การศึกษา / ยกเลิก 3 ‘น.ร.เงื่อนไขพิเศษ’ สกัด ‘แป๊ะเจี๊ยะ’ ได้จริงหรือ??

การศึกษา

 

ยกเลิก 3 ‘น.ร.เงื่อนไขพิเศษ’

สกัด ‘แป๊ะเจี๊ยะ’ ได้จริงหรือ??

 

ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือบอร์ด กพฐ.ชุดใหม่ ที่มีนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีมติปรับปรุงประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ.ปีการศึกษา 2562

เกิดขึ้นภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัด สพฐ.ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ

ซึ่งข้อเสนอแนะที่ ป.ป.ช.เสนอต่อ สพฐ. 7 ข้อ เพื่อปิด “ช่องโหว่” ที่ทำให้เกิดปัญหา “เด็กฝาก” และการทุจริตเรียกรับ “แป๊ะเจี๊ยะ”

โดยเฉพาะข้อ 1 ที่ให้ “ยกเลิก” หลักเกณฑ์การรับนักเรียนกรณีนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษทั้ง 7 ข้อ เพราะเป็น “ช่องทาง” สำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาทุจริต เรียกทรัพย์สิน หรือประโยชน์ตอบแทน ให้มุ่งเน้นสร้างระบบคัดเลือกที่ยุติธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อลดปัญหาฝากเด็ก โดยการเรียกรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ตอบแทน

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนออื่นๆ อาทิ ให้ สพฐ.กำหนดวิธีการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคำนวณสัดส่วนการรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ นักเรียนทั่วไป และนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ ให้ชัดเจน

ป.ป.ช.ยังเสนอให้กำหนดคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์การเป็นนักเรียนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนให้ชัดเจน และเข้มงวด ทั้งนิยาม และคุณสมบัติ เช่น ระยะเวลาที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน การย้ายเข้าพักอาศัย เป็นต้น รวมถึงนิยามให้ครอบคลุมนักเรียนที่เป็นลูกครูและบุคลากรของโรงเรียน ฯลฯ หากใครปลอมแปลงเอกสาร และแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

ให้กำหนดระเบียบ หรือข้อบังคับที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในการกำหนดรูปแบบมาตรฐานกลางสำหรับการประกาศผลการคัดเลือกนักเรียน การประกาศผลการสอบ คะแนนการสอบ โดยให้ทุกโรงเรียนต้องประกาศผลการสอบโดยเรียงรายชื่อตามลำดับคะแนนที่สอบแข่งขันได้ และเปิดเผยต่อสาธารณะ กรณีโรงเรียนรับนักเรียนเพิ่มไม่ว่าในกรณีใด ให้เรียกรับนักเรียนตามประกาศผลการสอบที่ได้ เรียงรายชื่อตามลำดับคะแนนที่สอบได้

อีกข้อเสนอที่ถือเป็นสาระสำคัญ คือประกาศห้ามไม่ให้โรงเรียนเอื้อประโยชน์ โดยให้สิทธิพิเศษ หรือโควต้าแก่สมาคมผู้ปกครองและครู สมาคมศิษย์เก่า หรือสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับด้านการศึกษาของแต่ละสถานศึกษา ในลักษณะที่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในการฝากเด็กเข้าเรียน หรือในลักษณะการมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน

เรียกว่าแต่ละข้อเสนอ มีความพยายามที่จะ “ปิดตาย” เรียก “แป๊ะเจี๊ยะ” และ “ฝากเด็ก”!!

 

ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยืนยันว่าพร้อมทำงานร่วมกับ ป.ป.ช.เพื่อให้การรับนักเรียนเป็นไปอย่างยุติธรรม ไม่ให้เกิดการทุจริต

ส่วนข้อเสนอของ ป.ป.ช.ที่ให้ยกเลิกการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ 7 ข้อนั้น ได้ชี้แจง ครม.ว่าบางเรื่องทำได้ และบางเรื่องทำไม่ได้…

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมบอร์ด กพฐ.ชุดใหม่ มีมติให้แก้คำนิยาม คุณสมบัติ และหลักเกณฑ์การเป็นนักเรียนในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนให้ชัดเจน โดยนักเรียนในเขตพื้นที่ฯ หมายถึง นักเรียนที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ที่อยู่ในเขตพื้นที่ฯ ของโรงเรียนอย่างน้อย 2 ปี นับถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 และต้องอาศัยอยู่จริงกับบิดามารดา หรือผู้ปกครองที่เป็นเจ้าบ้าน โดยให้เจ้าบ้าน หรือเจ้าของบ้าน รับรองการอาศัยอยู่จริง

ทั้งนี้ ในการรับสมัครนักเรียน จะมีใบสมัครของผู้ปกครองให้รับรองว่า “เด็กพำนักอยู่ในบ้านนั้นจริง หากตรวจสอบพบภายหลังว่าไม่ได้พักอาศัยอยู่จริง ยินดีรับโทษให้เด็กออกจากโรงเรียนได้โดยไม่ฟ้องร้อง”

นอกจากจะให้นักเรียนออกจากโรงเรียนแล้ว ยังมีความผิดทางกฎหมายแพ่งและอาญา ฐานให้ข้อมูลเท็จ

โดยสัดส่วนการรับนักเรียนชั้น ม.1 จะรับในเขตพื้นที่ฯ 60% และรับนักเรียนทั่วไปด้วยวิธีการสอบคัดเลือก 40%

การประกาศรายชื่อ ให้โรงเรียนประกาศรายชื่อตามลำดับคะแนนให้กับนักเรียนทุกคนที่สมัครสอบ แต่ไม่ต้องประกาศผลคะแนน เพราะจะละเมิดสิทธิ หากผู้ปกครองอยากรู้คะแนน ให้ไปขอดูที่สถานศึกษา ถ้ามีเด็กสละสิทธิ เด็กในลำดับถัดไปจะได้เลื่อนแทน

นอกจากนี้ บอร์ด กพฐ.มีมติปรับปรุงเกณฑ์การรับนักเรียนกรณีนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ ให้คง 4 ข้อ จากเดิม 7 ข้อ ได้แก่ 1.นักเรียนที่อยู่ในความอนุเคราะห์ของผู้บริจาคที่ดินเพื่อจัดตั้งโรงเรียน เนื่องจากเป็นข้อผูกพันเดิมของโรงเรียน 2.นักเรียนที่เป็นผู้ยากไร้และด้อยโอกาส 3.นักเรียนที่เป็นบุตรผู้เสียสละเพื่อชาติ หรือผู้ประสบภัยพิบัติ และ 4.นักเรียนที่เป็นลูกครูและบุคลากรของโรงเรียน

อีก 3 ข้อที่ถูกตัดออก ได้แก่ 1.นักเรียนที่ทำคะแนนสอบเท่ากันในลำดับสุดท้าย 2.รับนักเรียนโควต้าตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่สหกิจ หรือคู่พัฒนา หรือโรงเรียนเครือข่าย และ 3.นักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ…

ส่วนการระดมทรัพยากร โรงเรียนทำได้หลังจากสิ้นสุดการรับนักเรียนเข้าเรียนแล้ว!!

 

นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ระบุว่า ส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อปรับหลักเกณฑ์การรับนักเรียนกรณีนักเรียนเงื่อนไขพิเศษเหลือเพียง 4 ข้อ จะป้องกันการรับแป๊ะเจี๊ยะให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการตัดข้อที่ให้รับนักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เพราะข้อนี้เดิมคือการให้เงินกับโรงเรียน หากผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ตรงไปตรงมา นำเงินไปใช้อย่างอื่นที่ไม่ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียน หรือแม้โรงเรียนจะออกใบเสร็จให้อย่างถูกต้อง ก็ถือเป็นความไม่เสมอภาค และความไม่เท่าเทียมกัน

ส่วนนายสนิท แย้มเกษร ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.ระบุว่า กรณีบอร์ด กพฐ.มีมติให้ปรับลดการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษจากเดิม 7 ข้อ ลดเหลือ 4 ข้อ จะทำให้การเรียกรับผลประโยชน์ หรือแป๊ะเจี๊ยะ จะเป็น “ศูนย์” หรือถ้ามีก็ส่วนน้อย

นายสวัสดิ์ เพชรบูรณ์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนหอวัง กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าแป๊ะเจี๊ยะจะหมดไปได้หรือไม่ เพราะน่าจะมีวิธีอื่นในการฝากเด็ก ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนดังหลายราย รู้สึกเหมือน ศธ.มองผู้อำนวยการโรงเรียนชั่วร้าย หรือคดโกง แต่คงไม่มีใครกล้าวิจารณ์

ปิดท้ายที่นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ฟันธงว่า การปรับแก้เกณฑ์รับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษเหลือ 4 ข้อ ไม่ได้มีนัยสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำ หรือลดแป๊ะเจี๊ยะ เพราะมีช่องทางอื่นๆ ในการรับแป๊ะเจี๊ยะอีกมากมายในระบบอุปถัมภ์ ที่ทำได้ในทางเทคนิค

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ถ้าจะแก้ไขปัญหาแป๊ะเจี๊ยะให้หมดไป จะต้องยกเลิกการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษทั้ง 7 ข้อ แต่ที่ไม่สามารถยกเลิกเงื่อนไขพิเศษทั้ง 7 ข้อ เนื่องจากโรงเรียนต้องดูแลชุมชน และผู้ปกครอง จึงเชื่อว่าปัญหาแป๊ะเจี๊ยะจะยังคงอยู่ในวังวนเดิมๆ

นักวิชาการจากรั้วจามจุรียังมองว่า “จุดอ่อน” ที่สุดของโรงเรียนคือ “ผู้อำนวยการโรงเรียน” เพราะมีตัวอย่างให้เห็นว่าผู้บริหารบางแห่งเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะจากนักเรียนเสียเอง จึงเสนอให้ผู้อำนวยการโรงเรียนต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย

ต้องติดตามการรับนักเรียนชั้น ม.1 และชั้น ม.4 ที่จะรับสมัครในวันที่ 22-27 กุมภาพันธ์ จะไร้ “แป๊ะเจี๊ยะ” ได้จริงหรือไม่!!