อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : นายกฯ ลุงตู่ โจทย์ประกันความมั่นคงทางการเมือง

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

วันที่ 29 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ว่า

“…เมื่อเขามาเชิญผม ผมก็ต้องพิจารณาอย่างที่ว่า และขอเวลาสักนิดในการพิจารณา ว่าผมควรจะอยู่หรือไม่อยู่ ควรจะทำต่อหรือไม่ทำต่อ ถ้าทำต่อจะทำอะไร มากน้อยแค่ไหนอย่างไร มันมีเวลาให้ผมตัดสินใจ เพราะผมบอกว่า ถ้าจะต้องเสนอชื่อในช่วง 4-8 กุมภาพันธ์นี้ ผมก็จะพิจารณาในช่วงนั้น ก็จะรู้กันตอนนั้นว่าอยู่หรือไม่อยู่ อย่าเพิ่งเร่งรัดอะไรผมมากนักเลย รวมถึงบทบาท…ขอให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องช่วยไปหารือฝ่ายกฎหมายของเรา กฤษฎีกาและหารือ กกต.ให้เกิดความชัดเจน ไม่ว่าจะการเยี่ยมประชาชน การประชุมนอกสถานที่ แม้กระทั่งการพูดในวันศุกร์ ผมก็จะถามเขาหมด ว่าทำได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางการเมืองต่อไปในการทำผิดกฎหมาย…”

มติชนสุดสัปดาห์ 29 มกราคม 2562

 

เส้นทางนายกฯ ลุงตู่

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีเกราะคุ้มกันทั้งทางกฎหมายและการเมืองมากมาย เขาเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นทั้งผู้บัญชาการทหารบก เป็นนายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นหัวหน้า คสช. ซึ่งยังคงมีอำนาจเด็ดขาดที่ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 เป็นกฎหมายที่ทำอะไรก็ได้

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รู้ว่าอำนาจทางกฎหมายและอำนาจควบคุมกองทัพไม่อาจเป็นหลักประกันความมั่นคงทางการเมืองต่อตัวของเขาเองได้

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงทำงานอย่างหนักในฐานะนายกรัฐมนตรี เสนอนโยบายสารพัด

เช่น ไทยแลนด์ 4.0 ไทยก้าวสู่สังคมยุคดิจิตอล การเสนอนโยบายประชารัฐ การให้ของขวัญประชาชนทั้งการประชุม ครม.นอกสถานที่พร้อมด้วยให้งบประมาณก้อนโต พร้อมทั้งการมอบของขวัญแก่ประชาชนเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยมอบเงินสดให้กับคนจน จัดการกู้ยืมเงินโครงการบ้านหลังละไม่เกิน 1 ล้านบาท จัดโครงการเงินผ่อนรถแท็กซี่ พร้อมกันนั้น มีรายการพบนายกรัฐมนตรีทุกวันศุกร์

แต่ให้สังเกตว่า ความนิยมต่อตัวนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ก็ขึ้นๆ ลงๆ ตามสถานการณ์และปัญหาที่รุมเร้าเข้ามา ผู้คนเบื่อหน่ายรายการพบนายกรัฐมนตรีวันศุกร์ เพราะนอกจากอ่านสคลิปต์แล้ว ยังไม่มีอะไรใหม่

ที่สำคัญผู้คนอยากกลับไปดูละครซึ่งมีหลายช่อง และละครแต่ละช่องก็ดีวันดีคืน มีคนดูกันทั่วทั้งเมือง

 

เมื่อบริบทเปลี่ยน

ใช่ว่านายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์และทีมงานจะไม่ได้เตรียมตัวรับกับสถานการณ์ทางการเมืองและบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนเนื้อร้องที่แต่งโดย พล.อ.ประยุทธ์บอกกับเราว่า มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในไม่ช้าประเทศและตัวท่านเองก็ต้องเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ดังนั้น เราจึงเห็นกติกาใหม่ที่นายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ต้องเล่นเหมือนกับคนอื่นๆ อีกทั้งเห็นแล้วว่า “เกราะ” ต่างๆ ที่เคยปกป้องท่านใช้ไม่ได้แล้ว

ข้อเสนอ “นายกรัฐมนตรีคนนอก” ผุดขึ้นมา แต่กลับเป็นของแสลงของการเมืองไทยจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535

ดังนั้น เราจึงได้ยินคำแถลงของท่านเมื่อ 29 มกราคมที่ผ่านมาว่า “…ไม่เป็นนายกฯ คนนอก ต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อ…” เพียงแต่รอให้เขาเสนอมาเท่านั้น

 

พรรคการเมืองและเครือข่าย

ใครๆ ก็รู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า มีการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อรองรับบทบาทของท่าน พรรคนั้นก็คือ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีทั้งรัฐมนตรีที่ทำงานให้ท่าน ใช้นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลท่าน แม้แต่ชื่อพรรคก็ยังใช้ชื่อเหมือนกันเลย

นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายที่สนับสนุนพรรคประชารัฐ ซึ่งได้แก่ กลุ่มธุรกิจบางกลุ่มที่เป็นทั้งหัวหอก กำกับและได้รับอานิสงส์จากนโยบายประชารัฐแทบทั้งสิ้น

อันนี้ดูได้ทั้งจากแกนนำของกลุ่มธุรกิจที่เป็นประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจต่างๆ ในโครงการประชารัฐ รวมทั้งการบริจาคเงินให้กับพรรคประชารัฐ ตอนนี้ละครับ ที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์เริ่มถูกกะเทาะเปลือกของท่านออกมาเป็นนายกฯ ลุงตู่ เพราะกลุ่มธุรกิจชั้นนำเหล่านี้สนับสนุนหลายพรรคการเมืองที่ตอบสนองนโยบายทางเศรษฐกิจของพวกเขา

กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ ข้ามรัฐ (by pass state) มานานแล้ว อีกทั้งจะยิ่งข้ามรัฐมากขึ้น ดังนั้น นายกฯ ลุงตู่จึงไม่มีพันธมิตรที่มั่นคง

พอมาดูให้ลึกลงไปที่พรรคการเมือง พรรคประชารัฐเท่านั้นที่เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ที่สุดของนายกฯ ลุงตู่ช่วงเวลานี้ หากทว่ามีอีกตั้ง 3 เงื่อนไขทางการเมืองที่สำคัญ

– พรรคพลังประชารัฐต้องชนะได้เสียงข้างมาก คือได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 126 และหากต้องการเสนอกฎหมายสำคัญ พรรคประชารัฐต้องมีพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อให้ได้เสียงถึง 250 เสียงจึงจะอยู่ได้ในรัฐสภา และสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่จะเสนอกฎหมายได้

เป็นที่น่าสังเกตว่าพรรคพลังประชารัฐมีสมาชิกพรรคเพียงพันกว่าคนเท่านั้น

– ในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีเพียง 2 พรรคใหญ่เดิมที่มีคะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งซึ่งรวมกันแล้วได้ 250 เสียง

– ฐานสนับสนุนจาก ส.ว. อาจตีความได้ 2 นัยยะ อันแรก ถ้าท่านเลือกคนที่จะมาสนับสนุนท่านเป็น ส.ว.เพื่อสนับสนุนรัฐบาลท่าน อันนี้เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน นายกฯ ลุงตู่ในฐานะหัวหน้า คสช.ที่เป็นผู้คัดเลือกจะตอบคำถามนี้ต่อสังคมไทยอย่างไร

อันที่สอง เมื่อก้าวเข้าสู่รัฐสภาแล้ว การคุม ส.ว.ไม่ใช่เรื่องง่าย

การต่อรองเรื่องผลประโยชน์จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เริ่มจากพรรคร่วมรัฐบาล ส.ว. ที่น่าสนใจ แรงกดดันจากผู้นำกองทัพ ซึ่งเราเคยเห็นมาแล้วในอดีต ฐานที่เคยสนับสนุนผู้บัญชาการทหารบกย่อมแตกต่างจากการสนับสนุนนายกฯ ลุงตู่

ความชอบธรรมทางการเมืองก็น้อยลง เสถียรภาพทางการเมืองก็ง่อนแง่น ขาท่านก็ลอยออกจากกองทัพ สิ่งที่เคยอ้างได้ว่ามีหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ก็เบาหวิว เปลือกที่เคยห่อหุ้มท่านถูกถอดออกจนเกลี้ยง

ขอให้โชคดีครับ นายกฯ ลุงตู่