื่อเป็นพระจักรพรรดิเต็มพระองค์

ฐานะที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์จีน